ลอดช่อง ทางรอด พปชร./บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ลอดช่อง ทางรอด พปชร.

 

การเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วของพรรคพลังประชารัฐในการเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 กลายเป็นพรรคที่มีเสียงในสภาเป็นอันดับสอง จากการมี ส.ส.เขต 97 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19 คน รวมเป็น 116 คน และเป็นแกนนำของพรรคร่วมรัฐบาลทำให้เกิดการประเมินว่า หากยังใช้กติกาบัตรเลือกตั้งใบเดียวนับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสมแล้วการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าเมื่อพรรคตนเป็นพรรคใหญ่จะกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบเช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยในอดีตที่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่รายเดียว

ความพยายามแก้ไขกติกาเลือกตั้ง จึงเกิดขึ้นด้วยการผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส.เขต อีกใบหนึ่งเลือกพรรค เพื่อไปคำนวณจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ โดยนับคะแนนแบบคู่ขนานไม่เกี่ยวข้องกัน และยังลดสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือ 100 คน เพราะเชื่อมั่นว่า พรรคตนมีความได้เปรียบในสัดส่วนของ ส.ส.เขตมากกว่า

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเป็นเนื้อเดียวของพรรคเป็นแค่มายาชั่วคราว การรวมกันเพื่อประโยชน์ถึงเวลาสิ้นสุด กอปรกับท่าทีทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่รู้จักประนีประนอมกับผู้เห็นต่าง สร้างศัตรู ผลักไสมิตร ความเป็นพรรคใหญ่ที่มุ่งหวังประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงยิ่งไกลจากความเป็นจริง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นบัตรสองใบ จึงเป็นสิ่งที่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองเรียกอย่างไม่เกรงใจว่า เป็นปรากฏการณ์เตะหมูเข้าปากหมา เพราะพรรคที่จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในเรื่องดังกล่าวคือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองคู่แข่งฝ่ายตรงข้าม

เมื่อการเลือกตั้งยังไม่เกิด การยุบสภายังอยู่ในอำนาจนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐจึงยังมีโอกาสในการพลิกสถานการณ์ แต่วิธีการใดจะได้ผลหรือวิธีการใดจะยิ่งดิ่งลึกเป็นหน้าที่ของนักวางกลยุทธ์ภายในพรรคแล้ว

 

โอกาสพลิกกลับไปใช้บัตรใบเดียว

ต้องบอกว่ายากมาก เพราะรัฐธรรมนูญได้แก้ไขระบบบัตรเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบ โดยเขียนไว้ในมาตรา 83 วรรคสองแล้วว่า “การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบละหนึ่งใบ”

ดังนั้น แม้กฎหมายลูก คือ พ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จแล้วเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองต้องยุบสภา การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นก็ต้องยึดรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จะย้อนกลับไปใช้บัตรใบเดียวไม่ได้ โดยมี 2 ทางเลือกสำหรับสิ่งทดแทนกฎหมายลูก คือ การออกเป็นพระราชกำหนดโดยคณะรัฐมนตรี หรือการออกคำสั่งและประกาศโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้มีรายละเอียดของการดำเนินการจัดการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

เพียงแต่ กกต.กลัวติกคุก เพราะการออกคำสั่งและประกาศด้วยตนเองโดยไม่มีกฎหมายรองรับ หากถูกตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญก็จะเป็นปัญหาย้อนกลับมาถึงตัว กกต.เองในอนาคต ในขณะที่คณะรัฐมนตรียังเกี่ยงงอนว่า การออกพระราชกำหนดนั้นต้องเฉพาะกรณีจำเป็นเร่งด่วน และมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า “ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ” และ “คณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้”

ดังนั้น ดูท่าแล้ว หากกฎหมายลูกไม่ผ่านและมีการยุบสภา การเลือกตั้งใหม่คงต้องอาศัยมือคณะกรรมการการเลือกตั้งในการออกคำสั่งและประกาศเอง และ กกต.คงไม่หาญกล้ากลับไปใช้บัตรใบเดียวเพื่อตอบสนองความต้องการของใครได้ หากไม่อยากใช้ชีวิตบั้นปลายแบบถูกจองจำ

การกลับไปใช้บัตรใบเดียว จึงมีหนทางเดียวที่ทำได้ คือ การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เข้ามาใหม่ ตามเงื่อนไขในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ โดย คณะรัฐมนตรี หรือ โดยการเข้าชื่อของ ส.ส. หนึ่งในห้าของสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. รวมกับ ส.ว. หนึ่งในห้าของรัฐสภา

