ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เปลี่ยนไป / มองบ้านมองเมือง : ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง

ปริญญา ตรีน้อยใส

 

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เปลี่ยนไป

 

ยังคงพาไปมองอสังหาริมทรัพย์หลังโควิดต่อ เพราะการมาเยือนของเจ้าไวรัสมงกุฎครั้งนี้ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตกันน่าดู

การอยู่บ้านช่วยชาติ ทำให้ใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น จะออกจากบ้านบ้างตามวาระและโอกาส พื้นที่บ้านจึงเปลี่ยนไป จากบ้านจัดสรร สามห้องนอน สามห้องน้ำ ห้องพักแบบสตูดิโอหรือวันเบดรูมแคบๆ ที่ทุกคนรีบนอน รีบตื่น รีบเข้าห้องน้ำ เพื่อมานั่งแช่ในรถยนต์นานๆ หรือยืนเบียดกับผู้คนในรถไฟฟ้า หมดไป

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องการบ้านที่มีพื้นที่เพิ่มขึ้น มีห้องสำหรับทำงานส่วนตัว การต่อครัวไทยริมรั้วนอกบ้าน ไม่น่าจะเหมาะกับบรรยากาศทำกินกันเอง การสั่งของออนไลน์ การเตรียมเสบียงในช่วงเคอร์ฟิวล็อกดาวน์ ทำให้ต้องซื้อของสำรองไว้ ห้องเก็บของเลยกลายเป็นเรื่องจำเป็น

พื้นที่นอกบ้านก็สำคัญ จากที่ไม่เคยใช้ เพราะออกบ้านมืด กลับบ้านมืด มาเป็นอยู่ในห้องจนเบื่อ อยากออกไปหายใจนอกบ้านบ้าง

รูปแบบที่อยู่อาศัยที่ต้องการในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นห้องชุดในคอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด และบ้านเดี่ยว จะต้องมีพื้นที่กว้างกว่าเดิม รองรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแล้ว

สำหรับอาคารชุดพักอาศัยสูงระฟ้า การมีเพื่อนบ้านขึ้นลงลิฟต์พร้อมกัน เป็นเรื่องหวาดระแวงยิ่งนักในช่วงโควิด และต่อไปจะเป็นเรื่องน่าเบื่อ

จึงส่งผลให้อาคารชุดขนาดเล็ก มีคนร่วมอยู่ไม่มาก เป็นที่สนใจมากขึ้น

 

สิ่งที่ต้องการเพิ่มขึ้นคือ สภาพแวดล้อม ช่วงโควิดทำให้หลายคนรู้จักเพื่อนบ้านที่ออกมาวิ่ง เดิน บนถนนด้วยกัน หรือมีเวลาออกกำลังกาย ว่ายน้ำในสโมสร บนคอนโดฯ

ดังนั้น สิ่งอำนวยความสะดวก คงจะมีความสำคัญมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องมีสวนสาธารณะกว้างๆ ตามตำราฝรั่ง หรือตามสัดส่วนประชากร

แค่ถนนในหมู่บ้านสว่าง สะอาด ไม่เป็นหลุมบ่อก็พอ แค่สระน้ำสะอาดในคอนโดฯ ก็พอ เพราะยิ่งใหญ่ ยิ่งพิสดาร ยิ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนกลางมากขึ้น

เมื่อการเดินทางไปทำงาน ไปเรียน ไปซื้อของ ลดน้อยลง ทำเลที่ตั้งโครงการก็จะเปลี่ยนไป ไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ทางขึ้นทางด่วน หรือถนนสายหลัก ใกล้สถานีรถไฟฟ้า จะอยู่ลึกไปในซอย ก็ไม่เป็นปัญหา

เดินเท้าออกกำลังหรือใช้บริการพี่วิน หรือรถตุ๊กตุ๊กก็พอไหว เพราะยังไงก็ไม่ได้เดินทางทุกวัน

 

ช่วงโควิดแพร่ระบาด มีลูกศิษย์คนหนึ่งตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียม โครงการเคนซิงตัน ของบริษัทออริจินฯ แบบหนึ่งห้องนอน ในอาคารสูงแค่แปดชั้น มีห้องชุดแค่หลักสิบ มีคนอยู่หลักร้อย โครงการแม้จะอยู่ในซอย แต่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าพหลโยธิน 59

ลูกศิษย์ให้เหตุผลว่า ตามกำลังทรัพย์มี ถ้าเลือกโครงการย่านราชเทวี ลาดพร้าว หรือแม้แต่บางเขน จะเป็นแบบสตูดิโอเล็กมาก ที่ไม่ชอบคือ มีห้องชุดหลักร้อย มีคนอยู่หลักพันบนตึกสูง

เมื่อเขายังต้องใช้รถไฟฟ้าสายเดิม แค่ยอมอยู่ไกลจากราชเทวีนิด ลาดพร้าวหน่อย เลยวัดพระศรีมหาธาตุฯ ไป ไม่ได้มีปัญหาอะไร ยังมีข้อดีที่ขึ้นสถานีนี้แล้วได้นั่งแน่นอน

แนวคิดของลูกศิษย์ ไม่ได้มีปัญหาอะไร สะท้อนให้เห็นชัดว่า พฤติกรรมผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไปแน่นอน •