THE WAY BACK ‘ชีวิตตกร่อง’ / ภาพยนตร์ : นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์
The Way Back | Credit: Richard Foreman

ภาพยนตร์

นพมาส แววหงส์

 

THE WAY BACK

‘ชีวิตตกร่อง’

 

กำกับการแสดง

Gavin O’Connor

นำแสดง

Ben Affleck

Janina Gavankar

Matthew Glave

Michaela Watkins

 

ดูจนล่วงเข้าไปถึงครึ่งหลังของหนังแล้ว เราจึงได้ยินประโยคที่ออกจากปากตัวละครเอก ซึ่งอธิบายพฤติกรรมที่ขับเคลื่อนให้ชีวิตเขาตกหล่ม ตกร่องหรือตกลงไปถึงก้นบึ้งของหุบเหวลึก…ราวกับว่าจะไม่มีวันได้ตะกายกลับขึ้นมาเห็นแสงสว่างอีก…ว่า

“ฉันไม่เคยหยุดโกรธเลย”

ประโยคเดียวประโยคนี้ทำให้เราเข้าใจถึงความมืดมนอนธการในชีวิตของเขา การแยกทางกับภรรยา การหมกตัวอยู่คนเดียว การดื่มแบบไม่หยุด การเปิดกระป๋องเบียร์ที่ซื้อมาแช่ตู้เย็นไว้เป็นโหลๆ หมดเกลี้ยงไปชั่วคืน แม้แต่เวลาอาบน้ำอันควรทำให้สดชื่นสร่างเมา ก็ยังเอากระป๋องเบียร์เข้าไปวางโดยไม่ยอมให้แอลกอฮอล์พร่องไปจากเส้นเลือด

โศกนาฏกรรมในชีวิตส่วนตัวเกิดแก่เขา กระชากทางเดินและความเป็นไปในชีวิตให้ขาดสะบั้น

บุคคลผู้เป็นแก้วตาดวงใจในชีวิตพลัดพรากจากไปโดยมองไม่เห็นเหตุผล หรือไม่เป็นไปตามลำดับของเหตุผลที่มนุษย์จะเข้าใจได้ ยอมรับและรับมือจัดการกับมันได้

เรื่องราวในชีวิตจริงหรือนิยาย ไม่ว่าจะในประวัติศาสตร์ ตำนาน พงศาวดาร หรือประสบการณ์ตรงจากคนร่วมสมัย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีเรื่องอะไรจะกระชากหัวใจได้มากกว่าพ่อแม่ที่ต้องมาเห็นลูกจากไปก่อนตัว

มันไม่เป็นธรรมชาติ…ไม่เป็นไปตามลำดับก่อนหลังอย่างที่น่าจะเป็น

แม้จะยกเหตุผลของลำดับก่อนหลังตามธรรมชาติไว้ต่างหาก ก็ยังเป็นเรื่องยากที่คนเราจะรับมือกับการพลัดพรากจากสิ่งที่รักได้โดยอารมณ์ไม่กระเพื่อม

 

The Way Back เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มที่ตกลึกลงไปจนถึงก้นบึ้งของหุบเหว ชีวิตมีแต่ความโกรธเป็นแรงกระตุ้น มองไม่เห็นหนทางออกหรือเดินต่อไปข้างหน้าได้ ได้แต่ใช้แอลกอฮอล์ทำให้ตัวเองลดเลือนความเศร้าไปบ้าง…ซึ่งก็คงไม่สำเร็จ เพราะเมื่อแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดลดลง ก็ต้องหามาดื่มเติมเข้าไปอีก

แทบไม่มีเวลาไหนที่แจ็ก คันนิงแฮม (เบน แอฟเฟล็ก) จะไม่ดื่ม แม้แต่เวลาทำงานก่อสร้าง เขาก็ต้องแอบรินเหล้าใส่ถ้วยเยติ…ซึ่งกลายเป็นอุปกรณ์ประจำกายสำหรับคนสมัยใหม่ไปแล้ว…เพื่อเลี่ยงจากมาตรการทางอาชีพ

หลังเลิกงาน เขาก็ไปขลุกอยู่ในบาร์ ดื่มเหล้าเบียร์แก้วแล้วแก้วเล่าจนเมาพับ และต้องมีคนใจดีขาประจำ พยุงตัวมาส่งจนถึงหน้าประตูอพาร์ตเมนต์

แจ็กเคยเป็นดาวรุ่งบาสเกตบอลของทีมโรงเรียนคาทอลิก เขาจึงได้รับการติดต่อจากบาทหลวงอาจารย์ใหญ่ เมื่อตำแหน่งว่างลงอย่างกะทันหัน ให้ไปคุมทีมของโรงเรียน ซึ่งมีผลงานย่ำแย่มาตลอด

ไม่ว่าแจ็กจะพยายามหาทางบอกกับตัวเองว่าเขาไม่อยากรับงานนี้และตั้งใจจะปฏิเสธอย่างแข็งขัน แต่เขาก็ตอบตกลงรับงานอยู่ดี

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ “การหาหนทางกลับ” หรือ the way back ตามชื่อหนัง เป็นการหาหนทางไถ่โทษให้ตัวเอง เพื่อกลับมาเดินบนเส้นทางชีวิตอีกครั้ง

 

และด้วยการมีแจ็กเป็นโคช ทีมบาสเกตบอลที่ไม่เคยชนะก็กลับกลายเป็นทีมที่ฝีมือดีขึ้นเรื่อยๆ จนได้เข้าแข่งถึงรอบตัดเชือก

ฟังดูเรื่องราวคุ้นๆ นะคะ เหมือนจะไม่มีอะไรแปลกใหม่เลย คล้ายจะมีหนังหลายต่อหลายเรื่องที่เล่าเรื่องราวในทำนองเดียวกันนี้…

โค้ชที่มีปัญหาส่วนตัวถูกลากตัวกลับมาให้คุมทีมที่เป็นเบี้ยล่างโดยไม่เต็มใจ และทุ่มเทใส่ใจกับทีมจนได้ผงาดขึ้นในสังเวียนกีฬา

อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ไม่เชิงจะเป็นแบบนั้นเสียทีเดียว

จุดโฟกัสไม่ได้อยู่ที่ฝีมือและการทำงานในสถานการณ์ยากลำบากของโค้ชในการพลิกให้เบี้ยล่างกลายเป็นเบี้ยบน

ประเด็นซ้ำซากจำเจหลายๆ ประเด็นได้รับการขัดเกลาและนำเสนอในรูปแบบอื่นที่ไม่ได้ใช้กันจนเฝือ หรือกลายเป็นคลิเช (clich?) ไปแล้ว

วิธีการเล่าเรื่องก็ขยักสาเหตุที่ทำให้แจ็กทิ้งเส้นทางชีวิตของดาวรุ่งบาสเกตบอล และโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในชีวิตเขาไว้ในตอนต้นๆ แต่มาเผยเอาจนในช่วงหลังๆ

แถมเขายังไม่ได้อยู่กับทีมจนถึงชัยชนะครั้งใหญ่ แต่ต้องเผชิญหน้ากับผีร้ายในตัวเองที่พาชีวิตเขาตกต่ำลงเรื่อยๆ เหมือนจะไม่ให้ได้ผุดได้เกิดเลย

กระนั้น ก็ยังไม่หมดหนทางเสียทีเดียว ด้วยความช่วยเหลือของคนรอบข้าง แจ็กยังหาทางไถ่ถอนตัวเองออกจากความหายนะกลับคืนสู่ชีวิตที่จะก้าวต่อไปได้

 

ตอนแรกที่ดูหนัง ผู้เขียนก็ไม่ได้หวังอะไรมากหรอก ดูเหมือนเรื่องราวแบบนี้จะมีสูตรตายตัว เป็นเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ เฝือๆ แบบที่รู้อยู่แก่ใจแล้วว่าหนังจะพาเราไปที่ไหน

กระนั้นก็ตาม ก็ยังดูสนุกกว่าที่คาดไว้ในตอนแรกมาก เนื่องจากความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ “ที่ไหน” แต่อยู่ที่ “อย่างไร” ต่างหาก

หนังทั้งเรื่องขึ้นอยู่กับฝีมือการแสดงของเบน แอฟเฟล็ก เป็นหลัก และได้ยินใครหลายคนยกย่องว่านี่เป็นการแสดงที่ดีที่สุดของดาราชายผู้นี้ ซึ่งเมื่อแรกที่เข้าสู่วงการเคยได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีดีแต่หน้าตาหล่อเหลาชวนมองเท่านั้น

ที่สำคัญคือแอฟเฟล็กไม่ได้รับคำปรามาสนั้นโดยดุษณี แต่เขาพยายามพิสูจน์ความสามารถให้ประจักษ์ด้วยหนังเรื่องแล้วเรื่องเล่า ทั้งในฐานะนักแสดง ผู้เขียนบทและผู้กำกับฯ

เพราะงั้น ซูเปอร์ฮีโร่บนจอภาพยนตร์ในบท Batman คนนี้จึงไม่ได้มีดีแต่เพียงรูปร่างหน้าตาเท่านั้น

 

ขอกลับไปที่หัวข้อเรื่องที่ตั้งไว้อีกทีนะคะ ถ้าหนังเรื่องนี้จะสอนใจอะไรเราบ้าง จุดสำคัญก็น่าจะอยู่ที่ว่า เราปล่อยให้ชีวิตตกร่องเพราะแรงโทสะที่คุกรุ่นอยู่อย่างไม่ยอมคลายเหมือนไฟสุมขอน จน “ไม่เคยหยุดโกรธ” เลย และไม่ยอมตะกายขึ้นจากหุบเหว เพื่อจะเดินหน้าต่อไปหรือเปล่า

และที่ต้องถามคือ โกรธใครและโกรธไปทำไม

หรือว่า ความโกรธนั้นเป็นแรงผลักดันที่เสียแรงเปล่า ดังนั้น จึงสูญเปล่าโดยสิ้นเชิง •