THE KING’S MAN ‘อัศวินโต๊ะกลม’ / ภาพยนตร์ : นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์
20th Century Studios

ภาพยนตร์

นพมาส แววหงส์

 

THE KING’S MAN

‘อัศวินโต๊ะกลม’

 

กำกับการแสดง

Matthew Vaughn

นำแสดง

Ralph Fiennes

Djimon Hounsou

Gemma Arterton

Rhys Ifans

Harris Dickinson

Charles Dance

Matthew Goode

Tom Hollander

 

องค์กรลับในหนังแฟรนไชส์เรื่องนี้มีหน้าฉากเป็นห้องเสื้อผู้ดีซึ่งอำพรางการบริหารและปฏิบัติงานขององค์กรที่มีบุคลากรที่เก่งกาจยอดเยี่ยมและมีเครือข่ายไปทั่วโลก โดยถือว่าเป็น “คนของพระราชา” รับใช้พระประมุขของอังกฤษมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งแรก

The Kingsman : The Secret Service (2014) และ The Kingsman : The Golden Circle (2017) นำหน้ามาก่อน แต่ก็ตามมาด้วยหนังปัจจุบันซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนหน้าหนังทั้งสองเรื่อง แบบที่เรียกว่า prequel

โฉมหน้าของตัวละครทั้งชุดจึงไม่ใช่คนชุดเดิม เพราะแม้แต่หัวหน้าองค์กรก็ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว

The Secret Service เป็นหนังที่เท่สุดๆ เหมือนจะตั้งใจทำหนังแนวเจมส์ บอนด์ที่เก่งกาจเหนือชั้นขึ้นไปอีก

ฝ่ายพระเอกก็ว่าเก่งกาจสุดๆ แล้วเชียวนา แต่บางครั้งเหนือฟ้าก็ยังมีฟ้า มีบางเวลาที่ฝ่ายพระเอกเพลี่ยงพล้ำ…อย่างสมศักดิ์ศรี…และผู้ร้ายมาเหนือเมฆจริงๆ

ยังจำติดตาถึงตัวละครสาวสวยนามกร “ละมั่ง” (หรือกาแซลล์) ซึ่งเล่นเป็นสมุนอภิมหาวายร้ายอย่างปราดเปรียวว่องไวสมฉายาของสัตว์ที่อยู่ในบรรดาสัตว์โลกที่เคลื่อนไหวได้เร็วที่สุด

 

The Golden Circle ก็ยังสนุกและเท่อยู่เหมือนเดิม แต่อาจจะจืดลงนิดหน่อย เพราะขาดความแปลกใหม่ของหนังต้นเรื่องไปบ้าง แต่ก็ยังมีจูเลียน มัวร์ เป็นอภิมหานางร้ายที่ร้ายจนได้ใจ รวมทั้งการลักพาตัวคนดัง เซอร์เอลตัน จอห์น ตัวจริงเสียงจริงในคอสตูมสุดเว่อร์เหมือนตัวจริง

หนังภาคนี้ย้อนไปเล่าเรื่องราวต้นตอความเป็นมาขององค์กรลับนี้ โดยย้อนประวัติศาสตร์โลกกลับไปสู่จุดปะทุในสงครามโบเออร์ระหว่างอังกฤษกับแอฟริกาใต้ ลอร์ดคิชเชนเนอร์ (ชาลส์ ดานซ์) ซึ่งมีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์จริงๆ ถูกลอบสังหาร แต่ไม่สำเร็จ ผู้เคราะห์ร้ายกลับกลายเป็นสตรีชั้นสูงที่เป็นตัวแทนของกาชาดสากล

เลดี้ออกซ์ฟอร์ด พระชายาของดยุคแห่งออกซ์ฟอร์ด (เรฟ ไฟน์ส) เชื้อพระวงศ์ผู้ใกล้ชิดพระเจ้าจอร์จ ต้องมารับเคราะห์แทน เหตุการณ์ร้ายแรงนี้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาลูกชายตัวน้อย ซึ่งมองเห็นแม่เป็นราชินีกวินีเวียร์และพ่อเป็นคิงอาร์เธอร์แห่งคาเมล็อต ผู้พยายามช่วยเหลือคนอ่อนแอและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดในสังคม

ในแฟรนไชส์ภาคที่สาม แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าภาคแรกและภาคที่สอง โทนของหนังดูจะเปลี่ยนไปสู่การเป็นเรื่องซีเรียสมากขึ้น มีความหนักอึ้งของประวัติศาสตร์มากขึ้น ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นขำๆ ด้วยสไตล์เท่ล้ำ แบบในสองภาคแรก โดยให้น้ำหนักแก่สงครามโลกที่กำลังก่อหวอดและปะทุขึ้นในรัสเซียและเยอรมนี

