พลังของ ‘ม้าสายลม’ และธงมนต์ในพุทธวิถีทิเบต / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

หลายครั้งเวลาเราเห็นภาพสถานที่สำคัญในทิเบตหรือเนปาล แม้แต่ในเมืองไทยเอง ถ้าที่นั่นเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน เราก็มักเห็นธงสายหลากหลายสีแขวนประดับประดาอยู่ บนผืนธงมีมนต์และภาพเขียนไว้ เราจึงเรียกว่า “ธงมนต์”

ที่จริงตามวัดของบ้านเราก็มีการประดับด้วยริ้วธงบนศาลาวัดหรือในงานวัดเช่นกัน แต่จะว่าไปแล้ววัตถุประสงค์หลักของการประดับธงในศาสนสถานบ้านเรา ก็เพื่อตกแต่งให้สวยงามมากกว่า หรือไม่ก็เป็นการถวายสักการะแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์

ส่วนประเพณีการแขวนธงในทิเบตมีนัยยะที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ ถือเป็นการปฏิบัติทางธรรมแบบหนึ่ง

อีกทั้งในปัจจุบัน เราได้เห็นการแขวนประดับธงมนต์นี้มากขึ้นในเมืองไทย หลายสถานที่ เช่น ศูนย์ขถิรวัน มูลนิธิพันดารา หรือเสถียรธรรมสถานก็มีการตั้ง “สถูปมนต์” คือสถูปที่ใช้ธงมนต์สร้างขึ้นอย่างสวยงาม

แม้แต่ร้านหนังสือ คาเฟ่ ร้านอาหาร บ้านเรือนก็เริ่มมีการประดับธงมนต์เช่นกัน

ผมเองก็ประดับธงมนต์บนดาดฟ้าของบ้าน ทุกวันที่ขึ้นไป ก็จะเห็นธงมนต์ปลิวไสวไปพร้อมสายลม และเมื่อไม่นานนี้มูลนิธิวัชรปัญญา ซึ่งมีวิจักขณ์ พานิช เป็นหัวเรือใหญ่ ได้เดินทางไปปักสถูปธงมนต์ยังที่ดินซึ่งมูลนิธิจะใช้ประโยชน์ ณ เกาะพะงัน จึงทำให้กำลังคิดถึงเรื่องนี้อยู่ครับ

จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์หากได้เล่าสู่กันฟัง

 

การแขวนธงมนต์ ว่ากันว่าเป็นประเพณีดั้งเดิมของศาสนาพื้นเมืองก่อนพุทธศาสนาจะเข้าไป เป็นวิถีของพวกคนทรงพื้นบ้าน (shaman) ซึ่งแพร่กระจายมากในดินแดนหิมาลัยและเอเชียกลาง เรียกว่าศาสนา Tengrism หรือ Tengriism คำว่า Tengri เป็นนามเทพแห่งท้องฟ้าตามคติความเชื่อของมองโกเลีย

เรามักรู้จักธงมนต์ในชื่อภาษาทิเบตว่า ลุงตา (lungta) ที่จริงคำนี้แปลว่า “ม้าสายลม” (wind horse) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ดั้งเดิมที่มักเขียนเอาไว้นธง เป็นรูปม้ากำลังควบทะยาน บนหลังแบกอัญมณีไว้ ถือว่าเป็นอัญมณีที่เติมเต็มความปรารถนาจนไปถึงการตรัสรู้

ศาสนา Tengri นับถือพลังของเทพแห่งท้องฟ้าและพลังของธรรมชาติ แพร่หลายไปในกลุ่มชนเฝ่าเร่ร่อนต่างๆ เรื่อยไปจนถึงฮังการี และตุรกี

คนมองโกเลียให้ความสำคัญกับความเชื่อนี้มาก ถึงขนาดในปัจจุบัน ตราแผ่นดินของประเทศมองโกเลียเป็นรูปม้าสายลมบนพื้นหลังสีฟ้าที่หมายถึงท้องฟ้า และแม้อิทธิพลของพุทธศาสนาจะมากแล้ว ก็ยังเห็นร่องรอยของความเชื่อแบบพื้นเมืองได้อยู่

นอกจากม้าแล้ว มักปรากฏสัตว์อีกสี่อย่าง คือสิงโตหิมะ ครุฑ มังกร และเสือในมุมทั้งสี่ โดยธงมนต์จะมีห้าสีคือ แดง เขียว เหลือง ขาว น้ำเงิน

นัยของสีสันและสัญลักษณ์เหล่านี้มีความหมายหลายระดับและหลายการตีความ ยิ่งเมื่อพุทธศาสนาในทิเบตรับเอาวิถีนี้มาอธิบายตามหลักพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานก็ทำให้มีความลึกซึ้งขึ้นไปอีก

