‘อกาธา’/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

ธิรินทร์

 

‘อกาธา’

 

“อกาธา คริสตี้” เป็นหนึ่งในนักประพันธ์ชาวอังกฤษ ที่มีคนรู้จักกันมากที่สุดในโลก

ข้อมูลจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของเธอ agathachristie.com ระบุว่า ในบรรดาหนังสือทั้งหมดที่ขายกันอยู่นี้ มีเพียงคัมภีร์ไบเบิลและหนังสือของเช็กสเปียร์เท่านั้น ที่มียอดขายมากกว่าหนังสือของอกาธา

หนังสือนิยายแนวปริศนาฆาตกรรม ที่เธอบุกเบิกและเขียนไว้มากมายจนกลายเป็นเอกลักษณ์ ไม่ได้เป็นงานวรรณกรรมอันสูงส่ง แต่เป็นตัวอย่างของงานศิลปะที่สามารถเข้าถึงคนส่วนใหญ่

นิยายของอกาธาอ่านสนุก มีเสน่ห์ ชวนคิด ชวนติดตาม และยังพาคนอ่านไปตระเวนเที่ยวตามที่ท่องเที่ยวต่างๆ

แม้จะมีนักอ่านจำนวนไม่น้อย เห็นว่าการเก็บงำเงื่อนปมบางอย่างไว้ไม่บอกกันให้ครบ แล้วมาเฉลยตอนท้ายเรื่อง เพียงเพื่อไม่ให้คนอ่านไขปริศนาได้นั้น มันไม่แฟร์

แต่นักอ่านจำนวนมากก็มองข้ามกลวิธีการเขียนนี้ไป และยอมรับว่านี่แหละคือ “นิยายของอกาธา” ความสำเร็จของเธอเป็นผลของความมุ่งมั่น ทำในสิ่งที่ตนเองถนัดเพียงสิ่งเดียวตลอดชีวิต

 

นิยายเรื่องแรกของอกาธา ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 1920 ถัดจากนั้นไป 8 ปี หนังเรื่องแรกที่สร้างจากนิยายของเธอก็ออกฉาย แล้วหนังจากนิยายของอกาธาก็ออกฉายต่อมาอย่างต่อเนื่อง

เช่น ในยุค 1960s มีหนังที่ทำจากนิยายของเธอเข้าฉายถึง 9 เรื่อง

หนังเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นหนังอังกฤษ ประกอบด้วยนักแสดงที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก มีงานสร้างที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่จะเน้นที่บทภาพยนตร์ ซึ่งถอดมาจากนิยายอย่างค่อนข้างจะเคร่งครัด

จุดหักเหของหนังที่สร้างจากนิยายของอกาธา เกิดขึ้นเมื่อปี 1974 เมื่อทีมผู้สร้างชาวอังกฤษ จอห์น บราบอร์น และริชาร์ด กู้ดวิน นำนิยายเมื่อปี 1934 เรื่อง Murder on the Orient Express ซึ่งเป็นนิยายที่โด่งดังที่สุดเรื่องหนึ่งของเธอ มาทุ่มทุนสร้างเป็นหนังที่มีงานสร้างอันประณีต และอุดมไปด้วยนักแสดงระดับแถวหน้าจำนวนมากในยุคนั้น หนังเรื่องนี้ได้ทั้งเงิน ด้วยการเป็นหนึ่งในสิบหนังทำเงินในปีนั้น และยังได้กล่อง ด้วยการถูกเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ 6 สาขา หนังเรื่องนี้เข้าฉายในบ้านเราเมื่อปี พ.ศ.2518

ในการชิงออสการ์ 6 สาขานั้น สาขานักแสดงนำชายนับว่าน่าสนใจที่สุด เพราะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ตัวละครเฮอร์คูล ปัวโรต์ นักสืบผู้ปราดเปรื่องชาวเบลเยียมของอกาธา ได้เข้าชิงออสการ์

