คำ ผกา | นิทรรศการความดี บนข่าวอาชญากรรม

คำ ผกา

มหรสพการเสพข่าวอาชญากรรมราวกับกำลังดูหนัง True crime หรือนิยายสืบสวนสอบสวนพิศวาสฆาตกรรม ในกรณีข่าวดาราชื่อแตงโม ไปล่องเรือแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วตกจากเรือ จนนำไปสู่การจมน้ำเสียชีวิต

จะว่าเป็นเรื่องเก่าก็เก่า และการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจริยธรรมสื่อและรสนิยมของสื่อก็เกิดขึ้นมาตลอดเท่าที่ฉันมีชีวิตอยู่ในสังคมไทย

และเรื่องราวเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่อาจเรียกว่า Thrill หรือความเร้าใจ ระทึกขวัญ หากเอาไปสร้างเป็นหนังก็เป็นหนัง Thriller

และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนังแนวนี้ก็ตอบสนองต่อสัญชาตญาณ การทำงานของจิตใจมนุษย์ การตอบสนองต่อความกลัว การหลั่งสารแห่งความสุขเมื่อร่างกายปะทะกับความระทึกของเหตุการณ์ที่คาบเกี่ยวกับความเป็น ความตาย การชิงรักหักสวาท หรือแม้กระทั่งปมความขัดแย้งในครอบครัว

ด้วยเหตุดังนั้นเราจึงชอบดูหนัง อ่านนวนิยายพิศวาสฆาตกรรม นักสืบ หรือแม้กระทั่งชอบอ่านหนังสือที่รวบรวมเล่าเรื่องคดีสยองขวัญ กรณีฆาตรกรต่อเนื่อง

ทั้งอ่านเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น อ่านเพื่อความบันเทิง อ่านเพื่อเข้าใจมนุษย์จากมิติความป่วยไข้ทางจิต อ่านเพื่อทำความเข้าใจความป่วยไข้ของผู้คนที่อาจเป็นผลมาจากปัญหาโครงสร้างทางสังคม การกดทับทางศีลธรรม

และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องราวที่ขายได้และมีที่ทางเฉพาะของมันเอง

แต่กรณีข่าวของการจมน้ำของแตงโมที่โดยทั่วไปน่าจะเป็นข่าวใหญ่ไม่เกิน 1 วัน และเนื้อหาของข่าวไม่ได้มีอะไรมากไปว่าข้อเท็จจริงที่ว่า แตงโมและเพื่อนที่เป็นผู้จัดการส่วนตัวไปลงเรือเพื่อ “สันทนาการ” กับเพื่อนผู้มีเรือเป็นของตนเอง จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ว่า แตงโมงจมน้ำเสียชีวิต

สิ่งที่ยังต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไปคือ

1. การจมน้ำนั้นเป็นอุบัติเหตุหรือฆาตรกรรม

2. ถ้าเป็นอุบัติเหตุ อุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

3. ถ้าสงสัยว่าเป็นฆาตกรรม มีหลักฐานอะไรที่น่าเชื่อถือ และสมมุติว่ามีข้อน่าสงสัยหลายประการว่าอาจจะไม่ใช่อุบัติเหตุ สัดส่วนของข่าวนี้ในพื้นที่สื่อที่แม้จะเสนอข่าวต่อเนื่องทุกวันก็ไม่ควรจะเปิดร้อยละห้าของพื้นที่สื่อทั้งหมด

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า ตลอดอาทิตย์ อะเจนด้าหลักของสื่อกระแสหลักทั้งหมดเป็นเรื่องการตายและสารพัด “เรื่องเล่า” ที่เกี่ยวข้องกับการตายครั้งนี้

ไม่นับมหากาพย์การเข้าทรง หมอดู ขี้หมูราขี้หมาแห้ง อะไรก็นำมาเป็นประเด็นเกี่ยวกับการตายนี้ทั้งหมด

คนนั้นฝัน คนนี้อ้างว่าคนตายมาหาและขอความช่วยเหลือ

และไม่ว่าใครจะมาอ้างอะไร สื่อก็พร้อมจะกระโจนเข้าใส่แล้วไป “ตีฟู” นำเสนอต่อเป็นตุเป็นตะ เพียงเพราะมันเป็นข่าวที่ขายได้

ผ่านมาหนี่งสัปดาห์แล้ว ไม่มีอะไรจะขายเกี่ยวกับข่าวนี้แล้ว ก็เริ่มไปขุดคลิปอะไรเบลอๆ ก็เอามาตีความเป็นตุเป็นตะว่านี่คือจังหวะที่ตกน้ำบ้าง

เริ่มมีการงมแก้วไวน์ขึ้นมาบ้าง เรียกว่าดันทุรัง เพื่อลากเรตติ้งจากข่าวนี้ออกไปให้ยาวที่สุด

เหมือนละครฮิตที่พอถึงตอนอวสานแล้วไม่ยอมอวสาน ขอยืดเรื่องออกไปอีกสักสอง-สามตอนก็ยังดี จะได้ขายสปอนเซอร์ต่อได้

หลายๆ คนอธิบายว่าที่ต้องตีฟูขนาดนี้ และการที่สื่อและนักสืบพลเมืองต้องแอ๊กทีฟขนาดนี้มันสะท้อนกระบวนการยุติธรรมบ้านเราไม่ทำงาน ไม่น่าเชื่อถือ คนกลัวว่าคนตายจะไม่ได้รับความเป็นธรรม

สำหรับฉัน คำอธิบายนี้ทั้งใช่และไม่ใช่

กระบวนการยุติธรรม และการทำงานของตำรวจไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ แต่เราไม่ได้ “เดือดร้อน” เท่ากันทุกรณี

เพราะจะให้ยกตัวอย่างกรณีที่ “ความยุติธรรมไม่ทำงาน” มีตั้งแต่คดีทหารเกณฑ์ตายในค่ายแล้วเรื่องเงียบหายไป คดีค้ามนุษย์ คดีชัยภูมิ ป่าแส คดีอุ้มฆ่าผู้ลี้ภัยทางการเมือง คดีบิลลี่ แก่งกระจาน คดี ผกก.โจ้กับถุงดำของเขา

และทั้งหมดนี้ต่อให้ไม่มีคดีที่เกี่ยวกับ “การเมือง” เลย เราก็รู้ว่าคำว่า “แพะ” กระบวนการยุติธรรมของไทยคืออะไร เรียกได้ว่า เอานิ้วมือลูบไปตรงไหนก็เจอทั้งนั้น

แต่กระแสสังคมไม่ได้ลงแรงไปกับการติดตาม ทวงหาความยุติธรรมเท่าที่เกิดกับเรื่องดาราตกเรือและจมน้ำตาย

 

เพราะฉะนั้น สำหรับปรากฏการณ์นี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องความยุติธรรม

แต่มันสะท้อนการเลือกปฏิบัติทางศีลธรรมของคนในสังคมไทยเองด้วย

ถ้ากระบวนการยุติธรรมจะมีสองมาตรฐาน การเรียกร้องความยุติธรรมให้กับใคร หรือไม่ให้กับใครก็มี “มาตรฐาน” ทางศีลธรรมในความเป็นไทยกระแสหลักกำกับอยู่ด้วยเสมอ

และในมาตรฐานทางศีลธรรมแบบไทยกระแสหลักนี้เองที่สร้าง “เรื่องเล่า” ที่อ้างอิงจาก “ข้อเท็จจริง” อันปรากฏอยู่อย่างกระจัดกระจายในกรณีข่าวแตงโม

ถามว่า “เรื่องเล่า” คืออะไร?

