คัมภีร์กุรอานว่าด้วยการสืบพันธุ์ (2)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

คัมภีร์กุรอานว่าด้วยการสืบพันธุ์ (2)

 

1.ส่วนประกอบของของเหลวที่ใช้ในการผสมพันธุ์

คัมภีร์กุรอานบรรยายถึงของเหลวที่สามารถทำให้เกิดการผสมพันธุ์ขึ้นด้วยศัพท์ที่น่าสนใจที่จะตรวจดูคือ

ก) “น้ำอสุจิ” ซึ่งกล่าวถึงมาแล้วอย่างถูกต้อง (75 : 35)

ข) ของเหลวที่ถูกหลั่งออกมา “มนุษย์ถูกสร้างขึ้นจากของเหลวที่ถูกหลั่งออกมา”

ค) “ของเหลวที่ถูกรังเกียจ” (32 : 8 และ 77 : 20)

คำคุณศัพท์ว่า “น่าชังหรือถูกรังเกียจ” (มะฮีน) นั้นดูเหมือนว่าจะได้รับการตีความที่ไม่ได้คำนึงถึงลักษณะของของเหลวนั้นเองนัก แต่คำนึงถึงเรื่องที่ว่ามันถูกขับออกมาจากท่อปัสสาวะ คือใช้ช่องทางที่มีไว้สำหรับถ่ายปัสสาวะ

ง) “ของผสม” คือ “ของเหลวที่ผสมกัน” (อัมชาจ)

“แท้จริง เราได้สร้างมนุษย์ขึ้นจากของเหลวที่ผสมกันจำนวนเล็กน้อย” (76 : 2)

นักอรรถาธิบายหลายคน อย่างเช่น ศาสตราจารย์ฮามิดุลลอฮ์ (Hamidullah) ถือว่าของเหลวเหล่านี้เป็นของชายและหญิง นักอรรถาธิบายสมัยเก่ากว่านั้นผู้ไม่สามารถมีความคิดในเรื่องสรีรศาสตร์ของการผสมพันธุ์โดยเฉพาะในเรื่องสภาพทางชีววิทยาในกรณีของสตรีได้ก็มีทรรศนะเช่นเดียวกัน พวกเขาคิดว่าคำนี้หมายความถึงการรวมกันของส่วนประกอบสองอย่าง

อย่างไรก็ดี นักแปลสมัยใหม่ อย่างเช่น นักอรรถาธิบายของหนังสือมุนตะกับ ซึ่งเรียบเรียงโดยสภาสูงเพื่อกิจการของอิสลาม ณ กรุงไคโรก็ได้แก้ไขความคิดนี้และได้ให้ข้อสังเกตไว้ในที่นี้ว่า “น้ำอสุจิจำนวนเล็กน้อย” นั้นประกอบด้วยส่วนประกอบต่างๆ ผู้ให้คำอธิบายในมุนตะกับ มิได้กล่าวเป็นรายละเอียด แต่ในความคิดเห็นของบูกายย์นั้นเป็นข้อสังเกตที่ละเอียดรอบคอบมากทีเดียว

อะไรคือส่วนประกอบของน้ำอสุจิ?

นํ้าอสุจิเกิดขึ้นจากการหลั่งต่างๆ ซึ่งมาจากต่อมต่อไปนี้

ก) ลูกอัณฑะ : การหลั่งของอวัยวะสืบพันธุ์ของชายมีสเปิร์มมาโตซูน (Spermatozoons) บรรจุอยู่ มันเป็นเซลล์รูปร่างยาวๆ มีหางยาวๆ ลอยอยู่ในของเหลว

ข) ถุงอัณฑะ : อวัยวะเหล่านี้เป็นที่เก็บสเปิร์มมาโตซูนและอยู่ใกล้ๆ กับต่อมที่คว่ำอยู่ มันขับของเหลวของมันเองออกมาด้วยแต่ไม่มีเชื้อสำหรับผสมพันธุ์

ค) ต่อมที่คว่ำอยู่ : ขับของเหลวซึ่งทำให้น้ำอสุจิมีลักษณะคล้ายครีมและมีกลิ่นพิเศษออกมา

ง) ต่อมต่างๆ ที่อยู่ติดกับท่อปัสสาวะ : ต่อมคูเปอร์หรือต่อมเมรี (Meri) จะขับของเหลวเหนียวๆ ออกมา และต่อมลิตเตร (Littre) จะขับน้ำคล้ายๆ น้ำมูกออกมา

