คุยกับทูต : ระห์หมัด บูดีมัน สัมพันธ์อินโดฯ-ไทย 72 ปี แห่งความเข้าอกเข้าใจ (2)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต ระห์หมัด บูดีมัน

สัมพันธ์อินโดฯ-ไทย

72 ปี แห่งความเข้าอกเข้าใจ (2)

 

ประเทศไทยและอินโดนีเซีย สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2493 (1950) และดำเนินไปด้วยดี โดยมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

ความสำเร็จที่สำคัญของความสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซีย ตลอดระยะเวลา 72 ปีก็คือ ข้อตกลงในความร่วมมือที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกันนั้นครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม

โดยเฉพาะในด้านการค้า อินโดนีเซียเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทยในอาเซียน เป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าเกษตรกรรมจากไทย

ในด้านการท่องเที่ยว ก่อนหน้ายุคการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวอินโดนีเซียมาท่องเที่ยวในประเทศไทยราว 450,000 คน และชาวไทยไปเยือนอินโดนีเซียราว 150,000 คนต่อปี

นายระห์หมัด บูดีมัน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย

สําหรับองค์ประกอบที่สามารถมีส่วนในการสร้างห่วงโซ่การค้า การพาณิชย์ และธุรกิจอย่างต่อเนื่องระหว่างอินโดนีเซียและไทย

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย นายระห์หมัด บูดีมัน (H.E. Mr. Rachmat Budiman) ชี้แจงว่า

“เราในฐานะสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน (ASEAN) อินโดนีเซียและไทยมีโอกาสที่จะเพิ่มความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19”

“ทั้งสองประเทศมีศักยภาพมหาศาลในการสร้างห่วงโซ่อุปทานอย่างยืดหยุ่นร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบที่มีอยู่มากมาย รวมทั้งกำลังคน และตลาดที่พร้อมใช้งาน”

“นอกจากนี้ อินโดนีเซียและไทยสามารถใช้ระบบนิเวศสนับสนุนในระดับภูมิภาค เช่น อาเซียนและความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้นและเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของทั้งสองประเทศ”

“อินโดนีเซียเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสามของไทยในอาเซียน รองจากมาเลเซียและเวียดนาม และคู่ค้ารายใหญ่อันดับเจ็ดของโลก การค้าระหว่างอินโดนีเซียและไทยในปี 2021 มีมูลค่า 16.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกจากไทยมีมูลค่า 8.86 พันล้านดอลลาร์ และการนำเข้ามูลค่า 8.12 พันล้านดอลลาร์”

สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย

“อินโดนีเซียและไทยสามารถส่งเสริมกลไกทวิภาคีในภาคเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในยุคดิจิตอลซึ่งต้องเผชิญกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19”

“ดังนั้น ทั้งสองประเทศจึงควรเดินหน้าสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ และขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนลดอุปสรรคทางการค้าที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน”

“โดยอินโดนีเซียและไทยสามารถประสานจุดแข็งเชิงเปรียบเทียบในด้านต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจดิจิตอล เศรษฐกิจหมุนเวียนสีเขียว SMEs การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนอุตสาหกรรมสตาร์ตอัพระหว่างสองประเทศ”

“ประเทศไทยและอินโดนีเซียควรส่งเสริมความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อเพิ่มความร่วมมือในการการค้าและการลงทุนในลักษณะที่สมดุลและเป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับทั้งสองประเทศ”

“นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศควรทำงานร่วมกันและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาให้บรรลุวิสัยทัศน์ของประเทศ ด้วยการสร้างแบบจำลองเศรษฐกิจใหม่พร้อมกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตใหม่ที่ยึดเอาตามความยืดหยุ่นและความยั่งยืน”

 

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้อินโดนีเซียต้องยกระดับการควบคุมโรคขึ้นเป็นระดับ 3 ในจาการ์ตา บาหลี ยอกยาการ์ตา และบันดุง

ซึ่งภายใต้กฎใหม่นี้ ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าเปิดรับลูกค้าได้เพียงร้อยละ 60 จากความจุทั้งหมด

