ธงทอง จันทรางศุ | ‘การพิมพ์’ เปลี่ยนโลก-เปลี่ยนไทย

ธงทอง จันทรางศุ

แง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ติดตามเรื่องราวในประวัติศาสตร์ คือการนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตมาเป็นข้อคิดพิจารณาหรืออาจใช้เป็นข้อสอนใจว่า เรื่องที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเก่าก่อนสุดท้ายแล้วคลี่คลายไปอย่างไร มีบทเรียนของความสำเร็จหรือความล้มเหลวอะไรบ้างที่น่าเรียนรู้

ถ้าเราได้มองประวัติศาสตร์ในแง่มุมนี้แล้ว ผมคิดว่าเราอาจจะพยากรณ์หรือเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ชัดเจนแจ่มใสขึ้น

ลองมาดูตัวอย่างที่น่าสนใจสักเรื่องหนึ่งไหมครับ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือใหม่ของสำนักพิมพ์มติชนซึ่งจัดเป็นงานเปิดตัวหนังสือคราวเดียวถึงเก้าเล่ม แค่สถานที่จัดงานเปิดตัวก็น่าสนใจเต็มทีแล้วครับ เพราะเป็นบ้านเก่าของจอมพลอากาศฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี บุคคลสำคัญคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ซึ่งผมไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าบ้านช่องห้องหอของท่านยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

ขอบคุณผู้จัดงานที่ชวนผมไปร่วมงานและส่งหนังสือมาให้อ่านล่วงหน้านะครับ

หนังสือที่เป็นการบ้านสำหรับผมต้องอ่านเพื่อเตรียมตัวไปสนทนาในงานเปิดตัวหนังสือที่ว่าคือหนังสือเรื่อง สยามพิมพการ ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยประวัติการพิมพ์และสิ่งพิมพ์ทั้งหลายในประเทศไทย

ผู้เขียนจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ และคุณขรรค์ชัย บุนปาน ผู้คร่ำหวอดในวงการนี้มาช้านาน แถมยังมีทีมงานช่วยค้นคว้าวิจัยอีกพะเรอเกวียน

หนังสือเล่มนี้จึงมีข้อมูลหนักแน่น อ่านแล้วได้เห็นอะไรที่ไม่เคยมองเคยเห็นมาอีกหลายประเด็น

ใช่ครับ ผมก็กำลังพูดถึงเรื่องการพิมพ์ที่เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับเมืองไทยเมื่อราวรัชกาลที่สามต่อเนื่องกับรัชกาลที่สี่ และมีความเป็นตัวตนที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทยตามลำดับเวลา

สำหรับผมแล้ว การพิมพ์และสิ่งพิมพ์ได้เปลี่ยนโลกของเมืองไทยไปมากพอสมควร

ข้อแรก การพิมพ์และหนังสือต่างๆ ได้ทำให้ความรู้ที่เดิมจำกัดวงแคบอยู่ในหมู่คนจำนวนไม่มากสามารถขยายออกไปสู่ผู้คนจำนวนมากขึ้น อีกทั้งวิธีการก็สะดวกมากขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วย

นึกดูสิครับว่า ก่อนที่จะมีหนังสือเป็นเล่มๆ ให้เราได้อ่านนั้น การบันทึกความรู้เป็นตัวอักษรอยู่บนสมุดไทยหรือใบลานที่ใช้วิธีเขียนหรือจารด้วยมือ วิธีบันทึกหรือเผยแพร่ความรู้แบบนี้ไปไหนไม่ได้ไกลหรอกครับ เพราะหมดแรงจะเขียนจะทำ

ยกตัวอย่าง เช่น กฎหมายตราสามดวง ที่ชำระขึ้นจากกฎหมายเดิมให้เข้ารูปเข้ารอยในสมัยรัชกาลที่หนึ่ง คณะกรรมการทำงานกันแทบล้มประดาตายสุดท้ายแล้วจะเขียนเป็นสำเนาได้สักกี่ฉบับกัน ความรู้ที่อยู่ในกฎหมายตราสามดวงจึงวนเวียนเรียนรู้กันอยู่เพียงแค่หมู่คนจำนวนจำกัด

