กำลังรบ vs กำลังใจ! สงครามรัสเซีย-ยูเครน/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

กำลังรบ vs กำลังใจ!

สงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

“ยูเครนกำลังเป็นฝันร้ายของปูติน”

Frank Ledwidge (2022)

 

ไม่น่าเชื่อเลยว่า เมื่อประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียตัดสินใจเปิดสงครามกับยูเครนในวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น หลายฝ่ายประเมินในเบื้องต้นว่า หากรัสเซียตัดสินใจเปิดการรบใหญ่แล้ว ยูเครนคงจะรักษาความเป็น “รัฐเอกราช” ไว้ไม่ได้

เพราะการที่ “รัฐเล็ก” จะสามารถแบกรับการเผชิญหน้ากับอำนาจทางทหารของ “รัฐใหญ่” ย่อมเป็นไปได้ยากมาก และน่าจะจบลงด้วยชัยชนะทางทหารของรัฐใหญ่

หลังจากการใช้กำลังของรัสเซียเกิดขึ้นในวันดังกล่าวแล้ว สถานการณ์สงครามทวีความรุนแรงขึ้นอย่างชัดเจน การรบเกิดขึ้นในหลายเมืองในดินแดนของยูเครน อันส่งผลให้เกิดการประเมินจากหลายฝ่ายในช่วงก่อนสุดสัปดาห์ว่า กรุงเคียฟซึ่งเป็นเมืองหลวงนั้น น่าจะไม่สามารถอยู่รอดได้เกิน 24 ชั่วโมง

หรืออย่างน้อยในช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา (26-27 กุมภาพันธ์) น่าจะเป็นการปิดฉากสงครามด้วยการที่กองทัพรัสเซียเคลื่อนกำลังพลและรถถังเข้าสู่กรุงเคียฟ และเข้าควบคุมยูเครนทั้งประเทศในเวลาต่อมา พร้อมกับนำไปสู่การจัดตั้ง “รัฐบาลหุ่น” ที่เป็น “รัฐบาลนิยมรัสเซีย”

ดูเหมือนสถานการณ์สงครามไม่เป็นไปในทิศทางเช่นนั้น และเป็นผลลบกับกองทัพรัสเซียอีกด้วย จนดูเหมือนว่าความคาดหวังสำหรับประธานาธิบดีปูตินไม่จบลงในแบบที่รัสเซียวาดฝันไว้

เพราะยูเครนในช่วงแรกของสงครามยังสามารถ “ยัน” กองทัพรัสเซียได้อย่างไม่น่าเชื่อ และเป็นเงื่อนไขของการเจรจาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

กำลังรบที่ไม่มีตัวตน!

ในความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่นั้น ศักยภาพทางทหารของรัสเซียจะเหนือกว่ายูเครนอย่างมาก หากเปรียบเทียบทำเนียบกำลังรบแล้ว แทบจะมองไม่เหมือนโอกาสอยู่รอดของรัฐบาลยูเครนแต่อย่างใด

จากข้อมูลที่ปรากฏในสาธารณะ รัสเซียน่าจะใช้กำลังพลในปฏิบัติการครั้งนี้ประมาณ 190,000 นาย พร้อมกับกำลังสนับสนุนจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เป็นฝ่ายรัสเซียในดอนบาสอีกประมาณ 40,000 นาย

ในขณะที่กองทัพบกยูเครนมีกำลังพลเพียง 140,000 นาย และยุทโธปกรณ์ทางบกก็มีสัดส่วนแตกต่างกันอย่างมาก เช่น กองทัพบกรัสเซียมีรถถังหลักประมาณ 2,800 คัน ยูเครนมีเพียง 800 กว่าคัน

อย่างไรก็ตาม หากย้อนเวลากลับไปเมื่อเสาร์อาทิตย์แรกของสงคราม (26-27 กุมภาพันธ์) จะพบว่า รัฐบาลยูเครนตัดสินใจสู้อย่างเต็มที่ ท่าทีของประธานาธิบดีซิเลนสกีของยูเครนที่ประกาศการต่อสู้อย่างเข้มแข็งกับรัสเซีย มีส่วนอย่างสำคัญในการ “ปลุกระดม” ชาวยูเครนให้เข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ เขายังปฏิเสธข้อเสนอของทำเนียบขาวที่จะอพยพออกจากประเทศ และประกาศที่จะรบจนวาระสุดท้ายในดินแดนของยูเครน

