เกียรติของผู้นำ/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

เกียรติของผู้นำ

 

จริงทีเดียวว่า

“ความเชื่อมั่นและเคารพในตัวเองเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่จำเป็นต่อการอยู่รอด… แต่ลักษณะนิสัยดังกล่าวจะไม่เป็นคุณงามความดีอีกต่อไป เมื่อถึงจุดที่เราสำคัญตนว่า อยู่เหนือผู้อื่น อยู่เหนือคำตำหนิและการเรียนรู้ เป็นภาวะที่รู้สึกว่าต้องคุยหรือโอ่ตลอดเวลา”

(จากหนังสือ Everyday Greatness ของสตีเฟ่น อาร์. โควีย์ – วัฒนา มานะวิบูลย์ แปล)

กับดักที่น่ากลัวของคนเรา คือตัวเราเอง

ที่ “กร่าง” ก็เพื่ออำพรางร่องรอยบางประการซึ่งซ่อนเร้นอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ

“อ่อนแอ” จึงไม่อาจอ่อนน้อม

กีฬาเป็นกิจกรรมที่สอนให้คนเราเคารพกติกา ไม่ใช้วิธีการฉ้อฉลปล้นชิงชัยชนะ

ดังนั้น ในแง่ของเกมกีฬาไม่ว่า “แพ้” หรือ “ชนะ” ผู้ร่วมแข่งขันในเกมทุกคนล้วนมี “เกียรติ” เสมอกัน

ถ้าแพ้ก็มีเกียรติ ชนะก็มีเกียรติ เช่นนั้นแล้ว “เกียรติ” คืออะไรกันแน่

 

คนแยกตัวเองออกจากสัตว์พร้อมกับยกตัวขึ้นสูงเรียกตัวว่าสัตว์ประเสริฐแล้วยังไม่พอ คนยังแยกคนกับคน จนเกิดเป็นลำดับชั้น เป็นคนสูงคนต่ำ มีเกียรติไม่เท่ากัน

ทุกสังคมจะมีคนจำนวนหนึ่งที่แม้จะมาจาก “ที่ต่ำ” แต่เมื่อได้เข้ารับการศึกษาใน “สถาบันชั้นสูง” ผ่านการฝึกฝนอบรมจนซึมซับระเบียบวิธีปฏิบัติและจริยศาสตร์ชนชั้นสูงคนเหล่านั้นก็มักจะหลงลืม ยกตนขึ้นสูงกว่าผู้อื่น

เช่นเดียวกับคำพูดที่ว่า มีคนชนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ไม่ต้องการความเท่าเทียม ไม่อยากให้ชนชั้นล่างขึ้นมาเทียบชั้น แต่ตัวเองกลับตะเกียกตะกายอยากขึ้นไปเป็น “ชนชั้นสูง”

จากนั้นก็เอาความสูงต่ำไปผูกไว้กับสถานะทางสังคม หรือยศศักดิ์

สถานะสูง = คนดี คนสูง ถูกตีความว่า เป็นคุณ

สถานะต่ำ = คนไม่ดี คนต่ำ ถูกตีความว่า เป็นโทษ

คนมีอำนาจมียศศักดิ์มีสถานะสูงถูกนับว่ามีศักดิ์ศรี มีเกียรติ

ส่วนคนที่ไม่มีอำนาจ สถานะต่ำกว่า ไม่มีดีให้นับ ไม่มีเกียรติศักดิ์ศรีเพียงพอที่จะส่งเสียง ไม่มีสิทธิที่จะตรวจสอบหรือทวงถามการกระทำของคนที่สูงกว่า

จึงได้มีคำพูดที่สะท้อนถึง “สถานะทางสังคม” ของผู้เหนือกว่า เช่นว่า “อย่าให้พระรามต้องแผลงศรบ่อยๆ นะ”

นั่นคือสัญญาณเตือนจากคนที่มีอำนาจมากกว่า หรือคนที่มีความมั่นใจว่ามีพวกมากกว่าและแน่กว่า สามารถจะแผลงศรได้บ่อยๆ ตามแต่ใจจะต้องการ

เพียงแต่ขณะนี้กำลังข่มอารมณ์หงุดหงิดรำคาญเอาไว้

เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ยังได้เกิดขึ้นที่งาน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนครั้งที่ 1 ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปเป็นประธานพิธีเปิดงาน แต่จู่ๆ ตู่ก็น็อตหลุดมีอารมณ์ฉุนเฉียวและส่งเสียงอันดังขึ้นว่า “สิ่งที่ผมต้องพูดเสียบ้าง ถึงแม้ว่าใครจะให้เกียรติหรือไม่ให้เกียรติ ผมไม่ชอบคำพูดว่าโว อะไรที่ดีก็ชี้แจงออกมา แต่หาโว แล้วโวคืออะไร คือขี้โม้ขี้คุยหรือไง เขาพูดเขาชี้แจงก็ฟังเสียงบ้าง ไม่เคยมีประเทศไหนที่สื่อไม่ให้เกียรติผู้นำอย่างประเทศนี้”

เล่นเอางงกันไปตามๆ กัน

ถ้าจะคิดกลับกันล่ะ

มี “ผู้นำประเทศ” ที่ไหนบ้างที่ “ฉวยจังหวะ” เอางานที่ควรพูดเพื่อประชาชนซึ่งประสบทุกข์ได้ยากจากหนี้สิน มาเป็น “โอกาส” ทิ้งระเบิดลงบนหัวผู้สื่อข่าวสำนักต่างๆ

ประยุทธ์มีอะไรฝังใจกับสื่อนักหรือ

เหตุใดจึงรู้สึกว่าไม่ได้รับ “เกียรติ”!

 

เดิมทีเดียว ประยุทธ์ไม่ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” เป็นแต่เพียง “ผู้นำกองทัพบก” ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ขุมกำลัง ถ้าจะ “ไม่มีวิสัยทัศน์” ในด้านการบริหารปกครองบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม ระบบยุติธรรม การเคารพการละเมิดกฎหมาย การทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และอื่นๆ ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

แค่ให้มีวิสัยทัศน์ด้านการทหารก็เพียงพอสำหรับการเป็น “ผู้นำทหารบก”

แต่เมื่อ “ประยุทธ์” กับพวกก่อรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 สถานะของ “ประยุทธ์” เปลี่ยนไป

“ประยุทธ์” ในฐานะ “ผู้นำฝ่ายบริหาร” ย่อมถูกคาดหวังและจับตาอย่างใกล้ชิด

ในสังคมเสรีประชาธิปไตยเป็นความปกติที่สื่อมวลชนจะต้องทำหน้าที่ติดตาม ถามไถ่ขอคำตอบจากการทำหน้าที่ของผู้นำประเทศ

ประยุทธ์กับพวกผูกปมกันขึ้นมาเองเช่นเดียวกับในยุค จปร.5 เรืองอำนาจ ที่ “สุจินดา คราประยูร” กับพวกผูกปมขึ้นด้วยการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล “น้าชาติ” แล้วเล่นละครให้มีการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 ขึ้น ปั้น “สามัคคีธรรม” ขึ้นมาพร้อมกับผนวกบวกบังคับพรรคการเมืองต่างๆ จนได้ 195 เสียง

เปิดหน้าออกมาก็คือต้องการให้ “สุจินดา” เป็น “นายกรัฐมนตรี”

“สุจินดา” ผู้เปล่งวาทะ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ต่างตรงไหนกับ “ประยุทธ์” เจ้าของวาทะ “ขอเวลาอีกไม่นาน” เพราะผลลัพธ์ก็คือ การอยู่ต่อเหมือนกัน!

เมื่ออยู่ต่อและเป็น “ผู้นำ” คุณก็ต้องมีคำอธิบายให้สังคมเชื่อได้ว่า ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของ “ผู้นำทหาร” หากแต่เป็น “ผู้นำประเทศ” ที่ตั้งใจและวางแผนจะอยู่ยาว เป็นผู้มีมุมมองหรือมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สามารถนำพาประเทศไปในทิศทางที่มีความหวัง ไม่ใช่จนตรอก ตกอับ จนถ้วนหน้า เสื่อมทรามในทุกด้าน

คำถามจากสื่อไม่ควรจะถูกตีความว่าเป็น “คำต้อน”

คำถามจากสื่อมวลชนไม่สามารถคุกคามข่มขู่ได้เฉกเช่นกระบอกปืนหรือรถถัง

เหตุที่ถามก็เพื่อต้องการคำตอบ

ทุกข์สุขของประชาชน คือผลประกอบการของประเทศ “วิสัยทัศน์” ของผู้นำจึงมีความสำคัญมาก

กล่าวอย่างกำปั้นทุบดิน คำว่า ผู้นำ คือ การนำ ผู้นำไม่อาจป่วย ไม่อาจด้อยทั้ง “ไอคิว” และ “อีคิว”

“ผู้นำ” จะต้องมีความพร้อมทั้งความรู้ความสามารถ มีปัญญาเดินนำไปข้างหน้า!?!!