เปิดหู | 4’33” เพลงที่เรียบง่ายที่สุดในโลก ของ John Cage

อัษฎา อาทรไผท

ในช่วงที่มีแต่เหตุการณ์วุ่นวายมากมาย ทั้งระดับโลกมาจนถึงระดับประเทศ ที่ส่งผลกระทบลามปามมาถึงระดับตำบล การได้ฟังเพลงที่เรียบง่ายสักเพลง อาจช่วยปลอบประโลมหัวใจ พาให้คลายกังวลกันได้บ้าง แต่เพลงที่เรียบง่ายที่สุดในโลกที่ผมกำลังจะเล่าถึงนี้ ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหากคุณได้ฟัง จะรู้สึกอย่างไร

 

 

 

เนื้อที่ที่เว้นว่างไว้ไม่ใช่เรื่องผิดพลาด แต่เป็นความตั้งใจของผมเอง ที่จะให้เราได้สัมผัสความรู้สึกคล้ายๆ เวลาที่ได้ฟังเพลง 4’33’’ ของ John Cage ที่ผมยกให้เป็นเพลงที่เรียบง่ายที่สุดในโลก!

ถูกต้องแล้วครับ ตลอดความยาวสี่นาที สามสิบสามวินาทีของเพลงที่ชื่อเดียวกับความยาวของมันนี้ ไม่มีเสียงเครื่องดนตรีใดๆ ให้ได้ยินเลยสักนิด เพราะเมื่อปี ค.ศ. 1952 นักประพันธ์เพลงแนวทดลองชาวอเมริกันนามว่า John Cage ได้ตั้งใจประพันธ์เพลงนี้ขึ้นมา โดยมีทั้งหมด 3 ท่อน ทุกท่อนแม้มีการกำหนดความเร็วในการเล่น (tempo) แต่โน๊ตเพลงกำหนดให้ทุกเครื่องดนตรีเงียบสนิททั้งเพลง

หลายคนอาจจะมีความสงสัยว่านี่คือการเล่นตลกหรืออะไร แต่สำหรับ Cage แล้วนี่คือความตั้งใจอันแรงกล้าของเขา เพื่อให้เราได้สัมผัสสิ่งที่เราไม่เคยใส่ใจจะสัมผัส

Cage ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเมื่อครั้งที่เขาได้เข้าไปเยือนห้องที่เงียบที่สุดในโลกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาด ห้องนั้นเงียบมากเสียจนเขาได้ยินเพียงเสียงต่ำจากการไหลเวียนของเลือด และเสียงสูงการทำงานของระบบประสาทของเขา ทำให้เขาพบว่าไม่ว่ามันจะเงียบแค่ไหน ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ เสียงจะยังคงมีอยู่เสมอ

อีกหนึ่งแรงบันดาลใจในการทำเพลง 4’33’’ นี้ มาจากภาพวาดของเพื่อนจิตกรของเขา Robert Rauschenberg ที่วาดภาพออกมาเป็นสีขาวทั้งภาพ แต่ภาพจะเปลี่ยนสีไปตามห้องและแสงที่มันแสดงอยู่ รวมทั้งเงาของผู้คนที่ตกกระทบลงบนภาพขาวโพลนนั้น ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา นี่คือไอเดียที่ Cage ต้องการจะทำให้เกิดขึ้นกับดนตรีด้วย

เมื่อ Cage เปิดการแสดงบทเพลงนี้เป็นครั้งแรก ณ. Maverick Concert Hall เมือง Woodstock มลรัฐ New York ในปี ค.ศ. 1952 ผู้ที่มาชมคอนเสิร์ตจะเห็นเขาเดินมาเปิดฝาเปียโนแล้วนั่งเฉยๆ ตามด้วยความเงียบ จากนั้นก็ปิดมันลง ก่อนจะเปิดออกมาอีกครั้งเมื่อเริ่มท่อนต่อไป จนครบ 3 ท่อน

ผู้มาชมนั่งนิ่งตามมารยาทการชมคอนเสิร์ตเป็นเวลา 4 นาที 33 วินาที และเกิดความงุนงงว่าที่ผ่านมานั้นคืออะไรกัน

คำเฉลยของ Cage ก็คือ เพลงนี้องค์ประกอบคือสรรพเสียงของบรรยากาศรอบๆ ตัวผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นเสียงขยับตัว กระแอมไอ กระซิบกระซาบ ขยับเก้าอี้ หรือแม้กระทั่งเสียงอากาศ ลม และเม็ดฝนที่ตกลงมากระทบหลังคาระหว่างการแสดง ทุกเสียงล้วนรวมกันเป็นเพลง 4’33’’ เพลงที่ทุกสรรพสิ่งเป็นผู้บรรเลง และเล่นกี่ครั้งก็ไม่ซ้ำกัน ซึ่งผมคิดว่าเพลงนี้ไม่มีวันเก่า เพราะเล่นเมื่อไหร่เราจะได้ยินเสียงของปัจจุบันทุกครั้งไป

สำหรับเพลง 4’33’’ นี้ มีให้ฟังกันหลายทาง สามารถหาฟังได้ทั้งใน YouTube หรือตามสตรีมมิ่งต่างๆ คุณจะพบกับความเงียบที่จริงๆ มันไม่ได้เงียบอย่างที่คิด

เมื่อผมได้ฟังครั้งล่าสุด ผมได้ยินเสียงเครื่องปรับอากาศในห้องนั่งเล่นของผม เสียงเจ้าหมากัดแทะกระดูกปลอม เสียงลูกชายหัวเราะสนุกสนานแว่วมาจากห้องของเขา และเสียงภรรยากำลังจัดของในครัว มันคือเสียงแห่งปัจจุบันของผม เสียงลมกระทบหน้าต่างเบาๆ และเสียงลมหายใจของผมเอง

ท้ายที่สุดแล้วในความเงียบ มันก็ไม่ได้เงียบสักเท่าไหร่ และหากเราจะตั้งใจฟังมันสัก 4’33’’ นาที เราอาจจะได้ยินความสวยงามของสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ในรูปแบบที่เราไม่เคยสนใจจะฟังมันก็ได้ ผมอยากให้คุณได้ลองฟังเพลงนี้ แล้วตั้งใจฟังมันจริงๆ บางทีคุณอาจจะเพลิดเพลินจนลืมความวุ่นวายเหมือนผมก็ได้