สภาวะเช่นนี้มีส่วนอย่างมากที่กระทบต่อการประมาณสถานการณ์ของรัสเซีย กล่าวคือ ผู้นำที่มอสโกอาจจะเชื่อว่าเมื่อรัสเซียตัดสินใจเคลื่อนกำลังรบแล้ว ผู้นำยูเครนอาจตัดสินใจยอมแพ้ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในวิกฤตไครเมียในปี 2014 อันเป็นโอกาสที่ทำให้กองทัพรัสเซียสามารถบุกและยึดพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว จนรัฐบาลยูเครนอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถตอบโต้ในทางทหารกับรัสเซียได้

วิกฤตครั้งนั้นจบลงอย่างง่ายดายด้วยการที่รัสเซียเอาไครเมียกลับไปจากยูเครน

ฉะนั้น คงต้องยอมรับว่า “ปัจจัยผู้นำ” เป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญในการรบครั้งนี้ และเป็นประเด็นที่มอสโกน่าจะประเมินผิด

จินตนาการที่เกิดในวิกฤตไครเมีย 2014 อาจมีส่วนอย่างมากในการสร้าง “ทัศนะ-มุมมอง” ทั้งทางการเมืองและการทหารในหมู่ผู้นำรัสเซีย โดยเฉพาะประธานาธิบดีปูติน

แต่การรุกทางทหารในเดือนกุมภาพันธ์นี้แตกต่างออกไปอย่างมาก เพราะรัฐบาลยูเครนตัดสินใจที่จะต่อสู้และต้านทานการรุกของกองทัพรัสเซีย

อันส่งผลให้ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียไม่สามารถเดินไปสู่จุดหมายสุดท้ายคือ การล้มรัฐบาล “นิยมตะวันตก” ที่เคียฟ และจัดตั้งรัฐบาล “นิยมรัสเซีย” ขึ้นแทน

ขณะเดียวกันแรงต่อต้านของประชาชนยูเครนเข้มแข็งมากกว่าที่ผู้นำรัสเซียประเมิน โดยเฉพาะเอกภาพและความมุ่งมั่นของประชาชนที่จะต่อต้านการบุกของกองทัพรัสเซียเป็น “อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน” อย่างชัดเจน และเป็นอำนาจกำลังรบที่รัฐบาลปูตินคาดไม่ถึง…

ภาพความร่วมมือร่วมใจของชาวยูเครนในการต่อต้านรัสเซียปรากฏชัดในสื่อต่างๆ ตลอดรวมถึงภาพของสตรีที่เข้าร่วมในการทำอุปกรณ์สงคราม ไม่ว่าจะเป็นภาพการทำตาข่ายพราง การนั่งทำระเบิดเพลิง หรือภาพของแม่และลูกสาวที่ติดอาวุธและพร้อมที่จะเข้าทำการรบ

ภาพเช่นนี้ในด้านหนึ่งอาจจะเป็นงานปฏิบัติการจิตวิทยาในยามสงคราม แต่ก็เป็นภาพจริงที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของชาวยูเครนที่ต่อต้านการบุกของรัสเซีย

ฉะนั้น คงไม่ผิดนักที่จะเปรียบเทียบว่า เรากำลังเห็นการต่อสู้ระหว่าง “กำลังรบ vs กำลังใจ” กล่าวคือ สงครามในยูเครนกำลังสะท้อนถึงอำนาจของ “ขวัญกำลังใจ” ที่มาพร้อมกับ “ความมุ่งมั่น” ของชาวยูเครนที่เป็นปัจจัยสำคัญในการต่อสู้กับอำนาจ “กำลังทหาร” ของรัสเซียที่เหนือกว่าอย่างมาก

 

โลกของผู้นำรัสเซีย

ผู้นำรัสเซียอาจจะอยู่ใน “จินตนาการเก่า” ที่เชื่อว่า เมื่อกองทัพรัสเซียเปิดการรุกเข้าไปในดินแดนของยูเครนแล้ว ประชาชนยูเครนจะออกมาต้อนรับพร้อมช่อดอกไม้ และส่งเสียงชื่นชมรัฐบาลมอสโค ดังเช่นในอดีตของช่วงปลายยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพของสหภาพโซเวียตเข้าไปปลดปล่อยประเทศในยุโรปตะวันออกให้พ้นจากการยึดครองนาซี

อีกทั้งจินตนาการเช่นนี้ยังสะท้อนให้เห็นได้จากทัศนะที่ประธานาธิบดีปูตินออกมากล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องส่งกำลังทหารเข้าสู่ดินแดนของยูเครนเป็นเพราะยูเครนกำลังถูกทำให้เป็น “รัฐนาซี” (Nazification) และรัสเซียเรียกการใช้กำลังครั้งนี้ว่า “สงครามปลดปล่อยยูเครน”

ทัศนะเช่นนี้ไม่น่าจะ “สื่อสารทางการเมือง” เพื่อขาย “วาทกรรมต่อต้านนาซี” ให้แก่สังคมระหว่างประเทศได้จริง

เพราะสถานการณ์ในยูเครนที่ปรากฏในเวทีสาธารณะไม่มีทิศทางเป็นเช่นนั้น เว้นแต่การนำเสนอการต่อต้านนาซีเป็น “วาทกรรมลวง”

เพราะสิ่งที่รัสเซียกำลังเผชิญคือ การมาของ “กระแสประชาธิปไตย” ในยูเครนต่างหาก

โดยเฉพาะหลังจากการโค่นล้มรัฐบาลที่นิยมรัสเซียของยูเครนในปี 2014 ด้วยการเปิดการชุมนุมใหญ่ของประชาชนที่จัตุรัสใจกลางกรุงเคียฟแล้ว ผู้คนในสังคมยูเครนมีความรู้สึกในทางการเมืองว่า พวกเขาอยากเข้าไป “ใกล้ชิด” กับฝ่ายตะวันตก มากกว่าการต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย

และไม่ได้อยู่ในจินตนาการที่ยูเครนควรต้องสูญเสียสถานะของความเป็น “รัฐเอกราช” ไป และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ดังเช่นที่เกิดขึ้นในยุคหลังการปฏิวัติบอลเชวิคแล้ว

แน่นอนว่าทัศนะที่เอนเอียงไปทางตะวันตกของยูเครนนั้น มีนัยสำคัญทางด้านความมั่นคง

เพราะด้านหนึ่ง ทัศนะเช่นนี้จะเปิดโอกาสโดยตรงให้ฝ่ายตะวันตกสามารถขยายอิทธิพลของตนเข้าประชิดแนวชายแดนของรัสเซียได้ในทางภูมิรัฐศาสตร์

ซึ่งอิทธิพลเช่นนี้มีนัยถึงการขยายอิทธิพลของสหรัฐ สหภาพยุโรป (หรืออียู) และนาโต การกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้สถานะด้านความมั่นคงของรัสเซียมีความเปราะบางในตัวเองอย่างมาก

อันมีนัยว่ารัสเซียจะไม่มีพื้นที่ “เขตรัฐกันชน” ระหว่างอิทธิพลของตะวันตกกับแนวชายแดนของรัสเซีย

ในด้านหนึ่งเราอาจต้องยอมรับว่าสภาวะเช่นนี้คือ “ข้อกังวลใจ” ของผู้นำรัสเซียมาโดยตลอด และเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้บ่งชี้ให้เห็นถึงการจัด “ระเบียบใหม่ด้านความมั่นคงของยุโรปในยุคหลังสงครามเย็น” ซึ่งในระเบียบเช่นนี้ รัสเซียมีสถานะที่อ่อนแอ และพื้นที่ขนาดใหญ่ในการควบคุมเดิมได้แยกตัวออกเป็นรัฐเอกราชใหม่

แต่วันนี้ เมื่อรัสเซียสามารถฟื้นตัวจากสถานะของการล่มสลายในยุคหลังสงครามเย็นแล้ว จึงพยายามที่จะหาทางยกเลิกระเบียบแบบเดิม และสร้าง “ระเบียบใหม่” ที่รัฐบาลตะวันตกต้องให้ความสำคัญกับมอสโก… รัสเซียต้องไม่ใช่ตัวแสดงที่ตะวันตกจะมองข้ามและหลงลืม

แต่ในอีกด้าน ก็อาจต้องยอมรับความเป็นจริงในทางภูมิรัฐศาสตร์ของยุคหลังสงครามเย็น ที่ส่งผลให้เกิดการล่มสลายของระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ในปี 1991-1992 สภาวะเช่นนี้สะท้อนถึงการลดลงของบทบาทและอิทธิพลรัสเซียในเวทีโลกในยุคหลังสงครามเย็นอีกด้วย

