กว่าจะถึง SCBX / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com
SCB / ธนาคารไทยพานิชย์ สาขาตลาดน้อย

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

กว่าจะถึง SCBX

 

จึงเป็นเรื่องราวที่ควรทบทวน ว่าด้วยภูมิหลังและบทเรียนกว่าศตวรรษ เกี่ยวกับธนาคารเก่าแก่ของไทย จากสยามกัมมาจล และไทยพาณิชย์ สู่เอสซีบี เอกซ์

จากเรื่องราวซึ่งกระตุ้นความสนใจแก่สังคมธุรกิจไทยไม่น้อย เมื่อราวครึ่งปีที่ผ่านมา (กันยายน 2564) “SCB Group จัดตั้ง ‘ยานแม่’ ภายใต้ชื่อ SCBX (เอสซีบี เอกซ์) เพิ่มความคล่องตัวและขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค สร้างบริษัทสู่หลากธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์ม วางรากฐานรองรับบริบทใหม่ของโลก”

จนเข้าใกล้ความจริงอีกขั้น เมื่อ (1 มีนาคม 2565) มีประกาศ กำหนดการซื้อหลักทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ โดย บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)

 

หลายคนอาจลืมไปบ้างแล้ว เกี่ยวกับตำนานธนาคารเก่าแก่ ซึ่งเผชิญสถานการณ์วิกฤต และผ่านบริบททางสังคมอย่างซับซ้อน หลากหลายมิติ ตั้งต้นอย่างเป็นจริงเป็นจัง ในนาม แบงก์สยามกัมมาจล มาตั้งแต่ก่อตั้งขึ้น (ในปี 2449)

ธนาคารซึ่งมีแผนการก่อตั้งอย่างมียุทธศาสตร์และระแวดระวังเป็นพิเศษ เป็นธนาคารแห่งแรกของไทย ที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ สร้างอำนาจต่อรองกับระบอบอาณานิคม ด้วยความพยายามโดยตรงของราชสำนักไทย เมื่อกว่าศตวรรษที่แล้ว

ช่วงประวัติศาสตร์ระยะต้น ผ่านร้อนผ่านหนาว โดยเฉพาะเผชิญวิกฤตการณ์การเงินครั้งใหญ่ในโลกปี 2474 ต่อเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองภายใน จนถึงอีกช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ยุคสงครามเวียดนาม ต่อด้วยความวิตกกังวลเกี่ยวกับ “ทฤษฎีโดมิโน”

จากช่วงเวลาซึ่งคงบุคลิกอนุรักษนิยมอย่างเข้มงวด อย่างยาวนาน ทุนจดทะเบียน 3.3 ล้านบาท ดำรงอยู่เป็นเวลาราวครึ่งศตวรรษ ณ ปี 2516 สินทรัพย์ธนาคารเก่าแก่แห่งนี้ ซึ่งเคยมีสินทรัพย์เป็นอันดับหนึ่ง ได้ตกลงมาอยู่อันดับ 6 โดยธนาคารเกิดใหม่ หลังสงครามโลกครั้งที่สองยกขบวนแซงหน้า (ธนาคารกรุงเทพ, กรุงไทย, กสิกรไทย, กรุงศรีอยุธยา และศรีนคร) ในเวลานานสินทรัพย์เพียงประมาณ 4,000 ล้านบาทเท่านั้น

โดยเฉพาะในยุค อาภรณ์ กฤษณมาระ กรรมการผู้จัดการคนไทยคนสำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์ (เปลี่ยนชื่อตั้งแต่ปี 2482) ผู้อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดยังไม่มีใครทำลายสถิติ (2487-2515) เขาเป็นน้องชายพระยาไชยยศสมบัติ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งวิชาการบัญชีที่จุฬาฯ (ปี 2481)

จนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญมาถึง ในช่วงปลายสงครามเวียดนาม ด้วยเผชิญทั้งแรงบีบคั้นและแรงกระตุ้น

 

ประเทศไทยเผชิญปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจยุคใหม่ ต่อเนื่องมาจาก OIL SHOCK ตั้งแต่ปี 2514 ธุรกิจธนาคารซึ่งผนึกแน่นกับสถานการณ์มากขึ้น ทั้งเผชิญปัญหาและมีโอกาสทางธุรกิจ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้างขึ้นๆ เป็นลำดับ ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างจำกัด เพราะทุนจดทะเบียนน้อยมาก

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในปี 2516 มีการเพิ่มทุนทันทีครั้งใหญ่ จาก 3.3 ล้านบาท เป็น 40 ล้านบาท ที่สำคัญมาจากการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประจิตร ยศสุนทร เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนอาภรณ์ กฤษณามระ (ที่จริง สมหมาย ฮุนตระกูล มาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ขัดจังหวะ ก่อนหน้าประจิตรในช่วงสั้นๆ เพียง 3 เดือนปลายปี 2515)

ยุคประจิตร ยศสุนทร ถือเป็นช่วงต่อเนื่องยาวนานอีกช่วงหนึ่ง (กรรมการผู้จัดการใหญ่ 2516-2527 นายกกรรมการ 2530-2541) เป็นยุคแห่งโอกาสใหม่ ขยายเครือข่ายธุรกิจและการลงทุนทั้งอุตสาหกรรมและการเงิน โดยเฉพาะมีความร่วมมือกับธุรกิจญี่ปุ่น มีแบบแผนผนึกผสานยุทธศาสตร์ทางธุรกิจระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ กับเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี)

