กำเนิดศิลปะสุโขทัย ในประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (2)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

กำเนิดศิลปะสุโขทัย

ในประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (2)

 

การอัญเชิญพระพุทธรูปครั้งใหญ่จากหัวเมืองเหนือ โดยเฉพาะสุโขทัย เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 และอีกหลายคราวตลอดหลายสิบปีในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ คือเหตุการณ์สำคัญที่ผมอยากเสนอว่า ได้เข้ามาเปลี่ยนโลกทัศน์ของชนชั้นนำยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่มีต่อสุโขทัย

และเป็นดั่งสารตั้งตนในการสร้างสุโขทัย และศิลปะสุโขทัย ให้กลายมาเป็นยุคทองของชนชาติไทยในเวลาต่อมา

ตามโลกทัศน์แบบจารีต ศาสนสถานคือวัตถุสัญลักษณ์ที่เป็นมาตรวัดความเจริญหรือความเป็นปกติสุขของบ้านเมือง จึงไม่แปลกที่เราจะพบว่า การสร้างกรุงเทพฯ ขึ้นในปี พ.ศ.2325 จะเต็มไปด้วยการสร้างและบูรณะวัดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก

ซึ่งภายใต้ข้อจำกัดทั้งจากศึกสงครามและเศรษฐกิจ การสร้างศาสนสถานจึงเกิดขึ้นภายใต้นโยบายขนย้ายเอาของเก่ามาใช้ จากบ้านเมืองโดยรอบที่รกร้างไปแล้ว มากกว่าที่จะสร้างขึ้นใหม่ การขนอิฐเก่าจากอยุธยามาใช้ก่อสร้างกำแพงเมืองและถาวรวัตถุต่างๆ คือตัวอย่างที่ชัดเจน

ภายใต้แนวคิดนี้ การอัญเชิญพระพุทธรูปจำนวนมากจากหัวเมืองต่างๆ เพื่อนำมาประดิษฐานตามวัดที่สร้างใหม่ในกรุงเทพฯ คือหนึ่งในนโยบายที่สำคัญมากในช่วงราว 70 ปีแรกของการสร้างกรุง

สิ่งที่น่าคิดคือ ในบรรดาพระพุทธรูปทั้งหมด สุโขทัยและเมืองในเครือข่ายที่เรียกว่า หัวเมืองเหนือ เช่น สวรรคโลก พิษณุโลก พิจิตร เป็นต้น คือแหล่งที่มาหลัก

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

เหตุผลมีอย่างน้อย 2 ประการคือ

หนึ่ง การขนย้ายพระพุทธรูปจะสะดวกที่สุดก็ต่อเมื่อทำมาจากโลหะ เพราะพระพุทธรูปที่สร้างด้วยการก่ออิฐฉาบปูน เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเคลื่อนย้ายออกจากที่ตั้งโดยไม่เสียหาย ส่วนหินก็หนักเกินไป

ซึ่งแหล่งวัฒนธรรมที่นิยมสร้างพระพุทธรูปด้วยโลหะมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ หัวเมืองเหนือ

เหตุผลที่สอง คือ การขนย้ายพระพุทธรูปในยุคนั้นนิยมขนย้ายจากวัดร้างตามเมืองเก่าที่ร้างราผู้คนไปแล้วมากกว่าที่จะนำมาจากวัดและเมืองที่ยังมีผู้คนอาศัยอยู่ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น การขนย้ายย่อมสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นอย่างมากแก่ชุมชนโดยรอบ

ซึ่งในบรรดาเมืองทั้งหลายในยุคนั้น สุโขทัย และสวรรคโลก คือเมืองที่เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าวมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มเมืองที่นิยมสร้างพระพุทธรูปโลหะมากที่สุด และเป็นเมืองที่เพิ่งถูกทิ้งร้างไปไม่นานด้วยจากการย้ายศูนย์กลางเมืองสุโขทัยเดิมไปอยู่ที่อื่น ในสมัยรัชกาลที่ 1

พงศาวดารระบุว่า การขนย้ายพระพุทธรูปครั้งใหญ่ที่สุดเกิดในปี พ.ศ.2337 ซึ่งมีมากถึง 1,248 องค์ เพื่อนำมาประดิษฐานที่วัดพระเชตุพนฯ และวัดสำคัญอื่นๆ ในกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม จำนวนที่แท้จริงอาจต้องทบทวนใหม่ เพราะจากข้อมูลในหนังสือ “การเมืองเรื่องพระพุทธรูป” ของ วิราวรรณ นฤปิติ ชี้ให้เห็นว่า เพียงแค่จากสุโขทัยแห่งเดียว ก็มีมากถึง 1,285 องค์แล้ว และถ้าคิดรวมกับที่มาจากพิจิตรก็จะมีมากถึง 1,663 องค์ ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าที่เคยคิดกันมาก

