อัศจรรย์ในวรรณคดี (2) / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

อัศจรรย์ในวรรณคดี (2)

 

เหตุอัศจรรย์เป็นสิ่งรองรับความสำคัญและการกระทำของบุคคล ใน “มหาเวสสันดรชาดก” พระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นหลายครั้ง

เมื่อพระเวสสันดรมีอายุเพียง 8 พรรษา ทรงตั้งพระทัยมั่นจะบรรลุโพธิญาณด้วยการบริจาค ‘พาหิรกทาน’ (ทานภายนอกกาย) และ ‘อัชฌัตติกทาน’ (ทานภายในกายหรืออวัยวะในร่างกายรวมถึงชีวิต)

ดังที่กวีบรรยายไว้ใน กัณฑ์หิมพานต์ ว่า

“อาตมะบริจาคทานอลงกรณ์รัตนวิภูษิตประเสริฐก็เป็นพาหิระล้ำเลิศควรจะเลื่อมใส โกจิ ยาจโก ถ้าและว่ายาจกผู้ใดจะปรารถนาดวงหทัยเนื้อเลือด ก็จะฉะเชือดบริจาคให้เป็นทาน จะแลกเอาพระโพธิญาณอันยอดยิ่ง”

ทันทีที่พระองค์ทรงยืนยันจะเสียสละหัวใจและเลือดเนื้อเป็นทาน พลันก็เกิดเหตุอัศจรรย์รับรู้ถึงการบริจาคทานอันยิ่งใหญ่และยากยิ่งที่ผู้ใดจะกระทำ

“ครั้นพระองค์จำนงนิ่งจะให้ อัชฌัตติกทาน อัศจรรย์ก็บันดาลบังเกิดมี มหาปฐวี อันว่าพื้นพระธรณีก็บันดาลกัมปนาท สิเนรุปพฺพตราชา ทั้งพญาเขาสิเนรุราชสัตปริภัณฑคิรีเรียง ดุจเอนเอียงล้มลู่ทลาย วิชฺชุลฺลตา เสียงฟ้าประภาสสายสะเทือนสะท้าน สกลพิภพหิมพานต์ก็บันลือพิลึกพิลั่น สัตว์จตุบาทก็ผาดผันแซ่ซ้อง เสียงแผดร้องสะทกสะท้าน อากาศก็บันดาลเป็นเมฆหมอก มืดมัวทั่วสกลมหามงคลจักรวาล”

เหตุอัศจรรย์เริ่มจากแผ่นดินไหวเสียงดังสนั่น ภูเขาพระสุเมรุและทิวเขาทั้ง 7 ที่รายล้อมเอียงเอนราวกับจะพังทลายลงมา สายฟ้าแลบแปลบปลาบสั่นสะเทือนสะท้านไปทั่วแดนหิมพานต์ ทำให้สัตว์สี่เท้าทั้งหลายแผดร้องตื่นตระหนก ในเวลานั้นเกิดเมฆหมอกมืดมัวทั่วทั้งจักรวาล

ความปั่นป่วนแผ่ครอบคลุมผืนน้ำ ส่งผลให้สัตว์ทั้งหลาย อาทิ ปลาใหญ่ทั้ง 7 ในสีทันดรสมุทร เหรา มังกร เต่า ปลา พญานาค ช้างน้ำ ต่างแสดงอาการลิงโลดคึกคะนอง

“สาคโร ทั้งสาครก็บันดาลเป็นระลอก คระโครมครึกกึกก้องโกลาหล ติมิงคลมัจฉาก็ดำด้นพ่นน้ำเป็นฝอยฟอง เหราลอยล่องฉวัดเฉวียนว่ายคล้ายๆ ตามคลื่นฝืนฝัด มังกรสะบัดโบกหางวางวู่ฟูฟุ้งเข้าพิงผา มจฺฉกฺฉปา เต่าปลาก็ดำโดดดิ้นเล่นกระแสสินธุ์สายสาคร ภุชงค์ชูเศียรสลอนตามกระแสชลพ่นน้ำเป็นฟองฝอย ช้างน้ำก็คะนองล่องลอยลองงวงและเงยงา”