เหล่านี้คือต้นตอของ “ของเหลวที่ผสมกัน” ซึ่งคัมภีร์กุรอานกล่าวถึง อย่างไรก็ตาม ยังมีอย่างอื่นที่จะต้องพูดถึงอีกในเรื่องนี้ คือเมื่อคัมภีร์กุรอานกล่าวถึงของเหลวสำหรับผสมพันธุ์ซึ่งประกอบด้วยส่วนประกอบต่างๆ นั้น คัมภีร์กุรอานยังบอกเราด้วยว่าลูกหลานของมนุษย์จะได้รับการรักษาไว้โดยอะไรบางอย่างซึ่งอาจถูกกลั่นมาจากของเหลวนี้ นี่คือความหมายของซูเราะฮ์ (บท) ที่ 32 โองการที่ 8 “พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้เกิดลูกหลานของเขาจากแก่นของของเหลวอย่างหนึ่งที่ถูกรังเกียจ”

คำภาษาอาหรับที่แปลว่า “แก่น” ก็คือคำสุลาละ คำนี้หมายถึง “สิ่งใดที่ถูกกลั่นออกมา การออกมาของสิ่งอื่น ส่วนที่ดีที่สุดของสิ่งหนึ่ง” ไม่ว่าจะแปลแบบไหนก็ตาม มันก็หมายถึงส่วนหนึ่งของส่วนทั้งหมด

การผสมพันธุ์ของไข่และการสืบพันธุ์นั้นผลิตขึ้นโดยเซลล์อย่างหนึ่งซึ่งมีรูปร่างยาวมาก ขนาดของมันวัดได้เท่ากับ 1/100 ของหนึ่งมิลลิเมตรในสภาพปกติ (คำนวณไว้ว่าในน้ำอสุจิขนาด 1 ลูกบาศก์เซนติเมตรจะมีสเปิร์มมาโตซูนอยู่ 25 ล้านตัว และในสภาพปกติการหลั่งอสุจิครั้งหนึ่งๆ มีหลายลูกบาศก์เซนติเมตร) เพียงแค่เซลล์เดียวในท่ามกลางหลายสิบล้านเซลล์ที่ผู้ชายผลิตขึ้นมาจะแทรกเข้าไปในรังไข่ได้จริงๆ เหลือจำนวนมากจะถูกทิ้งไว้เบื้องหลังโดยไม่มีวันเดินทางจากปากช่องคลอดไปยังรังไข่ได้สำเร็จโดยผ่านไปทางมดลูกและท่อรังไข่ เพราะฉะนั้น จึงมีแต่ส่วนที่เล็กเหลือประมาณของส่วนที่ถูกกลั่นจากของเหลวซึ่งส่วนประกอบของมันสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่งเท่านั้นที่เข้าไปทำหน้าที่ของมันได้สำเร็จจริงๆ

ผลก็คือเป็นการยากที่เราจะไม่รู้สึกสะดุดใจเพราะความสอดคล้องต้องกันระหว่างข้อความในคัมภีร์กุรอานกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่เรามีอยู่ทุกวันนี้เกี่ยวกับปรากฏการณ์เหล่านี้

 

2.การฝังตัวของไข่ในอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง

เมื่อไข่ได้ถูกผสมพันธุ์ในท่อรังไข่แล้วมันก็จะลงไปอยู่ข้างในมดลูกนี่เรียกว่า “การฝังตัวของไข่” คัมภีร์กุรอานเรียกที่อยู่ของไข่ที่ผสมพันธุ์แล้วว่าครรภ์

ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 22 โองการที่ 5 “เรา (พระผู้เป็นเจ้า) ทำให้ผู้ที่เราประสงค์ไปพักอยู่ในครรภ์เป็นระยะเวลาที่กำหนดให้”

การฝังตัวของไข่ในมดลูก (ครรภ์) คือผลแห่งพัฒนาการของรกคือระยะทางที่แท้จริงของไข่ซึ่งดูดซับอาหารมาจากความหนาของมดลูกอันจำเป็นสำหรับความเจริญเติบโตของไข่ เช่นเดียวกับรากต้นไม้ในเนื้อดินการก่อรูปเช่นนี้ทำให้ไข่เกาะอยู่กับมดลูก นี่คือการค้นพบในสมัยใหม่นี้

การเกาะอยู่นี้ได้ถูกบรรยายไว้ต่างๆ กัน 5 ครั้งในคัมภีร์กุรอาน ครั้งแรกในซูเราะฮ์ (บท) ที่ 96 โองการที่ 1-2 “จงอ่านในนามแห่งพระผู้เป็นเจ้าผู้สร้าง ผู้ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาจากบางสิ่งที่เกาะอยู่”