จากตัวเลขดังกล่าว สันนิษฐานว่า พระพุทธรูปจากสุโขทัยและเมืองบริวารที่ขนย้ายมาคราวนั้น อาจคิดเป็นจำนวนมากถึงราว 3 ใน 4 ของพระพุทธรูปทั้งหมดที่อัญเชิญมาเลยก็เป็นได้

นอกจากในปี พ.ศ.2337 ยังมีอีกหลายครั้ง ที่แม้จะมิได้มีปริมาณมาก แต่สุโขทัยและเมืองเครือข่ายก็ยังคงเป็นแหล่งที่มาหลักเช่นเดิม เช่น พระพุทธชินสีห์ พุทธชินราช และพระศรีศากยมุนี จากสุโขทัยใน พ.ศ.2351, พระพุทธชินสีห์จากพิษณุโลกปี พ.ศ.2374, พระไสยาจากสุโขทัยในสมัยรัชกาลที่ 3 และหลวงพ่อร่วงจากสุโขทัยในราว พ.ศ.2393 เป็นต้น

ยังไม่นับรวมอีกมากที่มิได้มีหลักฐานบันทึกไว้ ซึ่งน่าเชื่อว่าคงมีไม่น้อยเลย ดังจะเห็นจากกรณีพระศรีศาสดา จากพิษณุโลก ที่อัญเชิญมาโดยเจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง นนทบุรี ซึ่งหากมิใช่ว่า รัชกาลที่ 4 โปรดให้ย้ายมาที่วัดบวรนิเวศฯ ในเวลาต่อมา เราก็คงไม่มีทางทราบเลยว่า การอัญเชิญพระจากเมืองเหนือนั้นเกิดขึ้นในระดับที่กว้างขวางมาก แม้แต่ในระดับเจ้าอาวาสวัดซึ่งมิใช่วัดหลวงก็ยังสามารถทำได้เอง

การขนย้ายพระพุทธรูปจากสุโขทัยเป็นจำนวนมากในยุคต้นกรุงเทพฯ มีนัยยะสำคัญอย่างไร

 

ผมอยากชี้ชวนให้มองประเด็นนี้บนกรอบคิดในแบบ Material Culture studies ที่เน้นการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัตถุสิ่งของที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น โดยกรอบคิดนี้มองว่า มนุษย์ประกอบสร้างโลกทัศน์ต่างๆ ผ่านการสร้าง การครอบครอง และการใช้สอยสิ่งของวัตถุต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวจะเข้ามาก่อรูปความรู้สึกนึกคิด และอัตลักษณ์ของมนุษย์และสังคม หรือแม้กระทั่งเป็นตัวกำหนดการมองโลกและสิ่งแวดล้อมของเรา ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

พูดให้ชัดก็คือ มนุษย์เราคือผู้สร้างวัตถุสิ่งของขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกันสิ่งของเหล่านั้นก็ย้อนกลับมาสร้างตัวเราไปด้วยพร้อมๆ กันผ่านการใช้สอยในชีวิตประจำวันของเราเอง

บนทัศนะดังกล่าว ทำให้เราเห็นนัยยะสำคัญของการที่พระพุทธรูปเป็นจำนวนมากเหล่านี้ได้ถูกเคลื่อนย้ายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตทางสังคมของผู้คนยุคต้นรัตนโกสินทร์ ผ่านงานฉลอง พิธีกรรม ตำนาน และการกราบไหว้บูชาในวิถีชีวิตประจำวัน ฯลฯ

ต้องเข้าใจนะครับว่า การขนย้ายพระพุทธรูปมิใช่ขั้นตอนที่เกิดขึ้นภายในเวลาอันสั้น เช่น ในคราวขนย้ายใหญ่ปี พ.ศ.2337 นั้นต้องใช้คนจำนวนมากเดินทางขึ้นไปสำรวจ บันทึก และรายงานกลับมาที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้าเป็นเวลานาน และเมื่อถึงการขนย้ายจริง ก็ยังกินเวลายาวนานเกือบ 3 เดือนจึงเสร็จสิ้น

