คาด ศก.ไทยกระทบหนัก จากสงครามของ ‘ปูติน’/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

คาด ศก.ไทยกระทบหนัก

จากสงครามของ ‘ปูติน’

 

สงครามบุกยึดยูเครนของวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก ทำให้ความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจที่กำลังส่อเค้าจะฟื้นตัวเมื่อวิกฤตโควิดเริ่มสร่างซาลง พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง

การสู้รบที่ยูเครนส่งผลกระทบไปทั่วโลก ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า รัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่ครองสัดส่วนน้ำมันดิบในตลาดโลกถึง 10 เปอร์เซ็นต์

ในภาวะที่ซัพพลายน้ำมันตึงตัวอยู่ก่อนแล้ว การขาดหายไปของน้ำมันดิบมากถึงขนาดนั้น ไม่ยากที่จะส่งผลให้ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นและจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความยืดยาวของความขัดแย้ง

ในเวลาเดียวกัน รัสเซียกับยูเครนเป็นชาติผู้ผลิตสินค้าอาหารสำคัญของโลก ทั้งสองประเทศรวมกันแล้วส่งออกข้าวสาลีคิดเป็นสัดส่วนถึง 29 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณข้าวสาลีที่ส่งออกทั่วโลก, ส่งออกน้ำมันเมล็ดทานตะวันรวมกันสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของโลก และยังส่งออกข้าวโพดรวมกันมากถึง 19 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการส่งออกข้าวโพดทั้งโลก และยังเป็น 1 ใน 5 ผู้ส่งออกข้าวบาร์เลย์สูงสุดของโลกอีกด้วย

ผลที่ทุกคนสามารถคาดคิดได้ก็คือ ราคาอาหารและพลังงานทั่วโลกจะถีบตัวสูงขึ้นตามมา

แล้วก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ทีมนักเศรษฐศาสตร์ประจำ โนมูระ โฮลดิ้งส์ ที่จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบของสงคราม เผยแพร่เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เชื่อว่าจะส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียอย่างหนัก

โดยมี 3 ประเทศคือ อินเดีย ไทย และฟิลิปปินส์ จะได้รับผลกระทบสาหัสที่สุด

 

“แม้ว่าความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับยูเครนในเวลานี้สามารถส่งสร้างความเสียหายให้กับภาคพื้นเอเชียได้หลายช่องทาง อาทิ สภาวะตึงตัวทางการเงินโลก, ความไม่แน่นอนที่ยกระดับสูงขึ้น และความเสี่ยงที่จะทำให้ดีมานด์ทั่วโลกลดลง แต่การที่สงครามทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นหนทางสำคัญที่สุดที่ความขัดแย้งนี้สร้างผลกระทบต่อเอเชีย” รายงานของโนมูระระบุ

รายงานของโนมูระชี้ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นทะลุระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของความเสี่ยงที่ว่านี้

นอกจากนั้น ราคาสินค้าในหมวดอาหารก็ถีบตัวสูงขึ้นตามไปแล้วด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตข้าวสาลีและข้าวโพดอย่างที่รู้กัน แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาน้ำมันแพงขึ้น ทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้น ต้นทุนของอาหารสัตว์และปุ๋ยก็เพิ่มขึ้นตามมา เช่นเดียวกับต้นทุนของเชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นเชื้อเพลิงทดแทน

“ผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามหนนี้ จะส่งผลลึกซึ้งมากในเอเชีย ซึ่งประเทศส่วนใหญ่เป็นชาติผู้นำเข้าน้ำมัน พร้อมกันนั้น การบริโภคอาหารและพลังงาน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงราวครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการบริโภคในตลาดเศรษฐกิจใหม่ทั้งหลาย” โนมูระชี้

“ในเอเชีย ประเทศอินเดีย ไทย และฟิลิปปินส์ คือประเทศที่จะได้รับผลกระทบสูงสุด ในขณะที่อินโดนีเซียอาจได้รับผลประโยชน์เล็กน้อยจากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น”

 

โนมูระเชื่อว่า ผลของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนในครั้งนี้ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในประเทศไทย ที่ราคาอาหารและพลังงานคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 52.7 เปอร์เซ็นต์ของดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ที่ใช้ในการชี้วัดอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่ในอินเดีย สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 45.9 เปอร์เซ็นต์ และฟิลิปปินส์อยู่ที่ 43.3 เปอร์เซ็นต์

รายงานของโนมูระยังบอกไว้ด้วยว่า เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ในเอเชียยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เงินออมของพวกเขาเหล่านี้ลดน้อยลง ดังนั้น ภาวะเงินเฟ้อจึงสามารถทำให้กำลังซื้อจริงๆ ของผู้บริโภคเหล่านี้หดตัวลงมากขึ้นไปอีก ทำให้การฟื้นตัวของการบริโภคอ่อนแอลง

ย้ำไว้ด้วยว่า ผลกระทบจากการหดตัวของค่าเงินในกระเป๋าที่ว่านี้ จะรู้สึกรุนแรงเป็นพิเศษในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำทั้งหลาย

“เรายังเห็นว่า เป็นไปได้ที่สถานการณ์จะส่งผลทำให้ผลกำไรของบริษัทธุรกิจลดน้อยลง เมื่อภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดถูกถ่ายทอดต่อไปยังผู้บริโภค” ซึ่งหมายถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะหดตัวลงตามไปด้วย

“ราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 เปอร์เซ็นต์ จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อาจอ่อนตัวลงได้ 0.2 จุดเปอร์เซ็นต์ ในอินเดีย และ 0.1 จุดเปอร์เซ็นต์ ในไทยและฟิลิปปินส์” โนมูระสรุปในที่สุด

นี่คือผลจากสงครามในดินแดนไกลโพ้น แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นไกลแค่ไหน สงครามก็ยังเป็นสงครามที่ทำร้ายทุกคนทุกฝ่ายอยู่ดีนั่นเอง