เกษียร เตชะพีระ : คนไทยคล้ายมนุษย์ดาวอังคาร : ปัญหาสรรพนามในภาษาไทย

เกษียร เตชะพีระ
บทกวี "ความเป็นไทยคล้ายมนุษย์ต่างดาว" ของ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ

ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดร.กานดา นาคน้อย อาจารย์เศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา ผู้เขียนวิเคราะห์วิจารณ์เศรษฐกิจการเมืองไทยและโลกทางสื่อออนไลน์เป็นประจำ ได้ตั้งข้อสังเกตชวนคิดเกี่ยวกับการใช้สรรพนามในภาษาไทยว่า :

“ขอนอกเรื่องการเมือง เข้าเรื่องภาษา เวลาพูดในที่สาธารณะ ผู้ชายไทยใช้คำแทนตัวว่า “ผม” ทั้งเวลาพูดทางการและไม่ทางการ ส่วนผู้หญิงเคยได้ยินนายกฯ ปู แทนตัวว่า “ดิฉัน” ก็เข้าใจว่าเป็นทางการ และเห็นพิธีกรหญิงในสื่อออนไลน์ใช้ชื่อเล่นตัวเองแทนเลย ฟังดูเป็นสาวน้อยวัยรุ่นพิกล”

“ภาษาไทยทำให้ผู้หญิงลำบากนะ ถ้าผู้ชายอายุ 45 เรียกตัวเองด้วยชื่อเล่นเวลาออกทีวีคงตลกนะ ภาษาอังกฤษเพศไหนอายุเท่าไรก็ใช้ไอกะยู เท่าเทียมกัน ภาษาอังกฤษที่แปลว่า “ฯพณฯ” “พะนะท่าน” ก็มี แต่ไม่ใช้กันพร่ำเพรื่อดาษดื่นเหมือนคำว่า “ท่าน” ในภาษาไทย”

ผมอ่านแล้ว ความคิดก็แล่นปรู๊ดปร๊าด ครุ่นคำนึงถึงประสบการณ์ข้อมูลความเข้าใจอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวกับประเด็นเดียวกันนี้ที่เก็บสะสมมานาน อยากนำมาเล่าสู่แลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน

ภาพตัวเอก Ray Walston จากภาพยนตร์ทีวีอเมริกันชุด My Favorite Martian , ค.ศ.1963-1966
ภาพตัวเอก Ray Walston จากภาพยนตร์ทีวีอเมริกันชุด My Favorite Martian , ค.ศ.1963-1966

ที่อาจารย์กานดาเขียนถึง มีทั้งแง่มุม “ลำดับชั้น” (hierarchy) และ “เพศสภาพ” (gender) ในปัญหาการใช้สรรพนามภาษาไทย เนื่องจากข้อจำกัดด้านเนื้อที่คอลัมน์ ผมจึงขอเขียนถึงเฉพาะแง่ “ลำดับชั้น” ในที่นี้

ถ้าจำไม่ผิด ผมได้ประเด็นนี้จากการอ่านบทความเรื่อง “ภาษาไทยมาตรฐานกับการเมือง” ของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นานมาแล้ว (ภาษาและหนังสือ, 17 : 2 (ต.ค.2527- มี.ค.2528) น.11-37)

กล่าวคือ ภาษาไทยเรานั้นเป็นภาษาที่มี “ลำดับชั้น” สูงและซับซ้อนมากซึ่งมันสะท้อนออกอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งในการเลือกใช้สรรพนามแทนตนเรียกหากันเวลาสื่อสารสนทนา

อุปมาประหนึ่งว่าเวลาคนไทยสองคนเจอกันในที่สาธารณะ ยังไม่รู้แน่ว่าใครอยู่ลำดับชั้นไหน? สูงหรือต่ำกว่ากันอย่างไร? ต่างฝ่ายต่างก็คล้ายจะต้องยื่นเสาอากาศ (แบบหนังทีวีอเมริกันเรื่อง My Favorite Martian ที่ผมดูสมัยเด็ก) ออกมาสืบเสาะหยั่งเชิงกันก่อนว่าใครเป็นใคร? หัวนอนปลายเท้ามาจากไหน? ฐานะตำแหน่งยศศักดิ์เป็นอย่างไร? ให้รู้ที่สูงที่ต่ำ จากนั้นจึงค่อยสามารถเอ่ยปากทักทายโอภาปราศรัยกันด้วยคำเรียกหาที่ “ถูกต้อง” ตามหลักไวยากรณ์วัฒนธรรมลำดับชั้นไทย โดยเลือกสรรเอาจากบรรดาคำเรียกหาที่เป็นไปได้ทั้งหลายแหล่ตั้งแต่ “ท่าน, คุณ, เสี่ย, เฮีย, น้อง, มึง, เอ็ง, ผู้การ, อาจารย์, ปลัด” ฯลฯ เป็นต้น

ปฏิบัติการยื่นเสาอากาศหยั่งลำดับชั้นซึ่งกันและกันเหมือนมนุษย์ดาวอังคารนี้ คนไทยทำกันเป็นกิจวัตรประจำวันแหละครับ บ่อยและเป็น(วัฒน)ธรรมชาติ (วัฒน)ธรรมดาไทยเสียจนเราคุ้นชินเกินกว่าจะสังเกตว่ามันผิดธรรมชาติธรรมดาโลกเขาเช่นใด สมดังที่ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยร้องทัก “ความเป็นไทย” ไว้ในบทกวีข้างต้นว่า “คล้ายมนุษย์ต่างดาว”

ผมขอยกตัวอย่างแล้วกัน

สมัยเป็นนักศึกษา ผมเคยอาศัยนั่งรถยนต์ส่วนตัวของอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสหญิงไปทำธุระแถวเลียบคลองผดุงกรุงเกษม ครูถามผมว่าวิ่งเลียบคลองไปได้ไหม? เหมือนวันเวย์? อารามเซ่อซ่านะครับ เคยขึ้นแต่รถเมล์ ผมก็บอกครูว่าได้ครับ เพราะเห็นว่ารถเมล์วิ่งได้ ครูขับรถไปพักเดียวก็ถูกตำรวจจราจรโบกเรียกให้หยุด เพราะแล่นเข้าไปในทางสงวนไว้ให้เฉพาะรถเมล์

ตำรวจเดินเข้ามาหา ครูไขกระจกรถลง คำทักของตำรวจแรกเห็นหน้าครูก็คือ

“อ้าว เจ๊ๆ ทำไมขับรถหยั่งงี้ล่ะ? ขอดูใบขับขี่หน่อย”

ครูยิ้มใจเย็น ล้วงกระเป๋าถือ หยิบใบขับขี่และ…อะแฮ่ม…บัตรประจำตัวข้าราชการมหาวิทยาลัยยื่นให้ พอตำรวจเห็นเข้าเท่านั้น ก็ชิดเท้ายกมือตะเบ๊ะ ปรับน้ำเสียงเรียกหาใหม่ว่า

“อ้อ อาจารย์หรือครับ ทางนี้วิ่งเข้ามาไม่ได้นะครับ” …

นี่คือปรากฏการณ์เสาอากาศวิ่ง detect ที่ต่ำที่สูงของการใช้ pronouns ในสังคมลำดับชั้นของไทย

สําหรับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของปัญหา “ลำดับชั้น” สรรพนามไทยนั้น สมัยทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องการเมืองวัฒนธรรมของปัญญาชนไทยสมัยก่อน ผมเคยอ่านสมุดบันทึกของสมาคมวรรณคดีซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งขึ้นที่ในราชบัณฑิตยสภา เมื่อ พ.ศ.2474 โดยเป็นการรวมตัวแบบกันเองของนักปราชญ์ราชบัณฑิตมีชื่อสมัยนั้น อาทิ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, พระยาอนุมานราชธน, พระสารประเสริฐ, หลวงวิจิตรวาทการ เป็นต้น มาร่วมสังสรรค์เสวนากัน เพื่อค้นคว้าเรียบเรียงถกเถียงเฉลยปัญหาภาษาวัฒนธรรมวรรณกรรมต่างๆ (ดูตัวอย่างบันทึกของสมาคมวรรณคดีทางออนไลน์ได้ที่ http://www.homebankstore.com/dl/ebookthbl/076.pdf)

หนึ่งในปัญหาที่ถกคือปัญหาคำสรรพนามหรือ pronoun ในภาษาไทยนั่นเอง ข้อสังเกตของผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนั้นซึ่งน่าสนใจเท่าที่ผมประมวลได้จากความจำ คือ :-

1) เดิมทีในประโยคของไทย เราไม่ใช้สรรพนามแต่ใช้เอ่ยชื่อคนขึ้นต้นประโยค แล้วเดินกริยาซ้ำไปเรื่อยๆ เช่น “หลวงประดิษฐ์ฯ ตื่นแต่เช้า ล้างหน้าแปรงฟัน ลุกไปหุงข้าว กินข้าวเช้าเสร็จ แต่งเนื้อแต่งตัว ไปประชุมที่ศาล ฯลฯ” โดยไม่ใช้สรรพนามเป็นประธานแทนเลย ต่อกิริยาคำแล้วคำเล่าไปเรื่อยๆ อย่างนั้นเอง

2) ปัญหาสรรพนามเพิ่งเกิดขึ้นในภาษาไทยเมื่อเราคบฝรั่งใกล้ชิดขึ้นในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้ต้องแปลภาษาสู่กันจึงเกิดปัญหาเพราะฝรั่งใช้ pronoun มากแบบไม่มีชั้น ชายก็ he หญิงก็ she ตัวเองก็ I คู่สนทนาก็ you ทั่วไปแบบเสมอภาค ขณะสังคมศักดินาของเราต่างไป มีชั้นที่เหลื่อมล้ำกัน จึงแปลยาก ต้องคิดหาคำเรียกหาที่เหมาะกับชั้นยศตำแหน่งฐานันดรของคน

ข้อน่าสนใจคือปัญหานี้ส่วนหนึ่งอยู่เบื้องหลังการปฏิวัติภาษาไทยสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่นอกจากเลิกพยัญชนะซ้ำซ้อนที่ยาก ทำตัวสะกดให้ง่ายลงแล้ว ก็ลด pronouns ลง เหลือแค่ “ฉัน ท่าน จ้ะ ไม่” เพื่อสะดวกแก่การเรียกหากันในหมู่คนไทยแบบไม่มีลำดับชั้นด้วย (ตามคติข้อ 6 ใน “คติ 6 ประการของคนไทย” ประกาศโดยสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลจอมพล ป. 12 พฤษภาคม พ.ศ.2487)

แต่การปฏิวัติภาษาไทยลดเลิกชั้นของจอมพล ป. ก็สลายไปพร้อมกับอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. ชุดแรก คนไทยเรากลับสู่ภาษาไทยที่มีลำดับชั้นซับซ้อนอีกครั้ง พร้อมกับเสาอากาศก็งอกเงยขึ้นมาใหม่เพื่อสืบเสาะควานชั้นที่ต่ำที่สูงของกันและกันทุกครั้งที่ต้องเรียกหา

ซึ่งนำเราไปสู่ประเด็น “การเมืองวัฒนธรรมเรื่องสรรพนาม” ตามสัจพจน์ที่ว่า “ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน”

ในแง่หนึ่งชั้นที่เหลื่อมล้ำศักดินาของภาษาไทย ก็ทำให้การต่อต้านเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ถ้าสลัดความเคยชินเก่าออกไปได้

สมัยรัฐบาลทักษิณ ได้มีการตั้งอดีตนายพลนอกราชการ 50 กว่านายเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคง และส่งเดินทางลงไปดูปัญหาความขัดแย้งเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก-บ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านเพราะปัญหามลภาวะและผลกระทบต่อทรัพยากรชายฝั่งทะเลที่พวกเขาใช้ทำการประมงและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวท้องถิ่นเพื่อยังชีพ

สถานการณ์ตอนนั้นค่อนข้างตึงเครียดดุเดือด เพราะความขัดแย้งเคยถึงขั้นปิดถนนปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจและมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิต ชาวบ้านจึงเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์บวกจิตวิทยา โดยระดมกันบริจาคเลือดเผื่อรับมือเหตุการณ์ผันผวนที่อาจเกิดขึ้น

เมื่อปรากฏข่าวออกไป นายพลนอกราชการที่ปรึกษารัฐบาลทักษิณบางคนก็ให้สัมภาษณ์ทำนองว่าชาวบ้านทำแบบนี้ คิดจะ “กบฏ” หรืออย่างไร

ชาวบ้านทราบข่าวก็ขัดเคืองมาก เช้าวันรุ่งขึ้นจึงรวมตัวกันไปที่โรงแรมในพื้นที่ซึ่งคณะนายพลที่ปรึกษาพักอยู่ พอพบเห็นคณะท่านนายพล ก็ตะโกนถามดังลั่นว่า :

“อ้าว ลุงๆ ทำไมพูดหมาๆ ยังงั้นล่ะ?”

สรรพนามที่ใช้เรียกหาเหมือนญาติผู้ใหญ่อย่างกันเองในประโยคนี้ว่า “ลุง” ซึ่งทั้งดึงเข้ามาใกล้ (ญาติกัน) และลดให้ต่ำลงมาอยู่ในระดับเดียวกัน (ชาวบ้านเหมือนกัน) สำหรับคณะบุคคลที่คุ้นกับการถูกเรียกหาว่า “ท่านนายพลครับ” และชิดส้นเท้าตะเบ๊ะพร้อมกันนั้น

นับเป็น “กบฏภาษา” ที่สร้างสรรค์โดยแท้จริง!