คุยกับทูต : ระห์หมัด บูดีมัน สัมพันธ์อินโดฯ-ไทย 72 ปี แห่งความเข้าอกเข้าใจ (1)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต ระห์หมัด บูดีมัน

สัมพันธ์อินโดฯ-ไทย

72 ปี แห่งความเข้าอกเข้าใจ (1)

 

ถัดจากพันธุ์ทิพย์พลาซ่าบนถนนเพชรบุรี ไม่ไกลจากสยามพารากอน เป็นที่ตั้งของอาคารโอ่อ่างดงามหลายหลัง ภายในมีบริเวณกว้างใหญ่ นอกจากพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสนามฟุตบอลแล้ว ยังมีสนามเทนนิส สนามกีฬาในร่ม สระว่ายน้ำ และสระน้ำขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยฝูงปลาใหญ่น้อยสี่พันกว่าตัว รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

ณ ที่นี้ คืออาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียและอาคารที่พำนักอย่างเป็นทางการของเอกอัครราชทูต

นายระห์หมัด บูดีมัน (HE. Mr. Rachmat Budiman) ซึ่งเดินทางมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021

นายระห์หมัด บูดีมัน (HE. Mr. Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย

กล่าวถึงจุดประสงค์ในการทำงานว่า

“อินโดนีเซียและไทยเป็นมิตรแท้ที่มีความสนใจและเป้าหมายร่วมกันในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ในขณะเดียวกันก็สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประชาชนด้วย”

“จากการที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพและโอกาสมหาศาล ผมจึงกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนเพื่อให้ประสบความสำเร็จในระหว่างที่เป็นเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำราชอาณาจักรไทยตามที่ได้รับการแต่งตั้ง”

เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

“เริ่มจากภาคเศรษฐกิจ มุ่งส่งเสริมการส่งออกของเรามายังประเทศไทย เพื่อให้เรามีการค้าที่สมดุลกันมากขึ้น ทั้งยังเพิ่มการลงทุนแบบสองทางอีกด้วย การส่งเสริมการทูตเชิงเศรษฐกิจ จึงเป็นหนึ่งในความสำคัญสูงสุดในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งนี้”

“การเพิ่มการเชื่อมต่อกับผู้คน ก็จะนำไปสู่ความเข้าใจระหว่างกันที่ดีขึ้น สามารถทำได้โดยการเพิ่มจำนวนนักเรียนแลกเปลี่ยน การให้ทุนการศึกษา และการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมของเราต่อคนไทยโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่”

“การปกป้องพลเมืองของเราที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของผม โดยสถานทูตของเรามุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนชาวอินโดนีเซียที่ต้องการความช่วยเหลือ”

 

ความประทับใจหลังอยู่ที่กรุงเทพฯ มากว่าหนึ่งปีแล้ว

“ผมมาเยือนประเทศไทยบ่อยครั้ง ก่อนได้รับมอบหมายให้เป็นเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศที่สวยงามแห่งนี้ นอกเหนือจากวัฒนธรรมแล้ว สิ่งที่ทำให้เกิดความประทับใจมากที่สุดคือ ผู้คนที่เป็นมิตร ภูมิทัศน์ที่สวยงาม และอาหารรสเลิศ” นายระห์หมัด บูดีมัน เล่า

“ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม ซึ่งผมคิดว่า เป็นคำอธิบายประเทศไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศ ไม่มีใครสงสัยความงดงามในภูมิทัศน์ของประเทศไทยที่มีหาดทรายขาวสะอาด เกาะที่สวยงาม และป่าไม้อันเขียวชอุ่ม”

เข้าเยี่ยมคารวะ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

“อินโดนีเซียและไทยมีความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมที่ใกล้ชิด เรามีพิธีการตามประเพณีที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูเก็บเกี่ยวที่เพื่อนบ้านแสดงความเอื้ออาทรต่อกันด้วยการช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ขัดสน เราได้จัดทำความตกลงด้านสังคมและวัฒนธรรม ทั้งยังมีการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมและสม่ำเสมอ”

“ในด้านอาหาร ผลไม้และผักเกือบทั้งหมดที่ปลูกในประเทศไทย สามารถพบเจอในประเทศอินโดนีเซีย เช่นเดียวกับอาหารพื้นบ้านที่นี่ ก็แสนอร่อยจนยากจะลืมเลือน ดังนั้น ผมจึงรู้สึกเหมือนอยู่ในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง”

เข้าเยี่ยมคารวะ นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสี่และเป็นประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก นอกจากนี้ ยังเป็นบ้านของชาวมุสลิมจำนวนมากที่สุดในโลก

เสรีภาพทางศาสนามีความสำคัญต่อประเทศอินโดนีเซียอย่างไร

“อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีศาสนาที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งชาติ 6 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ นิกายโรมันคาทอลิก ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และลัทธิขงจื๊อ”

“เสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอินโดนีเซียอย่างแท้จริง ตามที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของเรา ซึ่งให้หลักประกันเสรีภาพในการนับถือศาสนาและสิทธิในการเคารพบูชาตามความเชื่อของตนเอง มาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนว่า :

(1) รัฐจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว

(2) รัฐรับประกันเสรีภาพในการเคารพบูชาของทุกคน โดยแต่ละคนเป็นไปตามศาสนาหรือความเชื่อของตน”

“หลักการข้อแรกของอุดมการณ์หรือปรัชญาแห่งรัฐของอินโดนีเซีย คือ ปัญจศีล หรือปันจาซีลา Pancasila (หลักการ 5 ประการ) ประกาศความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวในทำนองเดียวกัน”

“รัฐธรรมนูญและอุดมการณ์แห่งชาติอินโดนีเซียได้รับการกำหนดโดยบิดาผู้ก่อตั้ง (founding father) ของเราเมื่อ 76 ปีที่แล้ว ซึ่งเรายังคงรักษาค่านิยมเหล่านี้และปฏิบัติตามหลักการในสังคมของเรามาจนถึงทุกวันนี้”

นายระห์หมัด บูดีมัน (HE. Mr. Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย

รัฐธรรมนูญของประเทศอินโดนีเซียมีขึ้นตั้งแต่ สิงหาคม ค.ศ.1945 (Undang-Undang Dasar Republik Indonesia 1945, UUD ’45) เมื่ออินโดนีเซียถูกรุกรานจากญี่ปุ่นและการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา กลายมาเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีการกำหนดให้ใช้ตามหลักปัญจศีล (Pancasila) เป็นหลักที่สำคัญ 5 ประการที่เป็นปรัชญาแห่งรัฐของอินโดนีเซียโดยอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน คือ

1) ความเชื่อในพระเจ้าสูงสุดเพียงพระองค์เดียว

2) มีหลักมนุษยนิยม คือมีความเที่ยงธรรมและเป็นมนุษยที่มีอารายะ

3) ชาตินิยมแห่งความเป็นอินโดนีเซีย

4) หลักการแห่งประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยของปวงชน

5) ความยุติธรรมในสังคมสำหรับชาวอินโดนีเซียทั้งหมดโดยเท่าเทียมกัน

เอกอัครราชทูตและคู่สมรส Mrs.Reitanty Budiman

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนและมีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป้าหมายของอินโดนีเซียในการร่วมมือกับพันธมิตรในภูมิภาคเป็นอย่างไร

เอกอัครราชทูตระห์หมัด บูดีมัน สรุปว่า

“อินโดนีเซียมองว่า อาเซียนยังคงมีความเกี่ยวข้องและสามารถตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ๆ ในภูมิภาคและของโลกได้”

“อินโดนีเซียจะพยายามเสริมสร้างความเป็นศูนย์กลางและความแข็งแกร่งของอาเซียน อาเซียนต้องเดินหน้าสร้างประโยชน์ต่อประชาชน ตลอดจนนำสันติภาพ สวัสดิการ และความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ภูมิภาค”

“อินโดนีเซียจะส่งเสริมให้อาเซียนเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันในฐานะส่วนสำคัญของการอภิปรายเกี่ยวกับ วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี 2025”

“อาเซียนต้องพยายามต่อไปเพื่อสร้างประชาคมอาเซียนและรักษาภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกให้มั่นคง และเจริญรุ่งเรือง”

“ดังนั้น อาเซียนจึงต้องมีบทบาทดั่งสมอเรือ เพื่อความมั่นคง สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกต่อไป” •