แม้แต่เหตุการณ์ที่เป็นชนวนของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตามที่เราเคยท่องจำกันมาในวิชาประวัติศาสตร์ ว่าเกิดจากการลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุค ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ แห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ก็ถูกสอดใส่ไว้ในหนังโดยมีตัวละครสำคัญร่วมอยู่ในเหตุการณ์

 

และฉากที่เท่สุดๆ ในหนัง คือฉากการต่อสู้ระหว่างฝ่ายพระเอกกับรัสปูติน (รีส ไอฟานส์) นักบวชผู้ทรงอิทธิพลยิ่งต่อราชสำนักของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2

การออกแบบฉากการต่อสู้อันน่าจับตาและน่าสนเท่ห์นี้ให้คะแนนไปเลยเต็มสิบ ผนวกกับการออกแบบคอสตูมพื้นเมืองแบบกระโปรงอันพลิ้วไหวของชนชาติแถบยุโรปตะวันออก

ก่อนหน้านี้ รัสปูตินออกงานด้วยการเดินเนิบๆ อย่างสง่างามเคียงคู่มากับหญิงสาว และมีตัวละครอีกตัววิพากษ์วิจารณ์แบบหยิกแกมหยอกว่าลีลาท่าเดินเหมือนการเต้นบัลเล่ต์ที่ชนะขาดจริงๆ

นอกจากนั้น รัสปูตินยังเป็นตัวละครที่ชวนพิศวงด้วยอำนาจเหนือธรรมชาติแบบที่อธิบายได้ (เขากินยาพิษทีละน้อยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตัวเองทุกวันจนใครก็วางยาพิษเขาไม่ได้) และอธิบายไม่ได้

(เขามีอำนาจในการรักษาคนให้หายจากโรคได้อย่างน่าอัศจรรย์ แม้แต่ลอร์ดออกซ์ฟอร์ดผู้เดินกะเผลกและต้องใช้ไม้เท้าพยุงตัว ก็ยังหายจากอาการขาเป๋ หลังจากรัสปูติน “ให้การรักษา”)

 

ทอม ฮอลแลนเดอร์ รับบทบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ถึงสามคน คือพระเจ้าจอร์จที่ห้าแห่งอังกฤษ ไกเซอร์วิลเลียมที่สองแห่งเยอรมนีและซาร์นิโคลัสที่สองแห่งรัสเซีย โดยแต่งหน้าในแบบต่างๆ ซึ่งกลายเป็นมุขที่น่าเอ็นดูดีเนื่องจากบุคคลทั้งสามมีหน้าตาคล้ายกันเพราะเป็นญาติร่วมสายเลือด

ผู้ร้ายคนสำคัญในหนังปรากฏตัวแบบที่กล้องหลบเลี่ยงไม่ยอมให้คนดูเห็นหน้ามาตลอด จวบจนในตอนท้าย จึงได้เผยตัวออกมา และในฉากที่มีเอกลักษณ์ที่น่าจดจำ คือ กระท่อมน้อยบนยอดเขาสูงชันลิบลิ่วที่มีทางขึ้นลงด้วยลิฟต์แบบพื้นเมือง แต่พระเอกหาทางไปถึงด้วยการร่อนเหินเวหาลงอย่างทุลักทุเลจากเฮลิคอปเตอร์

เรื่องราวชีวิตของคอนราด ออกซ์ฟอร์ด (แฮร์ริส ดิกกินสัน) ลูกชายคนเดียวของดยุคและเลดี้แห่งออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเราติดตามมาตั้งแต่ตอนต้นของหนัง ออกจะมีน้ำหนักของดรามาที่ชวนสะเทือนใจและเปลี่ยนโทนของหนังเหมือนเป็นคนละขั้วกับเรื่องราวดั้งเดิมที่เป็นเรื่องหยิกแกมหยอก

ทั้งหลายทั้งปวงทำให้ความสำคัญและความน่าสนใจของ “อัศวินโต๊ะกลม” -ตามที่บุคลากรสำคัญในองค์กรลับแห่งนี้มีชื่อเรียกตามตัวละครในยุคคาเมล็อต ไม่ว่าจะเป็นอาร์เธอร์ ลานซล็อต เมอร์ลิน กาลาฮัด ฯลฯ-ลดลงไปมากทีเดียว

อ้อ ตอนจบมีบุคคลในประวัติศาสตร์โผล่ออกมาในฐานอภิมหาวายร้ายในประวัติศาสตร์โลกต่อไป…

…ในตัวของเลนินและ…แน่นอนค่ะ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์…