มงกุฎแห่งพระจักรพรรดิราชของรัชกาลที่ 3 บนยอด ‘ศรีของเมือง’ คือพระปรางค์วัดอรุณฯ / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

มงกุฎแห่งพระจักรพรรดิราชของรัชกาลที่ 3

บนยอด ‘ศรีของเมือง’

คือพระปรางค์วัดอรุณฯ

 

นิทานในพุทธศาสนาเรื่องหนึ่งคือ ชมพูบดีวัตถุ (หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหาชมพูบดีสูตร) เล่าถึงท้าวมหาชมพู ผู้ครองมหานครใหญ่ที่ชื่อ นครปัญจาละ ซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยอิสริยยศและบริวารยศ หาผู้ใดในชมพูทวีปเสมอเหมือนไม่ได้ จึงสำคัญตนผิดไปว่า ไม่มีใครสามารถสู้รบกับตนเองได้

อยู่มาวันหนึ่งท้าวมหาชมพูเห็นว่ากรุงราชคฤห์เจริญรุ่งเรืองมาก ก็หมายจะสำแดงอิทธิฤทธิ์บังคับให้พระเจ้าพิมพิสารตกอยู่ใต้อำนาจของตนเอง แต่ก็ไม่สำเร็จด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าคุ้มครองไว้

พระพุทธเจ้าเห็นเหตุดังนั้นก็หมายจะทรมานท้าวชมพูบดีให้สิ้นฤทธิ์ จึงเนรมิตพระองค์เป็น “พระจักรพรรดิราช” คือราชาเหนือราชาทั้งปวง เนรมิตวัดเวฬุวันวิหารให้เป็นพระนครหลวง ให้พระอินทร์จำแลงกายเป็นราชทูตไปทูลเชิญ “แกมบังคับ” ให้ท้าวชมพูบดีมาเข้าเฝ้า

เมื่อท้าวชมพูบดีได้เห็นมหานครของพระจักรพรรดิราชมั่งคั่งสมบูรณ์กว่าเมืองของตนเอง จึงได้เข้าเฝ้าและสดับพระราชบริหารต่างๆ ก็ละมิจฉาทิฐิยอมพ่ายแพ้แก่ฤทธิ์ของพระจักรพรรดิราช

พระพุทธเจ้าจึงคลายฤทธิ์ให้ท้าวชมพูบดีเห็นร่างกายที่แท้จริง และแสดงธรรมเทศนาจน ท้าวชมพูบดีบรรลุเป็นพระอรหันต์

 

พระพุทธรูปทรงเครื่องที่สร้างขึ้นในยุคอยุธยา ก็สร้างขึ้นในคติเรื่องท้าวมหาชมพู เพราะเมื่อ พ.ศ.2398 ราชทูตลังกาได้นำพระภิกษุไทยที่ได้นำพระพุทธศาสนาแบบ “สยามวงศ์” ไปสืบไว้ที่ลังกาทวีปกลับเข้าสู่อยุธยา ได้มีโอกาสเห็น “พระพุทธรูปทรงเครื่อง” ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ก็เกิดสงสัยใจขึ้น จึงถามต่อเจ้าพนักงานที่ต้อนรับขับสู้ว่าเหตุไฉน สยามจึงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง คล้ายเทวรูป?

ความตรงนี้ทราบไปถึงพระกรรณของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงรับสั่งให้เสนาบดีชี้แจงไปใน จดหมายของอัครเสนาบดีไทยมีไปถึงอัครเสนาบดีลังกา ปี พ.ศ.2399 โดยมีใจความระบุว่า พระพุทธรูปทรงเครื่อง มีความปราฏใน “มหาชมพูบดีวัตถุ”

ดังนั้น สำหรับคติความเชื่อของไทย อย่างน้อยก็ตั้งแต่ในสมัยอยุธยาแล้ว “พระพุทธรูป” จึงมีสถานะเป็น “จักรพรรดิราช” ได้โดยไม่ใช่เรื่องแปลก และในทางกลับกัน “กษัตริย์” ก็จึงสถานะไม่ต่างไปจาก “พระบรมโพธิสัตว์” หรือ “พระพุทธเจ้า” ด้วยเช่นกัน

