อายุ 18 ปีนั้น…สำคัญไฉน/บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

อายุ 18 ปีนั้น…สำคัญไฉน

 

ตั้งแต่วันที่ 1เมษายนนี้เป็นต้นไป กฎหมายแพ่งของญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่องการแก้ไข “อายุของผู้บรรลุนิติภาวะ”(成年年齢)จะเริ่มมีผลบังคับใช้ ซึ่งเดิมกำหนดให้ผู้มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ เป็นผู้มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์

ที่ผ่านมา ในทางประเพณี กำหนดให้วันจันทร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เป็น “วันผู้บรรลุนิติภาวะ”(成人の日)หนุ่มสาวที่มีอายุ 20 ปีในปีนั้น จะแต่งกายสวยงาม ผู้หญิงสวมชุดกิโมโนมีแขนยาวเกือบถึงข้อเท้า “ฟุริโซเดะ”(振袖)เป็นชุดกิโมโนของหญิงสาวโสด มีลวดลายงดงาม สีสันสดใส ผู้ชายสวมชุดสูท เข้าร่วมพิธีให้โอวาทและต้อนรับคนที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่จัดขึ้นที่ศาลาว่าการจังหวัด หรือหอประชุมของเมืองที่ตนอาศัยอยู่ ร่วมถ่ายรูปที่ระลึกกับเพื่อนๆ

นับเป็นวันสำคัญ ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ทำให้ตระหนักว่าตัวเราไม่ใช่เด็กอีกต่อไป แต่มีภาระและหน้าที่ทั้งต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม

ในปี 2016 เริ่มมีผลบังคับใช้ให้ “ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง”(選挙権年齢)เป็นผู้มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แก้ไขจากอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สาเหตุมาจากการที่สังคมญี่ปุ่นเริ่มมีเด็กเกิดใหม่น้อยลง และมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นตลอดมา จึงต้องการให้คนหนุ่มสาวได้ตระหนักรู้ในภาระหน้าที่ของตนที่ต้องมีต่อสังคมในอนาคตและการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการเมืองให้เร็วขึ้นนั่นเอง

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงอายุผู้บรรลุนิติภาวะเป็น 18 ปีบริบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน นี้ จึงเป็นการกำหนดให้สอดรับกับอายุของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วย

เมื่อเป็นผู้บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว หมายถึงอิสระ เสรีภาพ ก็มาพร้อมกับภาะหน้าที่ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตัวอย่างเช่น สามารถทำบัตรเครดิต ทำสัญญาเงินกู้ หรือสัญญาผูกพันต่างๆได้ อาทิ สัญญาเช่าที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังทำพาสปอร์ตที่มีอายุ 10 ปี สามารถสอบใบประกอบวิชาชีพทางบัญชี และบางสาขาวิชาชีพได้ เป็นต้น

แต่…การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การพนันแข่งม้า การพนันแข่งรถ อบายมุขทั้ง 4 อย่างนี้ ต้องห้ามสำหรับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่ออายุ 18 ปีแล้ว ไม่ได้เป็นผู้เยาว์อีกต่อไป หากทำผิดกฎหมาย เป็นผู้ต้องหา ถูกฟ้องร้อง ตกเป็นจำเลย เป็นต้น ก็จะถูกเปิดเผยชื่อจริงและใบหน้าจากสื่อมวลชนได้

นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับผู้เยาว์ ที่จะมีผลลังคับใช้ในเดือนเมษายนนี้ด้วย คือ ผู้ที่ถือสองสัญชาติ และจะเลือกหรือสละสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง แต่เดิมกำหนดว่าทำได้เมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์ แต่จากนี้ไป กำหนดให้เป็น 18 ปีบริบูรณ์เช่นกัน

ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ยังมีเรื่องสำคัญที่จะมีผลบังคับใช้อีก คือ การแก้ไขกฎหมายแพ่ง กำหนดให้ทั้ง ชายและหญิงที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ สามารถสมรสได้ตามกฎหมายโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่

ญี่ปุ่นกำหนดอายุ ชายและหญิงที่จะสมรสได้ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ มาตั้งแต่เมื่อ 124 ปีก่อนแล้ว สมัยเมจิ(明治)31 (ค.ศ. 1898) คือ ชายอายุ 17 ปี และหญิงอายุ 15 ปี กล่าวคือ ให้ความสำคัญแก่อายุของผู้หญิงมากกว่า หากแต่งงานเร็วเกินไป ก่อนถึงวัยเจริญพันธุ์จะเป็นผลเสียต่อสุขภาพของผู้หญิง และยังขัดต่อศีลธรรมอันดีในสังคมด้วย จึงได้กำหนดอายุของทั้งชายและหญิงขึ้นตามวิทยาการทางการแพทย์และตัวอย่างจากต่างประเทศอื่นๆ

หลังจากนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในปีโชวะ(昭和)22 (ค.ศ.1947) ได้มีการแก้ไขกฎหมายแพ่งในเรื่องอายุของผู้ที่จะสมรสได้ โดยเพิ่มอายุของชายและหญิงขึ้นอีก 1 ปี คือ 18 ปี และ16 ปี ตามลำดับ จากการพิจารณาว่าเร็วเกินไปสำหรับคนอายุ 17 ปีและ 15 ปี ที่จะก้าวจากวัยเด็กมายืนหยัดรับผิดชอบต่อชีวิตตนเองและสร้างครอบครัวด้วย

เวลาผ่านไป สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก ต้องให้ความสำคัญกับความสามารถในการหาเลี้ยงชีพพึ่งพาตนเอง ดูแลครอบครัวและบุตรที่จะเกิดได้ อายุ 18 ปี ส่วนใหญ่จบมัธยมปลายแล้ว ทำงานหาเลี้ยงชีพเอง สามารถสร้างครอบครัวได้ ซึ่งหมายถึงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นกำลังเสริมสร้างเศรษฐกิจและสังคมได้ ทั้งหญิงและชายต่างมีความรับผิดชอบ ไม่ต่างกันแล้ว หากตกลงจะใช้ชีวิตร่วมกัน การกำหนดอายุหญิงชาย ในการสมรสที่ต่างกันจึงไม่สอดคล้องกับลักษณะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

อีกทั้งองค์การสหประชาชาติกำหนดให้หญิงและชายมีความเท่าเทียมกัน ญี่ปุ่นจึงยึดหลักการนี้ จนนำมาสู่การแก้กฎหมายในครั้งนี้ที่กำหนดให้หญิงและชายอายุ 18 ปีบริบูรณ์ สามารถสมรสได้ถูกต้องตามกฎหมาย

นั่นหมายความว่า ผู้หญิงต้องมีอายุมากขึ้นกว่าเดิมอีก 2 ปี จึงสมรสได้ตามกฎหมาย

มีคำถามว่าหากฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ก่อนอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ จะเป็นเหตุยกเว้นให้สามารถสมรสได้หรือไม่ ก่อนวันที่ 1 เมษายนนี้ ผู้หญิงที่อายุ 16 ปีขึ้นไปจะตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม ก็ยังคงต้องได้รับคำยินยอมจากพ่อแม่ก่อนทำการสมรส เนื่องจากคำนึงถึงความเป็นผู้ใหญ่เพียงพอที่จะสามารถรับผิดชอบเลี้ยงดูอีกหนึ่งชีวิตและเพื่อปกป้องผู้เยาว์ด้วย

เมื่ออายุของผู้บรรลุนิติภาวะลดลง(成年年齢)เป็น 18 ปีบริบูรณ์ จึงมีความกังวลจากพ่อแม่ ผู้ใหญ่ทั้งหลายว่า หลายๆคนอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หลอกลวงให้ทำสัญญาต่างๆ ที่ยังไม่เข้าใจ ไม่รอบคอบดี จึงควรเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่อยู่รอบๆ จะช่วยกันให้ความรู้ คำแนะนำ แก่ “ผู้ใหญ่” คนใหม่ของสังคมด้วย

นาย นายฟูมิโอะ คิชิดะ(岸田文雄)นายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลใจ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำว่า “การเปลี่ยนแปลงให้หนุ่มสาวผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ นับเป็นการช่วยกระตุ้นให้หนุ่มสาวได้ตระหนักในการทำหน้าที่ของตน เข้ามามีส่วนร่วมทางสังคม ในการเสริมสร้างเศรษฐกิจ และกิจกรรมทางสังคม” และย้ำเตือนให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง ช่วยสื่อสาร ให้ความรู้ เพื่อให้ผู้บรรลุนิติภาวะหมาดๆเหล่านี้ได้เติบโตขึ้นอย่างปลอดภัยเป็นอนาคตของญี่ปุ่นต่อไป

ญี่ปุ่นเร่งปลูกฝังความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ ฝากอนาคตไว้กับหนุ่มสาวอายุ 18 ปีในวันนี้ เพื่อหวังให้มาเป็นกำลังแทนที่ “ผู้เฒ่า”ทั้งหลายในวันนี้

ด้วยเหตุฉะนี้ ผู้มีอายุ18 ปีขึ้นไป…จึงมีความหมาย และเป็นความหวังของญี่ปุ่น