นับถอยหลัง ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ‘ชัชชาติ’ นำโด่ง ‘วิโรจน์’ ปาด ‘สุชัชวีร์ พปชร.ถอดใจไม่ส่ง ต่างตอบแทน ‘สกลธี’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

นับถอยหลัง ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

‘ชัชชาติ’ นำโด่ง

‘วิโรจน์’ ปาด ‘สุชัชวีร์

พปชร.ถอดใจไม่ส่ง ต่างตอบแทน ‘สกลธี’

 

ในที่สุดก็ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ สำหรับวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังถูกดองตำแหน่งไว้ด้วยการ ‘แต่งตั้ง’ แทนที่จะมาจากการ ‘เลือกตั้ง’ อย่างที่ควรจะเป็น

ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคาะให้มีการจัดการเลือกตั้งอย่างแน่นอนในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ทั้งเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม, ส.ก. และนายกเมืองพัทยา แต่ต้องรอให้ กกต.ประกาศวันเข้าคูหาอย่างเป็นทางการ

อาจเป็นอาทิตย์ 22 พฤษภาคม หรืออาทิตย์ 29 พฤษภาคม

อย่างที่รู้กันดีว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ถูกแช่แข็งมานานหลายปี นับตั้งแต่ คสช.ประกาศแต่งตั้งให้ ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม.มาตั้งแต่ 18 ตุลาคม 2559 การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในรอบนี้จึงคึกคักเป็นพิเศษ พรรคการเมืองพรรคใหญ่พรรคเล็กต่างส่งตัวแทนลงชิงเก้าอี้สำคัญตัวนี้

ไม่ว่าจะเป็น ‘ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แคนดิเดตจากพรรคประชาธิปัตย์

‘นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ที่ยื่นใบลาออกจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เปิดตัวเป็นผู้สมัครในนามพรรคก้าวไกล

และ ‘ดร.ประยูร ครองยศ’ อดีตรอง ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ก็เปิดตัวลงสมัครในนามพรรคไทยศรีวิไลย์ แม้ก่อนหน้าเคยประกาศจะลงสมัครในนามอิสระมาก่อนก็ตาม

ขณะที่ผู้ท้าชิงในนาม ‘ผู้สมัครอิสระ’ ก็น่าจับตาไม่น้อยกว่า ตัวเต็งคนสำคัญคงหนีไม่พ้น ‘รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตแคนดิเดตตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ที่ครั้งนี้ลงสมัครในนามอิสระ

‘น.ส.รสนา โตสิตระกูล’ อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ผู้ลงสมัครเป็นคนแรกๆ

‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ ผู้ว่าฯ คนปัจจุบันที่เตรียมนับถอยหลังหมดวาระ แม้ยังไม่ประกาศตัวลงสมัครอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าคงไม่พลาดลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ อีกครั้ง ผ่านการเลือกตั้งในฐานะผู้สมัครอิสระ โดยมีกำลังสนับสนุนหลักอย่างทีมรักษ์กรุงเทพ เป็นแบ๊กอัพ

 

‘นายสกลธี ภัททิยกุล’ อีกหนึ่งผู้สมัครที่น่าจับตา หลังยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. มาลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ ในนามผู้สมัครอิสระ ท่ามกลางกระแสข่าวลือหนาหูก่อนหน้านี้ว่ามีผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐทาบทามให้ลงสมัครในนามของพรรค

โดยหลังจากยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรองผู้ว่าฯ เจ้าตัวก็ได้โพสต์ข้อความขอบคุณโอกาสที่ได้รับจากผู้ใหญ่ ในการให้เข้ามาบริหารราชการในฐานะรองผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงขอบคุณบุคลากรของกรุงเทพมหานครทุกคนที่ได้ร่วมกันทำหน้าที่แก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อพี่น้องชาวกรุงเทพมหานครอย่างเต็มความสามารถ ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยใจความช่วงหนึ่งระบุยืนยันชัดว่าจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ

“หลายปีที่ผ่านมา มีหลายสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครของเราครับ แต่อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่ายังมีอีกหลายด้านที่สามารถทำให้ ‘ดีกว่านี้ได้’ ทั้งในด้านกายภาพและคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพมหานคร

ผมเชื่อมั่นมากครับว่ากรุงเทพมหานครของเรา ‘ดีกว่านี้ได้’ ในหลายๆ ด้าน ดังนั้น ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะเกิดขึ้นอันใกล้นี้ ผมพร้อมและขออาสาเสนอตัวเป็นผู้สมัครในนามอิสระ โดยใช้ประสบการณ์และหลายๆ สิ่งที่เก็บสะสมมาและอยากจะทำ ซึ่งผมอยากจะขอแรงสนับสนุนจากพี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร ให้โอกาสผมและทีมงานได้รับใช้ทุกท่านด้วยนะครับ”

 

เมื่อมองความเป็นจริง การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในรอบนี้ จะเห็นว่ามีคนที่ประกาศตัวอาสาจะขึ้นมาเป็น ‘พ่อเมือง’ รวมถึงเดินหน้าหาเสียงเต็มตัวอย่างชัดเจนถึง 5 คน นั่นก็คือ ‘ดร.เอ้ สุชัชวีร์-วิโรจน์-ดร.ชัชชาติ-รสนา และสกลธี’ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเพิ่งจะเปิดเผยว่าจะไม่ส่งผู้สมัครเข้าแข่ง โดยอ้างว่ามีคนสมัครเยอะแล้ว

เรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. เผยภายหลังการประชุมของพรรคเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ยืนยันว่าพรรคจะไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ขอย้ำว่าทุกอย่างยังดีและมีความเข้มแข็ง ทุกคนพร้อมสู้ในนามพรรค เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากพรรคสนับสนุนนายสกลธี ภัททิยกุล ชิงผู้ว่าฯ กทม. จะเป็นการย้ำว่าในอนาคตจะมาร่วมงานกับพรรคหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวสั้นๆ เพียงว่า “เขาลาออกจากพรรคไปแล้ว”

ด้านนายจักรพันธ์ พรนิมิต ส.ส.กทม.ในฐานะหัวหน้าภาค กทม. กล่าวว่า หลายพรรคประกาศไม่ได้ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของแต่ละพรรค ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ผ่านมาสนามเลือกตั้งท้องถิ่น พรรคใหญ่เคยไม่ส่งผู้ว่าฯ กทม.มาแล้ว

ดังนั้น ที่ พปชร.ตัดสินใจไม่ส่งผู้ว่าฯ กทม. เป็นวิธีคิดและยุทธศาสตร์ของพรรค และเห็นว่าการทำงานของ ส.ก. 50 เขต ที่จะส่งในนามพรรค สามารถทำงานเชื่อมโยงกับพรรคได้เป็นอย่างดี

 

หันกลับมาดูกระแสความนิยมของบรรดาผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

อันดับหนึ่งยังคงเป็นชื่อของ ‘ดร.ชัชชาติ’ เช่นเคย จากนิด้าโพลล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ทำการเปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 11’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,313 หน่วยตัวอย่าง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลักของนิด้าโพล สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 38.01 ระบุว่าเป็น ‘ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ อันดับ 2 ร้อยละ 13.40 ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ อันดับ 3 ร้อยละ 11.73 ระบุว่าเป็น ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ อันดับ 4 ร้อยละ 8.83 ระบุว่าเป็น ‘ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 5 ร้อยละ 8.61 ระบุว่าเป็น ‘ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ (พรรคประชาธิปัตย์) อันดับ 6 ร้อยละ 5.56 ระบุว่าไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) อันดับ 7 ร้อยละ 4.27 ระบุว่าเป็นผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย อันดับ 8 ร้อยละ 3.73 ระบุว่าเป็น ‘น.ส.รสนา โตสิตระกูล’ อันดับ 9 ร้อยละ 1.83 ระบุว่าจะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อันดับ 10 ร้อยละ 1.29 ระบุว่าเป็นผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ

และร้อยละ 2.74 ระบุว่าอื่นๆ ได้แก่ นายสกลธี ภัททิยกุล, ผู้สมัครจากพรรคกล้า, ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย, ผู้สมัครจากพรรคไทยภักดี และ ดร.ประยูร ครองยศ (พรรคไทยศรีวิไลย์)

 

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจอยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 10 เดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ (พรรคประชาธิปัตย์) ไปลงคะแนนไม่เลือกใคร (Vote NO) และผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย มีสัดส่วนลดลง

ในขณะผู้ที่ระบุว่า ‘ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ยังไม่ตัดสินใจ ‘ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ (พรรคก้าวไกล) และ ‘น.ส.รสนา โตสิตระกูล’ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

เห็นชัดว่าคะแนนความนิยมของผู้สมัครชิงผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ ยังคงเป็น ‘ชัชชาติ’ ที่มีคะแนนนำโด่งเกินต้านเหมือนเช่นเคย จนปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโอกาสนอนรอตำแหน่งมีสูงมาก

และที่น่าจับตาไม่น้อยก็คือ ‘วิโรจน์’ จากก้าวไกล ที่ปาดขึ้นมานำ ‘สุชัชวีร์’ จนหล่นลงไปอยู่อันดับ 5

ส่วนหนึ่งคงเป็นผลจากพิษดราม่ากรณีถูกยื่นสอบความร่ำรวยที่ดูผิดปกติในช่วงที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ที่พาให้ความนิยมของ ดร.เอ้หล่นไม่เป็นท่า

แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไป เพราะกว่าจะถึงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง คงมีเซอร์ไพรส์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

 

นี่ยังไม่รวมถึงการเลือกตั้ง ส.ก. ที่มีแววดุเดือดไม่แพ้กัน เห็นได้จากหลายพรรคเตรียมส่งขุนพลลงชิงตำแหน่งเต็มพิกัดทั้ง 50 เขตเลือกตั้ง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่กำลังจะมาถึงนี้ จะเป็นอีกหนึ่งศึกเลือกตั้งใหญ่และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้คนกรุงได้ตัดสินอนาคตของตัวเองผ่านสิทธิ์การเลือกผู้ว่าฯ ในแบบที่อยากได้

นอกจากนี้ แน่นอนที่สุด สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเป็นภาพจำลองความนิยมทางการเมือง ในสนามการเมืองใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นอีกไม่นาน