“เคาะ” เลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร-เมืองพัทยา/ลึกแต่ไม่ลับ จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

 

“เคาะ” เลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร-เมืองพัทยา

 

อั้นไม่อยู่แล้ว รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แสดงท่าทีชัดเจน จะด้วยเจตนาใด เข้าใจในระบอบประชาธิปไตย ต้านกระแสเรียกร้องต่อไปไม่ไหว คนเมืองต้องการ หรือเหตุอื่นใดก็แล้วแต่

แต่สุดท้าย จะกำหนดให้มีการเลือกตั้ง “กรุงเทพมหานคร-เมืองพัทยา” ที่ “ค้างท่อ” อยู่อีก 2 แห่ง ภายในเดือนพฤษภาคม 2565 แน่นอนแล้ว

ซึ่งคณะทำงาน 2 หน่วยงาน คือ “กระทรวงมหาดไทย” กับ “สำนักงาน กกต.” จะทำการประชุมร่วมเพื่อวางกรอบเวลาในการจัดการเลือกตั้งด้วยกัน จากนั้นจะนำผลสรุป เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการประสานงาน และสนับสนุนการเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย

ก๊อกสุดท้าย นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในลำดับถัดไป คาดหมายกันว่า วันอังคารที่ 8 มีนาคม หากไม่มีเหตุขัดข้องทางเทคนิค “ครม.ตู่” จะนำเรื่องเข้าที่ประชุม “เคาะ” เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร-สมาชิกสภา กทม. หรือ ส.ก.-นายกเมืองพัทยา-สมาชิกเมืองพัทยา

ส่วนโปรแกรมเลือกตั้ง ถ้าไทม์ไลน์ตามนี้ น่าจะได้ข้อสรุปเป็นวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม หรือวันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม 2565 วันหนึ่งวันใด

ในส่วนของ “กรุงเทพมหานคร” จะใช้เขต กทม.เป็นเกณฑ์เลือกตั้ง ตำแหน่ง จะประกอบด้วย “ผู้ว่าฯ กทม.” 1 คน สมาชิกสภา กทม.จำนวน 50 คนจาก 50 เขตที่มีอยู่

ย้อนตำนานการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.ครั้งสุดท้าย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2556 จะ 10 ปีอยู่หลัดๆ ที่ประชาธิปไตยทางตรงของประชาชนพลเมือง ซึ่งคนกรุงที่ได้ชื่อว่าตื่นตัวมากที่สุด พัฒนาสูงสุด มีมติทางความคิดที่เป็นสากลมากที่สุด

แต่กลับไม่ได้มาใช้สิทธิออกเสียงกำหนดชะตากรรมของตัวเอง ยอมเป็นเต่าตาบอด หมอบราบคาบมายาวนาน

ย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งล่าสุด ที่ “คน กทม.” ได้ออกมากำหนดกติการ่วมกัน ผลปรากฏว่า “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ที่ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์เข้าวิน ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.เป็นคำรบที่ 2

ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของ กทม. คือ 1,256,349 คะแนน ขณะที่อันดับ 2 ได้แก่ “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ” จากพรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมากถึง 1,077,899 คะแนน นับว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งสุดท้าย “คนกรุง” ออกมาใช้สิทธิมากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมาจำนวน 9 ครั้ง

แม้ว่า “คุณชายหมู” จะชนะเลือกตั้ง ได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 แต่ “อยู่ไม่ครบเทอม” สะดุดวิบากกรรม ถูกเด้งออกจากเก้าอี้เสาชิงช้ากลางกระดาน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แห่ง “มาตรา 44” แต่งตั้ง “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” เป็นผู้ว่าฯ กทม.แทนมาตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2559 “รากงอก” มามากกว่า 1 เทอม คือ 4 ปีกว่าแล้ว

สำหรับผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากกระบวนการเลือกตั้ง “ประชาธิปัตย์” เป็น “ขวัญใจชาวกรุง” ผู้สมัครของพรรคได้รับเลือกตั้งมามากที่สุด เริ่มจาก “นายธรรมนูญ เทียนเงิน” ตามด้วย “ดร.พิจิตต รัตตกุล” ต่อด้วย “นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน” 2 สมัย และ “คุณชายหมู-ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” อีก 2 สมัย

 

