ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา

 

จําคำข้าวปั้นจากมือยายได้ว่าอร่อยนัก ไม่ใช่อร่อยอะไรนักหนากับรสข้าว ก็ข้าวสุกข้าวสวยอุ่นๆ เปล่าๆ ไม่ผสมอะไร ที่ยายกวาดก้นขันเหลือจากใส่บาตรพระหน้าบ้านตอนเช้าเท่านั้น

อร่อยกับรสความหลังนั่นแหละ

ความหลังครั้งวิ่งเล่นโทงๆ แถวใต้ถุนเรือน ขณะมีคนกำลังสีข้าวตำข้าวด้วยมือที่ข้างยุ้งข้าว บ้างฝัดข้าวด้วยกระด้งฝุ่นข้าวฟุ้งกระจาย

บ้านยายอยู่หน้าวัด พระจะผ่านก่อนเป็นบ้านแรกแต่เช้า เพราะฉะนั้น ยายก็จะใส่บาตรด้วยข้าวเปล่าประจำ

ก็ข้าวจากยุ้งที่มีเครื่องมือแปรจากข้าวเปลือกจนเป็นข้าวสาร ข้าวสุกข้าวสวย เห็นๆ กะตาอยู่ทุกวันนี่แหละ

ตอนนั้นน่ะมันไม่คิดอะไรหรอกเอาแต่สนุกวิ่งเล่นโทงๆ กันอยู่แถวนั้น

 

มาจนวันนี้จึงได้คิด

วันที่ลูกเพื่อนบ่นกับพ่อขณะนั่งรถติดอยู่กลางกรุงว่า “หิวๆ พ่อหิว” พ่อถามว่าหิวอะไร เจ้าลูกตอบเฉยเลย

“หิวแฮมเบอร์เกอร์”

ผู้รู้ท่านว่า “ภาพจำ” นี้เองที่มันกำหนดความรู้สึกนึกคิดของคน ก็คงเหมือนเราที่อร่อยกับรสข้าวนั้นจากมือยายจึงเกิด “ภาพจำ” ถึงกระบวนการผลิตง่ายๆ ตามวิถีบ้านๆ อันนำให้คิดต่อเป็นอะไรต่ออะไรอีกมากมาย

เช่นวิถีกระบวนการผลิตแบบ “ทำมาหากิน” ที่แตกต่างจากวิถีกระบวนการผลิตแบบ “ทำมาค้าขาย”

ต่างกันตั้งแต่รูปแบบกระบวนการผลิต ดัง “ภาพจำ” การสีข้าวด้วยเครื่องสีมือใช้คันสีโยงกับเครื่องบด กระเดื่องตำข้าว กระด้งฝัดข้าว ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตแบบ “ทำมาหากิน”

ที่ทำให้เราได้กินข้าวปั้นข้าวป้อนจากมือยาย

รูปแบบ “ทำมาค้าขาย” นี่ก็เกิด “ภาพจำ” ถึงโรงสี เครื่องใหญ่ มีกองกระสอบข้าวสูงจรดหลังคา มีรถวิ่งขนเข้า-ออก จนถึงสุดท้ายคือภาพ

“หิวแฮมเบอร์เกอร์”

กระทั่งวิกฤตตลาดข้าวโลก ที่มุ่งแข่งขันตีตลาด ตัดราคา แย่งกันเป็นใหญ่

แย่งกันเอาเปรียบ เอาชนะไปทุกเรื่อง กระทั่งเกิดสนามรบ สนามสงครามที่ยังมุ่งโค่นล้มกันอยู่วันนี้

 

เคยเห็นภาพการ์ตูนสองภาพเปรียบเทียบ ภาพหนึ่งสองพวกกรูกันเข้าแย่งชิงหัวผักกาดยักษ์ บรรยายภาพว่า “มา…มาสู้กัน”

อีกภาพสองพวกกรูกันเข้ามาที่หัวผักกาดยักษ์ บรรยายภาพว่า “มา…มาช่วยกัน”

ช่วยกันขุดหัวผักกาดยักษ์ไม่ใช่มาแย่งหัวผักกาดยักษ์

โลกวิถีการผลิตแบบ “ทำมาค้าขาย” นี่แหละคือภาพที่มุ่ง “มา…มาสู้กัน”

