ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ไทยมองไทย |
ผู้เขียน | สมหมาย ปาริจฉัตต์ |
เผยแพร่ |
หลังเวทีรับฟังข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียนอกภาคการศึกษา เกี่ยวกับทิศทางการศึกษาของนครภูเก็ต โรงเรียนในสังกัดเทศบาล 8 แห่งเสนอวิสัยทัศน์ อัตลักษณ์ของแต่ละแห่งแล้ว
ต่อด้วยการนำเสนอพิมพ์เขียวการศึกษานครภูเก็ต (Education Blueprint 2560) ร่วมแลกเปลี่ยนและสะท้อนมุมมองจากนักวิชาการ คนทำงานด้านการศึกษา นำโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล คุณบัณฑูร ทองตัน อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคดีแรงงานภาค 8 ประธานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต และผมสื่อมวลชนอาวุโส
อาจารย์คุณหมอวิจารณ์ให้เกียรติผู้ร่วมเวที ขอเรียงลำดับตามอาวุโสอ่อนที่สุดก่อน
ภาระจึงตกที่อัยการบัณฑูร ที่อุทิศตัวให้กับงานพัฒนาการศึกษาทั้งในภูเก็ตและระดับชาติมานาน เริ่มเป็นท่านแรก
“สิ่งที่เทศบาลดำเนินการสอดคล้องกับแนวทางที่สภาการศึกษาภูเก็ตทำมา เป้าหมายเพื่อให้เด็กภูเก็ตตงห่อ เพียงพอด้วยหลักคิด รักดี รักถิ่น มีวัฒนธรรม พูดจาภาษาถิ่น มีสัมมาชีพ มีงานทำ มีความสุข ทำกิจกรรมร่วมกับเทศบาลต่อเนื่อง”
“มีคนบอกผมว่ามาทำงานด้านการศึกษาแล้วคุณจะฝ่อไปเอง เจอคนในกระทรวง เขาไม่ให้ความร่วมมือ คนนอกหน้าที่อย่างผมก็ทำอะไรไม่ได้ แต่เราก็สู้จนมาถึงวันนี้ ท่านผู้ว่าฯ ภูเก็ตตั้งสภาการศึกษาจังหวัดเป็นทีมสนับสนุนคณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพราะเห็นเราทำงานกันมาตั้งแต่เป็นหัวหน้าสำนักงานจังหวัด ทำให้งานของ กศจ. เดินหน้าได้เลย”
“ถ้าเทศบาลเสริมบางอย่างเข้าไปสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดที่ต้องการให้ภูเก็ตเป็น Smart City เทศบาลมีหน้าที่สร้าง Smart Citizen ทุกอย่างก็จะจะสมบูรณ์”
“ผู้ว่าฯ พูด 2 คำ 1 S 2 C ภูเก็ต เมืองแห่งการเรียนรู้ เช่น ป้ายตามถนน เอามือถือไปสแกนบาร์โค้ด จะรู้ข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ทันทีไม่ต้องลิงก์ไปที่ไหน ถนนกลางทำแล้ว การพัฒนาเด็กให้มีทักษะการทำงาน สามารถประกอบอาชีพได้ เทศบาลภูเก็ตทำได้ ปูพื้นฐานตั้งแต่ระดับประถม ให้มีความคิดว่าโตไปต้องทำงาน หาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ไม่ใช่อาศัยพ่อแม่ปู่ย่าตายายไปตลอด”
“ให้เด็กเรียนรู้ตั้งแต่ประถม ว่าโลกนี้มีงานอาชีพอะไรบ้างที่สามารถเลือกทำได้ แนวคิดของคนรุ่นใหม่ พ่อแม่ไม่มีทรัพย์สินให้ เขาสามารถหารายได้จากทรัพย์สินคนอื่นได้”
สภาการศึกษาใช้แนวทาง คิดใหญ่ ทำเล็กแต่ลงลึก เทศบาลก็เช่นกัน ถ้าลงลึกจะบังเกิดผล และขยายต่อเนื่องเรื่อยๆ ไปเทศบาลอื่น กระทู้ ป่าตอง อบจ. เขตพื้นที่การศึกษา เอาไปทำได้ เมื่อเห็นผลเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการยอมรับ พัฒนาต่อยอดการเรียนรู้จากเทศบาลทำให้ก้าวหน้าไปอีกได้”