“บางสิ่งที่เกาะอยู่” นั้นเป็นคำแปลของคำว่า “อะลัก” นี่เป็นความหมายดั้งเดิมของคำนี้ แต่ในคำแปลส่วนมากใช้คำว่า “ก้อนเลือด” ซึ่งมาจากความหมายข้างบนนี้ นี่เป็นความผิดพลาดที่เราควรเอาใจใส่ เพราะมนุษย์ไม่เคยผ่านไปสู่ขั้นตอนของการเป็น “ก้อนเลือด” เลย

สำหรับคำแปลอีกอย่างหนึ่งคือ “การเกาะติด” ก็เช่นเดียวกันคือไม่เหมาะสมพอๆ กัน ความหมายดั้งเดิมคือคำว่า “บางสิ่งที่เกาะอยู่” นั้นตรงกับความเป็นจริงที่ค้นพบได้ในสมัยนี้อย่างแท้จริง

แนวความคิดนี้จะได้พบอีกในโองการอื่นๆ 4 โองการซึ่งบรรยายถึงการก่อรูปอย่างต่อเนื่องกันมาตั้งแต่เป็นน้ำอสุจิจำนวนเล็กน้อยไปจนจบ

ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 22 โองการที่ 5 : “ผู้ทรงสร้างพวกเจ้าจาก…บางสิ่งที่เกาะอยู่”

ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 23 โองการที่ 14 : “เราได้ทำให้ (น้ำอสุจิ) จำนวนเล็กน้อยกลายเป็นบางสิ่งที่เกาะอยู่”

ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 40 โองการที่ 67 : “พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างพวกเจ้าขึ้นจากจำนวนเล็กน้อย (ของน้ำอสุจิ) และจากบางสิ่งที่เกาะอยู่”

ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 75 โองการที่ 37-38 : “(มนุษย์) นั้นมิใช่อสุจิจำนวนเล็กน้อยซึ่งถูกหลั่งออกมาดอกหรือ? หลังจากนั้นเขากลายเป็นบางสิ่งที่เกาะอยู่ ครั้นแล้วพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกล่อมเกลาเขาให้มีส่วนสัดที่เหมาะสม”

อวัยวะที่ให้ที่พักพิงแก่การมีครรภ์นั้นในภาษาอาหรับใช้เรียกด้วยคำคำหนึ่งซึ่งยังคงใช้อยู่และหมายถึงมดลูก ในบางซูเราะฮ์มันถูกเรียกว่า “ที่อยู่ซึ่งถูกสร้างขึ้นอย่างมั่นคง” (23 : 13 ที่ยกมาแล้วข้างบนนี้ และ 77 : 21) (ในอีกโองการหนึ่ง (6 : 98) กล่าวถึงสถานที่พักอาศัยชั่วคราว ถูกแสดงออกด้วยคำที่คล้ายคลึงกับคำที่กล่าวมาก่อนนี้และดูเหมือนจะหมายถึงมดลูกของมารดา บูกายย์เชื่อว่านี่เป็นความหมายของโองการนี้

อีกโองการหนึ่งซึ่งต้องการการตีความที่ละเอียดอ่อนอย่างที่สุดคือโองการต่อไปนี้ ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 39 โองการที่ 6 : “(พระผู้เป็นเจ้า) ทรงสร้างพวกเจ้าไว้ภายในร่างกายของมารดาของพวกเจ้าเป็นการก่อรูปแล้วก่อรูปเล่าใน (ผ้าคลุมแห่ง) ความมืดสามชั้น (ชุลุม็าต)

นักตีความคัมภีร์กุรอานสมัยใหม่แลเห็นว่าในโองการนี้กล่าวถึงชั้นทางกายวิภาคศาสตร์สามชั้นที่ปกป้องทารกอยู่ในระหว่างระยะตั้งครรภ์ คือผนังช่องท้อง, ตัวมดลูกเอง และสิ่งที่อยู่ล้อมรอบลูกอ่อนในครรภ์ (คือรกในครรภ์, พังพืด และของเหลวคือน้ำคร่ำ)

ทั้งนี้ บูกายย์กล่าวว่า เขาจำเป็นต้องยกโองการนี้มาเพื่อให้มีความสมบูรณ์ การตีความที่ให้ไว้ ณ ที่นี้นั้น เขาไม่รู้สึกว่าน่าจะโต้แย้งอะไรจากมุมมองทางด้านกายวิภาคศาสตร์

แต่นี่คือความหมายที่แท้จริงของข้อความในกุรอานหรือไม่?