‘พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง’ เก่าสุดถึงยุคสมัยใด? ถึงยุคพระเจ้าพรหมมหาราชหรือไม่? / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

‘พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง’

เก่าสุดถึงยุคสมัยใด?

ถึงยุคพระเจ้าพรหมมหาราชหรือไม่?

ตํานานสิงหนวัติกล่าวถึงชื่อของ “วีรบุรุษในตำนาน” ท่านหนึ่งชื่อ “พระเจ้าพรหมมหาราช” ผู้เป็นพระโอรสของ “พระเจ้าพังคราช” โดยพระเจ้าพรหมมหาราชท่านนี้มีบทบาทในการปราบขอมที่เมืองอุโมงคเสลาแล้วสร้างเมือง “ไชยปราการ” ขึ้น

เมื่อตรวจสอบดูความเห็นของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า “เมืองไชยปราการ” ตั้งอยู่ที่ไหนกันแน่

เดิมเคยเชื่อว่าอยู่ที่อำเภอไชยปราการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองฝางมาก่อน

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีผู้เสนอว่า “ไชยปราการ” นั้นควรที่อยู่ที่บริเวณที่เรียกว่า “ปงเวียงชัย” ในเขตอำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงรายมากกว่า

อีกทั้งความคลุมเครือที่ยังไม่พบหลักฐานด้านโบราณวัตถุ/โบราณสถานแต่อย่างใดเลยในแถบเมืองฝาง ไชยปราการ หรือจังหวัดเชียงราย ว่าเมืองในแถบลุ่มน้ำกกแถวนี้จะมีอายุเก่าแก่ไปถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ตามที่ตำนานระบุถึงอายุสมัยของพระเจ้าพรหมมหาราช

เมื่อเทียบศักราชช่วงรัชสมัยของพระเจ้าพรหมมหาราชแล้ว พบว่าเป็นบุคคลร่วมสมัยกับบุคคลที่ชื่อ “พระญาอาทิตยราช” มหาราชแห่งนครหริภุญไชย ต่างกันเพียงแต่ว่า หลักฐานด้านโบราณคดีในลำพูนนั้นสอดรับยืนยันถึงความเก่าแก่ของนครแห่งนี้ว่ามีอยู่จริง ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-13 ลงมาแล้ว

 

เก่าถึงรัชกาลใดในราชวงศ์มังราย?

ถ้าเช่นนั้นพระพุทธรูปสกุลช่างฝางก็ควรเก่าถึงสมัยพระญามังราย ปฐมกษัตริย์ของล้านนา คือช่วงต้นพุทธศตวรรษ ที่ 19 ได้หรือไม่?

ในเมื่อตำนานหิรัญนครเงินยางกล่าวว่า ก่อนที่พระญามังรายจะบุกยึดนครหริภุญไชยได้นั้น หลังจากที่พระองค์ครองราชย์ที่เชียงรายได้ 6 ปีแล้ว พระองค์ได้มาประทับที่เมืองฝางในปี 1811 อยู่นานถึง 10 ปี เพื่อเตรียมส้องสุมกำลังพลยกทัพไปตีลำพูน

เราทราบกันดีว่า ศาสนาที่พระญามังรายนับถือก่อนที่จะเข้ารีตสมาทานตนเป็นพุทธศาสนิกชนหลังจากที่ยึดลำพูนได้แล้วนั้น พระองค์ทรงนับถือบูชา “ผีบรรพบุรุษ” มาก่อน ตามความเชื่อทั่วไปของคนละแวกอุษาคเนย์ในยุคกระโน้น

ดังนั้น คงไม่ต้องถามหาหลักฐานด้านพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยพระญามังรายโดยเด็ดขาด ตราบใดที่พระองค์ยังยึดหริภุญไชยนครไม่ได้

แล้วลูกหลานของพระองค์เล่า พระญาไชยสงคราม (ขุนคราม) กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 2 ต่อจากพระญามังราย ในช่วงทำสงครามกับพระญาเบิกแห่งเมืองเขลางค์ ขุนครามก็ขอกองกำลังจากเมืองฝางจำนวน 5,000 นายไปชวยรบ ซ้ำขุนครามก็เคยส่งโอรสองค์โต “พ่อท้าวน้ำท่วม” มาครองเมืองฝางด้วยมิใช่หรือ?

