จักรวรรดิของปูติน หรือแนวป้องกันของรัสเซีย (1)/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

จักรวรรดิของปูติน

หรือแนวป้องกันของรัสเซีย (1)

 

จะมีการใช้นิวเคลียร์

ยุทธวิธีขนาดเล็ก (tactical nuclear weapon) หรือไม่?

สภาพการณ์สงครามในยูเครนขณะนี้คือความเดือดร้อนของประชาชนอุ้มลูกจูงหลาน หอบหมา หอบแมว ลี้ภัยเข้าสู่เขตปลอดภัย สงครามขยายไปเรื่อยๆ ยังไม่รู้ว่าเขตปลอดภัยจะอยู่ตรงไหน

เหตุผลในการทำสงคราม จะกำหนดขอบเขตของสงคราม

ทางฝ่ายนาโตมองว่าปูตินบุกเข้ายูเครนเพราะต้องการขยายรัสเซียให้เป็นจักรวรรดิอีกครั้ง แต่ปูตินก็ตอบว่าเขาเพียงแต่ป้องกันรัสเซียที่ถูกภัยคุกคามจากนาโต ที่เอาสาธารณรัฐต่างๆ ซึ่งอยู่รอบรัสเซียไปเป็นสมาชิกและจะมีการตั้งขีปนาวุธจ่อคอหอยรัสเซียรอบด้าน ถ้าเขาไปตั้งขีปนาวุธไว้ที่แคนาดาหรือเม็กซิโก อเมริกาก็ไม่ยอมเหมือนกัน

สภาพสงครามจนถึงปัจจุบันนี้จึงยืดยาวออกไป ไม่จบง่ายๆ รัสเซียจะติดหล่มสงครามอยู่ในยูเครน และประเทศในกลุ่มนาโตทั้งหมดกำลังลังเลว่าจะทำอย่างไรดี กลัวว่าถลำเข้าไปแล้วจะติดพันเสียหาย

ยูเครนเสียหายจากสงครามโดยตรง และรัสเซียก็ได้รับผลกระทบอย่างแรงจากการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ ประเทศในยุโรปต้องได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันและพลังงาน ทั่วทั้งโลกก็ต้องได้รับผลกระทบในเรื่องนี้โดยอ้อมเช่นกัน

การที่นาโตแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ เป็นยุทธวิธีที่เหมาะสมในขณะนี้ เพราะถ้าใช้กำลังกระแทกเข้าใส่กัน ก็ยังไม่รู้ว่าสงครามจะขยายเป็นแบบไหน

ต้องเข้าใจว่าคู่ต่อสู้ของนาโตขณะนี้คือปูติน ไม่ใช่รัสเซีย และคนที่มีอำนาจจะสั่งใช้อาวุธนิวเคลียร์ก็คือ ปูติน

สิ่งที่น่ากลัวคือ นิวเคลียร์ยุทธวิธีขนาดเล็ก (tactical nuclear weapon) ที่จะใช้ทำลายเป้าหมายทางทหารขนาดใหญ่ ถ้าเริ่มจากตรงนี้สงครามอาจจะขยายตัวได้

ตอนนี้สงครามที่เกิดขึ้นมีแนวการต่อสู้ด้วยอาวุธ แนวรบเศรษฐกิจ และแนวรบทางด้านข่าวสารที่ผ่านสื่อต่างๆ จะเห็นว่าการบุกเข้ายึดยูเครนครั้งนี้ทั่วโลกต่อต้านอย่างมาก แต่ดูเหมือนปูตินจะไม่สนใจทั้งกระแสคนในโลกและคนในรัสเซีย และพร้อมจะตอบโต้ทุกประเทศที่เข้าร่วมสงครามครั้งนี้

ยังไม่มีใครรู้ว่าการยุติสงครามครั้งนี้จะทำได้อย่างไร? ข้อตกลงแบบไหนที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายพอใจ

 

ย้อนดูความเป็นมาของจักรวรรดิแดง

รัสเซียเคยเป็นจักรวรรดิขนาดใหญ่ที่ปกครองโดยกษัตริย์ในยุคก่อน ความยากจนข้นแค้นของชาวบ้านชาวนาทำให้เกิดการปฏิวัติขึ้น เรียกว่าการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ.1917 ส่งผลให้ระบอบการปกครองโดยกษัตริย์ถูกยกเลิกและเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ราชวงศ์โรมานอฟในเวลาต่อมา ก่อเกิดรัฐสังคมนิยมขึ้นมาแทน

แม้จะเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นแบบคอมมิวนิสต์ แต่ก็มีการสร้างจักรวรรดิใหม่ขึ้นมาตั้งแต่ปี 1922 เรียกว่า…สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต… เริ่มจากสาธารณรัฐรัสเซีย ยูเครน และเบลารุส จอร์เจีย จากนั้นก็ขยายไปเรื่อยๆ ในปี 1956 ก็มีสหภาพสาธารณรัฐรวมถึง 15 แห่ง เช่น อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน ลัตเวีย ลิทัวเนีย ฯลฯ

แต่ทางฝ่ายเมริกาก็ก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ขึ้นในปี 1949 (ช่วงนั้นในเอเชีย พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีชัยชนะก๊กมินตั๋ง)

สมาชิกก่อตั้ง NATO ประกอบด้วยประเทศเบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

ต่อมาใน ค.ศ.1952 กรีซและตุรกีได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ในขณะที่เยอรมนีตะวันตกเข้าร่วมเป็นสมาชิกใน ค.ศ.1955

สหภาพโซเวียตกล่าวโจมตีว่าองค์การ NATO มีวัตถุประสงค์เพื่อรุกราน จึงได้ตั้งองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอขึ้นในปี 1955 มีสมาชิก 8 ประเทศคือ แอลเบเนีย บัลแกเรีย เชโกสโลวะเกีย เยอรมนีตะวันออก โปแลนด์ ฮังการี โรมาเนีย และรัสเซีย

ทั้งสององค์การมีสนธิสัญญาป้องกันการรุกราน ว่า การโจมตีสมาชิกรัฐใดรัฐหนึ่งจะถือว่าเป็นการโจมตีรัฐสมาชิกทั้งหมด ยุคสงครามเย็นจึงดำเนินการต่อสู้กันมาหลายปีจนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1985

เมื่อมิกฮาอิล กอร์บาชอฟ ได้ขึ้นครองอำนาจเขาได้ดำเนินนโยบายปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจในสหภาพโซเวียตที่เรียกว่าแผน “เปเรสทรอยกา” (Perestroika) ที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนและสื่อมวลชนมากขึ้น ดำเนินโยบายถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในปี ค.ศ.1988

การปฏิรูปของกอร์บาชอฟได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่สมัยเลนิน กฎหมายนี้ได้อนุญาตให้ประชาชนมีทรัพย์สินส่วนบุคคล และดำเนินกิจการเอกชนได้

 

การปฏิวัติในยุโรปตะวันออก

และการสลายตัวของสหภาพโซเวียต (1989-1991)

การปฏิรูปในสมัยกอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต ทำให้ประเทศในยุโรปตะวันออกเริ่มปฏิรูปเช่นเดียวกัน

เพราะในขณะนั้นบรรดาประเทศในยุโรปตะวันออกต่างประสบปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงอยู่ในภาวะชะงักงันและใกล้จะล้มละลาย

มีการรวมเยอรมนี และเป็นปีที่เกิดการปฏิวัติของประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกอีก 5 ประเทศ ได้แก่ โปแลนด์ ฮังการี เชโกสโสวะเกีย บัลแกเรีย และโรมาเนีย การปฏิวัติของทั้ง 5 ประเทศแม้กระทั่งยูโกสลาเวีย

ต่อมา ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1990 ที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ได้มีมติเห็นชอบยกเลิกการรวมอำนาจไว้ที่พรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้เกิดการเลือกตั้ง ส่งผลให้อีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา รัฐจำนวน 15 รัฐของสหภาพโซเวียตได้รับรองกฎหมายเลือกตั้งทั่วไป และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียในปี ค.ศ.1991 คือ บอริส เยลต์ซิน ได้คะแนนสูงสุดถึง 57.3% (มีการเลือกตั้งในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ.1991)

เนื่องจากกอร์บาชอฟมีความพยายามที่จะลดความเป็นศูนย์กลางอำนาจของสหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียตจึงได้มีแผนจะผ่านสนธิสัญญา New Union Treaty ซึ่งจะมาแทน สนธิสัญญาการก่อตั้งสหภาพโซเวียต ปี ค.ศ.1922 ซึ่งมีแผนจะลงนามในวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ.1991 มีเนื้อหาแปลงสหภาพโซเวียตให้เป็นสหพันธรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นผู้นำของรัฐนั้นๆ

การปฏิรูปของกอร์บาชอฟส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในหมู่สมาชิกซ้ายจัดของพรรคคอมมิวนิสต์ และเกิดเป็นความพยายามรัฐประหารเดือนสิงหาคม แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเนื่องจากเกิดการต่อต้านจากประชาชนส่วนมากในประเทศ และเยลต์ซินสามารถกู้สถานการณ์เอาไว้ได้

ผลคือ คณะรัฐประหารถูกจับกุมและถูกสังหาร สนธิสัญญาถูกเห็นชอบ

หลังจากผ่านสนธิสัญญารัฐย่อยต่างๆ ของสหภาพโซเวียตซึ่งมีความพยายามจะแยกตัวมากก่อนหน้านี้แล้ว ได้มีการลงประชามติเห็นชอบการแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต

รัฐย่อยต่างๆ จึงได้แยกตัวจากสหภาพโซเวียตอย่างสมบูรณ์

ท้ายสุดในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.1991 กลายเป็นรัฐเอกราชใหม่ 15 รัฐอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการสิ้นสุดของสหภาพโซเวียต

หลายปีต่อมา องค์การนาโตได้เพิ่มสมาชิกทั้งหมดเป็น 30 ประเทศ ที่สร้างความไม่พอใจคือประเทศที่อยู่รอบรัสเซีย ได้แก่ เช็ก ฮังการี โปแลนด์ บัลแกเรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย สโลวะเกีย สโลวีเนีย โรมาเนีย แอลเบเนีย โครเอเชีย มอนเตเนโกร และมาซิโดเนียเหนือ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น

 

ปูตินออกจาก KGB ปี 1990

แต่ปกครองรัสเซียจากปี 2000 ถึงวันนี้

เมื่อปูตินจบการศึกษาในปี 1975 ก็ได้ไปทำงานให้ KGB และถูกส่งไปทำงานที่เยอรมนีตะวันออกในปี 1985 จนถึงปี 1989 ที่เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงในยุโรปตะวันออก ปี 1990 หลังเยอรมนีรวมประเทศ ภารกิจของปูตินในฐานะสายลับ KGB ก็ได้สิ้นสุดลง ปูตินจึงเดินทางกลับสหภาพโซเวียต

1994 เส้นทางทางการเมืองของปูตินเริ่มต้นขึ้นที่การเมืองท้องถิ่นโดยเขามีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าการเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

1997 ประธานาธิบดีเยลต์ซินได้แต่งตั้งปูตินเป็นรองเสนาธิการทำเนียบเครมลิน

สิงหาคม 1999 ปูตินได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี บอริส เยลต์ซิน ให้รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ซึ่งประธานาธิบดีเยลต์ซินได้ประกาศด้วยว่า เขาอยากเห็นปูตินเป็นผู้สืบทอดทางการเมืองต่อจากเขา ทำให้ปูตินกลายเป็นผู้ที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังอยู่บนเส้นทางการเมืองระดับชาติได้เพียง 18 เดือน ซึ่งในตอนที่เขาได้รับแต่งตั้งนั้น เขาแทบจะไม่เป็นที่รู้จักของสาธารณชนมาก่อน

ในวันที่ 31 ธันวาคม 1999 ประธานาธิบดีเยลต์ซินประกาศลาออกอย่างไม่คาดคิด ซึ่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทำให้ปูตินซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องขึ้นมาเป็นรักษาการประธานาธิบดี

แต่ปูตินอยากอยู่ยาว และนี่คือจุดพลิกผันอีกครั้งของรัสเซีย ทำให้เรื่องยาวและยุ่ง