หลากทัศนะ จุฬาฯ ปลด ‘เนติวิทย์’ คำถามหนักจากสังคม เมื่อการเมืองในมหาวิทยาลัย สะท้อนภาพใหญ่ประเทศ/บทตวามในประเทศ(ฉบับประจำวันที่ 4-10 มีนาคม 2565 ฉบับที่ 2168)

บทตวามในประเทศ

 

หลากทัศนะ จุฬาฯ

ปลด ‘เนติวิทย์’ คำถามหนักจากสังคม

เมื่อการเมืองในมหาวิทยาลัย

สะท้อนภาพใหญ่ประเทศ

 

เช้าวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ ท่ามกลางสถานการณ์ข่าวสารระดับโลกที่กำลังเดือดพล่าน จากการที่รัสเซียใช้กำลังทางการทหารบกยูเครน

ระหว่างที่ทั้งสังคมไทยกำลังให้ความสนใจเรื่องนี้ พร้อมๆ ไปกับข่าวดาราสาวตกน้ำสูญหายกลางเจ้าพระยา ทุกฝ่ายกำลังระดมหา

จู่ๆ ก็มีข่าวจากจุฬาฯ ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิตจุฬาฯ จำนวน 2 คน

หนึ่งในนั้นคือ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ และในตำแหน่งสำคัญคือเป็นนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งด้วยคะแนนท่วมท้นมากเป็นประวัติศาสตร์เมื่อปีก่อน

สืบเนื่องกรณีเนติวิทย์และ น.ส.พิชชากร ฤกษ์สมพงษ์ นิสิตคณะครุศาสตร์ (นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ และอุปนายกคนที่ 1 อบจ.) ได้เชิญนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยมาร่วมพูดในงานปฐมนิเทศนิสิตใหม่ รุ่น 105 ปีการศึกษา 2564 ที่จัดขึ้นเซอร์ไพรส์ในรูปแบบวีดิทัศน์ วิทยากรรับเชิญพิเศษประกอบไปด้วย “รุ้ง” น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล “เพนกวิน” นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และ รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ โดยคณะกรรมการที่สืบสวนข้อเท็จจริง เห็นว่าการ “เซอร์ไพรส์” ข้างต้นเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมของสำนักบริหารกิจการนิสิต ก่อให้เกิดความแตกสามัคคี ขัดต่อวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทย

รวมทั้งมีกิริยาท่าทางและคำพูดที่ถูกมองว่า “หยาบคาย ไม่เหมาะสม” และการมอบ “ของลับ” ให้ผู้บริหารจุฬาฯ จึงตัดคะแนนความประพฤติ 10 คะแนน

ต้องพ้นจากการดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ โดยทันที

 

ในวันเดียวกันนั้น นายเนติวิทย์ออกแถลงการณ์ส่วนตัว ประกาศต่อสังคม โดยระบุความรู้สึกส่วนตัวว่าตัวเองนั้นถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยทำรัฐประหาร

“คำสั่งนี้ทำให้ผมหมดคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ โดยทันที หรืออีกนัยคือ ผมถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยก่อรัฐประหารแล้ว พวกเขาไม่สนใจไยดีคะแนนเสียงนิสิตมากกว่าหมื่นคนที่เลือกผมเข้ามาทำหน้าที่นี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรตินี้ไม่เคารพหลักการเสรีภาพและประชาธิปไตย” นายเนติวิทย์กล่าว

หลังคำสั่งดังกล่าวออกมา มีการตั้งคำถามอย่างหนักจากสังคม ว่าเป็นการจงใจปิดปากนิสิตที่แสดงความเห็นแตกต่างหรือไม่

การกระทำดังกล่าวของมหาวิทยาลัยละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของนิสิตหรือไม่และหลักเกณฑ์ในการใช้ตัดสินน้ำหนักสมเหตุสมผลเพียงใด

คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ และสภานิสิตจุฬาฯ ซึ่งเป็นผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของนิสิตจุฬาฯ เช่นกัน ร่วมออกแถลงการณ์คัดค้านในทันที

โดยยืนยันว่ากิจกรรมดังกล่าวมีขึ้นโดยหลักการคือส่งเสริมการตระหนักเรื่องสิทธิเสรีภาพ

การลงโทษดังกล่าวไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ ไม่ใช่การลงโทษเพื่อตักเตือนให้นิสิตอยู่ในวินัยที่ดี

แต่เป็นการลงโทษโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปลดนายเนติวิทย์ออกจากนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ

ขณะที่ชมรมต่างๆ ในสังกัดสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพื้นที่ทางกิจกรรมของนิสิตทั้งเรื่องกีฬา ศาสนา วัฒนธรรมต่างๆ ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ร่วมกว่า 22 ชมรม คัดค้านคำสั่งและโต้กลับทุกข้อกล่าวหาของมหาวิทยาลัย โดยยืนยันว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบธรรม

ขอให้มหาวิทยาลัยเพิกถอนคำสั่งและคืนสิทธิและเสรีภาพให้แก่นิสิตจุฬาฯ ทั้งสองคน

 

ในระดับประเทศ องค์กรนักศึกษา 19 องค์กร ประกอบด้วยนายกองค์การนักศึกษา ประธานสภานิสิตนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ลงนามร่วมกันในจดหมายเปิดผนึกที่ระบุว่าประกาศของจุฬาฯ ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์และเสรีภาพของนิสิตอย่างมาก

บทลงโทษดังกล่าวมีอัตราที่หนักเกินควร ขอเรียกร้องให้จุฬาฯ ยกเลิกคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว แล้วจะติดตามความคืบหน้าจนกว่าจะมีการพิจารณาอย่างเป็นธรรม

ฝั่งภาคประชาสังคมก็ออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้ นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอให้จุฬาฯ ทบทวนคำสั่งปลดนายกสโมสรนิสิต โดยระบุว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นรูปแบบของเผด็จการ จุฬาฯ ไม่ได้มีผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นแบบจอมพลประภาส จารุเสถียร อีกแล้ว นายกสโมสรนิสิตได้รับเลือกจากนิสิตมากกว่าหมื่นคน มหาวิทยาลัยไม่ควรมีอำนาจในการผูกขาดศีลธรรมแบบเผด็จการเช่นในอดีต

ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า การปลดนายเนติวิทย์ออกจากนายกสโมสรนิสิตถือเป็นการลงโทษที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอ

จะอ้างเรื่องการพูดคำหยาบของผู้มาพูดในงานก็เป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกัน

การลงโทษเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบและเกินกว่าเหตุอย่างมาก

ถ้ามองในเชิงหลักการประชาธิปไตย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่พึงมีอำนาจในการตั้งหรือปลดนายกองค์การฯ เลย เขาได้รับเลือกตั้งมาจากนิสิต จะไปก็ต้องเพราะนิสิตเท่านั้น

ส่วนการทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ถ้าเกิดขึ้นก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย ระเบียบของจุฬาฯ จึงล้าหลังและเป็นอำนาจนิยม

 

แต่ก็มีความเห็นฝั่งที่สนับสนุนคำสั่งของจุฬาฯ อย่างนายเสรี วงษ์มณฑา ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่า การขยับดังกล่าวของผู้บริหารจุฬาฯ ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำและเป็นการกอบกู้เกียรติภูมิของจุฬาฯ เป็นการที่ผู้บริหารแยกแยะความผิดชอบชั่วดีได้

ทั้งยังเรียกร้องไปทางฝั่งธรรมศาสตร์ให้ผู้บริหารควรจะขยับแบบนี้บ้าง รวมถึงมหาวิทยาลัยอีกทั่วประเทศด้วย

เช่นเดียวกับความเห็นของ วิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปปท.) และนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่นที่ 30 จุฬาฯ โพสต์ข้อความ เสนอว่าการใช้คำว่าสั่งปลดนายเนติวิทย์ ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ที่จริงแล้วจุฬาฯ เพียงแค่ตัดคะแนนความประพฤติ ฐานทำผิดวินัยนิสิต ไม่ได้มีคำสั่งปลดแต่อย่างใด

เพียงแต่เมื่อถูกตัดคะแนนก็ทำให้ขาดคุณสมบัติทำให้หลุดจากเก้าอี้เท่านั้น เป็นไปตามระเบียบ

 

หลังจากคำสั่งปลดนายเนติวิทย์ออกมาเป็นข่าวดังทั่วประเทศ เพียง 2 วัน จุฬาฯ ก็จัดเลือกตั้งซ่อมทันที โดยจะมีการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 18 มีนาคมนี้