ขณะที่ศาสนสถานอนุญาตให้ประชาชนเข้าประกอบพิธีกรรมได้เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น

ส่วนกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซีย ระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติยังสามารถเดินทางเข้าอินโดนีเซียได้ ถ้ามีเอกสารที่ถูกต้องตามกำหนด

เยือนมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซียในการจัดการกับโควิด-19

นายระห์หมัด บูดีมัน กล่าวว่า

“การระบาดระลอกสอง ปี 2021 อินโดนีเซียสามารถจัดการและควบคุมการแพร่กระจายของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้สำเร็จ ดังที่เห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2021 หลังจากเพิ่มขึ้นสูงในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2021 ถึงมากกว่า 40,000 รายต่อวัน ผู้ป่วยโควิดลดลงเหลือระหว่าง 300 ถึง 500 รายต่อวัน”

“ความสำเร็จของรัฐบาลอินโดนีเซียในการควบคุมการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 อาจเกิดจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ การดำเนินการตามนโยบายควบคุมโรคระบาด หรือมาตรการจำกัดกิจกรรมทางสังคมขนาดใหญ่ (Pembatasan Sosial Berskala Besar หรือPSBB ) และโปรแกรมการฉีดวัคซีนของเรา”

“PSBB เป็นรูปแบบที่จำกัดของการล็อกดาวน์ โดยไม่อนุญาตให้มีกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่ไม่จำเป็นและไม่สำคัญ”

“รัฐบาลเริ่มโครงการฉีดวัคซีนแห่งชาติในช่วงต้นเดือนมกราคม 2021 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชาวอินโดนีเซียได้รับวัคซีน 208 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 70% ของประชากรทั้งหมด ภายในสิ้นปี 2021 โดยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2022 จำนวน V1 สูงถึง 90.23% (187 ล้านโดส) และ V2 64.53% (134 ล้านโดส)”

คำว่า ล็อกดาวน์ ถูกแทนที่ด้วยข้อจำกัดทางสังคมขนาดใหญ่ (PSBB) ในอินโดนีเซียด้วยกฎระเบียบที่ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจอยู่รอด

“แต่ตอนนี้ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron variant) แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว”

“จากข้อมูลเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2022 ผู้ป่วยโควิด-19 ในอินโดนีเซียมีจำนวนถึง 539,214 ราย ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยที่เพิ่มอีก 24,728 รายในวันเดียวกัน”

“รัฐบาลอินโดนีเซียให้วัคซีนแก่ประชาชนรวมทั้งเด็กอายุ 5-11 ปีตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021”

“เราได้เริ่มให้วัคซีนบูสเตอร์ (เข็มที่ 3) แก่ประชาชนด้วย นอกเหนือจากการนำนโยบายการจำกัดขนาดใหญ่มาใช้อีกครั้ง (PSBB) และจากข้อมูลล่าสุดในวันที่ 1 มีนาคม 2022 การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในอินโดนีเซียมีจำนวนถึง 345,697,245 โดส”

 

ปัจจุบันอินโดนีเซียกำลังต่อสู้กับการระบาดระลอกสามของโรคโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน โดยทางการจำกัดจำนวนผู้เข้าทำงานในออฟฟิศสูงสุดที่ 50% สำหรับพื้นที่ที่มีการแพร่เชื้อในระดับสูง ขณะพนักงานส่วนที่เหลือให้ทำงานจากที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโอมิครอน อาจยังไม่เพียงพอ แต่ที่แน่ชัด โอมิครอนไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์ไร้เดียงสาที่ไม่อันตรายเหมือนที่เราเข้าใจก่อนหน้านี้ ผู้ที่ติดเชื้ออาจมีได้ทั้งที่ไม่รุนแรง ไม่แสดงอาการ หรืออาจก่อโรคร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

การกลับมาใช้ชีวิตหลังคลายล็อกดาวน์ จึงยังต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตนเอง ระมัดระวัง ป้องกันการติดเชื้อ ตามสไตล์วิถี New Normal ในแบบที่เราเคยเป็น •