
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ไทยมองไทย |
ผู้เขียน | สมหมาย ปาริจฉัตต์ |
เผยแพร่ |
เวทีประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อออกแบบพิมพ์เขียวทางการศึกษาของเทศบาลนครภูเก็ต วันที่สองดำเนินไปตามเป้าหมายหลักที่วางไว้ ต้องการให้โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครภูเก็ต 7 แห่ง พัฒนาการใช้ฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการสถานศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา
เจ้าภาพเชิญนักวิชาการไทยซึ่งทำงานในระดับสากล ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก เป็นผู้บรรยายนำในหัวข้อ การใช้ข้อมูลเพื่อยกระดับคุณภาพและการบริหารสถานศึกษา ประสบการณ์ในระดับนานาชาติ
โดยมี ดร.ไกรยศ ภัทราวาท นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมซักถาม
หน้าตา ท่าทาง บุคลิกท่วงทำนอง ถอดแบบนักวิชาการ คล้ายคุณพ่อ คือ ดร.ดำรง ลัทธพิพัฒน์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ถ่ายทอดเรื่องราว ความคิดด้านบริหารการศึกษาได้เฉียบคม
เขาชี้ว่าปัญหาหลักของคุณภาพการศึกษาเกิดจากความอ่อนแอของโครงสร้างระบบ “ความรับผิดชอบ” (Accountability System) ตลอดทุกขั้นตอน ทั้งระหว่างภาครัฐกับโรงเรียน และภาครัฐกับภาคประชาชน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบสายยาว ทั้งระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองนักเรียนและชุมชน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบสายสั้น
การปฏิรูปข้อมูลจะทำให้โครงสร้างความรับผิดชอบเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งของระบบความรับผิดชอบสายสั้น ระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองนักเรียนและชุมชน สามารถทดแทนความอ่อนแอของระบบความรับผิดชอบสายยาวได้
แต่เงื่อนไขจะต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับผู้ใช้บริการ เพราะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีของพฤติกรรมของผู้ให้บริการและการเรียนรู้ของเด็ก
จากการวิจัยโดยใช้ข้อมูลการวัดผลในระดับนานาชาติ (Pisa) ในหลายประเทศพบว่า ระบบการศึกษาที่ให้อิสระการบริหารจัดการแก่โรงเรียน ภายใต้ระบบความรับผิดชอบที่เข้มแข็ง มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูงกว่า
สำหรับประเทศไทย ปัญหาการขาดแคลนและความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรสำหรับโรงเรียนมัธยมมีความรุนแรงมากกว่าในประเทศอื่น
วิเคราะห์จากข้อมูลโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะพบว่า ความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรครูสำหรับโรงเรียนระดับประถมศึกษาของไทยโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก อัตราการขาดแคลนครูกลับมากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมือง ซึ่งขาดแคลนครูน้อยกว่า
56% ของห้องเรียนทั้งหมดในโรงเรียนประถมมีครูเฉลี่ยไม่ถึง 1 คนต่อห้องเรียน 63% ของโรงเรียนประถมมีครูไม่ถึง 1 คนต่อชั้นเรียน
เขาพูดถึงการสร้างระบบข้อมูลที่ดีเพื่อการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาอย่างเป็นธรรม ยกตัวอย่างกรณีประเทศเวียดนาม การจัดอันดับทดสอบความสามารถในเวทีระดับโลก Pisa เวียดนามอยู่ในระดับ 17 ของโลก ไทยอยู่ในระดับที่ 50 กว่า และปีหน้ากัมพูชาจะเริ่มเข้าสู่เวทีทดสอบ
เวียดนามขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาตั้งแต่ปี 2529 เกิดการสร้างโรงเรียนจำนวนมาก อัตราการเข้าเรียนในระดับประถมเพิ่มจาก 84% เป็น 94% ภายใน 10 ปี แต่ปรากฏว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ยากจนและห่างไกล
เพราะเกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรสูง จนถึงปี 2544 รัฐบาลได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำด้านการศึกษาที่ทุกโรงเรียนพึงมี ขณะเดียวกัน มีการพัฒนาระบบข้อมูล กำหนดเป้าหมายระยะยาว สร้างตัวชี้วัด โดยหน่วยงานกลางทุกปี และมีการสรุปผลและเปิดเผยข้อมูลให้กับสาธารณะ