เมื่อการพิมพ์ได้โผล่หน้าเข้ามาทักทายสังคมไทย โรงพิมพ์สามารถพิมพ์หนังสือได้ทีละพันเล่ม หมื่นเล่ม แน่นอนว่าต้องเกิดความโกลาหลแตกตื่นครับ

เราคงจำกันได้ว่าหนังสือกฎหมายตราสามดวงที่หมอบลัดเลย์นำมาพิมพ์ขึ้นในรัชกาลที่สาม สุดท้ายก็ต้องถูกริบและถูกเผาทำลาย

มองดูด้วยคำอธิบายแบบเป็นกลางที่สุดก็ต้องบอกว่า เพราะรัฐไทยในเวลานั้นยังงงงวยและคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดีกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดใหม่ขึ้นครั้งนั้น

ข้อสอง สิ่งพิมพ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์ และอาจจะหมายความรวมถึงหนังสืออีกหลายเล่ม ได้ทำให้ความคิดทางการเมืองซึ่งแต่เดิมเป็นเรื่องที่กระซิบกระซาบกันเพียงแค่จากปากหนึ่งไปสู่หูหนึ่งแล้วหยุดอยู่เพียงแค่นั้น กลายเป็นเรื่องที่สามารถส่งต่อได้รับรู้กันได้อย่างง่ายดาย

ผู้เป็นเจ้าของความคิดไม่จำเป็นต้องพบหน้ากันเลยกับคนซึ่งอ่านหนังสือ แต่ก็สามารถเข้าใจตรงกันได้ และผู้อ่านสามารถนำความคิดที่อ่านจากแผ่นกระดาษนั้นไปขยายผลต่อได้อีกมาก

พูดให้โก้ก็คือ การพิมพ์หนังสือพิมพ์และหนังสือ ได้ทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือที่ฝรั่งเรียกว่า Freedom of speech กลายเป็นประเด็นใหม่ทางสังคมขึ้นมา

นี่เหมือนกันครับ เป็นประเด็นที่รัฐหรือผู้ที่มีอำนาจรัฐต้องตั้งรับด้วยความงุนงง

จากข้อมูลในหนังสือสยามพิมพการ ผมได้รู้ว่าผู้ที่ถืออำนาจรัฐพยายามรับมือกับเสรีภาพเรื่องนี้ด้วยเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายมาเพื่อควบคุมการพิมพ์ โดยต้องให้ขออนุญาตบ้างล่ะ ต้องจดทะเบียนบ้างล่ะ บางยุคบางสมัยก็ใช้วิธีการส่งคนพร้อมด้วยฆ้อนอันใหญ่ไปทุกเครื่องพิมพ์เสียให้พังไปต่อหน้าต่อตา

ตรงไปตรงมาดีเป็นบ้า

แล้วก็เป็นบ้าจริงๆ เสียด้วยครับ

วิธีการรับมือด้วยวิธีการอื่นยังมีอีกมาก เช่น รัฐบาลมีหนังสือพิมพ์เสียเอง หรือให้แนบเนียนหน่อยก็จ่ายเงินใต้โต๊ะให้หนังสือพิมพ์ช่วยเขียนเชียร์รัฐบาล และเป็นปากเป็นเสียงโต้เถียงกับข่าวหรือความเห็นที่ไม่เป็นคุณกับรัฐบาล

สมัยของเราเรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า IO ครับ ฮา!

ข้อสาม นอกจากการพิมพ์และสิ่งพิมพ์จะนำความรู้เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง ปลุกเราเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้ว ในทัศนะของผมสิ่งพิมพ์นี้เองยังเป็นเวทีของความบันเทิงรูปแบบใหม่

ลองนึกดูสิครับว่า ถ้าไม่มีเทคโนโลยีการพิมพ์ ไม่มีกระดาษ ไม่มีหนังสือ ไม่มีนิตยสาร ชีวิตที่ผ่านมาของผมจะแห้งแล้งขนาดไหน