จะเป็นไปได้หรือไม่ที่พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝางที่พบตามวัดต่างๆ เหล่านี้สร้างในสมัยพ่อท้าวน้ำท่วม คำตอบคือ เป็นไปไม่ได้ เหตุที่พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝางส่วนใหญ่ (มากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์) มีพุทธลักษณะนั่งขัดสมาธิราบ ทำพระรัศมีเป็นเปลวเพลิงค่อนข้างสูง และมีชายสังฆาฏิยาว

รูปแบบที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ในทางประวัติศาสตร์ศิลปะมองว่า ล้านนาจำเป็นต้องได้รับอิทธิพลต้นแบบจากสุโขทัยขึ้นมาเสียก่อน จากนั้นจึงจักสามารถคลี่คลายรูปแบบ แล้วปรับรายละเอียดในส่วนต่างๆ ให้เข้ากับจริตรสนิยมของสล่าผู้สร้าง จนกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นของสกุลช่างเมืองฝางได้

ถ้าเช่นนั้น ช่วงรัชสมัยของใครล่ะหรือที่มีการติดต่อกับกรุงสุโขทัยอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ถึงขั้นที่สามารถรับเอารูปแบบศิลปะมาสร้างได้

พระพุทธรูปสกุลช่างฝางปางเปิดโลก ที่วัดเจดีย์งาม อ.ฝาง และวัดท่าตอน อ.แม่อาย กับชายสังฆาฏิแบบพิเศษที่ต่างจากสกุลช่างพระสิงห์

คงต้องมองข้าม 3 รัชกาลนี้ไปได้เลย คือพระญาแสนภู (ให้ท้าว 7 คนตู โอรสองค์ที่ 2 มาครองฝาง) พระญาคำฟู (สมัยนี้มีพระญากาวเมืองน่านมาปล้นเอาเมืองฝาง) รวมทั้งสมัยพระญาผายู (ให้อนุชาชื่อท้าวเจ็ดพลตู มาครอง)

เพราะสมัยกษัตริย์ทั้งสามพระองค์นี้ สายสัมพันธ์ระหว่างล้านนาที่มีกับสุโขทัย ยังไม่มีความแนบแน่นมากพอที่จะให้เกิดการรับอิทธิพลงานพุทธศิลป์จากสุโขทัยขึ้นมาคลุกเคล้ากับพระพุทธรูปสกุลช่างล้านนาแบบพระสิงห์

ความงามของพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝางอันหลากหลาย โดยรวมคือดวงเนตรยาวใหญ่ พระหนุ (คาง) เสี้ยม รัศมีเปลวเป็นกรวยสูงรูปสามเหลี่ยม

บุคคลที่เราควรพุ่งเป้าไปมากที่สุดก็คือ “พ่อท้าวมหาพรหม” อนุชาของกษัตริย์กือนา เหตุที่ท้าวมหาพรหมคือบุคคลผู้นำเอาพระแก้วมรกต กับพระพุทธสิหิงค์จากกำแพงเพชรขึ้นมาไว้ที่เชียงราย

สมัยพระญากือนาได้แต่งตั้งให้ท้าวมหาพรหมปกครองถึงสองเมือง ได้แก่ เมืองเชียงรายและเมืองฝาง ดังนั้น ความน่าจะเป็นไปได้ ควรต้องเริ่มต้นในสมัยของพ่อท้าวมหาพรหมท่านนี้เป็นต้นไปกระมัง จึงจะใกล้เคียงกับความจริง?

แต่ให้บังเอิญว่า พระสกุลช่างเมืองฝางนั้น มิได้มีรูปแบบพุทธศิลปะตามอย่างสุนทรียศาสตร์แบบสุโขทัยแท้ๆ เช่น ไม่ได้ทำปางลีลา (ผิดกับพระพุทธรูปปูนปั้นลีลาที่ฐานเจดีย์วัดป่าสักเชียงแสน ซึ่งที่นั่นชัดเจนว่าสร้างเสริมเพิ่มเติมขึ้นมาในสมัยพระญากือนา)

สุนทรียะแห่งพระสกุลช่างเมืองฝาง กลับไปละม้ายคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปสกุลช่างล้านช้างบ้าง เชียงตุงบ้าง พระสกุลช่างล้านนาตะวันออก แพร่-น่านบ้าง

พระบาทพระสกุลช่างฝางค่อนข้างยาว ไม่อูมนูน พบจารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดท่าตอน อ.แม่อาย เชียงใหม่

นอกจากนี้แล้ว เมื่อพินิจให้ลึกซึ้งยังพบว่าส่วนนูนที่เชื่อมรอยปีกพระนาสิกให้เป็นเส้นลึกเด่นชัดไปถึงใต้พระเนตรนั้น ยังละม้ายกับพระพักตร์ของกลุ่มพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา หรือสกุลช่างเวียงจุนอีกด้วย

รูปแบบศิลปะสกุลช่างต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่ถือกำเนิดขึ้นในยุคที่ไม่อาจเก่าเกินไปกว่าสมัยของพระเจ้าติโลกราชไปได้

ดังนั้น ตัวชี้ขาดด้านการกำหนดอายุพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง จึงย่อมอยู่ที่สมัยพระเจ้าติโลกราช คือราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมาแล้วเท่านั้น

 