แต่นั่นคงระงมด้วยเสียงด่าทอของประชาชนว่า ท่านกำลังคิดอะไรกัน

 

บัตรสองใบ

แต่นับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสม

กระแสความคิดเกี่ยวกับแม้จะเป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ แต่หวนกลับไปใช้การนับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMP : Mixed member proportional system) ดูจะเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นทางแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามมีโอกาสได้จำนวนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรมากเกินไป

เพราะหากได้ ส.ส.เขตจำนวนมาก และยังได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อสมทบอีก ปรากฏการณ์ฟ้าถล่มแผ่นดินทลาย หรือ Landslide ทางการเมืองที่หลายคนปรารถนาอาจเกิดขึ้นจริง

ว่าไปแล้วแนวความคิดแบบ MMP เป็นแนวความคิดที่ภาคประชาชนเคยเสนอ หรือแม้กระทั่งพรรคก้าวไกลก็เคยเอ่ยปากสนับสนุน มีการอภิปราย การจัดทำสื่อความรู้เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งดังกล่าวมากมาย พร้อมยกแบบอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี หรือนิวซีแลนด์ โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถเลือกพรรค (party) และเลือกผู้สมัคร (candidate) ที่แยกจากกัน แต่เวลาคำนวณจะมีการคำนวณ ส.ส.พึงมีจากส่วนที่เลือกพรรคก่อน แล้วมาดูว่าพรรคนั้นๆ ได้ ส.ส.เขตไปแล้วเท่าไร ก่อนจะจัดสรรจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามสัดส่วนที่พรรคควรจะมี ส.ส.ในสภา

บัตรเลือกตั้งของประเทศดังกล่าว แม้จะเป็นใบเดียวแต่ลงคะแนนได้ 2 สิทธิ ด้านซ้ายเลือกพรรค ด้านขวาเลือกผู้สมัคร (ตามภาพประกอบ) ซึ่งก็เทียบเท่ากับมีบัตรเลือกตั้งสองใบแบบประเทศไทย

จึงไม่ได้หมายความอย่างเป็นที่เข้าใจว่า ระบบการนับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนหรือ MMP ต้องเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว

การตีความและกำหนดให้วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าจะเป็นแบบคู่ขนานแยกจากกัน เช่น การเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2554 หรือคำนวณแบบจัดสรรปันส่วน เหมือนการเลือกจากบัตรใบเดียวในปี พ.ศ.2562 จึงยังอาจเป็นอีกหนทางรอดของพรรคพลังประชารัฐ

เพียงแต่ในร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่อยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 4 ร่าง ไม่ว่าจะเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล กลับมีแนวทางเดียวกันเป็นการนับคะแนนแบบคู่ขนานโดยใช้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เป็นตัวหาร ซึ่งต้องรอการแปรญัตติจาก ส.ส. ว่าจะมีผู้ใดเสนอคำแปรญัตติในวิธีการคำนวณแบบจัดสรรสัดส่วนเข้ามา หรือจะมีกรรมาธิการท่านใดหยิบเป็นประเด็นการพิจารณาในระหว่างการประชุม

ยังต้องรอท่าทีของฝ่ายสมาชิกวุฒิสภา ว่าจะมีการกลับตัวแบบ 360 องศาไปหนุนระบบจัดสรรปันส่วนที่ใช้จำนวน ส.ส.ทั้งสภา 500 คน เป็นตัวหารเพื่อคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมีอีกหรือไม่ เพราะหากมีสัญญาณว่า เดินหน้าต่อแบบเดิม อำนาจการบริหารอาจกลับไปตกในมือของฝ่ายตรงข้ามคนที่แต่งตั้งตน การรื้อฟื้นอาจมีเหตุผลดีๆ กลับมาอ้างต่อประชาชนอีกรอบ

หากฝ่ายรัฐบาลเปลี่ยนแผน สมาชิกวุฒิสภาเห็นตาม พรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นพรรคเดียวในสภาที่ยืนในฝั่งบัตรสองใบและนับคะแนนแบบคู่ขนาน เพราะเป็นพรรคเดียวที่ได้ประโยชน์จากระบบดังกล่าว

พรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน ล้วนแล้วแต่ได้ประโยชน์จากระบบจัดสรรปันส่วนทั้งสิ้น เพียงแต่จะใครเป็นผู้เริ่มต้นเกม

ตกลง เขาแก้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูก เพื่อประชาชนใช่ไหม