การ์ตูนก็ไม่มีอ่าน นวนิยายทุกเล่มไม่มีทางจะเล็ดลอดมาถึงสายตาของผม นิตยสารที่พาผมไปเที่ยวรอบโลกหรือเที่ยวทั่วเมืองไทย โดยจ่ายสตางค์น้อยที่สุดก็ไม่มี

คิดให้ลึกแบบนี้แล้วผมเองเดือดร้อนมากครับ เพราะเงินได้ของครอบครัวส่วนหนึ่งที่เลี้ยงดูให้ผมเติบโตขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้คือค่าลิขสิทธิ์จากการเขียนนวนิยายของแม่ ที่ส่งไปโรงพิมพ์ในนิตยสารมีชื่อเสียงในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นศรีสัปดาห์ สกุลไทยหรือกุลสตรี ก็จะไม่มีอยู่ในโลก

ผมจะกลายเป็นเด็กโง่ ผอมหัวโตเชียวล่ะครับ

ข้อที่สี่หรือความเห็นที่ผมจะฝากไว้เป็นประเด็นสุดท้าย คือประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการมีสิ่งพิมพ์ในทางเศรษฐกิจ ขึ้นต้นตั้งแต่โฆษณาหรือแจ้งความที่พิมพ์ลงบนแผ่นกระดาษในรูปลักษณะต่างๆ ตั้งแต่เป็นโปสเตอร์ขนาดใหญ่น้อย การลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร แผ่นพับใบปลิวต่างๆ ที่ทำให้เราหลงเชื่อเราซื้อสินค้าเขาทุกทีสิน่า

นี่ยังไม่ได้พูดถึงธุรกิจการพิมพ์ที่มีคนเกี่ยวข้องอยู่ในห่วงโซ่นี้จำนวนมากมายมหาศาล ตั้งแต่เจ้าของสำนักพิมพ์ เรื่อยไปจนถึงคนที่เอาหนังสือพิมพ์มาส่งไว้หน้าบ้านผมทุกเช้า และอื่นๆ อีกมากมาย

เมื่อได้มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของการพิมพ์และสิ่งพิมพ์อย่างนี้แล้ว ทำให้ผมได้คิดว่า ทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น สังคมก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยที่ไม่มีใครมีอำนาจจะไปหยุดยั้งเอาไว้ได้ และดูเหมือนจะเป็นท่าทีของผู้ใช้อำนาจรัฐหลายยุคสมัยที่พยายามควบคุมการใช้เทคโนโลยีที่เกิดใหม่ให้เป็นไปทิศทางที่ตนปรารถนาเท่านั้น แต่ในที่สุดแล้วก็จะประจักษ์และตระหนักว่า การทำอย่างนั้นเหมือนกับความพยายามใช้ฝ่ามือของตัวเองอันน้อยของตัวไปปิดท้องฟ้าที่มีขนาดมหึมา

ไม่มีทางสำเร็จหรอกครับ

มาถึงวันนี้สื่อสิ่งพิมพ์อาจจะอ่อนแรงลงไปบ้าง แต่สื่อใหม่ก็เกิดขึ้น ว่าโดยเฉพาะก็คือสื่อออนไลน์ทั้งหลายซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลและระบบถึงกันยิ่งกว่าใยแมงมุม มีความเร็วยิ่งกว่าการกะพริบตาหนึ่งครั้ง มีความหลากหลายของตัวละครหรือผู้เกี่ยวข้องเกินคณานับ

แต่เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐก็ยังคงพยายามที่ใช้กลเม็ดเดิมมารับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้มากที่สุดคือ ผลสำเร็จในระยะสั้นพร้อมกับเสียงด่าทอทั้งในวันนี้และวันหน้า

ไม่มีหรอกครับ ความสำเร็จในระยะยาว

การศึกษาประวัติศาสตร์จึงทำให้เราเข้าใจถึงความมึนงงของผู้มีอำนาจรัฐที่จะต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วก็งัดมาตรการเก่าๆ ออกมาใช้ซ้ำเดิม

สงสัยตอนนี้กำลังเตรียมฆ้อนมาทุบคอมพิวเตอร์ของเรากระมังครับ อิอิ