ราคาน้ำมันพุ่งดันต้นทุนก่อสร้างขึ้น / ก่อสร้างและที่ดิน : นาย ต.

ก่อสร้างและที่ดิน

นาย ต.

 

ราคาน้ำมันพุ่งดันต้นทุนก่อสร้างขึ้น

 

เดิมก่อนเกิดสงครามรัสเซียบุกยูเครน คนในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีความคาดหวังว่า ผ่านการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในขณะนี้ไปแล้ว ก็น่าจะปิดฉากวิกฤตโรคระบาดรอบนี้

สิ่งที่ธุรกิจต้องเจอก็คงเป็นเรื่องต้นทุนวัสดุก่อสร้างบางประเภท อย่างเช่นเหล็กเส้น หรืออีกหลายอย่างขึ้นราคา เนื่องจากระหว่างการแพร่ระบาดซัพพลายเชนการผลิตประสบปัญหา ต้องหยุดผลิตหรือชะลอการผลิต ทำให้สินค้าออกมาน้อย เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นมีความต้องการเพิ่มเข้ามามากราคาจึงสูงขึ้น และผู้ผลิตสินค้าที่ต่างประสบปัญหาระหว่างวิกฤตการแพร่ระบาด ก็ถือโอกาสปรับราคาทำกำไรไปด้วย

เหล่านี้ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงขึ้นไปแล้วระลอกหนึ่งตั้งแต่ประมาณกลางปี 2564 ที่ผ่านมา

เวลานั้นก็ยังคาดว่า เมื่อซัพพลายเชนต่างๆ มีการปรับตัว มีการผลิตเต็มที่แล้วราคาวัสดุก่อสร้างต่างๆ ก็น่าจะปรับมาสู่ระดับปกติ

 

แต่เมื่อเกิดสงครามรัสเซียยกกองทัพบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ทำให้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจที่เคยคาดกันไว้ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด

เพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากซาอุดีอาระเบีย และประเทศต่างๆ ในยุโรปต่างใช้พลังงานก๊าซที่ส่งจากรัสเซียในอัตราสูง

เพราะสงครามครั้งไม่ได้จบลงรวดเร็วในไม่กี่วัน ด้วยแรงต่อต้านจากคนยูเครนที่ไม่ยอมรับ การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ กีฬา และอื่นๆ จากทั่วโลก ทำให้สงครามครั้งนี้มีแนวโน้มกลายเป็นสงครามที่ยืดเยื้อกินเวลา

ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งขึ้นทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซินที่ใช้เติมรถยนต์ส่วนบุคคลในไทย ปรับราคาถี่ๆ หลายครั้งทะลุ 40 บาทต่อลิตรไปแล้ว และแนวโน้มยังไม่อาจฟันธงแน่ๆ ได้ว่าจะไปต่ออย่างไร

แรงกระแทกจากราคาน้ำมันพุ่งสูงย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จะทำให้ต้นทุนการก่อสร้างต่างๆ ในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

แค่สัปดาห์กว่าที่ผ่านมา ก็มีข่าวการปรับราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างบางตัวไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปรับโดยปรับขึ้นราคาโดยตรง หรือปรับโดยปรับลดส่วนลดกับเอเย่นต์จำหน่ายก็ตาม

เวลานี้สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ชัดๆ ว่าผลกระทบจะมากแค่ไหน นานเพียงใด

จึงได้แต่นึกทบทวนถึงวิกฤตราคาน้ำมันครั้งที่ผ่านๆ มาในประเทศไทย ว่าเกิดผลกระทบอะไรกับการพัฒนาอสังหาฯ บ้าง

เริ่มตั้งแต่ต้นทุนถมดินสูงขึ้น เพราะรถบรรทุกดินใช้น้ำมัน วัสดุก่อสร้างต่างๆ ทยอยปรับราคา ค่าจ้างผู้รับเหมา ค่าแรง สุดท้ายไปจบที่ต้นทุนต่อตารางเมตรสูงขึ้น

ความเสี่ยงจึงอยู่ที่ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงกว่าที่ประมาณการไว้ ซึ่งอาจทำให้กำไรน้อยลง หรือขาดทุนได้ อาคารสูงขนาดใหญ่ก็หนักหน่อย ที่อยู่อาศัยแนวราบที่สร้างไปขายไปก็ปรับตัวได้เร็วกว่า

ถ้าสงครามรัสเซียกับยูเครนกลายเป็นสงครามยืดเยื้อจริง การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจและธุรกิจยืดเยื้อคู่ขนานกันไปด้วยแล้ว โอกาสที่จะกลายเป็นวิกฤตพลังงานไปด้วยย่อมมีมาก

เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนดีกว่า •