“ตัวอย่างสมุดพกออนไลน์ เป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหามีโปรแกรมติดตามเด็กเป็นรายบุคคล ช่วยเหลือเด็กได้ถูกจุดทันท่วงที”
“อีกประเด็นที่อยากฝากคือการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เป็นเครื่องจุดประกายให้เกิดความเข้าใจ ทำให้ได้รับการตอบรับดี เรื่องภาษา การสื่อสารเป็นไปตามธรรมชาติ ทุกวันศุกร์ให้เป็นวันภาษาอังกฤษได้ไหม แรกๆ แปลเป็นไทยบ้าง แต่ต่อไปทุกห้องติดป้ายภาษาอังกฤษให้เด็กได้เห็น ได้อ่าน ได้คิด ต่อไปก็จะกล้าพูด กล้าแสดงออก”
ประธานสภาการศึกษาจังหวัดฝากหลายข้อ
ต่อไปถึงคิวผม ชื่นชมบทบาทขององค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้บริหารเอาจริง สนใจให้ความสำคัญกับการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ทำงานเชิงพื้นที่ ที่สำคัญเปิดใจกว้าง รับฟัง ทำงานแนวราบล่างขึ้นบน ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ให้บทบาทและอิสระกับสถานศึกษา จัดทำพิมพ์เขียวทั้งระดับเทศบาลและระดับโรงเรียน โดยมีหลักวิชารองรับ เริ่มต้นจากสร้างระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ สำรวจสภาพจริง ไม่ใช่ความรู้สึกหรือจินตนาการ และคลี่ออกมาสู่สาธารณะให้ทุกฝ่ายรับรู้ เป้าหมายมุ่งที่ตัวเด็กเป็นหลัก
“ทั้ง 8 กลุ่มสะท้อนชัด เห็นตรงกันว่าจุดคานงัดความเปลี่ยนแปลง ต้องให้น้ำหนักไปที่ครู ฉะนั้น ฐานข้อมูลเกี่ยวกับครูต้องชัดเจน ถูกต้อง ครบถ้วน”
“การพัฒนาโดยให้ขวัญ กำลังใจรูปแบบต่างๆ นั้นถูกต้องแล้ว แต่ที่ควรทำ การปลุกสำนึก จิตวิญญาณความเป็นครู พฤติกรรม ความคิด การปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน จากครูเป็นผู้สั่ง ผู้สอน เป็นผู้เรียนรู้ร่วมไปกับเด็ก จากสอนให้ท่อง สอนให้จำ มาสอนให้คิด วิเคราะห์ ลงมือทำ ตั้งคำถามให้เด็กคิดหาคำตอบด้วยตัวเอง ลดพื้นที่แห่งความกลัว เปิดพื้นที่ความปลอดภัย ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาวิชาโครงงาน ซึ่งพบว่าบางแห่ง นักเรียน ป.1 ก็ทำได้แล้ว”
“ครูเป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษา เพิ่มพื้นที่ความรัก ก็จะมีความสุขทั้งครูและนักเรียน กระบวนการหรือเครื่องมือที่นำมาใช้พัฒนาครูมีตัวอย่างน่าศึกษาหลายแห่ง เมื่อเด็กคิดเป็น ทำเป็น มีวินัย ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีสมาธิ ผลสัมฤทธิ์ คะแนนโอเน็ตเพิ่มตามมาเอง”
“เป็นไปได้หรือไม่ ฐานข้อมูลที่กำลังพัฒนาจะมีดัชนีชี้วัดความสุขของครู อัตลักษณ์จุดเด่นของแต่ละโรงเรียน ของดีที่มีอยู่คืออะไร จะต่อยอดทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทของภูเก็ตอย่างไร ตัวชี้วัดคือ หลักสูตรสถานศึกษา หลักสูตรท้องถิ่น ที่ประสานกันทุกกลุ่มสาระความรู้”