และเมื่อมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว ด้วยความที่เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ จึงเต็มไปด้วยงานเฉลิมฉลองมากมาย ยิ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญมาแต่เดิม หรือมีขนาดใหญ่พิเศษยิ่งต้องมีพิธีการและงานฉลองที่ยาวนานมากยิ่งขึ้น

 

ภายใต้กระบวนการนี้ นำมาซึ่งการก่อตัวของตำนานต่างๆ ทั้งที่เป็นของดั้งเดิมจากคนท้องถิ่นเมืองเหนือ ตำนานเรื่องใหม่ที่เกิดระหว่างการขนย้าย ผสมกับจินตนาการใหม่ของผู้เล่า ทั้งหมดคละเคล้าเข้าซึมแทรกอยู่ในจิตสำนึกของผู้คนยุคต้นร้ตนโกสินทร์

เหตุการณ์นี้ได้นำพาผู้คนยุคต้นกรุงเทพฯ ให้เข้าไปสัมผัสรับรู้เกี่ยวกับบ้านเมืองยุคสุโขทัยที่ผูกติดมาพร้อมกับตำนานพระพุทธรูปที่ผ่านการเดินทางสำรวจและการอัญเชิญในคราวต่างๆ

บางองค์ได้กลายเป็นความทรงจำร่วมทางสังคม เช่น การอัญเชิญพระศรีศากยมุนีมาที่วัดสุทัศน์ ในปี พ.ศ.2351 ซึ่งเมื่ออัญเชิญล่องมาทางน้ำถึงหน้าประตูเมือง ได้มีการฉลองใหญ่นาน 3 วัน จากนั้นได้ทำการยกผ่านประตูเมือง แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่มาก จึงจำเป็นต้องพังประตูเมืองลง เพื่อให้พระเคลื่อนผ่านเข้ามาได้ ซึ่งทำให้บริเวณนั้นถูกจดจำในชื่อ “ท่าพระ” มาจนถึงปัจจุบัน

และถึงแม้พระพุทธรูปสุโขทัยจำนวนมากจะมิได้ถูกจดบันทึกให้เราทราบที่มา แต่เกือบทั้งหมดล้วนถูกจดจำและถ่ายทอดเรื่องราวผ่านชื่อที่ใช้เรียก เช่น หลวงพ่อร่วง, หลวงพ่อสุโข และพระพุทธสุโขทัย เป็นต้น

ส่วนอีกหลายองค์ที่ไม่ใช่พระสำคัญหรือไม่ได้มีตำนานเก่าแก่ผูกติดมาด้วย แต่เมื่อถูกนำประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ก็เกิดตำนานขึ้นใหม่ เช่น เรื่องเล่าเกี่ยวกับการสร้างศาลเจ้าพ่อเสือ เยื้องกับวัดมหรรณพารามที่ถูกโยงเรื่องเล่าเข้ากับเสือร้ายที่กัดลูกชาวบ้านตาย และสร้างความหวาดกลัวให้คนในละแวกดังกล่าว จนต้องมีการมาขอพรจากองค์หลวงพ่อร่วง ภายในวัดมหรรณพาราม จนสามารถทำให้เสือเชื่องในที่สุด

อยากให้จินตนาการดูนะครับว่า กระบวนนี้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซ้ำแล้วซ้ำอีก และซึมลึกเข้าไปในการรับรู้ของผู้คนผ่านพระพุทธรูปจากสุโขทัยที่มากกว่า 1,600 องค์ ที่กระจายอยู่ตามวัดต่างๆ ทั่วพระนคร

 

กระบวนการดังกล่าวได้ทำให้เกิดสิ่งที่อาจเทียบเคียงกับสิ่งที่ Walter Benjamin เคยอธิบายเอาไว้ นั่นก็คือ aura ของพระพุทธรูปสุโขทัยในระดับที่มีนัยยะพิเศษที่เหนือกว่าพระพุทธรูปจากหัวเมืองอื่น ผ่านเรื่องเล่า, พิธีกรรมที่แวดล้อมในชีวิตประจำวัน และที่ตั้ง ซึ่งล้วนแต่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของกรุงเทพฯ

กระบวนการดังกล่าว ผมขอเสนอว่า ได้เข้ามาเปลี่ยนทัศนะผู้คนยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่มีต่อสุโขทัยให้แตกต่างไปจากคนรุ่นอยุธยา

อย่างน้อยก็ทำให้สุโขทัยกลายสถานะจากหัวเมืองทั่วๆ ไป มาสู่เมืองอุดมคติที่มีความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาในสายตาคนต้นรัตนโกสินทร์