ปิดท้ายด้วยเทพยดาทุกชั้นฟ้าและผืนดินทุกแห่งหนโปรยดอกไม้สวรรค์พร้อมสรรเสริญอำนวยพรแด่เวสสันดรกุมาร

 

เนื่องจากเป็นเพียงความตั้งใจแน่วแน่ของพระโพธิสัตว์ครั้งยังทรงพระเยาว์ เหตุอัศจรรย์ที่บังเกิดแม้จะชวนตื่นตาตื่นใจ แต่มิอาจเทียบเท่าเหตุอัศจรรย์วันที่พระเวสสันดรทรงตัดใจยกเลือดในอก ชาลี และกัณหาให้แก่ชูชก พราหมณ์เฒ่า

วินาทีที่พระองค์ทรงหลั่งน้ำลงยังมือชูชกแทนความหมายว่ายกให้เป็นกรรมสิทธิ์ เหตุอัศจรรย์ในกัณฑ์กุมารอันเกิดจาก ‘บุตรทาน’ ครั้งนี้ ไม่มีครั้งใดเสมอเหมือน ทั้งเนื้อหาสาระ ศิลปะการประพันธ์ ให้ทั้งภาพ แสง สี และเสียงไปพร้อมๆ กัน

อัศจรรย์ก็บันดาลบังเกิดมี อยํ มหาปฐวี อันว่าภาคพื้นพระธรณีอันหนาแน่นได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ เสียงอุโฆษครื้นครั่นดั่งไฟบรรลัยกัลป์จะผลาญโลกให้ทำลายวายวินาศ ฝูงสัตว์จัตุบททวิบาทก็ตื่นเต้นเผ่นโผนโจนดิ้น ประหนึ่งว่าปัถพินจะพลิกคว่ำพล้ำแพลงให้พลิกหงาย อกนางพระธรณีจะแยะแยกแตกกระจายอยู่รอนๆ สะเทื้อนสะท้านเลื่อนลั่นอยู่ครืนๆ ดุจหนึ่งว่าปืนสักแสนนัดมากระหน่ำซ้ำยิงอยู่เปรี้ยงๆ เสียงฉะฉาดฉาน ทั้งพญาคชสารชาติฉัททันต์ ทะลึ่งถลันร้องวะแหวๆ ประแปร๋แปร้นแล่นทะลวงงวงคว้างาหงายเงย ประหนึ่งว่าจะสอยเสยเอาดวงดาวเหี้ยมห้าวกระหึมตกมันอยู่ฮัดๆ ดั่งว่าใครมายุแยงแกล้งผัดพานเดือดทะยานอยู่ฮักฮึก สะอึกเข้าไล่แทงเงาอยู่ผลุงผลัง ไม้ไล่พังผะผางโผงล้มพินาศ”

สี่สิบกว่าปีที่แล้ว อาจารย์ปาจรีย์ บุษยกุล ให้ผู้เขียนซ้อมอ่านทำนองเสนาะเหตุการณ์ตอนนี้ ทั้งเหนื่อยทั้งสนุกกับการออกเสียงคำให้ถูกต้อง ระวังจังหวะการอ่านเน้นสัมผัสคล้องจองที่แพรวพราย บ่อยครั้งต้องกระแทกเสียงสื่อถึงความวุ่นวายอึกทึกครึกโครม อ่านไปก็นึกภาพตามไปด้วย อ่านให้ตัวเองและอาจารย์ฟังแล้วมองเห็นทั้งภาพและสียงไปพร้อมๆ กัน ซึ่งมีสารพัดเหตุการณ์ เริ่มจากเกิดแผ่นดินไหวเสียงสนั่นก้อง บรรดาสัตว์สี่เท้าสองเท้าต่างสติแตกหนีตายกันทั่วหน้า เมื่อพื้นดินสั่นสะเทือนเหมือนจะแยกออกจากกัน ทำให้พญาช้างคลุ้มคลั่งเอางาแทงเงาเป็นพัลวันจนต้นไม้ทั้งหลายล้มระเนนระนาด

ขนาดสัตว์ใหญ่ตระกูลสูง เช่น พญาช้างฉัททันต์ยังคุมสติไม่อยู่ สัตว์ทั่วไปไม่ต้องพูดถึง เราจึงเห็นภาพของพญาเสือโคร่งและพญาควายที่ออกอาการไม่ต่างกัน