“น่าดีใจ ไม่มีครูโรงเรียนไหนพูดถึงปัญหาครูเป็นหนี้ ครูแบกภาระเกินตัว ความเป็นอิสระของโรงเรียนก็พูดกันน้อย แสดงว่าเทศบาลดูแลดี ให้อิสระพอแล้วใช่หรือไม่”
ผมแซวปิดท้าย ก่อนส่งไมค์ต่อ
อาจารย์คุณหมอวิจารณ์ สะท้อนคิดว่า “ภูเก็ตมีต้นทุนสูงอยู่แล้ว มาถูกทาง ทิศทางการจัดการศึกษาเน้นความเป็นคนดี คุณลักษณะที่พึงประสงค์เป็นตัวนำ มากกว่าเก่งวิชาการ มุ่งทั้งวิชาชีวิต วิชาชีพ วิชาการ ต้องไปด้วยกัน ถ้าแยกไม่สำเร็จ ครูรับภาระหนักมาก การปฏิบัติจึงไม่ค่อยครบ”
“การออกแบบพิมพ์เขียว หลักสูตร นโยบายมี 3 ระดับ 1.ในกระดาษ พ.ร.บ.การศึกษา 2542 ยอดเยี่ยม แต่เวลาปฏิบัติ คุณภาพการศึกษากลับลดลง 2.ในชั้นเรียน ครูจัดการเรียนในห้องอย่างไร 3.ของจริง อยู่ในตัวครูและตัวเด็ก”
“เราอวดเด็กเก่งกัน จริงๆ กลุ่มนี้มีไม่ถึง 10% ทำให้ไม่เอาใจใส่เด็กทั้งหมด เด็กไม่เก่งจึงถูกทิ้ง เรายังคิดจะทำแบบเดิมๆ หรือเปล่า”
“การปฏิบัติจริงไม่ใช่วาทกรรมจึงอยู่ในชั้นเรียน ตัวชี้วัดในตัวเด็กจริงๆ ยังลอยๆ อยู่หรือเปล่า รายละเอียดการปฏิบัติครูต้องทำอะไรอีกเยอะ แต่ถ้ายังทำแบบเดิม อยู่ในร่องเดิม แผ่นเสียงตกร่องหรือเปล่า ต้องปรับการเรียนรู้จากปฏิบัติจริง PBL เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม PLC (Professional Learning Community) แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของครู ในห้องเรียนของเด็ก”
“การพัฒนาครูประจำการโดยการอบรม ปัจจุบันพรากครูไปจากศิษย์ ครูถูกสั่งให้ไป ไม่ได้ถามความต้องการของครู ควรอยู่ในห้องเรียน เรียนรู้จากการปฏิบัติ เน้น Training Workshop ต้องเป็น Community ชุมชนการเรียนรู้ ครูต้องแยกแยะเด็กเป็น สังเกตเป็น เอาใจใส่ทุกกลุ่ม ที่ผ่านมาความต้องการโชว์ผลงานเด็กที่ได้รางวัลก็จะทำให้สนใจแต่เด็กที่จะได้รางวัล เด็กอื่นเลยถูกทิ้ง”
นพ.วิจารณ์ ชักชวนให้อ่านหนังสือชื่อโรงเรียนบันดาลใจ ทำให้มองเห็นคุณค่า ศักดิ์ศรีของความเป็นครู ในความเป็นจริงผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้น จึงต้องการนักจัดการศึกษาร่วม รวมถึงผู้ปกครอง ไม่เช่นนั้นโรงเรียนทำแทบตาย แต่ที่บ้านเป็นอีกอย่าง
“เด็กประถมปลายถึงมัธยมจะสร้างตัวตน อัตลักษณ์ตัวเอง การศึกษาต้องช่วยเสริม ถ้าไม่ช่วยเด็กเสียคน ต้องช่วยส่งเสริมเด็กให้พัฒนาทั้ง 7 ด้าน ด้านหนึ่งคืออัตลักษณ์ของเขา การเรียน PBL ตามสถานที่จริง เรียนรู้จากการปฏิบัติลงมือทำจริง Active Learning ผลลัพธ์ที่ได้ลงลึก เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ลึก อยู่ที่ครูต้องฝึกทักษะ ครูตั้งคำถามให้เด็กคิด ตอบ สร้างบรรยากาศให้เกิดคำตอบ ใน 1 คำถามอาจมีหลายคำตอบในชีวิตจริง พร้อมกันนั้นต้องบันทึกสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”
บทสนทนาเพื่อเติมเต็มพิมพ์เขียวการศึกษาภูเก็ต จบลง ก่อนพิธีการสำคัญจะเกิดขึ้น