บทบาทนี้ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดคิดว่า อัลเบิร์ต ฟินนีย์ นักแสดงรูปหล่อฝีมือดีชาวอังกฤษผู้สวมบทนี้ มีรูปร่างอ้วน เตี้ย และพูดสำเนียงฝรั่งเศส เหมือนในหนัง เฮอร์คูล ปัวโรต์ ในแบบฉบับของฟินนีย์ เป็นคนลุ่มลึกที่มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ในสมองอย่างรวดเร็ว และยังทำอะไรเร็ว ชอบเฮฮา หัวเราะเสียงดัง ไร้มาดพระเอก แถมยามนอนยังใส่ตาข่ายคลุมผมและหนวด ที่ย้อมจนมีสีดำกริบ ต่างจากปัวโรต์ในเรื่องต่อมา รวมทั้งในเวอร์ชั่นล่าสุดของเคนเนธ บรานาห์ ซึ่งจะดูจริงจัง และมีมาดพระเอกค่อนข้างมาก

รางวัลออสการ์หนึ่งเดียวที่ Murder on the Orient Express ได้รับจากการเข้าชิงในครั้งนั้น นับเป็นออสการ์ตัวที่สามให้กับอินกริด เบิร์กแมน นักแสดงรุ่นลายครามชาวสวีดิช ซึ่งหนังเรื่องนี้ดูจะตั้งใจส่งเธอมากกว่านักแสดงคนอื่น ด้วยการถ่ายช็อตที่เธอให้การกับปัวโรต์เป็น long take มีความยาวประมาณ 5 นาทีอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการตัดภาพ

 

ซิดนีย์ ลูเม็ต ผู้กำกับฯ อเมริกัน ไม่ได้ถูกเสนอชื่อชิงออสการ์จากหนังเรื่องนี้ แต่ถูกเสนอชื่อเป็นหนึ่งในห้าผู้กำกับฯ ยอดเยี่ยมประจำปี ของสมาพันธ์ผู้กำกับฯ อเมริกัน ซิดนีย์ ลูเม็ต ดูออกจะเหมาะสมมากที่มากำกับหนังเรื่องนี้ เหยื่อในหนังถูกแทงด้วยมีดปรากฏเป็นแผลจำนวน 12 แผล มีผู้ต้องสงสัยทั้งสิ้น 12 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่พ้องกันพอดีกับชื่อหนังเรื่องแรกของเขาคือ 12 Angry Men ที่ยังคงเป็นหนังดราม่าในศาลที่คลาสสิคมาจนทุกวันนี้

Angry Men เป็นเรื่องของลูกขุน 12 คนที่ถูกกักตัวให้หารือกันในห้อง เพื่อให้มีมติเป็นเอกฉันท์สำหรับคำตัดสินชี้ขาดว่า เด็กคนหนึ่งผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม มีความผิดหรือไม่

เหตุการณ์แทบทั้งเรื่องเกิดขึ้นอยู่แต่ภายในห้องประชุม ยกเว้นช่วงหัวท้ายเรื่องเพียงไม่กี่นาที และมีตัวละครอยู่แค่ 12 คน

ซึ่งคล้ายกับ Murder on the Orient Express ซึ่งเดินเรื่องแทบทั้งหมดในพื้นที่จำกัดของขบวนรถไฟ และมีตัวละครหลักมากกว่าหนึ่งโหลอยู่เพียงเล็กน้อย

 

สี่ปีให้หลัง บราบอร์นและกู้ดวิน ทีมผู้สร้างเดิมนำนิยายของอกาธา ที่มีปัวโรต์เป็นตัวเอกอีกเรื่องหนึ่งคือ Death on the Nile มาทำเป็นหนังออกฉายเมื่อปี 1978 ครั้งนี้มีผู้กำกับฯ อเมริกันคนใหม่คือ จอห์น กิลเลอร์มิน นักดูหนังอาจไม่คุ้นชื่อของกิลเลอร์มินกันมากนัก แต่หากบอกว่าเป็นผู้กำกับฯ เรื่อง The Towering Inferno (ชื่อไทย : ตึกนรก) และเรื่อง King Kong (ชื่อไทย : คิงคอง 77) นักดูหนังรุ่นใหญ่น่าจะพอจำกันได้

Death on the Nile เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่นครนิวยอร์กเมื่อปลายเดือนกันยายน 1978 (พ.ศ.2521) เพื่อให้สอดรับกับการขายบัตรล่วงหน้าสำหรับนิทรรศการ ขุมทรัพย์ตุตันคามัน จากอียิปต์ ที่จะเปิดการแสดงในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Metropolitan ในนิวยอร์ก สำหรับบ้านเรา หนังลงโรงฉายเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2522 เป็นโปรแกรมพิเศษเปิดโรงภาพยนตร์ใหม่เอี่ยมในศูนย์การค้าประตูน้ำชื่อ พอลลี่ ซึ่งถูกทุบทิ้งไปนานมากแล้ว