ทั้งเป็นสัญญาณทางการเมืองว่ารัสเซียไม่ใช่ “รัฐมหาอำนาจใหญ่” ในแบบเดิมอีกต่อไป

สภาวะดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยด้าน “จิตวิทยาการเมือง” ของผู้นำมอสโกมาโดยตลอด โดยเฉพาะความรู้สึกว่าตะวันตก “ปิดล้อม” รัสเซีย

ฉะนั้น การเปิด “สงครามยูเครน” จึงมีอาการของ “นัยทับซ้อน” ของปัญหาต่างๆ ที่ผู้นำรัสเซียเผชิญทั้งในทางจิตวิทยาและในทางการเมือง

สงครามครั้งนี้ในด้านหนึ่งจึงเป็นความต้องการที่จะส่งสัญญาณให้เกิดการ “จัดระเบียบใหม่” และเป็นระเบียบที่จะต้องยอมรับถึงสถานะที่เข้มแข็งของรัสเซียดังเช่นในยุคสงครามเย็น

อีกทั้งยังต้องยอมรับถึงการขยายอิทธิพลของรัสเซียเข้าไปควบคุมพื้นที่รัฐที่เคยแยกตัวออก และโลกตะวันตกต้องไม่ก้าวล่วงเข้ามาสู่พื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่นี้

 

เขตอิทธิพล

หากเปรียบเทียบในสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว รัสเซียอาจจะยอมรับในความเป็นรัฐเอกราชของยูเครน แต่ก็ต้องเป็นรัฐเอกราชในแบบเบลารุส ที่ดำรงความใกล้ชิดทางการเมืองกับรัสเซีย และไม่ตอบรับกับการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับฝ่ายตะวันตก

ที่สำคัญอย่างมากคือ จะต้องไม่เข้าร่วมกับนาโต เบลารุสจึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีเช่นนี้ (แตกต่างจากไครเมียหรือพื้นที่ของดอนบาสที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียโดยตรง)

ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ยูเครนในมุมมองรัสเซียจะมีสถานะเป็นรัฐใน “เขตอิทธิพล” ของตน และตะวันตกจะต้องไม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทั้งในทางการเมืองและความมั่นคง

แน่นอนว่าผู้นำรัฐบาลและประชาชนยูเครนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดเช่นนั้น ระยะเวลา 30 ปีของการเป็นรัฐเอกราช ไม่ได้ทำให้พวกเขาอยากพาประเทศของตัวเองกลับไปอยู่ภายใต้รัสเซียอีกครั้ง

อีกทั้งเป็น 30 ปีที่พวกเขาตระหนักว่า เขาอยากสร้างยูเครนเป็น “รัฐประชาธิปไตย” และเชื่ออย่างมีนัยสำคัญว่า การเป็นรัฐเอกราชจะเป็นหนทางที่ยูเครนจะไม่ถูกทำให้เป็น “รัฐเผด็จการ” และการต่อสู้เพื่อขับไล่ผู้นำเผด็จการที่เป็นสาย “นิยมรัสเซีย” ในปี 2014 คือคำตอบว่า ยูเครนจะเดินในแนวทางประชาธิปไตย

การต่อสู้เพื่อความเป็นรัฐเอกราชของชาวยูเครนในครั้งนี้มีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก เพราะต้องแลกด้วยการต้องเผชิญกับภัยสงครามของรัฐมหาอำนาจใหญ่ และยิ่งเมื่อรัฐบาลรัสเซียออกสั่งให้กองกำลังอาวุธนิวเคลียร์ของตนเตรียมพร้อม ราคาของเอกราชครั้งนี้จึงมีเดิมพันสูงยิ่ง

ขณะเดียวกันในการต่อสู้ครั้งนี้ เราได้เห็นถึงจิตใจที่น่ายกย่องของ “ผู้รักเอกราช” ชาวยูเครนที่มีความเป็นเอกภาพและตัดสินใจสู้กับกองทัพรัสเซียอย่างกล้าหาญ จนสามารถต้านทานการรุกของกองทัพรัสเซียได้อย่างคาดไม่ถึง อันเสมือนกับกองทัพและประชาชนยูเครนสามารถ “ตรึง” แนวรบไว้ได้

วันนี้ “หมีใหญ่” แห่งรัสเซียดูจะไม่สามารถตะปบเหยื่อ “ตัวน้อย” ที่ยูเครนได้ง่ายๆ เสียแล้ว!