ขณะที่ศึกชิงเบอร์ 1 เก้าอี้เสาชิงช้า ที่เชื่อกันว่า จะระเบิดเถิดเทิงขึ้นในเดือนพฤษภาคม มีเปิดตัวนำร่องเอาแน่ ยิ่งกว่าแช่แป้งแล้ว 4 คนด้วยกัน ประกอบด้วย 1. “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ลงในนามอิสระ 2. “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ 3. “นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร” พรรคก้าวไกล และ 4. “นางรสนา โตสิตระกูล” อิสระ

คาดว่าในเดือนนี้ หลังคณะรัฐมนตรี “เคาะ” วันเลือกตั้ง จะต้องมีผู้แสดงความประสงค์ ประกาศลงชิงชัยเพิ่ม หนึ่งในจำนวนนั้นน่าจะมีชื่อ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ กทม.แต่งตั้ง ส่วนจะลงสมัครในนามพรรคการเมืองใด หรืออิสระ ต้องรอดูความชัดเจนอีกรอบ

กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ทุกสำนักโพล ได้เผยผลสำรวจกระแสนิยมชาว กทม. ปรากฏว่า “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” นำม้วนเดียวจบมาตลอดทาง ล่าสุด “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สำรวจหัวข้อเดิม “อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 10”

สุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก ปรากฏว่า “ชัชชาติ” เข้านำโด่ง ร้อยละ 37.24 อันดับ 2 “พล.ต.อ.อัศวิน” ร้อยละ 12.9 อันดับ 3 “นายสุชัชวีร์” ร้อยละ 11.03 อันดับ 5 “นายวิโรจน์” ร้อยละ 8.08 อันดับ 8 “นางรสนา” ร้อยละ 3.55 ซึ่งไม่ต่างไปจากการสำรวจครั้งที่ 8 และ 9 สักเท่าไหร่นัก “นายชัชชาติ” นอนมาตลอด

ตัวเลขร้อยละอาจจะแกว่งอยู่บ้าง แต่ไม่มากนักระดับ 2-3 เปอร์เซ็นต์ และดูแนวโน้มโดยทั่วไปแล้ว “กระแส ดร.ทริป” ยังไม่ตก เนื่องจากเจ้าตัวตัดสินใจประกาศ แยกวงออกจากต้นสังกัดเดิมคือเพื่อไทย ที่เป็นผู้เสนอเป็นบัญชีชื่อนายกรัฐมนตรี มาลงสมัครในนามอิสระ เลยทำให้แปรสภาพเป็น “จุดแข็ง”

ได้แต้มไปกลับทั้ง “คนเลือกข้าง-เกลียดชังสี “สนับสนุนแบบไม่คิดอะไรมาก

อย่างไรก็ตาม หัสเดิม ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ประเมินกันว่า บุคคลที่จะเป็น “ก้างขวางคอ” ชิ้นเขื่องให้กับผู้ชายที่แกร่งที่สุดในปฐพี น่าจะเป็น “พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” อดีต ผบ.ตร. ที่อุตส่าห์แต่งตัวหล่อ หลังเกษียณออกจากจอมยุทธ์สีกากี สุ่มตั้งทีมหาเสียง ตั้งลำมาก่อนล่วงหน้ามาเต็มรูปแบบ

ถึงขนาดมีที่ทำการพรรค ขึ้นป้ายหาเสียง จัดทีมผู้สมัครสมาชิกสภา กทม.ไว้ทุกเขตเรียบร้อย

โดยเบื้องต้น จะลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ แต่เกิดเหยียบตาปลากับ “คนกันเอง” รุ่นน้อง ปมการจัดทีมสมาชิกสภา กทม.

จะให้ “บิ๊กแป๊ะ” ลงสังกัด พปชร. แต่จะให้ “คนอื่น” จัดทัพ กุมบังเหงียน ส.ก.ทั้งหมด เจ้าตัวไม่อยาก “ตีนลอย”

ประกอบกับ “สายแข็ง” คือ “คนโตทำเนียบ” มีความลำเอียง แอบถือหาง “บิ๊กวิน” มากกว่า “น้องแป๊ะ” ด้วยความไม่เที่ยงอะไรสักอย่าง เลยตัดสินใจ “ถอนตัว”

ทำให้โค้งนี้ “ชัชชาติ” ยังนำโด่ง ส่วนจะเข้าวินหรือไม่ ต้องติดตามดู