ในส่วนของงานสร้าง Death on the Nile มีความพิถีพิถันและประณีต ใกล้เคียงกับ Murder on the Orient Express มีการยกกองไปถ่ายทำที่อียิปต์ ทำให้ได้ทัศนียภาพอันงดงามโดยฝีมือของแจ๊ก คาร์ดิฟ ช่างภาพรุ่นลายครามผู้ถ่ายหนังคลาสสิคเรื่อง The Red Shoes มาก่อน

ได้นักประพันธ์ดนตรีมือทองจาก The Godfather นีโน่ โรต้า มาทำดนตรีประกอบ มีงานออกแบบเครื่องแต่งกายที่ได้รับรางวัลออสการ์โดยฝีมือของแอนโธนี่ พาวล์

และสำหรับบทเฮอร์คูล ปัวโรต์ ที่ครั้งนี้สวมบทโดยปีเตอร์ อุสตินอฟ แม้จะมีบุคลิกจริงคล้ายกับปัวโรต์ มากกว่าอัลเบิร์ต ฟินนีย์ แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นผู้ใหญ่ใจดี มากกว่าที่จะเป็นนักสืบผู้ปราดเปรื่อง

ในช่วงที่เราเปิดฉาย Death on the Nile มีหนังเรื่องสำคัญสำหรับแฟนคลับของอกาธาเปิดฉายในต่างประเทศ แม้จะไม่ใช่หนังที่ทำจากนิยายของเธอ แต่ก็เป็นหนังที่ทำจากเรื่องจริงในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตของเธอ

หนังเรื่องนี้นำโดยสองนักแสดงที่อยู่แถวหน้าสุดในยุคนั้นได้แก่ ดัสติน ฮอฟแมน ซึ่งรับบทเป็นนักหนังสือพิมพ์ชื่อวอลลี่ สแตนตัน ผู้ตั้งใจจะเขียนเรื่องของอกาธา และวาเนสสา เรดเกรฟ ซึ่งเพิ่งได้รับออสการ์เมื่อปีก่อนหน้า มารับบทเป็นอกาธา คริสตี้ หนังเรื่องนี้ชื่อ Agatha

Agatha ว่าด้วยเรื่องการหายตัวไปอย่างลึกลับของอกาธา ในช่วงเดือนธันวาคม 1926 เป็นเวลา 11 วัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเธอเริ่มเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง และเพิ่งเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ในขณะนั้นคือ The Murder of Roger Ackroyd

การหายตัวของเธอเป็นจุดสนใจของหนังสือพิมพ์ในอังกฤษแทบทุกฉบับ มีการออกติดตามหาตัวเธออย่างที่เรียกว่า เป็นการหาตัวคนหายครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ

จนทุกวันนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยว่าอกาธาหายตัวไปเพราะเหตุใด เกิดอะไรขึ้นกับเธอกันแน่

แม้แต่ในหนังสืออัตชีวประวัติที่เธอเขียนเอง ก็จงใจที่จะไม่เขียนถึงช่วงเวลานี้ไว้

สิ่งที่คลุมเครือ และเป็นที่สนใจในสังคม ก็มักจะก่อให้เกิดทฤษฎีอันหลากหลายขึ้นมาอธิบาย โดยเฉพาะเมื่อเรื่องที่คลุมเครือลึกลับนั้น เกิดขึ้นกับผู้เขียนเรื่องลีกลับเสียเอง

ทฤษฎีว่าด้วยการหายตัวของอกาธา ทฤษฎีแรกอ้างว่า เป็นการแกล้งหายตัวเพื่อสร้างข่าวโดยหวังจะเพิ่มยอดขายหนังสือ

ทฤษฎีที่สอง เป็นทฤษฎีทางการแพทย์ที่ว่า เธอมีความจำเสื่อมชั่วคราวจากอุบัติเหตุรถยนต์ ที่เกิดขึ้นในคืนที่เธอหายไป จากการพบรถยนต์ที่จอดทิ้งไว้ข้างทาง และเครื่องใช้ของเธอที่ถูกทิ้งไว้ในรถ

และอีกทฤษฎีหนึ่งอ้างว่า เธอตั้งใจหลบไปเปิดโปงความสัมพันธ์ลับระหว่างสามีของเธอและกิ๊กของเขา ที่โรงแรมที่ทั้งคู่กำลังจะเดินทางไปพัก