เรื่องเล่า คือการนำเอาข้อเท็จจริงต่างๆ มาร้อยเรียงกันให้เป็น “เรื่อง” ดังนั้น มันจึงไม่ใช้ทั้งเรื่อง “แต่ง” เท่าๆ กับที่มันไม่ใช่ “เรื่องจริง”

แต่มันสะท้อน “ความจริง” อย่างหนึ่งคือโลกทัศน์ของคนที่เล่า สะท้อนสังคมในอุดมคติของคนเล่า สะท้อนความฝัน ความงาม ความจริง อ้างอิงตามโลกทัศน์ของผู้เล่า

เช่น เรื่องของแตงโม หลังจากเสียชีวิตจากรณีนี้ถูกเล่าบนพล็อตของผู้หญิงสวยคนหนึ่ง เติบโตมากับพ่อผู้เสียสละ เป็นคริสเตียนที่ดี รักพระเจ้า เผชิญชะตากรรมหลายอย่าง ทั้งการงาน การเมือง ความรัก การเรียน โรคซึมเศร้า เป็นคนรักเพื่อน จนอยู่มาวันหนึ่งได้พยายามซ่อมแซมชีวิต จนเรียนจบ ชีวิตกำลังจะดี เจอผู้ชายดีๆ ที่รักเธอจริง

แล้วก็ต้องมาเสียชีวิตอย่างน่าเสียดาย

จากนั้นเราก็ยังสามารถเล่าเรื่องต่อได้อีก (ไม่ได้บอกว่าจริงหรือไม่จริง แต่กำลังสาธิตให้เห็นว่า พลังของเรื่องเล่า หรือ narrations นั้นมันอิงอยู่พล็อต หรือเส้นเรื่องที่เราทุกคนแชร์ความเข้าใจ ความทุกข์ หรือความอะไรที่เราจะเรียกมันว่าคือความสุขหรือความทุกข์ เช่น การเจอผู้ชายคนหนึ่งที่รักเราจริง เท่ากับความสุข หรือเท่ากับการมีชีวิตที่ดีขึ้น) ว่า แตงโมที่เป็นคนจริงใจ รักเพื่อน กลับมีเพื่อนที่ไม่รักเธอในน้ำหนักที่เท่าๆ กัน

จากนั้นก็นำไปสู่การพูดถึงการมีเพื่อนเลว เพื่อนทรยศ เพื่อนไม่ซื่อสัตย์ เพื่อนปากหวานก้นเปรี้ยว เพื่อนเอาเปรียบ ฯลฯ

หลายๆ กรณีที่อินกับเรื่องนี้ก็เพราะมันถูกไปผูกโยงกับประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เสพเรื่องเล่า และกลายเป็นผู้เล่าเรื่องไปด้วย

จากนั้นก็เป็นอีกเรื่องเล่าที่ว่า หนุ่มเพลย์บอยที่ถูกวางไว้ในฐานะ “ตัวร้าย” ภาพแบบฉบับคือ ผู้ชายร่ำรวย ชอบแฮงก์เอาต์กับดารา นางแบบ คนในวงการ มีคอนเน็กชั่นอันกว้างกวาง เป็นผู้มีอิทธิพล

ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่จะสามารถใช้อำนาจ อิทธิพลสร้างอภิสิทธิ์ให้ตนเองได้ เช่น ถ้าไปขับรถชนคนตายก็คงไม่ติดคุก

ส่วนเรื่องเล่าที่เข้าทางดราม่าของโลกทัศน์แบบไทยๆ นี้มากที่สุดคือว่าด้วยแม่ที่ไม่เคยดูดำดูดีลูก แต่งงานมาแล้วถึงสามครั้ง เป็นหญิงสามผัว ชายสามโบสถ์ และตอนนี้หญิงแม่มดคนนี้กำลังจะขายศพลูกกิน

จากนั้นก็จะวนกลับมาที่เทพนิยายว่าด้วยหญิงสาวสวยผู้อาภัพ และมีเพียงชายคนรักผู้แสนสุภาพคนนั้นเท่านั้นที่รักเธอจริง

และนี่คือบทหนังโรแมนซ์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่หนังรัก หรือนิยายรักเรื่องหนึ่งจะมีได้