 

นิทานในพุทธศาสนาข้างต้น ถูกวาดออกมาเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดนางนองวรวิหาร ที่คลองด่าน ย่านบางขุนเทียน ในสมัยรัชกาลที่ 3 แถมยังเป็นพระองค์เองเสียด้วยที่โปรดให้เขียนภาพเหล่านี้ขึ้นไว้ในนั้น เพื่อประกอบเข้าเป็นเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธรูปประธานของพระอุโบสถ พ่วงตำแหน่งประธานของวัด

ที่สำคัญก็คือ พระพุทธรูปองค์ที่ว่าเป็น “พระพุทธรูปทรงเครื่อง” อย่าง “พระจักรพรรดิราช” แถมยังมีชื่อว่า “พระพุทธมหาจักรพรรดิ” อีกต่างหาก

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ บานหน้าต่าง บานประตูทั้งหมด ภายในพระอุโบสถ ยังประดิษฐ์เป็นลวดลายลงรักปิดทอง รูปเครื่องราชูปโภคทั้งหลาย

เฉพาะที่กรอบประตูทางเข้าด้านนอกของพระอุโบสถ มีลายลงรักปิดทองเรื่องกำเนิดรัตนะ (ซึ่งเป็นหนึ่งในแก้ววิเศษ 7 ประการของพระจักรพรรดิราชตามปรัมปราคติในพุทธศาสนา)

ซึ่งทั้งหมดย่อมทั้งสอดคล้อง และตอกย้ำคติเรื่องพระจักรพรรดิราช ทั้งที่เขียนเล่าเป็นงานจิตรกรรม และแสดงออกเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง

แต่ภายในพระอุโบสถแห่งนี้ไม่ได้มีแต่ภาพเขียนเรื่องพระจักรพรรดิราช เพราะที่ผนังระหว่างกรอบหน้าต่างเขียนเป็นภาพกำมะลอเล่าเรื่องสามก๊ก โดยได้ตัดตอนมาเล่าเฉพาะตั้งแต่ช่วงที่เล่าปี่เริ่มมีบทบาทสำคัญพอจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย เรื่อยไปจนกระทั่งจบลงที่ชัยชนะเหนือโจโฉ ซึ่งคือเกียรติภูมิสูงสุดในชีวิตของเล่าปี่ก็ว่าได้

สรุปง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า เขียนเล่าเฉพาะส่วนที่แสดงให้เห็นว่า “เล่าปี่” เป็นกษัตริย์ที่ดี ตามค่านิยมแบบจีน

และก็อย่างที่รู้กันดีนะครับว่า รัชกาลที่ 3 นั้นทรงมีพระราชนิยมในศิลปวัฒนธรรมจีนอย่างชัดเจนขนาดไหน? ถ้าพระองค์จะผสมผสานความคิดเรื่องของจักรพรรดิราช เข้ากับคุณลักษณะของกษัตริย์อย่างขงจื๊อก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรเลยสักนิด

 

สิ่งที่ควรจะพิจารณาอีกอย่างก็คือ มีหลักฐานด้วยว่า “รัชกาลที่ 3” เองนั้น ก็เชื่อว่าพระองค์เองเป็น “พระจักรพรรดิราช”

เมื่อครั้งที่พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เสียชีวิตนั้น รัชกาลที่ 3 ก็เสียใจโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับตั้งพระบรมราชปุจฉาในที่ประชุมพระสงฆ์ราชาคณะ เถรานุเถระ 60 รูป โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า

“โยมมีเบญจพละ 5 ประการ คือ 1.มีบ่อแก้ว 2.มีช้างแก้ว 3.มีนางแก้ว 4.มีขุนพลแก้ว 5.มีขุนคลังแก้ว

1. ที่โยมว่ามีบ่อแก้วนั้นคืออ้ายภู่ (หมายถึง พระยาราชมนตรี ซึ่งมีชื่อเดิมว่า ‘ภู่’ เป็นข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ 3 และเป็นต้นสกุล ภมรมนตรี-ผู้เขียน)

2. ที่โยมว่ามีช้างแก้วนั้นคือ พระยาช้างเผือกของปู่และบิดาของโยมเอง

3. ที่โยมว่ามีนางแก้วนั้นคือ โยมมีพระราชธิดาพระองค์ 1 ทรงนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เป็นพระราชธิดาเสน่หาอเนกผลของพระราชบิดา

4. ที่โยมว่ามีขุนพลแก้วนั้นคือ พี่บดินทรเดชา (หมายถึง เจ้าพระยาบดินทรเดชา [สิงห์ สิงหเสนี])

5. ที่โยมว่าขุนคลังแก้วนั้นคือ เจ้าศรีทองเพ็ง (หมายถึง พระยาศรีสหเทพ ต้นตระกูล ทองเพ็ง)”

ปรัมปราคติในพระพุทธศาสนาระบุเอาไว้ว่า “พระจักรพรรดิราช” มีแก้ววิเศษทั้งเจ็ดประการ อันได้แก่ จักรแก้ว, ช้างแก้ว, ม้าแก้ว, รัตนะ (หรือที่ในอุษาคเนย์เรียกอย่างจำเพาะเจาะจงลงไปว่า แก้วมณีโชติ), ขุนคลังแก้ว และขุนพลแก้ว โดยแก้วแต่ละประการก็มีคุณลักษณะวิเศษแตกต่างกันไป

ดังนั้น แก้ว 5 ประการ ที่รัชกาลที่ 3 เรียกว่า “เบญจพละ” นั้น ก็คือสิ่งที่มีที่มาจากสมบัติเฉพาะแห่งพระจักรพรรดิราชนั่นเอง

ดังนั้น การที่พระองค์ทรงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช พร้อมทั้งวาดจิตรกรรมฝาผนังด้วยเรื่อง ชมพูบดีสูตร และสามก๊กตอนที่ว่าด้วยเกียรติประวัติของเล่าปี่ ล้อมรอบองค์พระพุทธรูปทรงเครื่องนั้นจึงมีนัยยะที่สำคัญ โดยเฉพาะเมื่อสร้างขึ้นในย่านที่เป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของสมเด็จพระศรีสุลาลัย หรือเจ้าจอมมารดาเรียม ผู้เป็นพระราชมารดาของรัชกาลที่ 3 ซึ่งก็หมายความว่า คือบริเวณอันเป็นถิ่นฐานอำนาจของพระองค์นั่นเอง

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ เมื่อคราวที่พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ซึ่งถือได้ว่าเป็น “ศรี” คือ “มหาธาตุ” ของกรุงเทพฯ สร้างเสร็จ ซึ่งก็ตรงอยู่กับรัชสมัยของพระองค์นั้น รัชกาลที่ 3 ก็โปรดให้นำเอามงกุฎ (อันเป็นเครื่องหมายของความเป็นจักรพรรดิราช) ของพระพุทธรูปทรงเครื่อง จากวัดนางนอง (ซึ่งเป็นองค์พระจักรพรรดิราช และรัชกาลที่ 3 ผู้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ก็ถือพระองค์เป็นพระจักรพรรดิราช) ไปสวมทับอยู่เหนือนภศูล บนยอดของพระปรางค์วัดอรุณฯ ด้วย

บุคคลระดับที่ถูกยกย่องว่าเป็น พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย อย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น เคยอธิบายเอาไว้ในหนังสือเรื่อง ความทรงจำ ในทำนองที่ว่า เป็นที่รับรู้กันในหมู่ชาววังสมัยนั้นว่า การที่รัชกาลที่ 3 ทำอย่างนี้ เป็นเพราะพระองค์ต้องการสื่อว่าจะให้ “เจ้าฟ้ามงกุฎ” (ซึ่งต่อมาคือ รัชกาลที่ 4) เป็นผู้เสวยราชสมบัติต่อจากพระองค์

แต่มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือครับ ในเมื่อรัชกาลที่ 3 ได้เอามงกุฎที่สำแดงความเป็น “จักรพรรดิราช” ของพระองค์เองครอบทับลงบน “ศรีของเมือง” ซึ่งก็คือ “มหาธาตุของกรุงเทพฯ” ไม่ใช่มงกุฎของใครคนอื่น?