ทางนายเนติวิทย์ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของตัวเองว่า “กิจการนิสิตปลดผม รัฐประหารเสร็จ ก็หานายกฯ คนใหม่ทันที ไม่รอผลอุทธรณ์เลย ทั้งที่อีกไม่กี่วันก็หมดวาระแล้วด้วย คงอยากจะหานายกฯ ใหม่ที่ถูกใจมาควบคุม อบจ. กลั่นแกล้งและต้องการครอบงำสุดๆ”

ต่อมา 2 มีนาคม ประธานสภานิสิตจุฬาฯ มีคำสั่งแต่งตั้งนายเนติวิทย์ให้เป็นที่ปรึกษาประธานสภานิสิตจุฬาฯ มีผลบังคับใช้ทันที จัดว่าเป็นการแลกหมัดผู้บริหารก็ว่าได้

เรื่องราวการปลดนายเนติวิทย์ลงจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ไม่ใช่เพียงข่าวดังเฉพาะในสังคมไทย

แต่เรื่องราวของเขาเข้าไปอยู่ในเว็บไซต์ข่าวดังระดับโลกอย่าง The Guardian สำนักข่าวใหญ่ของประเทศอังกฤษ เขียนบทความมองว่านี่คือการเชือดไก่ให้ลิงดู

เป็นผลจากการท้าทายพลังอนุรักษนิยมในสังคมไทย บทความดังกล่าวยังเขียนถึงนักเคลื่อนไหวที่เป็นนักศึกษาคนอื่นเช่นเพนกวินอีกด้วย

นอกจากนี้ ปีเตอร์ ซิงเกอร์ นักปรัชญาชาวออสเตรเลียชื่อดังระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านจริยศาสตร์ผู้มีอิทธิพลต่อขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์และปัญหาความยากจนในสังคม เป็นศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในปัญญาชนสาธารณะที่ทรงอิทธิพลที่สุดของออสเตรเลีย ได้ทวีตข้อความถึงนายเนติวิทย์ ระบุว่า

“เนติวิทย์เป็นนักเคลื่อนไหวชาวไทยที่กล้าหาญในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย เขาก่อตั้งและจัดพิมพ์งานแปลหนังสือของผมเป็นภาษาไทยด้วย การหลุดออกจากตำแหน่งในครั้งนี้จะสร้างความเสียหายแก่ชื่อเสียงของจุฬาฯ”

 

สําหรับนายเนติวิทย์แล้ว คอการเมืองไทยรู้จักเขามานาน เขาเคลื่อนไหวตั้งแต่ระดับมัธยม ในประเด็นเรื่องสิทธิต่างๆ รอบตัว ตั้งแต่เรื่องทรงผม หลักสูตรการศึกษา หรือแม้แต่การต่อต้านการเกณฑ์ทหาร

ไม่นับการเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับชาติอีกมาก เขามีบทบาทในระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเชิญโจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวชื่อดังชาวฮ่องกงมาปาฐกถาที่จุฬาฯ

เขาได้รับเชิญให้เป็นองค์ปาฐก ในประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ประเทศนอร์เวย์

เคยได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ มาแล้ว แต่ก็ถูกปลดมาแล้วครั้งหนึ่ง จากการต่อต้านวิธีการหมอบกราบในงานปฐมนิเทศนิสิตใหม่ ต่อมาศาลปกครองสั่งให้จุฬาฯ เพิกถอนคำสั่งตัดคะแนนนายเนติวิทย์ และคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภานิสิต

ว่ากันว่านายเนติวิทย์คือนิสิตจุฬาฯ คนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นทั้งประธานสภานิสิต ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติของนิสิตจุฬาฯ และได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิต หรือฝ่ายบริหาร และถูกปลดลงจากทั้ง 2 ตำแหน่ง

ว่าไปแล้วเรื่องนี้เป็นเพียงความเคลื่อนไหวการลงโทษในระดับมหาวิทยาลัย แต่ปัจจุบันกลายเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมอย่างแยกไม่ออก

เพราะที่สุดแล้วมันคือเรื่องเดียวกันคือประเด็นสิทธิเสรีภาพและการต่อสู้กับวิธีคิดแบบอำนาจนิยม

เรื่องนี้ยังไม่จบแน่ หากการลงโทษถูกมองว่าไม่สมเหตุสมผล ไม่เป็นธรรม จะยิ่งก่อให้เกิดการต่อต้านในมหาวิทยาลัย

แล้วจะค่อยๆ ระเบิดออกมาตามวาระโอกาสต่อไป ต้องจับตา…