นาฬิกากลอน / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ภาพประกอบเนื้อหา - เขาพระสุเมรุ ในสมุดภาพไตรภูมิ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

นาฬิกากลอน

 

กลอนหนึ่งบทสี่บรรทัดนั้นใช้เวลาอ่านประมาณสิบห้าวินาที เพราะฉะนั้นเวลาหนึ่งนาทีก็จะอ่านกลอนได้สี่บทโดยประมาณ

บทกลอนจึงเป็นเครื่องกำหนดเวลาได้ด้วยประการฉะนี้ นอกจากประโยชน์อื่นอันจะได้จากบทกลอนแล้วก็คือ การที่บทกลอนเป็นเครื่องกำหนดเวลาได้ด้วยนี่เอง

เคยไปหาหมอฟันต้องอ้าปากค้างให้หมอจัดการกับปัญหาฟันอยู่นั้น เลยท่องกลอนบทขุนแผนฟันม่านซึ่งมีอยู่สิบหกบท ท่องรอบหนึ่งตกราวสี่นาที กว่าหมอจะจัดการเสร็จจำได้ว่าท่องอยู่ราวห้า-หกรอบ เว้นช่วงต้องบ้วนปากด้วย รวมแล้วกว่าครึ่งชั่วโมง

ตีเสียว่ารอบละห้านาทีแล้วกัน ด้วยว่าไม่อาจท่องติดต่อแบบบทละสิบห้าวินาทีได้ ต้องหยุดเว้นต้องสะดุดสะดุ้งบ้าง เหมารวมเฉลี่ยราวรอบละห้านาที หกรอบก็สามสิบนาที

รวมบ้วนน้ำด้วยก็กว่าครึ่งชั่วโมงนั่น

 

นอกจากจะเพื่อกำหนดเวลาได้โดยไม่ต้องดูนาฬิกาแล้ว ที่ดียิ่งคือไม่กังวลระแวงกับความกลัวว่าจะเจ็บปวดอะไรเลย ซึ่งที่จริงก็ไม่เจ็บปวดอะไรอยู่แล้ว หากมัวพะวงจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดในปากเรามันก็คงเป็นเรื่องไม่ปกตินัก

แต่นี่สบายมาก คือนอกจากเป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้ว จิตกลับไปจดจ่อกับเรื่องม่านสามชั้นของวันทองอยู่นั่น ราวจะเห็นรายละเอียดในม่านแต่ละชั้นนั่นเลย…เห็นไหม

ม่านนี้ฝีมือวันทองทำ

จำได้ไม่ผิดนัยน์ตาพี่

เส้นไหมแม้นเขียนแนบเนียนดี

สิ้นฝีมือแล้วแต่นางเดียว

ตรง “จำได้” นี่แทบจะได้ยินเสียงเอื้อนทำนองเสภาเลยทีเดียว ด้วยในทางเชิงกลอนนั้นการมารับสัมผัสระหว่างวรรคตรงคำแรกนี้ มักไม่กระทำกันด้วยถือว่า “เสียจังหวะ” จะให้ถูกจังหวะควรจะว่า เช่น

พี่ยังจำไม่ผิดนัยน์ตาพี่

ประมาณนี้ คือต้องรับ “สระอำ” ตรงคำที่สามหรือที่สอง นี่รับคำที่หนึ่งได้ไง

ก็ตรงนี้แหละที่นักขับเสภาเขาจะเน้นคำเหมือนจะย้ำคำว่า “จำ” ทอดจังหวะเว้นช่วงแล้วจึงจะต่อคำว่า “ได้” รับไปอีกทอดหนึ่ง

นี้คือ “เสน่ห์เสภา” ที่ต้องฟังจึงจะได้รสของอารมณ์ความรู้สึกอย่างมีชีวิตชีวา

 

เจ้าปักเป็นป่าพนาเวศ

ขอบเขตเขาคลุ้มชอุ่มเขียว

รุกขชาติดาษใบระบัดเรียว

พริ้งเพรียวดอกดกระดะดวง

ปักเป็นมยุราลงรำร่อน

ฝ่ายฟ้อนอยู่บนยอดภูเขาหลวง

แผ่หางกางปีกเป็นพุ่มพวง

ชะนีหน่วงเหนี่ยวไม้ชม้อยตา

นี่คือป่าหิมพานต์ในคติฮินดูที่มีเขาพระสุเมรุเป็นหลักของจักรวาลอันนับเป็นแดนสวรรค์