โลกวิถีการผลิตแบบ “ทำมาหากิน” นี่แหละคือภาพที่มุ่ง “มา…มาช่วยกัน”

 

โลกเราวันนี้กำลังเผชิญกับวิถีทางเลือกสองแบบนี้ คือ “มาสู้กัน” หรือ “มาช่วยกัน”

วิถีโลกใหม่ยิ่งทันสมัยยิ่งเจริญก็ดูจะยิ่งใช้ความทันสมัยความเจริญมาแข่งกัน มาสู้กันมากกว่าจะใช้ มาช่วยกัน มากขึ้นไปทุกที

การแข่งขันกัน ชิงชัยกันเพื่อจะเป็นคนเก่งคนเด่นกระทั่งคนดีนี่ก็เถิด ก่อให้เกิดกิเลสเห็นแก่ตัวเชิง “มาสู้กัน” ได้ดีนัก

แม้กระทั่งระบบการศึกษานี่ก็เถิด การสอบแทนที่จะเป็นแค่วิธี “วัดผล” ความรู้ กลับกลายเป็นวัดความดีเด่นเป็นเลิศชนิด “เหนือคนอื่น” ขึ้นมาได้

ที่สุดกลายเป็นเพื่อจะ “สู้กัน” ไม่ใช่เพื่อจะ “ช่วยกัน”

โลกกำลังพัฒนาไปในวิถีนี้ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

ยิ่งห่างเหินการผลิตแบบ “ทำมาหากิน” โดยมุ่งแบบ “ทำมาค้าขาย” มากเท่าไร ยิ่ง “หายนะ” มากเท่านั้น

ที่ถูกต้องผู้รู้ท่านว่าต้องมุ่ง “ทำมาหากินเหลือกินจึงขาย” ไม่ใช่ “ทำมาค้าขาย” ที่สุดผู้ผลิตคือทุนใหญ่ ทุนผูกขาด กำหนดตลาดฝ่ายเดียว

คนส่วนใหญ่กลายเป็นผู้ซื้อลูกเดียว กระทั่งมา “หิวแฮมเบอร์เกอร์” กันอยู่นี่ไง

 

ไม่ได้ปฏิเสธความทันสมัยความเจริญ หากแต่ต้องการเห็นการนำความเจริญมา “ปฏิรูป” สังคม ไปจนถึงปฏิรูปโลกที่นับวันจะเผชิญวิบัติภัยมากขึ้นทุกที

ดังสะท้อนให้เห็นจากวิกฤตโควิด และภาวะ “โลกรวน” (Climate Change) วันนี้

อันตรายในลักษณะ “ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา” ของสังคมโลกวันนี้อีกประการคือ

ผู้คนตกเป็น “เหยื่อความคิด” มากขึ้น ด้วยอำนาจ “จอแผ่น” และโลก A.I. คือปัญญาประดิษฐ์ ขณะเดียวกันก็ตกเป็น “ทาสความรู้สึก” มากขึ้นด้วย เพราะเจ้า “ความรู้สึก” นี่มันเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ควบคุมไม่ได้ มันก็จะแสดงออกด้วยความดิบเถื่อนอย่างสัตว์

ดังวิกฤตวิกลบรรดามีจากข่าวบ้าคลั่งทั้งหลาย และรวมถึงสังคมดัดจริตน่าขันน่ารำคาญนี่ด้วยคือประเภท

รูปแบบหรูหรา เนื้อหารุ่งริ่ง

 

โลกจอแผ่น

“เป็นทาส ความรู้สึก”

กับ “เป็นเหยื่อ ของความคิด”

นี้แล คือลิขิต

วิถีใหม่ ของผู้คน

 

เครื่องจักร ฉลักจิต

มันประดิษฐ์ ประดาดล

กลไก เป็น ไกกล

กำหนดคิด กำหนดรู้

 

มันจูงจมูกคน

เป็นหุ่นยนต์ ชักใยอยู่

เป็นเหยื่อ ให้เชื่อชู

เชิดจอแผ่น เป็นศาสดา

 

แต่คน ก็คือคน

มีรู้สึก มีรู้สา

ขาดไร้ ซึ่งปัญญา

ก็เป็นทาส ขาดสำนึก

 

โลกใหม่ แลคนใหม่

อันอลหม่าน อยู่พล่านพลึก

“เป็นทาส ความรู้สึก

กับ เป็นเหยื่อ ของความคิด”!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ •