สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ภูเก็ตจาก Hub ไอที-วิเคราะห์นิสัยและความถนัด จากลายผิวบนนิ้วมือ (จบ)

ภาพจาก phuketindex.com

ตอนที่แล้วผมทิ้งท้ายเรื่องการจัดการศึกษาของเทศบาลนครภูเก็ตไว้ว่า ทำไม และทำอย่างไร ภูเก็ตถึงจะเจริญก้าวหน้าทัดเทียมสิงคโปร์ ในเมื่อขนาดของพื้นที่ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรต่างๆ ไม่ต่ำต้อยน้อยหน้าไปกว่ากัน

คำตอบที่ได้รับจากผู้บริหารองค์กรท้องถิ่น และผู้เกี่ยวข้อง คือโครงสร้างอำนาจการบริหาร การปกครองของเราต่างจากสิงคโปร์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ตซึ่งอยู่ในระดับต้นๆ ของประเทศก็ตาม แต่ถูกส่งเข้าส่วนกลางเป็นส่วนใหญ่ ที่ส่งกลับไปใช้ในการพัฒนาจังหวัดก็อยู่ในเกณฑ์เดียวกันกับทุกจังหวัด

ฉะนั้น โอกาสที่จะเป็นเมืองแห่งนวัตกรรมจึงยังอยู่อีกไกล แค่นครแห่งการเรียนรู้ ที่ภาคีเครือข่าย สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ตพยายามเดินหน้าผลักดันก็เหนื่อยแสนเหนื่อยหนักแล้ว


แต่พวกเขาก็ยังไม่ยอมแพ้ มีความพยายามหาทางใช้ประโยชน์จากต้นทุนทุกอย่าง ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเป็นแหล่งธุรกิจ เมืองท่องเที่ยว มีชาวต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยจำนวนมาก

“ตัวเลขประชากรในภูเก็ตตามทะเบียนประมาณ 3.6 แสนคน เป็นคนพื้นถิ่นราว 1 ใน 3 นอกนั้นเป็นต่างชาติ แต่ความเป็นจริงมีมากกว่านั้น จากสถิตินักท่องเที่ยวที่มาภูเก็ตปีละ 13 ล้านคน เราดูจากปริมาณขยะในแต่ละวัน แสดงว่าประชากรทั้งคนไทยและคนต่างชาติสูงถึงราว 1 ล้านคน” นายกสมใจ เล่า

ภูเก็ตวางเป้าหมายไว้ว่าจะเป็น HUB ด้านไอที พูดกันมานานกว่า 15 ปีแล้ว เทศบาลให้นักเรียนในโรงเรียนที่สังกัดเรียนคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ระดับประถมตั้งแต่ปี 2542 มาแล้ว ถึงวันนี้จึงจำเป็นต้องวางโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีให้สมบูรณ์ เพื่อความสามารถในการแข่งขันไม่เฉพาะในระดับจังหวัด แต่เป็นระดับประเทศ

“สิ่งที่ ดร.สมบัติ ดำเนินการเป็นประโยชน์มาก เพราะสังคมภูเก็ตเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย เป็นพหุสังคม พหุวัฒนธรรมมานาน ตั้งแต่สมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) การใช้ประโยชน์จากคนต่างวัฒนธรรมที่เข้ามาอยู่ร่วมกัน เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงจะช่วยพัฒนาเยาวชน พัฒนาคน พัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น”


ดร.สมบัติ เครือทอง คณะวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำโครงการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชาวต่างชาติที่มาอยู่อาศัย ประกอบธุรกิจ และท่องเที่ยว เพื่อหาช่องทางวางรูปแบบให้เมืองและชาวภูเก็ตใช้ต้นทุนเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนา อย่างน้อยทักษะด้านภาษา การสื่อสารและเทคโนโลยี

“ที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากคนเหล่านี้ คนต่างชาติไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนพื้นที่ ตัวเลขของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตในแผนแม่บทการท่องเที่ยวมีคนต่างชาติรวมถึงแรงงานเกือบแสนคน จึงมาคิดกันว่าน่าจะมีโครงการ กิจกรรมเพื่อดึงคนต่างชาติเข้ามาร่วม เทศบาลกระทู้จัดแสดงละคร จัดดนตรีในสวน ชวนครอบครัวฝรั่งมาร่วมงาน”

“สร้างกิจกรรม สร้างเครือข่ายชาวต่างชาติ โรงเรียนนานาชาติ มีลูกชาวต่างชาติ ลูกคนไทยเข้าไปเรียน ชวนมาร่วมกิจกรรม งานเทศกาล งานประจำเดือน ประจำปีกับนักเรียนทั่วไป ทั้งเด็กต่างชาติและเด็กไทยก็ได้ประโยชน์ เขาสามารถสื่อสารกันได้ตามประสาเด็ก ผู้ใหญ่ พ่อแม่ มีโอกาสพบปะสังสันทน์ สื่อสาร แลกเปลี่ยนพูดคุย บ่อยๆ เข้าก็พัฒนา ชินไปเอง”

“เราพัฒนาการสื่อสารด้านไอที สร้างแอพพลิเคชั่น ภาษาต่างประเทศพอเพียง ใช้ผ่านมือถือ แท็บเล็ต ภาษาไทยเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงกับภาษาต่างๆ เพื่อคนไทยและต่างชาติสามารถใช้ร่วมกันได้ มีเสียง มีตัวอักษร สื่อสารเกิดความเข้าใจกัน ภาษาก็พัฒนาขึ้น สามารถใช้โปรแกรมเพื่อพัฒนาครู พัฒนาพ่อแม่ผู้ปกครอง ต่อไปไม่ต้องจ้างฝรั่งมาสอนตลอดไป ครูไทยก็สอนได้ บางประเทศทำแล้วเช่นเวียดนาม”

ดร.สมบัติ ย้ำ


ขณะที่ความสนใจของชุมชนภูเก็ต พ่อค้านักธุรกิจภาคเอกชนส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาคนมีมาต่อเนื่อง บริจาคเพื่อตั้งมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรบุคคลของเทศบาลนครภูเก็ต โดย นายวานิช เอกวานิช ให้ทุนครูเทศบาลที่ต้องการพัฒนาการศึกษาของตัวเองเรียนต่อถึงระดับปริญญาตรีทุกปีติดต่อกันมาถึงรุ่นที่ 6 รวมแล้วหลายล้านบาท มี รศ.สมจิตต์ สุทธางกูร รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ตเป็นประธานมูลนิธิ

มาถึงยุคหลาน วิศาล เอกวานิช ดำเนินธุรกิจต่อ สนใจด้านการศึกษา สร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้กลางเมืองภูเก็ตใกล้ๆ กับโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินท์ ชื่อ อาคารรู้ศึกษา รู้สึกตัว เป็นอาคารสำนักงานให้เช่า และเปิดห้องสมุดประชาชนที่ทันสมัยให้บริการผู้สนใจ มีร้านขายหนังสือ โรงเรียนกวดวิชา ขอเช่าใช้บางส่วน

หนึ่งในนั้นคือ ศูนย์สอนศิลปะ Hands on Art การวิเคราะห์ความถนัด หรือทักษะอาชีพผ่านการวิเคราะห์ลายผิวบนนิ้วมือ (Dermatoglyphic analyst) ได้รับความสนใจ ขยายสองสาขาแล้วชื่อว่า ศูนย์สแกนศักยภาพแฮนด์ออนอาร์ต เรือตรีหญิงธิณัฐสิริน ศรีชุมพล หรือ ครูต้น อดีตข้าราชการเทศบาล ลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว เปิดสอนศิลปะ ศึกษาศาสตร์ใหม่การวิเคราะห์ลายผิวบนนิ้วมือ


เธอเล่าให้ฟังวันที่ รศ.สมจิตต์ พาผมแวบจากเวทีประชุมไปดูวิธีการ ว่าศาสตร์นี้มีการศึกษาแบบเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่หมอดูลายมือแบบตำราโหราศาสตร์ มีสถาบันการสอนฝึกอบรมเป็นเรื่องเป็นราวด้วยเทคโนโลยี โปรแกรมประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ ที่ทำแรกๆ เลยก็คือเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซีพี มีสถาบันศึกษาและฝึกอบรมด้วยศาสตร์แบบนี้มานานแล้ว ผู้เรียนศึกษาตามโปรแกรมของหลักสูตร ขณะนี้แพร่หลายไปอีกหลายแห่ง

“ทางเลือกใหม่เพื่อช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษที่ไม่จำเป็นลง การวิเคราะห์นี้เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ นำมาประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้ผู้ปกครองได้ทราบอุปนิสัย รวมทั้งความถนัด (หรือพรสวรรค์) ที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดของบุตรหลานทำให้เลี้ยงดูได้ง่ายขึ้นและสามารถวางแผนการเรียนและอาชีพในอนาคตได้อย่างชัดเจน ตรวจครั้งเดียวใช้ได้ตลอดชีวิต มีบันทึกประวัติเก็บไว้ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองและศูนย์เพื่อให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา”

ลายผิวบนนิ้วมือ ลายโค้ง ลายมัดหวาย ลายก้นหอย แต่ละลายบ่งชี้ความถนัดและพรสวรรค์อะไร รายละเอียดลึกกว่านี้

สนใจติดตามถามหากันเองนะครับ

ผมนำมาเล่าสู่กันฟังก็เพื่อที่จะบอกว่าภูเก็ตวันนี้ก้าวไปไกล มีเกือบทุกอย่างที่กรุงเทพฯ มีและไม่มี แต่ก็ยังมีพ่อแม่ผู้ปกครองอีกไม่น้อย ส่งลูกบินมาเรียนกวดวิชาที่สยามสแควร์ ที่อาคารวรรณฯ พญาไท หาช่องทางด้วยศาสตร์ใหม่ๆ ที่กรุงเทพฯ อยู่อีกเหมือนเดิม

แม้ท้องถิ่นจะพยายามต่อสู้ดิ้นรนพัฒนาอย่างไรก็ตาม การศึกษาภายใต้โครงสร้างรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง ความไม่มั่นใจ ค่านิยมของเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีกำลังก็ยังแก่งแย่งแข่งขัน เป็นอยู่เช่นนี้ต่อไปอีกนาน จนกว่าคุณภาพครู คุณภาพโรงเรียนจะได้มาตรฐานใกล้เคียงกัน ทั้งในเมืองและชนบท

เวทีจัดทำพิมพ์เขียวการศึกษานครภูเก็ต คงจบลงเพียงเท่านี้