สื่อสุดขั้วสุดขอบฟ้า/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

สื่อสุดขั้วสุดขอบฟ้า

 

เป็นที่ทราบกันว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐเลอเลิศที่สุด (ถ้าได้รับการเลี้ยงดูและอบรมฝึกฝนให้เหมาะสม) ขณะเดียวกัน มนุษย์ก็เป็นสัตว์ที่อันตราย โหดร้าย เอารัดเอาเปรียบและน่ารังเกียจที่สุดสำหรับสัตว์อื่นๆ ทั้งหมดบนโลกใบนี้

สมองอันชาญฉลาดเป็นสมบัติล้ำค่าที่สุด พร้อมกันนั้นก็เป็น “อาวุธ” ทรงอานุภาพที่สุด สามารถทำลายสรรพสัตว์ทำลายโลกให้มลายได้ในพริบตา

แต่กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีอารมณ์ความรู้สึกละเอียดอ่อนซับซ้อน มีความคิด มีจินตนาการ และมีความพยายามในการประกอบสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาได้อย่างชนิดพิสดารมาก

และ 1 ในสิ่งพิสดารนั้นก็คือ ภาษา ที่ใช้ในการสื่อสาร

มนุษย์ก้าวข้ามพ้นจากสัตว์โลกอื่นๆ เมื่อมีภาษา ทำให้เกิดการสื่อสารจากบอกกล่าวเรื่องราว เป็นการบันทึก เกิดการเรียนรู้ สรุปบทเรียนและนำไปสู่การวิวัฒน์ในทุกด้าน

“บทเรียน” จึงเป็นเรื่องสำคัญของมนุษย์ที่คิดมากและใช้เป็น!

 

เช่นสมมุติว่ามีการเอ่ยถึง “ฮิตเลอร์” บทเรียนในอดีตคืออะไร… จอมเผด็จการสยองโลก ผู้มีความสามารถเป็นเลิศในการใช้ “ภาษา” สามารถปลุกเลือดชาตินิยมจนทำให้คนฆ่าคนนับล้านคนได้อย่างหฤโหดพิสดารที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

แล้วถ้าเอ่ยถึง “สฤษดิ์ ธนะรัชต์” เด็กปั้นของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะเห็นภาพอะไร

“สฤษดิ์” โค่นล้มนายพร้อมกับการโฆษณาว่า จอมพล ป.จัดเลือกตั้งสกปรก ฉ้อราษฎร์บังหลวง “อัศวินเผ่า” สร้างรัฐตำรวจ ก่อความชั่วร้าย ไล่ล่าฆ่าศัตรูคู่แข่งน่าสะพรึง จึงต้องก่อรัฐประหาร ขอให้สื่อมวลชนและประชาชนสนับสนุน

“สฤษดิ์” จะเป็นผู้มาทำความสะอาด

การโฆษณาชวนเชื่อกับการหลอกลวงเหมือนกันหรือไม่

หากการโฆษณาชวนเชื่อเป็นการพูดแต่เพียงด้านเดียว พร้อมกับปิดบังบางส่วน “สฤษดิ์” ในเวลานั้นก็เลี่ยงที่จะพูดถึง “ความอิ่มหมีพีมัน” ของตัวเองในสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

แต่การหลอกลวงคือการปลิ้นปล้อน ไม่ใช่ “สำคัญผิด” เป็นการจงใจบิดเบือน พูดขาวให้เป็นดำ หรือดำเป็นขาว

ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 ไปแล้วมีสอบสวนและเปิดเผยว่าเฉพาะส่วนที่ “สฤษดิ์” ได้จากกองสลากนั้นก็ราว 240 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ยัง “อม” จากส่วนที่ควรจัดสรรให้กองทัพบกอีก 100 ล้านบาท มิพักต้องกล่าวถึงว่าทรัพย์สินราว 2,874 ล้านบาทของทหารคนหนึ่งนั้น “ได้มาด้วยวิธีใด”

ใช่ น้ำลดตอผุด คือบทเรียน!

 

แต่ในวัฒนธรรม “อำนาจนิยม” นั้นสังคมได้ปลูกฝังให้ “เพิกเฉย” กับประโยชน์สาธารณะ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้กระเหี้ยนกระหือรือกับการซุบซิบนินทาเรื่องของชาวบ้าน

“สื่อสารมวลชน” ก็อยู่ในโครงครอบนั้นหนีไม่พ้น

“แตงโม” ตกน้ำเสียชีวิตกับ “น้องชมพู่” ที่หายไปบนเนินเขาจึงเป็น “เหยื่อ” อันโอชะของสื่อ

แตงโมตกน้ำควรได้รับการคลี่คลายด้วยพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการทางอาญาควรเป็นไปตามกฎหมายตรงไปตรงมา ไม่ใช่วัดด้วยความรู้สึกหรือการนึกเดาของพ่อมดหมอผี

ไม่แปลกหรอกถ้า “สื่อ” จะมีบทบาทสนับสนุนการสืบค้นเสาะหาข้อมูลหลักฐานคดีที่สังคมสนใจและเรื่องที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ หากแต่มิใช่ “การตัดสินล่วงหน้า” หรือโฆษณาชวนเชื่ออย่างบ้าคลั่ง หรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ฝ่ายหนึ่งใช้โค่นล้มอีกฝ่ายหนึ่งดังเช่นในอดีต

แต่ปัจจุบัน บทบาทของ “สื่อ” กระแสหลักก็เปลี่ยนแปลงไป!

 

เมื่อก่อนหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และนิตยสาร จะเป็น “ผู้กำหนดวาระ” หรือหัวข้ออันควรสนใจประจำวัน ข้อมูลข่าวสารปริมาณมหาศาลที่หลั่งไหลเข้าสู่ส่วนกลางซึ่งเรียกว่า “กองบรรณาธิการ” จะถูกนำมาพินิจพิเคราะห์ถกเถียงและคัดสรรเอาแต่เฉพาะที่เชื่อว่าผู้คนสนใจและเป็นประโยชน์กับสาธารณะ

ความจริงก็คือข้อมูลข่าวสารปริมาณมหาศาลในแต่ละวันจะถูกคัดลงถังขยะ ส่วนที่เหลืออยู่จำนวนน้อยถูกตัดทอน ตบแต่งเรียบเรียงใหม่

หากเป็นหนังสือพิมพ์จะมี “คำพาดหัวข่าว” ที่ชวนให้สะดุดตา น่าสนใจค้นหาอ่านต่อไป ส่วนวิทยุกับโทรทัศน์จะมี “คนเล่าข่าว” กับ “ภาพ” ที่เชื้อเชิญให้ติดตาม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เรตติ้ง” เสมือนลมหายใจของสื่อกระแสหลักเหล่านั้น แต่อารมณ์ความรู้สึก ความคิดความเชื่อของผู้คนในสังคมเป็นตัวชี้วัดระดับของ “พฤติกรรม” เช่น พฤติกรรมจ้องจับผิด ซุบซิบนินทา อิจฉาริษยา ใช้วาจาเสียดสี ด่าทอ ให้ร้าย เพิกเฉย ตลอดจนไม่มีสำนึกรับผิดชอบสาธารณะ ฯลฯ ซึ่งบ่อยครั้งโอกาสที่สื่อเปิดให้ก็กลายเป็นเวทีของพวกหิวแสง

แต่ต้องไม่ลืมว่า “สมอง” ของมนุษย์กับ “ภาษา” ที่ใช้ในการสื่อสาร มีความสำคัญกว่าทุกสิ่ง!

“สมอง” เป็นต้นธารทั้งอารมณ์และตรรกะเหตุผล ส่วน “ภาษา” เป็นแหล่งกำเนิด “ความจริง” และ “ความเท็จ”

นักสังคมวิทยาพบว่า มนุษย์เรามักติดกับดักตัวเอง เช่น เมื่อมีความเชื่อไปทางใดแล้วก็มีแนวโน้มว่าจะยังเชื่อเช่นนั้นต่อไป ลุ่มหลงงมงาย ถูกหลอกง่าย ทำให้บ่อยครั้งตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อ เป็นเหยื่อนักต้มตุ๋นทางการเมือง นักต้มตุ๋นทางการค้าที่โฆษณาเกินจริง

หรือแม้กระทั่งเป็นเหยื่อของนักต้มตุ๋นทางสงคราม เฉกเช่นกรณี รัสเซียบุกยูเครน

 

อย่างไรก็ตาม ในทุกวันนี้ผู้ยืนอยู่ใน “แถวหน้า” ของการสื่อสารมิได้มีเพียงแค่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และนิตยสารเช่นเดิมอีกต่อไป

เทคโนโลยีการสื่อสารได้พลิกโลกอย่างสิ้นเชิง

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวันและรวดเร็ว

เทคโนโลยีมอบอำนาจให้กับ “ทุกคน” บนโลกใบนี้ “สื่อภาษา” ออกไปในโลกอินเตอร์เน็ต

ยิ่งกว่าสวรรค์มีตา!

ผู้ที่ติดตามข่าวแตงโมอาจจะกล่าวว่า ถ้าไม่ได้โทรทัศน์วงจรปิดก็ไม่มีทางที่จะได้เห็นภาพเคลื่อนไหวชายหญิงผู้ร่วมเหตุการณ์ก่อนและหลังการเสียชีวิตของแตงโม

แต่คำถามก็คือ สังคมของเราสนใจความถูกต้อง ความยุติธรรมกันจริงหรือ

ทำไมการหายสาบสูญของ “ต้า” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ กับติดคุกล่วงหน้านักกิจกรรมทางความคิด ต่างพร้อมใจกัน “เซ็นเซอร์ตัวเอง”

ไม่มีการทักท้วงและทวงถาม!?!!