“ทั้งพญาพาฬมฤคราชเสือโคร่งคระครางครึ้มกระหึมเสียงสำเนียงก้อง ร้องปะเปิ๊บปิ๊บถีบทะยานย่องแยกเขี้ยวเคี้ยวฟันตัวสั่นอยู่ริกๆ ประหนึ่งว่าจะถาโถมโจมจิกจับเอาสัตว์ในไพรวัน มาคาบคั้นกินเสียคำเดียวเป็นภักษา ทั้งพญากาสรตัวกล้าก็ลับเขาโขยดโลดลองเชิง เริงฤทธิไกรไล่ขวิดควิ้วอยู่ฉานๆ ประหนึ่งจะคว้านควักให้ตักดิน”

 

เหตุอัศจรรย์ในกัณฑ์กุมาร กล่าวถึงสภาพของเขาพระสุเมรุที่ไม่ต่างจากกัณฑ์หิมพานต์ว่า

“สิเนรุปพฺพตราชา ทั้งพญาเขาพระสุเมรุก็เอนอ่อนอยู่ทบเทา แก้วเก้าเนาวรัตน์แสนสัตรัตน์เรืองรองซ้องสาธุการอยู่อึงมี่”

ภูเขาพระสุเมรุเป็นหลักของโลก นอกจากเป็นภูเขามหึมาสูงตระหง่านรองรับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ยังแข็งแกร่งทนทานดำรงอย่างมั่นคงไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด แต่เหตุอัศจรรย์สองครั้งสองคราใน “มหาเวสสันดรชาดก” ทำให้ภูเขานี้อ่อนระทวยเอนลู่ลงเบื้องล่าง โดยเฉพาะกัณฑ์กุมาร นอกจากเขาพระสุเมรุแล้ว ยังมีแก้วมณีมงคลทั้งหลายทอประกายส่งเสียงสรรเสริญบุตรทานดังอื้ออึงไปทั่ว

ทั้งแผ่นดิน ผืนน้ำและท้องฟ้าล้วนเกิดเหตุผิดธรรมดาต่อเนื่องกัน

“สาคโร ทั้งพระสุมทรสาครวังวน บันดาลน้ำฟุ้งเป็นฝอยฝน พญานาคฤทธิรณเลิกพังพานสลอนอยู่ไปมา ทั้งพญาครุฑราชปักษาก็โผผินบินขึ้นเวหนเล่นลมบนอยู่ลิบลิ่ว เมฆหมอกปลิวอยู่เกลื่อนกลาด บนอากาศก็วิกลเป็นหมอกกลุ้มอัมพรชรอุ่มอับอลวนอลเวง เสียงคระโครมเครงครื้นครั่น ฟ้าฝนสวรรค์ก็เฟื่องฟุ้งเป็นฟองฝอย เมขลาเหาะลอยล่อแก้วอยู่แวววับ รามสูรขยับขยิกขยี้ แสงสายมณีแวววาบวาวสว่าง อสูรก็ขว้างขวานประหารอยู่เปรี้ยงๆ เสียงสนั่นลั่นโลกวิจลจลาจล”

มากันครบทั้งพญาครุฑ พญานาค รามสูร เมขลา และเทวดาจำนวนมากมายเหลือคณานับ พร้อมใจกันแซ่ซ้องสดุดีและอวยพรให้พระเวสสันดรบรรลุนิพพานในอนาคต

“เทพดานิกรนับโกฏิน้อมเศียรศิโรตม์อยู่ไสว ยกพระกรไหว้อยู่อึงมี่ ว่าเจ้าประคุณของสัตว์ผู้ยากเอย ยากที่บุคคลผู้ใดเลยจะทำได้ เว้นไว้แต่หน่อพระชินศรี อันทรงสร้างพระบารมีมามากแล้ว ขอให้พระทูลกระหม่อมแก้วจงสำเร็จ แก่พระวิสุทธิสร้อยสรรเพชญพุทธอัครอนาวรณญาณในอนาคตกาลโน้นเถิด”

ฉบับนี้เหตุอัศจรรย์ของพระโพธิสัตว์ ฉบับหน้าของพระพุทธองค์ •