“การเปิดเผยข้อมูลเป็นเงื่อนไขจำเป็นในการประกันคุณภาพ” ดร.หนุ่ม ไฟแรง ย้ำ
ผลปรากฏว่าภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี เวียดนามสามารถลดความเหลื่อมล้ำของการจัดสรรทรัพยากรและทำให้นักเรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง
ปี 2552 เขตพื้นที่ที่มีเด็กเสียเปรียบ พัฒนาได้ใกล้กับมาตรฐานระดับชาติ โดยงบประมาณที่ใช้ต่อหัวน้อยกว่าของไทยเราเสียอีก
ย้อนมาถึงประเทศไทย “เกณฑ์การจัดสรรครูของโรงเรียนของ สพฐ. ในปัจจุบันมีปัญหามาก โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ได้ดูว่ามีกี่ชั้นเรียน จึงพบว่าบางโรงเรียน ครู 2 คน สอน 6 ชั้นเรียน เป็นไปได้อย่างไร”
เขาสร้างแบบจำลองใหม่สำหรับการจัดสรรครูให้เพียงพอให้กับทุกห้องเรียนในประเทศไทย หากมี 8 ชั้นเรียน ควรมีครูขั้นต่ำทั้งหมด 13 คน ครูไม่ควรสอนเกิน 22 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
จากเวียดนาม มาดูต่อบราซิล การปฏิรูประบบข้อมูลโดยใช้สมุดพก (Report Card) รายงานผลการเรียนของนักเรียนในประเทศบราซิล พร้อมทั้งข้อมูลสถิติของผลการศึกษาระดับชั้นเรียน โรงเรียน เขตการศึกษาและรัฐ ทรัพยากรการเรียนการสอน การสร้างกลไกเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้ปกครองส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
การใช้ผลสอบของนักเรียนมาประเมินโรงเรียนและครูในบราซิลและสหรัฐอเมริกาหลายรัฐ โดยเปรียบเทียบภายในกลุ่มนักเรียนที่มีพื้นเพทางเศรษฐกิจและสังคมคล้ายๆ กัน เพราะการประเมินโดยใช้ผลสอบมาตรฐานเพียงอย่างเดียวไม่ยุติธรรมกับผู้สอน
เขาเสนอโครงสร้างแบบจำลองแบบ 2 ขั้นตอน คุณภาพโรงเรียน = ศักยภาพ x ประสิทธิภาพ
การเปิดเผยข้อมูลผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเป็นเครื่องมือตรวจสอบโรงเรียนสำหรับผู้ปกครองและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ส่งผลให้เกิดความสนใจในคุณภาพ เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่เปิดเผยข้อมูลการมีตัวแทนผู้ปกครองในคณะกรรมการของโรงเรียน มีผลกระทบในทางบวก โดยเฉพาะกับกลุ่มโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพต่ำ
การใช้ระบบการประเมินประสิทธิภาพการสอนภายในของครูโดยครูผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน
การประเมินประสิทธิภาพการสอนของครูโดยมีกิจกรรมประกาศกิตติคุณครูซึ่งผูกโยงกับผลการประเมิน เพิ่มแรงจูงใจและส่งผลให้ประสิทธิภาพการเรียนการสอนดีขึ้น การเปิดโอกาสให้บุคลากรมีส่วนร่วมตัดสินใจในการบริหารจัดการโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนสูงขึ้น
การให้อิสระโรงเรียนในการกำหนดหลักสูตรจะมีผลดีต่อเมื่อโรงเรียนมีกลไกการรับประกันคุณภาพที่เข้มแข็งก่อน
ความมีอิสระในการบริหารงานด้านบุคลากร มีผลดีต่อประสิทธิภาพของโรงเรียนเมื่อมีกลไกการตรวจสอบที่เข้มแข็ง
ความมีอิสระในการบริหารไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงเรียนและอาจเป็นผลเสียด้วยหากไม่มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง
ข้อชี้ ข้อค้นพบจากผลการวิจัยทั้งในประเทศและนานาชาติของนักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก ท่านนี้ จึงเป็นโอกาสดียิ่งสำหรับผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง นักเรียน และผู้บริหารเทศบาลนครภูเก็ตนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโรงเรียน พัฒนาคุณภาพการศึกษา พัฒนาครู พัฒนานักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ฯลฯ ตามพิมพ์เขียวที่กำลังยกร่างขึ้น
ผมเก็บบางส่วนมาถ่ายทอดต่อ เผื่อว่าเรื่องราว ประสบการณ์ แนวคิดดีๆ นี้จะได้ไม่เป็นไปเฉพาะคนภูเก็ต เด็กภูเก็ตตงห่อเท่านั้น แต่รวมถึง สพฐ. และการจัดการศึกษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการโดยรวมทั้งหมดทีเดียว
สำคัญอยู่แต่ว่า รับฟังแค่ไหน ฟังแต่ไม่ได้ยินหรือไม่