2503 สงครามลับ สงครามลาว (71)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (71)

 

กลยุทธ์สามประสาน

สําหรับกำลังรบในพื้นที่ บก.ผสม 333 ได้วางแผนการดำเนินกลยุทธ์ในภาพรวมโดยกำหนดให้ทหารม้งทำหน้าที่แนวหน้าสุดเป็นฉากกำบังด้วยการรบแบบกองโจรตามความถนัดเพื่อรบกวนและแจ้งเตือนการเข้ามาของข้าศึกโดยหลีกเลี่ยงการรบแตกหัก

ทหารเสือพราน ทำหน้าที่ป้องกันแตกหักต่อทุกฐานยิงสนับสนุนทหารปืนใหญ่

ทหารปืนใหญ่ ใช้ขีดความสามารถยิงทำลายที่หมายอย่างเต็มกำลัง โดยมีกำลังทางอากาศทั้งของท้องถิ่นและกองทัพอากาศสหรัฐสนับสนุนเต็มที่

 

ทหารม้ง

: รบแบบกองโจร

กองกำลังท้องถิ่นของนายพลวังเปาระดมกันออกลาดตระเวนตามแผนอย่างเต็มที่ในทุ่งไหหิน ทั้งทำหน้าที่แจ้งเตือน ทั้งทำการรบก่อกวนแบบกองโจร รวมทั้งการสร้างฐานตั้งรับแบบเคลื่อนที่ (Mobile Defense Position) โดยไม่รบแตกหัก เพื่อเสริมการรบแตกหักต่อกำลังทหารไทยที่ทำการตั้งรับแบบยึดพื้นที่ในพื้นที่ลึกเข้ามา

นายพลวังเปากำหนดให้หน่วยทหารม้ง กรม GM 22 รับผิดชอบพื้นที่ชายขอบด้านใต้ของทุ่งไหหิน กรม GM 23 รับผิดชอบพื้นที่ระหว่างฐานยิงคิงคองและแพนเธอร์

และที่สำคัญสูงสุดคือ กรม GM 21 รับผิดชอบมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของทุ่งไหหินเพื่อแจ้งเตือนการเข้ามาของกองกำลังเวียดนามเหนือที่คาดว่าจะเป็นทิศทางการรุกหลัก

หน่วยทหารม้งเหล่านี้จะไม่มีการสร้างฐานที่มั่นถาวรแบบทหารไทย เพราะภารกิจที่ได้รับมอบไม่มีการรบแตกหักเพื่อยึดรักษาพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถใช้ความได้เปรียบในการรบแบบสงครามกองโจรอันเป็นคุณลักษณะเด่นของชาวม้งอย่างเต็มความสามารถ

กำลังทหารม้งที่ใช้เป็นหน่วยแจ้งเตือนและรบเคลื่อนที่แบบกองโจรเหล่านี้มีจำนวนประมาณ 1,800 คน

แต่ในระหว่างกลางเดือนธันวาคม พ.ศ.2514 ที่จะมีการรบแตกหักนั้น จำนวนทหารประมาณครึ่งหนึ่งเดินทางกลับบ้านเพื่อฉลองเทศกาลปีใหม่ตามประเพณีของชาวม้ง

 

ทหารเสือพราน

: คุ้มครองฐานยิงสนับสนุน

ในส่วนกำลังทหารราบเสือพรานของไทยซึ่งมีรวมทั้งสิ้นประมาณ 4,000 คนขณะนั้น

จะใช้กำลังประมาณ 2,000 คน เพื่อป้องกันฐานยิงมัสแตงบนสันสกายไลน์ และฐานยิงไลอ้อนซึ่งอยู่ทางตะวันตกของภูเทิง

และใช้กำลังอีกประมาณ 1,000 คน ป้องกันฐานยิงคิงคองซึ่งอยู่ด้านเหนือของภูเทิง

กำลังที่เหลืออีกประมาณ 1,000 คน แบ่งป้องกันฐานยิงแพนเธอร์ สติงเรย์ และคอบร้า

 

ลำดับความเร่งด่วนในการยิงสนับสนุน

แผนการยิงสนับสนุนส่วนรวมของทหารปืนใหญ่ กำหนดลำดับความเร่งด่วน ดังนี้

ลำดับความเร่งด่วนแรก คือพื้นที่ด้านตะวันออกของพื้นที่การรบซึ่งคาดว่าจะเป็นทิศทางเข้าตีหลักของข้าศึก กำหนดให้อำนาจการยิงหลักมาจากฐานยิงมัสแตงและไลอ้อนเพื่อป้องกันเส้นทางเข้าจากด้านทิศใต้ของทุ่งไหหิน โดยวางกำลังกองพันทหารเสือพราน 609 ซึ่งถือว่ามีความเข้มแข็งที่สุดไว้ในตำแหน่งหน้าสุดของพื้นที่การรบบริเวณนี้ที่ภูเก็ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นจุดสู้รบที่รุนแรงที่สุด

