‘เรียน’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ชะนีมือขาว - ลูกชะนีเกาะติดอยู่กับอกแม่ และศึกษาเรียนรู้วิธีการเคลื่อนที่ไปตามยอดไม้

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘เรียน’

 

แม้ว่าจะทำงานและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในป่ามานานพอสมควร แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกเมื่อก้าวเท้าแรกเข้าป่าคือ ผมรู้จักสิ่งรอบๆ ตัวน้อยมาก หรือพูดว่า ไม่รู้อะไรเลยก็ว่าได้ สิ่งที่คิดว่ารู้ มีไม่มากนัก

ต้นไม้ที่เดินผ่าน แมลง, ดอกไม้, งู, กบ, เขียด เสียงนกและอะไรๆ อีกสารพัด ผมแค่รู้จักเพียงบางชนิด รู้เพียงว่า สิ่งต่างๆ ที่ผมไม่รู้จักนั้น มีชีวิต มีวิถีของตัวเอง แต่ก็อยู่ร่วมเกี่ยวพันกับชีวิตรอบๆ

และที่สำคัญ ผมรู้ว่า ชีวิตที่ล้อมรอบตัวทั้งหลายนี้ “สอน” บทเรียนต่างๆ ได้

ไม่ผิดนัก หากผมจะนับถือ และเรียกชีวิตต่างๆ ในป่าว่า “ครู”

 

เหล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ซึ่งหากินอยู่บนเรือนยอดไม้ อย่างพวกค่าง, ชะนี จะมีเวลาให้ลูกที่เกิดใหม่ๆ เกาะติดอยู่กับหน้าอกเป็นเวลาราวสองปี

เมื่อเจ้าตัวเล็กมีอายุใกล้สองปี มันจะเริ่มผละออกจากอกแม่ ฝึกฝนหัดการไต่ และโหนไปตามกิ่งไม้ รวมทั้งหาอาหารกิน

การกระทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เจ้าตัวเล็กทำโดยแม่ทำให้ดู แม่เป็นต้นแบบ ในระหว่างที่ฝึกฝนอย่างเก้ๆ กังๆ แม่จะเฝ้าดูอยู่ใกล้ๆ

เจ้าตัวเล็กก็เหมือนกับลูกสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่ได้รับการฝึกฝนทักษะร่างกายเพื่อดำเนินชีวิตไปตามวิถี

เป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้วที่สัตว์ป่าถ่ายทอดการดำเนินชีวิตจากรุ่นสู่รุ่นตามวิถีของสัตว์ป่าชนิดนั้นๆ

ผู้สอนไม่ได้สอนด้วยคำพูด

พวกมันสอนรุ่นต่อๆ มาด้วยการกระทำ

 

ไม่เฉพาะพวกที่อยู่ตามเรือนยอดเท่านั้น พวกที่มีวิถีอยู่กับพื้นก็ไม่แตกต่าง

เจ้าตัวเล็กๆ ในฝูง นอกจากจะมีแม่คอยดูแลสั่งสอนแล้ว บรรดาสมาชิกตัวอื่นๆ ก็ถือเป็นหน้าที่ต้องสอน และดูแลสมาชิกใหม่ด้วย

ไม่ว่าจะเป็นฝูงช้าง, วัวแดง, กระทิง หากอยู่ในช่วงเวลาที่มีตัวเล็กเพิ่งเกิดอยู่ด้วย ภาพซึ่งพวกมันต่างช่วยกันดูแลสมาชิกตัวน้อยจะเห็นได้ชัดเจน

สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของเหล่าสัตว์ป่า คือ ต้องได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ตั้งเต่แรกเกิด

ไม่เช่นนั้นเมื่อเติบโตขึ้นชีวิตย่อมไม่ง่ายดาย

 

บางชนิดได้รับการฝึกฝการเลี้ยงดูลูกตั้งแต่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ยังไม่ถึงเวลามีลูกของตัวเอง

นกเงือกสีน้ำตาล, นกกาเขา ซึ่งเป็นนกเงือกอีกชนิด มีการฝึกฝนหาอาหารและนำมาป้อนแม่และลูกที่อยู่ในโพรง ทำหน้าที่ไม่ต่างจากพ่อนก

นี่ไม่ใช่แค่แบ่งเบาภาระหนักของพ่อนก แต่คือช่วงเวลาที่พวกนกวัยรุ่นได้เรียนรู้วิถีชีวิตของผู้ใหญ่ว่าเป็นเช่นไร

พวกมันสอนให้ผมรู้ว่า ต้นแบบเป็นเช่นไร ผู้ได้รับการถ่ายทอดก็เป็นเช่นเดียวกัน

วิถีสัตว์ป่า เป็นเช่นนี้มานานแสนนานแล้ว

 