ซึ่งทฤษฎีนี้มีหลักฐานจากการพบว่า สามีของอกาธาขอหย่าเธอในวันก่อนเกิดเหตุ และมีบันทึกในสมุดลงทะเบียนของโรงแรมในช่วงที่เธอหายไปว่า มีผู้เข้าพักที่ใช้ชื่อสกุลนีล ซึ่งเป็นชื่อสกุลของกิ๊กของสามี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นตัวอกาธาเอง ที่เข้าพักในโรงแรม และจงใจใช้ชื่อปลอมเป็นชื่อนี้

หนังเรื่อง Agatha ซึ่งเดิมตั้งใจจะทำเป็นสารคดี จับทฤษฎีหลังนี้มาทำเป็นหนัง

 

Agatha มีงานสร้างประณีตคล้ายคลึงกับ Murder on the Orient Express และ Death on the Nile ในขณะที่สองเรื่องหลังตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเป็นนิยาย และเดินเรื่องในพื้นที่จำกัดเป็นส่วนใหญ่ Agatha ที่สร้างจากเรื่องจริง ได้ถ่ายทอดให้เราเห็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง ทุ่งหญ้า ถนนหนทาง ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของคนอังกฤษในยุค Jazz Age ซึ่งอยู่ระหว่างสงครามโลกสองครั้ง

ผู้รับหน้าที่ถ่ายภาพเป็นช่างภาพระดับแถวหน้าในยุคนั้นคือ วิตตอริโอ สโตราโร่ ซึ่งถ่ายภาพ Apocalypse Now ในเวลาใกล้เคียงกัน และ The Last Emperor ในภายหลัง ไมเคิล แอ็พเต็ด ผู้กำกับฯ อังกฤษรุ่นใหม่ในยุคนั้น เป็นผู้กำกับฯ ซึ่งเห็นได้ว่า แม้บทหนังจะไม่ได้ถูกเขียนออกมาในแนวปริศนาฆาตกรรม แต่ก็ถูกเดินเรื่องในโทนกึ่งลึกลับ กึ่งโรแมนติก ให้คล้ายกับนิยายของอกาธา เมื่อออกฉาย Agatha ไม่ได้ทั้งเงิน ไม่ได้ทั้งกล่อง และค่อยๆ หายเงียบไป

อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาของการหายตัวของอกาธา ยังคงมีเสน่ห์สำหรับวัฒนธรรมร่วมสมัยอยู่เสมอ

เมื่อต้นปีนี้เอง นีน่า เดอ การ์มอนต์ ได้นำช่วงเวลาดังกล่าวมาเขียนเป็นนิยายชื่อ The Christie Affair ที่มีการเล่าเรื่องจากมุมมองของแนนซี่ นีล กิ๊กของสามีของอกาธา ซึ่งในนิยายถูกเปลี่ยนชื่อเป็น แนน โอดี ไม่ต้องห่วงว่าหนังสือเล่มนี้จะออกมาในแนวปริศนาฆาตกรรมกันอีก เพราะนี่คือนิยายชิงรักหักสวาทระหว่างแนน โอดี กับอกาธา คริสตี้ ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ในส่วนของชีวิตจริงนั้น สองปีหลังจากเกิดเหตุการณ์หายตัว อกาธาหย่าขาดจากสามีและแต่งงานใหม่

หลังจากนั้น เธอยังเขียนนิยายต่อมาอีกเป็นจำนวนมากกว่าร้อยเรื่อง นิยายที่เป็นที่รู้จักกันดีแทบทั้งหมด เธอเขียนหลังจากเหตุการณ์นั้น

อกาธา คริสตี้ เสียชีวิตเมื่อมีอายุได้ 86 ปีเมื่อปี 1976 หลังจาก Murder on the Orient Express ลาโรงไปแล้ว และ Death on the Nile อยู่ระหว่างการถ่ายทำ ก่อนหน้านั้น เมื่อปี 1965 เธอเคยกล่าวไว้ว่า “ฉันคงไม่สามารถพูดอะไรได้มากกระมัง กับการมีอายุอยู่ถึง 75 ปี ขอบคุณพระเจ้าสำหรับชีวิตที่ดี และสำหรับความรักที่มีให้กับฉัน”

หากมีชีวิตถึงวันนี้ อกาธาจะมีอายุ 132 ปี และคำพูดประโยคนี้ของเธอ คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง