กรองกระแส/ทางโน้มการเมือง หลังยุค “โพสต์” ยิ่งลักษณ์ ทางโน้มเลือกตั้ง

กรองกระแส

ทางโน้มการเมือง หลังยุค “โพสต์” ยิ่งลักษณ์ ทางโน้มเลือกตั้ง

มีบทสรุป “ร่วม” ภายหลังการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม ว่าผลสะเทือนอันใหญ่หลวงจะตกอยู่กับ 1 พรรคเพื่อไทย 1 นปช.คนเสื้อแดง

ไม่ว่าจะมาจากบางส่วนของ “คสช.”

ไม่ว่าจะมาจากบางส่วนของ “พรรคประชาธิปัตย์” หรือแม้กระทั่งบางส่วนภายในพรรคเพื่อไทย บางส่วนภายใน นปช.คนเสื้อแดงก็มิได้ปฏิเสธ

นักวิชาการสรุปว่า เป็นสถานการณ์ในแบบ “โพสต์-ยิ่งลักษณ์”

นั่นก็คือ มองว่าพรรคเพื่อไทยและ นปช.คนเสื้อแดง เมื่อไม่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นขวัญกำลังใจก็ย่อมนำไปสู่สภาวะแตกแยก ระส่ำระสาย หมดพลัง และยิ่งหากว่าตระกูลชินวัตรวางมือทางการเมืองตาม “เงื่อนไขพิเศษ”

ก็ยิ่งทำให้ “ท่อน้ำเลี้ยง” อันมาจากตระกูลชินวัตรจะขาดหายไป และหมายถึงอนาคตที่สิ้นหวังของพรรคเพื่อไทยและ นปช.คนเสื้อแดง

บทสรุปนี้ดำเนินไปอย่างมีลักษณะ “ร่วม”

สัญญาณเลือกตั้ง

ยังเลือนราง ไม่ชัด

ทั้งที่ปรากฏการณ์นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม น่าจะเป็นผลดีในทางการเมืองต่อ คสช. ต่อรัฐบาล และต่อพรรคการเมืองอันเป็นคู่ขัดแย้งและเป็นปรปักษ์กับพรรคเพื่อไทย

แต่ความแจ่มชัดในกระบวนการของการเลือกตั้งก็ยังไม่ปรากฏ

อย่างน้อยที่สุดก็ไม่มีเบาะแสว่าทาง คสช. จะปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมและเคลื่อนไหวได้เป็นปรกติ

อันเท่ากับชี้ถึงความจำเป็นที่จะต้องตระเตรียมเพื่อการเลือกตั้ง

ยิ่งกว่านั้น แม้ทางด้านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะกำหนดวันเลือกตั้งตามโรดแม็ปและตามรัฐธรรมนูญว่าน่าจะต้องเกิดขึ้นภายในเดือนสิงหาคม 2561 แต่ก็ยังไม่มีวี่แววอะไรที่จะยืนยันว่าจะเป็นไปตามข้อกำหนดนั้น

เมื่อสอบถาม นายวิษณุ เครืองาม ก็ยืนยันแต่เพียงว่า เป็นเหตุผลของ กกต. เพื่อจะได้ให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้ตามปกติ

ยังไม่มีอะไรจริงจัง

ทุกอย่างจึงยังเป็นความเชื่อบนฐานข้อมูลเดิมที่ว่าจะต้องให้ผ่านพ้นเดือนตุลาคมอันเป็นพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมืองเสียก่อน ล็อกต่างๆ ในทางการเมืองจึงจะเริ่มขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นการปรับ ครม. ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบทบาทให้กับพรรคการเมือง

นั่นเท่ากับยืนยันว่าสถานการณ์จากวันที่ 25 สิงหาคม แทบไม่มีผลอะไรต่อการตัดสินใจของ คสช. และของรัฐบาลในเรื่องการเลือกตั้ง

จากโพสต์ “ทักษิณ”

มายังโพสต์ยิ่งลักษณ์

ความจริง สถานการณ์แบบเดียวกับที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประสบ ก็เคยเป็นสถานการณ์เดียวกันกับที่ นายทักษิณ ชินวัตร ประสบมาแล้ว

เพียงแต่ นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับจากรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้จะได้รับจากรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 แต่ก็เพิ่งแสดงออกอย่างเด่นชัดในกรณีวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เท่านั้น

แต่เนื้อหาและเป้าหมายแทบไม่แตกต่างกัน

เป้าหมายในการกำจัด นายทักษิณ ชินวัตร ก็เหมือนกับเป้าหมายในการกำจัด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือต้องการขจัดออกไปจากวงจรทางการเมืองเชิงปฏิบัติ

ถามว่า แล้วผลจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นอย่างไร

ตอบได้ว่า การเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 อิทธิพลของ นายทักษิณ ชินวัตร ก็ยังอยู่ การเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 อิทธิพลของ นายทักษิณ ชินวัตร ก็ยังอยู่ แถมยังมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาอีกคนหนึ่ง

กระทั่งมีความจำเป็นต้องมีรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 และมีความจำเป็นต้องก่อให้เกิดสถานการณ์อย่างที่เป็นในเดือนสิงหาคม 2560

ผลก็คือ เกิด “ผียิ่งลักษณ์” ปรากฏเรียงเคียงกับ “ผีทักษิณ”

สัญญาณเลือกตั้ง

มากับความมั่นใจ

หากไม่มีความมั่นใจในทางการเมือง คสช. จะไม่เดินเข้าสู่กระบวนการของการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด แต่ละบาทก้าวในทางการเมืองจึงนำไปสู่เป้าหมายนี้อย่างมั่นแน่ว

การขจัดบทบาทของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือกระบวนการ 1

เมื่อเสริมกับกระบวนการของรัฐธรรมนูญ และกระบวนการของคณะกรรมการปฏิรูป ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์

ทั้งหมดนี้คือ พิมพ์เขียว คือการตระเตรียม

เป็นการตระเตรียมเพื่อที่ในที่สุดแล้วหากเข้าสู่กระบวนการของการเลือกตั้ง ชัยชนะจักต้องเป็นของฝ่ายตนอย่างเป็นด้านหลัก

หากยังไม่มั่นใจ ปี่กลองของการเลือกตั้งก็จะยังไม่บังเกิด