‘สวิฟต์’ คืออะไร? ทำไมถูกใช้กดดันรัสเซีย/บทความต่างประเทศ

Swift logo is pictured with EU and Russian flags in this illustration picture taken February 26, 2022. REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

บทความต่างประเทศ

 

‘สวิฟต์’ คืออะไร?

ทำไมถูกใช้กดดันรัสเซีย

 

รัสเซียเผชิญกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตกอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดปฏิบัติการทางทหารในประเทศยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดก็คือ การประกาศตัดรัสเซียออกจากระบบ “สวิฟต์” ที่ถูกอธิบายว่าเป็นระบบส่งข้อความทางการเงินของโลก ที่จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจรัสเซียอย่างหนัก

และไม่เฉพาะแต่รัสเซียเท่านั้น แต่หลายฝ่ายก็กังวลว่าอาจส่งผลกระทบกับการค้าการลงทุนในระดับโลกด้วย

 

ระบบสมาคมธุรกิจโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก หรือ “สวิฟต์” (SWIFT) ย่อมาจาก Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication เป็น “ระบบส่งข้อความ” เพื่อยืนยันการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1973 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศเบลเยียม

อย่างไรก็ตาม สวิฟต์ไม่ใช่ธนาคารแบบที่เราคุ้นเคย แต่เป็น “ระบบส่งข้อความโต้ตอบแบบเรียลไทม์” เพื่อแจ้งให้แต่ละธนาคารทราบเมื่อมีการนำส่งและชำระเงิน โดยเงินนั้นจะถูกโอนผ่านบัญชีผ่านธนาคารหลายแห่งก่อนที่จะถูกโอนไปยังธนาคารปลายทาง

ซึ่งจุดนี้ สวิฟต์จะทำหน้าที่แจ้งข้อความไปยังแต่ละธนาคารให้ทราบว่าจะต้องโอนเงินไปยังบัญชีใดต่อไป

ระบบสวิฟต์ดำเนินการโดยธนาคารสมาชิก เชื่อมโยงกับธนาคารและสถาบันการเงินกว่า 11,000 แห่งในกว่า 200 ประเทศและดินแดนทั่วโลก

มีความสามารถส่งข้อความมากกว่า 40 ล้านข้อความต่อวัน รองรับการทำธุรกรรมทางการเงินจำนวนหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งระหว่างภาคธุรกิจและระหว่างรัฐบาลแต่ละประเทศ

 

รัสเซียนับเป็นประเทศล่าสุดที่จะถูกตัดจากระบบสวิฟต์ หลังจากอิหร่านและเกาหลีเหนือ ซึ่งถูกตัดออกจากระบบดังกล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ จากการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกกับทั้งสองชาติเช่นกัน

การตัดรัสเซียออกจากระบบสวิฟต์ จะส่งผลกระทบกับ “ระบบการเงินระหว่างประเทศ” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงการค้า การลงทุนจากต่างชาติ การชำระเงินสินค้านำเข้า การรับชำระสินค้าส่งออก รวมไปถึงการบริหารจัดการเศรษฐกิจของธนาคารกลางของประเทศ

การตัดรัสเซียออกจากสวิฟต์ จะส่งผลกระทบกับสหภาพยุโรป (อียู) ด้วยเนื่องจากอียูนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังจะส่งผลกระทบกับธนาคารในชาติตะวันตกที่เป็นเจ้าหนี้กับลูกหนี้ในรัสเซีย

ซึ่งนั่นหมายความว่าทำให้การเรียกเก็บเงินค้างชำระนั้นทำได้ยากมากยิ่งขึ้น

จากข้อมูลระบุว่า มีลูกหนี้ในรัสเซียเป็นหนี้ธนาคารชาติตะวันตกคิดเป็นมูลค่าราว 121,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.9 ล้านล้านบาท

ในจำนวนนี้ยอดหนี้ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 4.5 แสนล้านบาท เป็นหนี้ของธนาคารในสหรัฐอเมริกา

ขณะที่ยอดหนี้มูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีก 2 ก้อน เป็นของธนาคารในอิตาลี และฝรั่งเศส

คำถามที่ตามมาก็คือ หากรัสเซียถูกตัดออกจากระบบ “สวิฟต์” แล้วรัสเซียจะทำอย่างไรต่อไป?

