ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ
‘อานนท์-เพนกวิน’ ได้ประกัน
กับปรากฏการณ์ระดมทุนช่วย
ไม่ถึง 4 ช.ม.ทะลุ 10 ล้าน
กลุ่มราษฎรยังไม่ตาย?
หลังสูญสิ้นอิสภาพถูกคุมขังในเรือนจำนาน 207 วัน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว นายอานนท์ นำภา ทนายความนักสิทธิมนุษยชน
ทำให้นายอานนท์เป็นแกนนำกลุ่มราษฎรรายสุดท้ายที่ได้รับอิสรภาพกลับคืนแม้จะเป็นห้วงเวลาสั้นๆ เพียง 3 เดือนก็ตาม
การไล่เอาผิดแกนนำราษฎรและแนวร่วมต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับเครือข่ายอำนาจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็เพื่อมุ่งหวังบั่นทอนกำลังผู้ชุมนุมให้อ่อนแรง สลายหายไปในที่สุด
นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นายอานนท์ นำภา น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง น.ส.เบนจา อะปัญ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์
ทั้งหมดถูกจับกุมดำเนินคดีส่งฟ้องต่อศาล ไม่ได้รับการประกันตัวทั้งที่คดียังไม่ได้รับการพิจารณาตัดสินว่ามีความผิด
ทําให้สังคมตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ถูกกล่าวหาคดีการเมือง ซึ่งจำนวนหนึ่งยังเป็นนักศึกษา สมควรได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม
ตลอดเวลากว่าครึ่งปีที่ผ่านมามีความพยายามยื่นประกันขอประกันปล่อยตัวชั่วคราวหลายครั้ง แต่ทุกครั้งได้รับคำตอบเดิมคือไม่อนุญาต
แต่ด้วยความพยายามของครอบครัวและทีมทนายความ ในที่สุดก็ได้รับสัญญาณดีครั้งแรก เมื่อศาลอาญามีคำสั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ให้ประกันปล่อยตัวชั่วคราว “รุ้ง ปนัสยา” ในคดีชุมนุมปักหมุดสนามหลวง 19-20 กันยายน 2563
จากคำร้องของทนายความ ระบุ น.ส.ปนัสยาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 4 ภาคเรียนที่ 1 มีกำหนดสอบปลายภาควันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 16 ธันวาคม 2564
ภาคเรียนที่ 2 ต้องทำวิจัยเพื่อจบการศึกษา ต้องใช้เวลาค้นคว้าเก็บข้อมูลภาคสนาม 1 ภาคเรียน
ศาลอาญาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า น.ส.ปนัสยามีภาระเรื่องการเรียนที่ต้องเสียหายจากการคุมขัง จึงเป็นเหตุที่สามารถได้รับการพิจารณา จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอย่างจำกัด มีผลตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 12 มกราคม 2565
พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรม หรือก่อเหตุกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามออกนอกเคหสถานเวลา 18.00-06.00 น. เว้นแต่มีเหตุจำเป็น ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์
ต่อมาเมื่อครบกำหนดวันที่ 13 มกราคม 2565 ศาลพิเคราะห์ว่า น.ส.ปนัสยาปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยไม่ปรากฏพฤติกรรมทำผิดเงื่อนไข จึงเห็นควรให้ปล่อยตัวชั่วคราวต่อไปถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 โดยมีประกันในวงเงิน 2 แสนบาท
แต่ยังยึดเงื่อนไขปล่อยตัวเดิมที่เคยกำหนด
สําหรับ “เบนจา อะปัญ” ทีมทนายความยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อจาก “รุ้ง ปนัสยา” ในวันที่ 13 มกราคมทันที
ก่อนที่ศาลอาญาจะพิจารณาให้ประกันตัวในคดีละเมิดอำนาจศาลจากเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณบันไดศาลอาญาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564
โดยให้วางเงินประกันจำนวน 50,000 บาท และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขปล่อยตัว
แต่เนื่องจากเบนจามีอีก 2 คดีติดตัว ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 และคดีอ่านแถลงการณ์หน้าตึกซิโนไทย เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564
ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวทั้ง 2 คดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในวันที่ 14 มกราคม 2565 โดยให้เหตุผลสำคัญเพื่อกลับไปศึกษาต่อเช่นเดียวกับรุ้ง ปนัสยา
ศาลพิจารณาให้ประกันปล่อยตัวเบนจาชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2565
กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามทำกิจกรรมที่จะก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ต้องอยู่ในเคหสถานตั้งแต่เวลา 18.00-06.00 น. ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ โดยวางเงินประกัน 100,000 บาท
ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน กับนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ทุกคดีในศาลอาญา ทั้งหมดเป็นคดีมาตรา 112 และคดีการชุมนุม
คำร้องประกันตัวไผ่ ดาวดิน ระบุบิดามารดาประสบอุบัติเหตุจนบาดเจ็บ จึงขอปล่อยชั่วคราวเพื่อไปดูแลบุพการี
ส่วนไมค์ ภาณุพงศ์ ประกอบธุรกิจขายทุเรียนทอด มารดาไม่สามารถแบกภาระดูแลธุรกิจที่เลี้ยงครอบครัวได้ไหว จึงขอประกันเพื่อช่วยดูแลแบ่งเบาภาระมารดา
ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว กําหนดเงื่อนไขห้ามทํากิจกรรมหรือกระทําการใดๆ อาจกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน
ห้ามกระทําการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล ห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย ห้ามออกนอกราชอาณาจักร ห้ามออกนอกเคหสถานช่วงเวลา 18.00-06.00 น. ต้องติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์
แต่ทั้ง 2 คนยังมีหมายขังคดีชุมนุมที่ศาลจังหวัดภูเขียว จ.ชัยภูมิ และศาลอาญากรุงเทพใต้ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดภูเขียวและศาลอาญากรุงเทพใต้
ก่อนที่ทั้งสองจะได้รับการประกันตัวในที่สุด
เมื่อมาถึงจุดนี้ทำให้แกนนำที่ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำเหลือเพียง “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ กับทนายอานนท์ นำภา
ทนายความจึงยื่นขอประกันตัวทั้งสอง ต่อศาลอาญาอีกครั้งเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลอาญา แยกเป็นทนายอานนท์ 9 คดี และเพนกวิน รวม 8 คดี
ศาลอาญาพิจารณาให้ประกันตัวทั้ง 2 คน กำหนดวางหลักประกัน รวมวงเงิน 2,079,000 บาท
แต่ด้วยเงินของ “กองทุนราษฎรประสงค์” กองทุนเพื่อการประกันตัวคดีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง มีไม่เพียงพอ อีกทั้งยังมีคดีในศาลอื่นของทั้ง 2 คนต้องยื่นขอประกันอีก
จึงเกิดปรากฏการณ์ประกาศระดมเงินผ่านกองทุนราษฎรประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับอิสรภาพของเพนกวินและทนายอานนท์
ด้วยพลังมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยได้ช่วยกันบริจาคหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย ผ่านไปไม่ถึง 4 ชั่วโมง ยอดเงินบริจาคโอนเข้าบัญชีกองทุนราษฎรประสงค์ก็ทะลุหลัก 10 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือตัวเลขการบริจาคพบการโอนเงินจำนวน 112 บาท และ 1,112 บาท เป็นจำนวนมาก
ก่อนเพจกองทุนราษฎรประสงค์จะประกาศได้เงินประกันตัวครบแล้ว มากถึง 11,812,983.90 บาท
ทนายความจึงนำเงิน 2,079,000 บาทยื่นต่อศาลอาญา เพื่อประกันตัวทั้ง 2 คนออกมา โดยศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันและศาลในทุกด้าน ห้ามขัดขวางการพิจารณาคดี
ห้ามชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-06.00 น. ห้ามออกนอกประเทศ และให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตาม ทั้งอานนท์-เพนกวินยังมีคำสั่งขังของศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลแขวงพระนครใต้และศาลจังหวัดอยุธยาค้างคาอยู่
ทนายความจึงยื่นคำร้องขอประกันปล่อยตัวชั่วคราวเพิ่มเติม โดยศาลจังหวัดอยุธยาและศาลแขวงพระนครใต้ให้ประกันตัว แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งยกคำร้อง ไม่ให้ประกันทั้ง 2 คน
ในส่วนของทนายอานนท์ ที่ให้เหตุผลในคำร้องว่าจะออกไปประกอบอาชีพทนายความเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ศาลระบุ ยังไม่ใช่เหตุพิเศษที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาล
ส่วนคำร้องของเพนกวิน ศาลมีคำสั่งให้นำเอกสารการเรียนมายื่นเพื่อพิจารณาเพิ่มเติม
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทนายความยื่นขอประกันนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน อีกรอบ พร้อมหนังสือรับรองสถานภาพการศึกษาและเงื่อนไขเสนอต่อศาล
ก่อนศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ประกันปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อออกไปศึกษาภาคเรียนที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึง 24 พฤษภาคม 2565 ตีราคาหลักประกัน 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขลักษณะเดียวกับศาลอาญา
เพนกวินได้รับคืนอิสรภาพหลังถูกคุมขังในเรือนจำนาน 203 วัน
ในวันปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นอกจากนางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดา ยังมีมวลชนแนวร่วมกลุ่มราษฎรมาเฝ้ารอรับจำนวนมาก
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ทนายความยื่นประกันตัวนายอานนท์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้อีกครั้ง
ครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ประกันปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัติลักษณะเดียวกับศาลอาญา
ต่อมา 1 มีนาคม ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวแนวร่วมกลุ่มทะลุแก๊ส 3 คน ตามคำร้องของทนายความ ได้แก่ นายพรพจน์ แจ้งกระจ่าง, นายไพฑูรย์ และนายสุขสันต์ ในคดีถูกกล่าวหาขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ คฝ. ที่แยกดินแดง หลังถูกคุมขังนาน 151 วัน
ส่วนอีก 2 คนที่ยังเหลือ คือ นายทวี เที่ยงวิเศษ หรืออาทิตย์ ทะลุฟ้า กับนายจิตรกร อยู่ระหว่างทีมทนายความพยายามทำเรื่องยื่นขอประกันตัวอีกครั้ง ซึ่งน่าจะมีแนวโน้มที่ดี
“ยืนยันวิถีการต่อสู้ในรูปแบบประชาธิปไตยยังดำเนินต่อไป แต่จะพยายามอยู่ภายใต้เงื่อนไขศาลที่กำหนด” ทนายอานนท์ นำภา กล่าวภายหลังได้รับอิสรภาพคืนมาเป็นการชั่วคราว
ขณะที่เพนกวินกล่าวขอบคุณทุกคนที่สนับสนุน เป็นกำลังใจให้ตลอดเวลาที่ถูกจองจำนานกว่า 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาอันขมขื่น ขอบคุณทุกการระดมทุนช่วยและเสียสละเงินหลักร้อยหลักพันจนได้เป็นหลายล้านบาท
แสดงให้เห็นว่ากลุ่มราษฎรยังไม่ตาย