ทั้งหมดนี้ ฉันไม่ได้บอกว่า อะไรจริง อะไรไม่จริง ใครผิด ใครถูก จนกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยพิสูจน์ พยานหลักฐานต่างๆ จะออกมาคลี่คลายปมต่างๆ อย่างเป็นทางการ (ซึ่งคนก็พร้อมจะไม่เชื่ออยู่ดี)

แต่อยากสาธิตให้เป็นว่า บนเหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่ง สังคมสามารถเข้าไปร่วม “เล่าเรื่อง” เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ อ้างอิงตามอคติ มายาคติ ความเชื่อ ความดี ความงาม ความจริงของตนเอง และสามารถสถาปนาตนเองเป็นศาลเตี้ยได้โดยง่าย

ไม่นับการเอาตัวเองไปนิยามกับบางฉาก บางตอน บางบทสนทนา รู้สึกรู้สากับเหตุการณ์ราวกับว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นกับตัวเอง เรียกได้ว่า “อิน” ยิ่งกว่าญาติ

แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ เราไม่ค่อยคิดว่าการเข้าไปร่วมเล่าเรื่อง ระบายสีนั้นเป็น “อคติ” และ “ฉันทาคติ” แต่ไปทึกทักเหมารวมว่า ความฝัน ความดี ความงาม ที่เราเชื่อคือความจริงแท้ คือสัจจะ อันเปลี่ยนแปลงไม่ได้

เช่น แฟนที่ดีต้องเป็นแบบนี้ แม่ที่ดีต้องเป็นแบบนั้น

จากนั้นก็เอาภาพแบบฉบับที่ตนเองมีไปสวมเข้ากับข้อเท็จจริงอันกระจัดกระจายที่ได้มา พร้อมผลิตเรื่องเล่าที่มีทั้งนางเอก พระเอก ผู้ร้าย นักเลง แม่ใจยักษ์ เพื่อนสาวนางงูพิษ เพื่อนผู้แสนดีแต่ถูกกีดกันจากครอบครัว เพื่อนผู้ปิดทองหลังพระ ฯลฯ

และฉันคงจะหวังมากไปว่า มันเป็นเรื่องปกติธรรมดามากที่มนุษย์จะทำความเข้าใจเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งผ่าน “เรื่องเล่า” หรือ “พล็อต” ที่ตนเองคุ้นชิน และเอาไปเล่าต่อยอดใส่สีใส่ไข่เป็นความบันเทิงของชีวิตไทยมุงไปพร้อมๆ กับสถาปนาตนเองในฐานะคนดี เพื่อนที่ดี แม่ที่ดี ลูกที่ดี ให้สังคมเห็นเป็นที่ประจักษ์ แต่ขึ้นชื่อว่า “สื่อ” ที่ไม่จำเป็นต้องเสนอข่าวสงคราม การเมืองอะไรก็ได้

ทว่า การนำเสนอความที่ชาวบ้านสนใจก็น่าจะสามารถนำเสนอ “ข่าว” แบบนี้แบบมีสติสัมปชัญญะ รู้ทันการสร้าง narrative บนอคติของสังคม เหนี่ยวรั้งจินตนาการของสังคมไม่ให้เตลิดเปิดเปิงจนเกินกว่าเหตุ ไม่สถาปนาตนเองเป็นศาลเตี้ย หรือร่วมด้วยปั่นดราม่า ฟูมฟายตอกย้ำการสร้างตัวละครผิด-ถูก ขาว-ดำ ตามกะลาใบเดิมที่คุ้นชิน

เพราะทำแบบนั้น มันเหนี่ยวรั้ง ซ้ำเติมความสามารถในการคิดเชิงเหตุผลและบั่นทอนวุติภาวะของสังคมซึ่งปกติก็ถูกบั่นทอนจากโครงสร้างการเมืองอันเหลวแหลกอยู่แล้ว

พูดง่ายๆ คือ มันทำให้เราโง่ซ้ำซากโดยไม่จำเป็น