เสฐียรพงษ์ วรรณปก : สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (8) พระธรรมเทศนากัณฑ์แรก

พระธรรมเทศนาครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลังตรัสรู้คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ อันมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี แคว้นกาสี ณ วันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหะ (ตรงกับวันเพ็ญเดือนแปด) ซึ่งต่อมาได้กำหนดเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาขึ้นอีกวันหนึ่งชื่อว่า วันอาฬาสหบูชา

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลตามตัวอักษรว่า “พระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อคือพระธรรม” เนื้อหาว่าด้วยอริยสัจสี่ประการที่พระองค์ได้ตรัสรู้ก่อนจะพูดถึงเนื้อหาพระสูตร ขอ “แวะข้างทาง” สักเล็กน้อย

ความหมายของพระสูตรนี้ คงเลียนความหมายทางโลก คือเวลาพระเจ้าจักรพรรดิต้องการกฤษดาภินิหารจะยกกองทัพไปโจมตีเจ้าเมืองที่ไม่ยอมอ่อนข้อ ไม่สยบต่ออำนาจของตน ล้อรถศึกของพระมหาจักรพรรดิผู้เกรียงไกร หมุนไปทางทิศใด ยากที่จะมีใครต้านทานได้ อุปมาฉันใด

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศสัจธรรมสูงสุดที่ได้ตรัสรู้ ก็เท่ากับ “ทรงหมุนล้อธรรม” เพื่อปราบตัณหาอวิชชาออกจากจิตใจของเวไนยสัตว์ให้ราบคาบ (“ล้อแห่งสัจธรรม” นี้หมุนไปยังทิศทางใด จึงยากที่ใครๆ จะคัดค้านหรือยับยั้งได้ อุปไมยก็ฉันนั้น)

เพราะฉะนั้น ตอนท้ายพระสูตร ผู้บันทึกจึงกล่าวว่า “เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมุนกงล้อคือพระธรรมแล้ว ไม่มีใครๆ ในโลก สามารถยับยั้งได้ ไม่ว่าจะเป็น สมณะ พราหมณ์ มาร เทพ พรหม”

เนื้อหาของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แบ่งได้เป็น 5 ตอน คือ

ตอนที่ 1 พูดถึงทางที่ไม่พึงดำเนิน หรือข้อปฏิบัติที่ไม่พึงทำ 2 ทาง คือ ความติดอยู่ในความสุขทางเนื้อหนังมังสา เพราะ “เป็นของต่ำ เป็นกิจกรรมของชาวบ้าน เป็นเรื่องของปุถุชน ไม่ประเสริฐ และไม่มีประโยชน์”

ทางนี้เรียกตามศัพท์ว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” ถือว่าเป็นทางสายที่หย่อนเกินไป

อีกทางหนึ่งคือ การทรมานตนด้วยตบะวิธีต่างๆ ทางนี้เรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยค” ถือเป็นทางที่ตึงเกินไป

ตอนที่ 2 ทรงแสดง “ทางสายกลาง” ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป คืออริยมรรคมีองค์ 8 มีสัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ) เป็นต้น มีสัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ) เป็นที่สุด

ตอนที่ 3 ทรงแสดงอริยสัจสี่ประการ คือ (ทุกข์ หรือ ปัญหาของชีวิต) สมุทัย (เงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์) นิโรธ (ภาวะดับทุกข์หรือภาวะหมดปัญหาโดยสิ้นเชิง) และมรรค (แนวทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ หรือทางแก้ไขปัญหา)

ทรงอธิบายว่าพระองค์ตรัสรู้อริยสัจทั้งสี่ประการนี้ผ่านญาณ (การหยั่งรู้) ทั้ง 3 ระดับ คือ

(1) ทรงรู้สภาพของปัญหา เหตุปัจจัยของปัญหา ภาวะหมดปัญหา และวิธีแก้ปัญหาคืออะไร อย่างไรบ้าง (สัจจญาณ = รู้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้น)

(2) ทรงรู้ว่าควรจะจัดการอย่างไรกับเรื่องนั้น (กิจจญาณ = รู้ว่าควรทำอย่างไร)

(3) ทรงรู้ว่าเมื่อทรงทำตามนั้นแล้วเกิดผลอะไร (กตญาณ = รู้ว่าทำเสร็จสิ้นแล้ว)

ตอนที่ 4 โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เมื่อทรงแสดงธรรมจบแล้ว อาจารย์ผู้รวบรวมพระสูตรกล่าวว่า โกณฑัญญะได้ “ดวงตาเห็นธรรม” คือ เข้าใจ แจ่มแจ้งถึงธรรมชาติและธรรมดาของสรรพสิ่ง ว่ามีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความดับเป็นธรรมดา

พระพุทธองค์ทรงเปล่งพระอุทานว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ” (อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญๆ) คำว่า “อัญญา” ในคำว่า “อญฺญาสิ” จึงกลายมาเป็นคำนำหน้าชื่อของท่านว่า “อัญญาโกณฑัญญะ”

ตอนที่ 5 เหล่าเทพร้องบอกต่อๆ กัน พวกเทพทั้งหลาย ตั้งแต่ภุมมเทวดา ได้ร้องบอกต่อๆ กันไป จนถึงหมู่พรหมว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงหมุนกงล้อคือพระธรรมอันประเสริฐ

ยากที่ใครๆ ไม่ว่าสมณะ พราหมณ์ มาร เทวดา พรหม จะสามารถยับยั้งได้

สรุปเนื้อหาของพระสูตรอีกที พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่ครบวงจร จึงสามารถหลุดพ้นจากกิเลสได้ คือ

รู้ว่าความจริงคืออะไร (สัจจญาณ)

รู้ว่าควรจะจัดการกับมันอย่างไร (กิจจญาณ)

รู้ว่าเมื่อจัดการกับมันแล้วได้ผลอย่างไร (กตญาณ)

รู้อริยสัจ 3 ขั้นตอนนี้ รวมเป็น 12 (3 x 4 = 12) เพราะเหตุฉะนี้ ท่านจึงกล่าวว่า “รู้อริยสัจสี่ อันมี 3 รอบ 12 อาการ” แล