 

ฟิตช์เรตติง สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกออกมาเปิดเผยว่า ธนาคารในรัสเซียจะสามารถหันไปใช้ระบบส่งข้อความอย่าง “เทเลกซ์” (Telex) แม้จะมีประสิทธิภาพด้อยกว่าและมีราคาแพงกว่าก็ตาม นอกจากนี้ รัสเซียเองก็พัฒนาระบบชำระเงินของตัวเองเอาไว้แล้วด้วยเช่นกัน ขณะที่จีนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับรัสเซีย เนื่องจากจีนก็พัฒนาระบบชำระเงินของตัวเองด้วย

แน่นอนว่ามีหลายประเทศที่คัดค้านการตัดรัสเซียออกจากระบบสวิฟต์ เนื่องจากหลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าจะส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจตามกันไปเป็นลูกโซ่ ไม่เฉพาะกับภูมิภาคยุโรป ซึ่งมีมูลค่าการค้าและพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นจำนวนมาก

แต่จะส่งผลกระทบกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกเองด้วย

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมองว่าการใช้สวิฟต์มาเป็นเครื่องมือในการลงโทษรัสเซีย จะส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ถูกใช้ในระบบการเงินโลกถูกลดความสำคัญลง

เนื่องจากเป็นการเปิดทางให้ระบบทางเลือกอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก “สวิฟต์” ที่รัสเซีย รวมถึงจีนพัฒนาอยู่ได้เติบโตมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้อำนาจต่อรองด้วยเครื่องมือคว่ำบาตรของมหาอำนาจตะวันตกลดความน่ากลัวลงด้วย หากรัสเซียสามารถหาทางออกได้

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือมาตรการการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ที่จับมือกันทำพร้อมๆ กันส่งผลกระทบใหญ่หลวงกับรัสเซียโดยตรง และหนักหนาแบบไม่เคยมีมาก่อน

เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการคว่ำบาตรทางการค้า หรือคว่ำบาตรทางการเงินเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

แต่เป็นการทำให้รัสเซียไม่สามารถทำการค้าขายกับประเทศต่างๆ และโอนเงินระหว่างธนาคารรัสเซียกับธนาคารของชาติอื่นๆ ได้เลย

ยิ่งกว่านั้น มาตรการที่สำคัญอีกอย่างที่ชาติตะวันตกทำไปคู่กันก็คือการ “อายัด” บัญชีเงินสกุลต่างประเทศที่เป็นบัญชีเงินสำรองของธนาคารกลางรัสเซีย เป็นการทุบค่าเงิน หรือทำให้เงินสกุลรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลงทันทีเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ในวันเดียว

แม้ว่ารัฐบาลรัสเซียจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยจาก 9 เปอร์เซ็นต์ เป็น 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ประชาชนยังคงแห่กันไปถอนเงินออกจากธนาคารเป็นจำนวนมากเนื่องจากหมดความเชื่อถือในเงินสกุลรูเบิลไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลกระทบกับระบบการเงินภายในประเทศอย่างหนัก

ยิ่งกว่านั้น การอายัดบัญชีบรรดามหาเศรษฐีชาวรัสเซียที่ไปเปิดไว้ในต่างประเทศก็สร้างปัญหาให้กับบรรดาคนใกล้ชิดกับผู้นำรัสเซีย ที่เป็นไปได้ว่าเปิดบัญชีเอาไว้ในกรณีที่ระบบการเงินในประเทศล่มสลาย ซึ่งแน่นอนว่าบุคคลเหล่านี้ก็จะเป็นฝ่ายไปกดดันผู้นำรัสเซียอีกทางหนึ่ง

และที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่มีต่อรัสเซีย ซึ่งก็น่าคิดว่า รัสเซียจะหาทางออกจากปัญหานี้อย่างไร และมาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของรัสเซียมากน้อยเพียงใด

จะกดดันให้รัสเซียลดความแข็งกร้าวลงได้หรือไม่ ต้องติดตาม