…มยุราลงรำร่อน

ฝ่ายฟ้อนอยู่บนยอดภูเขาหลวง

คำ “ฝ่ายฟ้อน” นี่ ท่านกวีอังคาร กัลยาณพงศ์ คุยให้ฟังว่าที่จริงต้องเป็น “ฟ่ายฟ้อน” ฟ.ฟันไม่ใช่ ฝ.ฝาด้วยคำ ฟ้อน นั้นคู่กับ ฟ่าย ไม่ใช่คู่กับ ฝ่าย คือท่านอังคารมองเห็นภาพอิริยาบถของคำ “ฟ่ายฟ้อน” มากกว่าจะเห็นจากคำ “ฝ่ายฟ้อน”

ฟังดูก็เข้าทีดี แต่โดยรสของเสียงคำแล้ว “ฝ่ายฟ้อน” ไพเราะกว่า “ฟ่ายฟ้อน” นะท่านอังคาร

 

ต่อไปเป็นลำดับของภูเขาหิมพานต์ห้าลูก

ปักเป็นหิมพานต์ตระหง่านงาม

อร่ามรูปพระสุเมรุภูผา

วินันตก หกสะกัน เป็นหลั่นมา

การะวิก อิสินธร ยุคุนธร

อากาศคงคาชลาสินธุ์

มุจลินท์ห้าแถวแนวสลอน

ไกลาสสะอาดเอี่ยมอรชร

ฝูงกินนรคนธรรพ์วิทยา

นอกจากสัตว์หิมพานต์นานาแล้ว ยังมีฝูงกินนรคือเหล่านางกินนรหรือกินนรี ลักษณะครึ่งคนครึ่งนกดัง “โนรา” ปักษ์ใต้บ้านเรา ยืนโรงอยู่จนได้ยอมรับให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกวันนี้ ที่จริงยังมีรำ “กิงกะหล่า” ที่แม่ฮ่องสอนอีกด้วย กิงกะหล่าหรือกิงกะหร่าก็คือ กินนร หรือกินนรา ตัวเดียวกันกับโนรานั้นเอง

คนธรรพ์นั้นคู่กับวิทยาธร คือผู้ทรงความรู้ด้านศิลปะ ดนตรี ดังคำไหว้ครูดนตรีไทยจะถือเอง “พระประคนธรรพ” เป็นครูใหญ่องค์สำคัญ ประคนธรรพก็คือ “คนธรรพ์” ดังกลอนเสภาว่า “คนธรรพ์วิทยา” คือเหล่าคนธรรพ์ และวิทยาธรผู้รู้แห่งป่าหิมพานต์นั้น

ลงเล่นน้ำดำดิ้นอโนดาต

ใสสะอาดเยือกเย็นเห็นขอบผา

หมู่มังกรล่อแก้วแพรวพรายตา

ทัศนารำลึกถึงวันทอง

ห้ำหั่นฟันม่านผลาญสับ

ระยำยับย่างเข้าไปชั้นสอง

น่ารักปักเอี่ยมลออออง

น้องเอ๋ย ช่างฉลาดล้ำมนุษย์ ฯ

 

ม่านชั้นแรกชั้นเดียวนะเจ็ดบทกลอนเข้าไปแล้ว กำหนดนับเวลาก็ได้ราวสองนาทีโดยประมาณ คือประมาณว่าสี่บทเป็นหนึ่งนาที นี่เจ็ดบทก็เกือบสองนาที ให้เวลาหายใจสบายๆ ก็ราวสองนาทีพอดี

ขุนแผนช่างใจร้ายชมม่านชมฝีมืออยู่ดีๆ “เส้นไหมแม้นเขียนแนบเนียนดี” พอ “กระทบเรื่องวันทองให้เคืองใจ”

ก็ช่างกระไรเลย ตวัดดาบฟ้าฟื้นขึ้น

“ห้ำหั่นฟันม่านผลาญสับ

ระยำยับ… ฯ” •