พร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างการบริหารธนาคารครั้งใหญ่ การมาของมืออาชีพระลอกใหญ่ ผู้มีประสบการณ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารระดับโลก มักเป็นผู้มีภูมิหลังแห่งสายสัมพันธ์ดั้งเดิม และมีภูมิหลังการศึกษาอย่างดี โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะธารินทร์ นิมมานเหมินท์ (ต่อมาเป็นผู้จัดการใหญ่ 2527-2535) ดร.โอฬาร ไชยประวัติ (ต่อมาเป็นผู้จัดการใหญ่ 2535-2542 และชฎา วัฒนศิริธรรม (ต่อมาเป็นผู้จัดการใหญ่ 2542-2550)

นับเป็นแผนการการปรับตัวทางธุรกิจที่ได้ผลอย่างน่าทึ่ง ใช้เวลาไม่กี่ปี ธนาคารไทยพาณิชย์ขยายตัวก้าวกระโดด ขึ้นสู่หัวแถวระบบธนาคารไทย

 

ธนาคารไทยพาณิชย์ ยุคปัจจุบัน ตัดฉากเปิดฉากขึ้นหลังเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งระบบธนาคารไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงที่สุดในประวัติศาสตร์ ธนาคารไทยพาณิชย์เองก็เกือบเอาตัวไม่รอด

จากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารธนาคารครั้งใหญ่อีกครั้ง ถือเป็นการผลัดยุคครั้งใหญ่เช่นกัน เช่นเดียวกับยุคประจิตร ยศสุนทร ที่เกิดขึ้นก่อนหน้ากว่า 2 ทศวรรษ อย่างที่ผมเองเคยว่าไว้ “ยุคผู้นำซึ่งไม่ได้มาจากโมเดล และสายสัมพันธ์ดั้งเดิม”

ปลายปี 2542 ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เข้ามาเป็นประธานกรรมการบริหาร อยู่กับธนาคารต่อมาจนถึงปัจจุบันนานถึง 2 ทศวรรษ ดูเป็นโมเดลคล้ายๆ กับยุคก่อนหน้า ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกกรรมการแทนอานันท์ ปันยารชุน (2562)

ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย มีประสบการณ์ทำงานกับธนาคารกรุงเทพเกือบๆ 2 ทศวรรษ ก่อนหันเหสู่ตำแหน่งการเมือง เป็นรัฐมนตรีว่าการคมนาคมในช่วงสั้นๆ (2537-2538) จากนั้นเข้ามาวงการเดิม ในวงจรการแก้ปัญหาระบบธนาคารไทยอันเป็นผลพวงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ

“ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งกรรมการของธนาคาร ดร.วิชิตได้นำวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนและนำพาองค์กร ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการทำธุรกิจในกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ ส่งผลให้ธนาคารมีการเติบโตที่โดดเด่น อีกทั้งยังได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทอย่างมากต่อธุรกิจธนาคาร”

บางส่วนของโปรไฟล์ทางการ (https://www.scb.co.th/) ว่าไว้

 

พอเท้าความคาบเกี่ยวได้ ธนาคารไทยพาณิชย์ กับ Change program กระบวนการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานใหม่เริ่มต้นเมื่อปลายปี 2544 ท่ามกลางช่วงเวลา (2542-2547) ว่ากันว่าระบบธนาคารไทยซึ่งค่อยๆ กลับมาตั้งหลักอีกครั้ง พร้อมๆ กับการลงทุนด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ถือว่ามากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่น

ยุค ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เปิดฉากขึ้น พร้อมๆ กับ Change program ที่มีความหมายหลายมิติ ว่าไปแล้วพลิกแนวความคิดการบริหารธนาคารไปมากด้วย เมื่อปรากฏชื่อ กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ เข้ามาเป็นกรรมการธนาคาร (ปี 2545) อดีตผู้บริหารบริษัทยูนิลีเวอร์ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโถคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างที่เรียกกันว่า Fast-moving consumer goods (FMCG) กำลังก้าวเข้ามาบริหารธนาคาร เวลานั้นบทสนทนากับ ดร.วิชิต มองธนาคารเชื่อมโยงกับแบรนด์ และสินค้าคอนซูเมอร์อย่างน่าสนใจ

จากนั้นไม่นาน กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ ได้ก้าวดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ (2550-2558) เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างมีสีสันและดูเหมือนเหวี่ยงออกไปมากพอควร

จากนั้นมาถึงยุคอาทิตย์ นันทวิทยา ผู้เคยทำงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ช่วงสั้นๆ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อวิกฤตการณ์ปี 2540 ผ่านประสบการณ์กับธุรกิจระดับโลกมาระยะหนึ่ง ได้กลับเข้ามาธนาคารอีกครั้ง ภายใต้การสนับสนุนจาก ดร.วิชิต อย่างจับต้องได้

เขาได้ก้าวขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์อย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี 2559 ต่อมาในปี 2562 ได้เป็นประธานกรรมการบริหาร (แทน ดร.วิชิต) อีกตำแหน่งหนึ่ง

เป็นช่วงเวลาธนาคารไทยพาณิชย์เดินแผนการปรับตัว ปรับโครงสร้างอย่างแข็งขัน ขณะเดียวกับจับตายุค ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย จะไปต่อไกลกว่ายุคก่อนหน้าหรือไม่ อย่างไร •