สอดรับกับจารึกที่ฐานพระพุทธรูป

เมื่อตรวจสอบกับจารึกที่ฐานพระพุทธรูปหลายองค์ที่พบในพระสกุลฝาง ทั้งตัวอักษรฝักขาม (ลายสือไท) และบางองค์จารด้วยตัวอักษรธัมม์ล้านนา (ตั๋วเมือง) มีการระบุศักราชอยู่หลายชิ้น

จารึกที่ฐานพระพุทธรูปสกุลช่างฝางที่วัดทรายแดง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ระบุศักราช 2076 ยุคพระเมืองเกษเกล้า

องค์ที่มีอายุเก่าสุดสร้างในปี พ.ศ.2022 ตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราช นั่นคือองค์ที่วัดปัณณาราม ตำบลสันทราย อำเภอฝาง ถัดมาคือองค์ที่วัดศรีบุญเรือง (แม่ฮ่างหลวง) ระบุศักราช 2024

จากนั้นพบจารึกที่ฐานพระพุทธรูปที่มีอายุไล่เรียงกันมาถึงสมัยพระญายอดเชียงราย พระเมืองแก้ว พระเมืองเกษเกล้า จนถึงสมัยพระเมกุฏิ และยุคที่ล้านนาถูกปกครองโดยพม่า นั่นคือ พ.ศ.2100 เป็นต้นไปแล้ว

สะท้อนให้เห็นว่า ตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมา มีการสร้างวัดวาอารามพร้อมด้วยพระพุทธรูปจำนวนมากในเมืองฝาง ทั้งๆ ที่ยุคพระเจ้าติโลกราชนั้น สถานะของเมืองฝาง หาใช่เมืองลูกหลวงที่มีความสำคัญทัดเทียมกับสมัยล้านนาตอนต้นอีกต่อไปไม่

กล่าวคือ สมัยล้านนาตอนต้นนั้น เมืองฝางมีความเมืองสำคัญเทียบเคียงในระนาบเดียวกันกับเมืองเชียงแสน-เชียงรายเลยทีเดียว ผู้ปกครองเมืองฝางต้องเป็นโอรสหรือไม่ก็อนุชาของกษัตริย์เชียงใหม่-เชียงแสนเท่านั้น

ทว่าในสมัยพระเจ้าติโลกราช สถานะของเมืองฝาง ถูกวางไว้เป็นแค่ “ประตูสู่เมืองเนรเทศ” ปลายสุดของดินแดนล้านนาฟากตะวันตก เลยจากนี้ไปก็คือพรมแดนรัฐฉาน

จารึกที่ฐานพระพุทธรูปสกุลช่างฝางวัดศรีเวียง อ.แม่อาย เชียงใหม่ ระบุศักราช พ.ศ.2083 สมัยท้าวซายคำ

น่าแปลกที่เรากลับพบพระพุทธรูปที่สร้างจำนวนมหาศาลในยุคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยพระเมืองแก้ว ปี 2060 พระองค์ได้แต่งตั้งให้เจ้าเมืองนายมาปกครองเมืองฝาง ดำรงตำแหน่งเป็น “แสนฝาง” ทั้งยังให้ไพร่พลชาวเงี้ยว (ไทใหญ่) จากเมืองกาย (เอกสารใช้คำว่า เมืองกายเงี้ยว) รวม 1,200 คน มาอาศัยอยู่ในเมืองฝางอีกด้วย

ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เป็นไปได้หรือไม่ว่า เมื่อประชากรชาวเงี้ยวจำนวนมากได้เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองฝางอย่างเป็นล่ำเป็นสัน พวกเขาได้นำเอารสนิยมพื้นถิ่นแบบไทใหญ่ไทลื้อในรัฐฉานเข้ามาผสมคลุกเคล้ากับศิลปะล้านนา ที่มีรากฐานอิทธิพลสุโขทัยผ่านขึ้นมาปนกับเชียงใหม่แล้ว ผสมกับกลิ่นอายของสกุลช่างพะเยาบ้าง ล้านนาตะวันออก (กลุ่มแพร่น่าน) บ้าง หลอมรวมกัน จนเกิดเป็นรูปแบบพิเศษ

นั่นคือความงามเฉพาะของพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง •

 

…………………………………………………………………………….

อ่านเพิ่มเติม :

อัตลักษณ์ของ ‘พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง’ 

อัตลักษณ์ของ ‘พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง’ / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

‘พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง’ จากการศึกษาของปราชญ์ล้านนารูปสำคัญ ‘พระครูอดุลสีลกิตติ์’

‘พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง’ จากการศึกษาของปราชญ์ล้านนารูปสำคัญ ‘พระครูอดุลสีลกิตติ์’ / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

ย้อนรอย ‘คาร์ล บ็อค’ ลอบย้าย ‘พระพุทธรูปเมืองฝาง’ ไปยุโรป

ย้อนรอย ‘คาร์ล บ็อค’ ลอบย้าย ‘พระพุทธรูปเมืองฝาง’ ไปยุโรป / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