ลำดับความเร่งด่วนที่สอง คือพื้นที่ทางตอนเหนือของพื้นที่การรบ กำหนดให้อำนาจการยิงหลักมาจากฐานยิงคิงคอง เพื่อระวังป้องกันเส้นทางเข้าจากทางด้านทิศเหนือ ขณะที่กำหนดให้ฐานยิงแพนเธอร์ คอบร้า สติงเรย์ ทำหน้าที่ยิงสนับสนุนแนวป้องกันที่สองเพื่อป้องกันทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ เป็นการเพิ่มความลึกให้กับการตั้งรับ

น่าสังเกตว่า การกำหนดลำดับความสำคัญของพื้นที่การรบของทั้งสองฝ่ายคือ บก.ผสม 333 กับฝ่ายเวียดนามเหนือ ต่างกำหนดให้ภูเทิงเป็นที่หมายหลัก และภูเก็งเป็นที่หมายรองเช่นเดียวกัน

 

ก่อนพายุร้าย

ต้นเดือนธันวาคม พ.ศ.2514 พื้นที่ทางด้านเหนือของทุ่งไหหินตลอดระยะทางบนถนนหมายเลข 4 ระหว่างบ้านบาน (Ban Ban) และแก่งไก่ (Khang Khay) จนถึงเชียงขวางวิลล์ (Xieng Khoungville) จนจรดด้านตะวันออกล้วนคลาคล่ำไปด้วยทหารเวียดนามเหนือและขบวนลำเลียงสิ่งอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการรุกใหญ่ที่กำลังจะมาถึง

เวลาเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่ซีไอเอประจำ บก.ที่อุดรธานีผู้ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบล่องแจ้งในตำแหน่ง CASE OFFICER คือ เจมส์ อี. ปาร์กเกอร์ จูเนียร์ ได้เดินทางมายังพื้นที่ทุ่งไหหิน เจมส์ยืนอยู่บนหลังคาบังเกอร์ฐานยิงสนับสนุนคิงคองของทหารไทยซึ่งอยู่เหนือสุดของพื้นที่ทุ่งไหหินที่ภูเก็ง ขณะที่ทั่วทุกที่มั่น ทหารเสือพราน 4,000 คนกำลังมุ่งมั่นสร้างแนวคูรบรวมทั้งบังเกอร์ฐานที่มั่นเตรียมรับข้าศึกที่กำลังเคลื่อนเข้ามา

เจมส์ทอดสายตาสำรวจไปทั่วพื้นที่ซึ่งกำลังมีการดัดแปลงที่มั่นตั้งรับอย่างประณีต มีการถากถางพื้นที่รอบฐานออกไปเพื่อเปิดพื้นที่การตรวจการณ์และการยิงสอดคล้องกับฉากการยิงป้องกันตัวเองด้วยอาวุธหนักจากบังเกอร์ที่รายล้อมพื้นที่โดยรอบ 360 องศา มีการจัดทำที่มั่นตรวจการณ์เป็นระยะๆ และวางแนวลวดหนามป้องกันตั้งแต่ 4 ถึง 8 ชั้นโดยรอบที่มั่นตั้งรับ

ผู้บังคับฐานยิงคิงคองเป็นนายทหารไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ดี บอกกับเขาว่า ทหารไทยพร้อมแล้วสำหรับการมาถึงของทหารเวียดนามเหนือ พร้อมยิ้มอย่างมั่นใจในชัยชนะ และเชื่อมั่นว่าจะยืนหยัดรักษาที่มั่นไว้ได้อย่างแน่นอน

ขณะที่นายพลเหงียน ฮู อัน ผู้วางแผนการรบ CAMPAING Z ของกองทัพเวียดนามเหนือก็เชื่อมั่นว่าทหารของเขาจะสามารถเข้าทำลายได้

ผู้บังคับฐานยิงคิงคองแห่งนี้คือ “ร.อ.พิชัย ฉินนะโสต (ยศสุดท้ายพลเอก)” อดีตหัวหน้านักเรียนนายร้อย จปร. ทหารปืนใหญ่จากหน่วยรบพิเศษซึ่งมีไม่มากนัก และจะสร้างวีรกรรมอันเป็นตำนานในการรบที่กำลังจะมาถึง

ระหว่างยืนสังเกตการณ์อยู่บนยอดสูงสุดของบังเกอร์ ซีไอเอผู้มาเยือนมีความรู้สึกคล้ายว่าความเคลื่อนไหวทุกขณะของเขาตกอยู่ในสายตาของข้าศึกที่คงแอบซ่อนตัวอยู่ตรงไหนสักแห่งในพงหญ้าสูงท่วมศีรษะรอบๆ พื้นที่รกทึบบนขุนเขารอบทุ่งไหหิน แม้ทุกอย่างจะดูสงบนิ่ง แต่เขาก็มีความรู้สึกว่า

“มันเป็นความสงบเงียบก่อนการโหมกระหน่ำของพายุร้าย”

 

