จะเกิดอะไรขึ้น? หากเกิด ‘สงครามนิวเคลียร์’

บทความต่างประเทศ

 

จะเกิดอะไรขึ้น?

หากเกิด ‘สงครามนิวเคลียร์’

 

นับตั้งแต่กองทัพรัสเซีย เปิดฉากบุกตะลุยเข้าสู่ชายแดนยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความหวาดกลัวว่าสงครามที่เป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศครั้งนี้จะยกระดับขึ้นจนกลายเป็น “สงครามนิวเคลียร์” ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย สั่งการให้กองกำลังนิวเคลียร์ เตรียมพร้อมขั้นสูงสุดเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา สร้างความหวาดผวาให้แผ่กระจายไปทั่วโลกในทันที

แม้จะมองได้ว่า “คำขู่” นั้นอาจเป็นเพียงเกมทางการเมืองระหว่างประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้ชาติตะวันตกโดยเฉพาะกองกำลังสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ส่งกำลังเข้าช่วยเหลือยูเครน

แต่ก็ต้องยอมรับว่า “ความหวาดผวา” เกิดขึ้นเพราะรัสเซียไม่ได้ข่มขู่อย่างเลื่อนลอย แต่อยู่บนพื้นฐานของประเทศที่มี “หัวรบนิวเคลียร์” ที่มากที่สุดในโลกในเวลานี้

 

จากตัวเลขของสถาบันวิจัยสันติภาพ SIPRI ในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ระบุว่า รัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดในโลกที่จำนวน 6,255 หัวรบ ขณะที่สหรัฐอเมริกาตามมาเป็นอันดับ 2 มีทั้งสิ้น 5,550 หัวรบ ตามมาห่างๆ ด้วยจีน มี 350 หัวรบ และฝรั่งเศส 290 หัวรบ นอกเหนือจากนั้นเป็นอังกฤษ อินเดีย อิสราเอล ปากีสถาน และเกาหลีเหนือเองก็มีอาวุธอันตรายอยู่ในมือเช่นกัน

SIPRI ระบุด้วยว่า แม้รัสเซียจะครอบครองหัวรบนิวเคลียร์มากกว่า แต่สหรัฐอเมริกามีหัวรบนิวเคลียร์ที่พร้อมใช้ทันทีมากกว่ารัสเซีย

ด้านคณะกรรมการรณรงค์เพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ (ICAN) เปิดเผยด้วยว่า รัสเซียใช้งบประมาณในการผลิตและดูแลรักษาอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมาสูงถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้วยแสนยานุภาพนิวเคลียร์ที่ “รัสเซีย” และ “สหรัฐอเมริกา” มีบวกกับสถานการณ์ใน “ยูเครน” ล่าสุดทำให้โลกตระหนักได้เป็นอย่างดีว่า สงครามนิวเคลียร์อาจอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

และนั่นเป็นคำถามต่อไปว่า หากรัสเซียตัดสินใจเปิดฉากสงครามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น?

 

ทีมวิจัยจากโครงการวิทยาศาสตร์และความมั่นคงของโลก (Science and Global Security-SGS) ของมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา ให้คำตอบเอาไว้ในเรื่องนี้โดยได้ทำแบบจำลอง คาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นหากรัสเซียเริ่มต้นสงครามนิวเคลียร์ขึ้นจริงๆ โดยมีพื้นฐานการวิเคราะห์จากข้อมูลจำนวนอาวุธ เป้าหมายและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่มีอยู่จริง

แบบจำลองดังกล่าวมีชื่อว่า “แพลนเอ” (PLAN A) เริ่มต้นด้วยรัสเซียเปิดฉากยิงนิวเคลียร์ “เตือน” จากฐานทัพคาลินนินกราด 1 ลูกโดยมีเป้าหมายไปยังฐานทัพของสหรัฐอเมริกา หรือนาโต

ส่งผลให้นาโตตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีเข้าใส่รัสเซีย

ในเวลานี้จุดเริ่มต้นสงครามนิวเคลียร์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วโดยมีสมรภูมิอยู่ในทวีปยุโรป รัสเซียจะตอบโต้ด้วยหัวรบนิวเคลียร์ 300 ลูกถูกส่งไปโจมตีด้วยเครื่องบิน และขีปนาวุธพิสัยใกล้เพื่อโจมตีฐานปฏิบัติการของนาโต ขณะที่นาโตตอบโต้ด้วยการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ 180 ลูก

แบบจำลองระบุว่าหลังเกิดการโจมตีเข้าใส่กัน ผ่านไปแล้ว 3 ชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2.6 ล้านราย

การโจมตีตอบโต้กันจะกลายเป็นโดมิโนที่ขยายวงออกไปแบบทวีคูณ ระยะต่อมา สหรัฐอเมริกาจะถูกบีบให้ยิงขีปนาวุธทำลายเป้าหมายทางทหารของรัสเซียจำนวนมากถึง 600 ลูก ตามมาด้วยการโจมตีโดยมีเป้าหมายที่เป็นแหล่งทรัพยากรของทั้งสองฝ่าย เมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐและรัสเซียจะถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ 5-10 ลูกอย่างต่อเนื่อง และผู้สูญเสียส่วนใหญ่จะเป็นพลเรือน โดยในระยะนี้ในช่วงเวลาแค่ 45 นาทีจะมีผู้เสียชีวิตมากถึง 85.3 ล้านคน

สรุปแล้วเมื่อเวลาผ่านไปเพียง 5-6 ชั่วโมงอาวุธนิวเคลียร์ของทั้งสองฝ่ายจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถีง 91.5 ล้านคน!

หลังจากการโจมตียุติลงจะเกิดฝุ่นกัมมันตรังสีฟุ้งกระจาย เกิดภาวะฤดูหนาวนิวเคลียร์ เพราะฝุ่นควันปกคลุ่มชั้นบรรยากาศผู้คนเจ็บป่วยล้มตายตามมาเป็นจำนวนมาก เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมตามมาอีกยาวนานหลายสิบปี

 

อีกคำถามต่อมาก็คือหากมีการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์เกิดขึ้นไม่ว่าจะที่ใดในโลกสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคืออะไร?

สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญระบุเอาไว้ตรงกันก็คือความเสียหายและชีวิตที่สูญเสียจะมากจนเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ที่ก้าวหน้าไปกว่านั้นมาก

อเล็กซ์ เวลเลอร์สตีน นักประวัติศาสตร์นิวเคลียร์ สร้างเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า “นุกแม็ป” (Nukemap) ที่สามารถให้ผู้ใช้งานลองทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงที่ใดก็ได้ในโลกโดยหากทดลองทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ขนาด 150 กิโลตันที่เกาหลีเหนือทดสอบเมื่อปี 2017 หรือคิดเป็นขนาด 10 เท่าของระเบิดนิวเคลียร์ที่สหรัฐอเมริกาทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมา ในสงครามโลกครั้งที่สองโดยลองจำลองให้ระเบิดบนพื้นดินใจกลางกรุงเทพฯ

ผลการจำลองสถานการณ์ระบุเอาไว้ว่า จะมีผู้เสียชีวิตทันที่ 235,000 คน มีผู้บาดเจ็บ 630,000 คน หลังจากนั้น 24 ชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิต 1.9 ล้านคน

โดยความรุนแรงของการระเบิดจะแบ่งเป็น 6 ระดับ โดยใกล้สูญกลางในรัศมี 590 เมตร ความร้อนของลูกไฟจะทำให้ทุกอย่างในรัศมี “ระเหิด” กลายเป็นไอทันที

ถัดออกไปในระยะ 1.16 กิโลเมตร อาคารคอนกรีตจะเสียหายอย่างหนัก หรือพังถล่มลงมาทั้งหมด ผู้ที่อยู่ในรัศมีจะเสียชีวิตทั้งหมด

ถัดออกมาในระยะ 1.94 กิโลเมตร จะเป็นระยะที่มีกัมมันตรังสีรุนแรงมาก ผู้ที่รอดชีวิตมาได้ 15 เปอร์เซ็นต์จะเสียชีวิตภายใน 1 เดือนด้วยโรคมะเร็ง

ถัดออกไปในรัศมี 2.43 กิโลเมตร บ้านเรือนจะพังถล่ม มีผู้ได้รับขาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นวงกว้าง เกิดไฟไหม้อาคารบ้านเรือนต่างๆ ห่างออกไปในระยะ 4.67 กิโลเมตร จะมีผู้บาดเจ็บจากผิวหนังถูกไฟไหม้ระดับ 3 ระบบประสาทรับความรู้สึกถูกทำลาย เกิดแผลเป็นรุนแรง หรือพิการต้องตัดแขนขาทิ้ง ส่วนในระยะสุดท้ายห่างออกจากจุดศูนย์กลาง 6.25 กิโลเมตร หน้าต่างอาคารบ้านเรือนจะแตกทั้งหมด มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ส่วนกระแสลมสามารถพัดฝุ่นกัมมันตรังสีไปได้ไกลถึงจังหวัดนครราชสีมาเลยทีเดียว

นั่นเป็นตัวอย่างแบบที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนกับการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ขนาดกลางเพียง 1 ลูกเท่านั้น ซึ่งนั่นคงเทียบไม่ได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้นหากรัสเซีย ตัดสินใจจุดชนวนสงครามนิวเคลียร์ขึ้นจริงๆ และความสูญเสียที่ตามมาคงจะมากมายเหนือจินตนาการ