โดยปกติ เสบียงอาหารที่ใช้ในแคมป์จะอยู่ได้ราวๆ สองสัปดาห์

ที่จริงการเตรียมการให้อยู่ได้นานกว่านั้น ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าไม่มีอุปสรรคอย่างฝนตกหนักเส้นทางโดนสายน้ำพัดสะพานขาด ระดับน้ำในลำห้วยสูงเกินกว่ารถข้ามได้ ผมมักออกไปซื้อเสบียงในเมือง

จริงๆ มันคือ “ข้ออ้าง” เพื่อหาโอกาสเข้าเมืองนั่นแหละ

เมืองชายป่านั้นไม่ใหญ่ ค่อนข้างเงียบเหงาด้วยซ้ำ ความคึกคักจะมีในวันที่มีตลาดนัด

เมืองไม่ใหญ่ พ่อค้าแม่ค้าจำลูกค้าได้ รู้ว่าลูกค้าพวกนี้ออกมาจากป่า

ส่วนใหญ่คนทำงานในป่าซึ่งทำหน้าที่ซื้อกับข้าว เสบียงต่างๆ จะเป็นผู้ชาย การทำงานในป่านอกจากเลี่ยงความสมบุกสมบันไม่ได้แล้ว คนทำงานในป่าทุกคนทำกับข้าวเป็น

ว่าตามจริง ไม่เฉพาะกับข้าวหรอก แต่ความหมายคือ ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่ซักผ้า ซ่อมแซมเสื้อผ้าที่โดนหนามเกี่ยวขาด เลยไปถึงซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ

อยู่ในป่านานๆ สิ่งสำคัญอันช่วยให้ชีวิตดูไม่แห้งแล้งเกินไป ประการหนึ่งคือเรื่องอาหาร โดยเฉพาะมื้อค่ำ ทุกคนทำอาหารได้ แต่จะมีคนหนึ่งที่ทุกคนยอมรับในทักษะเรื่องครัว คนคนนี้จะพิถีพิถันกับการปรุง พลิกแพลงเมนูได้หลายอย่าง ในขณะมีวัตถุดิบไม่มาก

อีกนั่นแหละไม่ว่าจะมีทักษะสูงเพียงใด วันแรกๆ ก็มีกับข้าวหรูๆ แต่ถึงวันหลังๆ ไม่ว่าจะพลิกแพลงยังไง รสชาติก็คล้ายจะเหมือนกันหมด

วันที่กลับจากซื้อเสบียง ค่อนข้างพิเศษ ค่ำวันนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก หากเมนูจะเป็นสุกี้, ชาบู กระทั่งปลานึ่งมะนาว

 

ในยุคที่อุปกรณ์ต่างๆ ยังหายาก มีข้อดีที่การใช้ชีวิตในป่าได้ฝึกฝนใช้ทักษะตัวเอง

แต่ข้อดีในวันเวลาที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับการใช้ชีวิตในป่ามากมายเหมาะสม การใช้ชีวิตในป่าทำได้ง่ายดาย รวมทั้งอยู่ในป่า เพื่อ “เรียน” ได้นานขึ้น

อีกนั่นแหละ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาไหน การได้เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์มากกว่าย่อมจำเป็น ฝึกฝนความเตรียมพร้อมเป็นเรื่องสำคัญ ไม่มีป่า หรือที่แห่งใดอันตราย มันมีสภาพเช่นนั้นอยู่แล้ว การมีข้อมูล เตรียมตัว เตรียมใจ และอุปกรณ์เพื่อพบกับสภาพที่แห่งนั้นเป็นอยู่ย่อมทำให้ชีวิตไม่ยุ่งยาก

ถึงที่สุด สำหรับผม ป่าไม่ใช่สถานที่จะอยู่เพื่อพิสูจน์ตัวเอง ไม่ใช่ที่ผจญภัย

มันคือ โรงเรียน

 

ได้เฝ้าดูสัตว์ป่า โดยเฉพาะเหล่าสัตว์ผู้ล่า ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นคือความชื่นชมนับถือ

เสือนั้น วิถีมันคือ ถือสันโดษ สมถะ อยู่ในพื้นที่อันเป็นอาณาเขตตัวเอง เคารพในพื้นที่ตัวอื่น ยอมรับความแข็งแกร่ง และความอ่อนแอ วิถีนี้ทำให้ประทับใจไม่ยาก

คนในป่า นอกจากทำกับข้าว ซักผ้า เย็บผ้าแล้ว

หลายครั้งก็มีโอกาสเดินตามรอยเสือ

 

ตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้าป่า ผมรู้ว่า รู้อะไรไม่มากจึงเปิดใจรับบทเรียนจากชีวิตรอบๆ ทุกครั้งที่เฝ้าดูวิถีลูกๆ สัตว์ป่า ผมรับบทเรียนว่า การได้รับถ่ายทอดประสบการณ์ เป็นสิ่งสำคัญ

ตั้งใจ “เรียน” ไม่ว่าครูผู้สอนจะเป็นใคร

คน หรือจะต่างสายพันธุ์… •