ใกล้วันแตกหัก

ร.ท.สัญชัย บุณฑริกสวัสดิ์ นามรหัส “ผาอิน” แห่งกองพันทหารปืนใหญ่เสือพราน 635-พัน.ป.ทสพ.635 ผู้อยู่ในเหตุการณ์ บันทึกสถานการณ์ช่วงนี้ไว้ดังนี้…

ธันวาคม 2514…

ในช่วงเวลาปักษ์แรกของเดือนธันวาคม สถานการณ์ทั่วไปยังคงเงียบสงบ ฝ่ายเรามีการเปลี่ยนแปลงการวางกำลังดังนี้คือ ได้ส่งปืนใหญ่ 155 ม.ม. 2 กระบอกจากฐานยิงมัสแตงไปสมทบให้กับฐานยิงคิงคอง และให้ร้อย ค.หนัก พัน ป.ทสพ. 636 ไปตั้งฐานยิงแพนเธอร์ขึ้นที่บริเวณ “บ้านทาง” (LS 275) เพื่อให้สามารถสนับสนุนภูเก็ง ภูเซอ และบ้านโตนได้

ฐานยิง “แพนเธอร์” ประกอบด้วย ป.155 ม.ม. 2 กระบอก กำลังสร้างที่ตั้งยิงอย่างเร่งรีบจนสามารถเปิดฉากการยิงได้ใน 18 ธันวาคม

ในขณะนั้นกำลังทหารท้องถิ่นของนายพลวังเปาได้ถอยมาตั้งมั่นอยู่ใกล้แนววางกำลังฝ่ายเราแทบทุกจุด ฝ่ายเราตรวจการณ์เห็นขบวนยานยนต์ของข้าศึกเคลื่อนไหวอยู่ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทุ่งไหหินเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น ทหารท้องถิ่นยังตรวจการณ์เห็นรถถัง PT-76 ของข้าศึกปรากฏขึ้นอยู่เนืองๆ ฝ่ายเราจึงมิได้ประมาท ต่างก็เตรียมเสริมสร้างความแข็งแรงของที่มั่นพร้อมทั้งเพิ่มการลาดตระเวนโดยกวดขัน

เรากำลังรอคอยการรุกใหญ่ในฤดูแล้งปีนี้ของข้าศึกด้วยความมั่นใจ กำลังพลส่วนใหญ่มีขวัญดี ทหารเสือพรานพร้อมแล้วสำหรับภารกิจยึดและรักษาทุ่งไหหิน”

ร.ท.สัมพันธ์ แจ้งเจนเวทย์ นามรหัส “ภูสิน” ซึ่งประจำอยู่ที่ฐานยิงสนับสนุนไลอ้อนของอีกกองพันคือ กองพันทหารปืนใหญ่ ทสพ.636 โดยที่ไม่ทราบว่า ฐานยิงแห่งนี้และพัน ทสพ.609 บนยอดภูเทิงเป็นที่หมายหลักในการเข้าตีของ CAMPAIGN Z ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ใน “คนไทยในกองทัพแห่งชาติลาว” ดังนี้

“ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2514 ข้าศึกใช้ปืนใหญ่โจมตีที่ตั้งฝ่ายเราเกือบทุกวัน ที่ไลอ้อนถูกยิงบ่อยขึ้น บ่อยขึ้น และบ่อยขึ้น และในเวลาต่างๆ กันเกือบทุกวัน แต่ส่วนมากตกนอกที่ตั้ง ยังไม่ยิงมาตกในที่ตั้งยิงของเรา บางครั้งก็ยิงไปยังที่สนามบินบ้าง ผมรู้สึกว่าข้าศึกกำลัง ‘ปรับการยิง’ เราได้พยายามยิงต่อต้านไปตามทิศทางที่ได้ยินเสียงประกอบกับบัญชีเป้าหมายที่ตั้งยิงปืนใหญ่ข้าศึกที่มีอยู่ ตั้งแต่ช่วงประมาณต้นธันวาคมพวกเรารู้สึกกันได้ว่ากระสุนปืนใหญ่ข้าศึกตกใกล้เข้ามาและบางครั้งตกเข้ามาในที่ตั้งยิงไลอ้อนแต่ยังไม่มีใครบาดเจ็บหรือเป็นอันตราย”

10 ธันวาคม ฉก.วีพี จัดตั้ง “ศูนย์ประสานการยิงสนับสนุนส่วนหน้า” (ศปยส.) ที่ฐานยิงสติงเรย์ (ของ พัน ป.ทสพ.635) เพื่อประสานการยิงสนับสนุนการใช้ปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ต่อมาข้าศึกใช้ปืนใหญ่โจมตีที่ตั้งฝ่ายเราน้อยลง แต่ตกใกล้ที่ตั้งฝ่ายเรามากขึ้นๆ โดยเฉพาะในที่ตั้งยิงปืนใหญ่ของฝ่ายเรา

กลางเดือนธันวาคม สิ่งบอกเหตุบ่งชี้ชัดเจนว่าการรบใหญ่กำลังจะเริ่มขึ้น