ในคติดั้งเดิม ม้าสายลมสัมพันธ์กับกลุ่มเทพพื้นเมืองที่เรียกว่า ดราละ (drala) ซึ่งหมายถึงจิตวิญญานของนักรบ เช่น กษัตริยเทพเกซาร์ซึ่งนับถือกันมากในหมู่คนทิเบต ท่านพ่อริกเด็นในสายปฏิบัติชัมบาลา เป็นต้น

คติการนับถือเทพนักรบกับม้าคู่ใจนี้ ชวนให้ผมนึกถึงวิถีของชาวพื้นเมืองอินเดียใต้ ที่มักนับถือเทพนักรบที่ขี่ม้าเช่นกัน และเชื่อว่าเทพเหล่านี้จะขี่ม้าไปรอบหมู่บ้านเพื่อขจัดสิ่งชั่วร้าย

ที่เหมือนกันก็เพราะเป็นอิทธิพลที่แพร่หลายของศาสนาทรงเจ้าหรือศาสนาผีพื้นเมืองที่แพร่หลายโดยทั่วไป

 

วัฒนธรรม “ม้าทรง” ผูกพันกับวิถีธรรมชาติ เพราะถือว่าธรรมชาติมีพลังงานหรือ “พลังชีวิต” ซึ่งผมคิดว่าเป็นอย่างเดียวกับคติเรื่อง “ขวัญ” ของเรา สำแดงออกในรูปของสัตว์ทั้งห้าและสีทั้งห้า หมายถึงพลังงานของธาตุห้า ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลมและอากาศหรือพื้นที่ว่าง

สีแดงคือธาตุไฟ สีเหลืองคือธาตุดิน สีเขียวคือธาตุน้ำ สีขาวคือธาตุลม และสีฟ้าหรือน้ำเงินคืออากาศหรือที่ว่าง (ท้องฟ้า)

ชาวบ้านเชื่อว่า ธงมนต์หรือม้าสายลมเป็นเครื่องสักการะแด่ทวยเทพ เขามักไปแขวนไว้ในจุดที่รับรู้พลังของทวยเทพหรือธรรมชาติ โดยเฉพาะพลังของลม จึงมักติดตั้งไว้ยังสถานที่ที่ลมแรงๆ เช่น บนยอดเขา สันเขา ริมแม่น้ำ โขดหินใหญ่

นอกจากจะถวายในรูปธงแล้ว ยังมีการทำเป็นกระดาษสำหรับโปรย และมักทำคู่ไปกับพิธีถวายควันหอม ซึ่งเรียกในภาษาทิเบตว่า ลาซัง (lhasang) โดยใช้ไม้หอม เช่น ไม้สนชนิดต่างๆ เผาไปพร้อมกับอาหารและของบูชาที่ทำให้เกิดควันสีขาวและกลิ่นหอม

เพื่อให้ดราละและบรรดาเทพเจ้าที่เจ้าทางหรือพลังของธรรมชาติในสถานที่นั้นพึงพอใจ

 

โดยความเชื่อพื้นฐานของชาวบ้าน การแขวนธงมนต์นำมาซึ่งโชคดี เพราะลมนำเอาคำอธิษฐานขึ้นไปบอกทวยเทพ ทั้งยังเป็นการเรียกพลังชีวิตหรือขวัญให้มาอยู่กับตัว ให้ธาตุทั้งห้าสงบสมดุล มีความเจริญ มีพลัง มีความร่ำรวย มีสันติ

นอกจากนี้ ม้าเป็นสัญลักษณ์ของความรวดเร็ว เชื่อว่าพรหรือสิ่งที่ปรารถนาจะได้รับอย่างรวดเร็ว และในเมื่อเกี่ยวพันกับเทพนักรบก็เชื่อว่าจะมีชัยชนะในทุกที่

ในระดับภายใน เชื่อกันว่าในตัวเราทุกคนก็มีม้าสายลมหรือพลังชีวิตสถิตอยู่ เมื่อเราแขวนธงมนต์เชื้อเชิญพลังม้าสายลมจากธรรมชาติ เราก็ได้เพิ่มพูนพลังชีวิตของตนเอง รวมทั้งเจตจำนงที่ดียังเป็นการเพิ่มพูนบุญกุศลแก่ตัว

หลังจากมีคติพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว คำอธิบายในระดับลึกซึ้งก็มีขึ้นมาว่า พลังงานของม้าสายลมเกี่ยวข้องกับพลังของ “ลมปราณ” ภายในร่างกายของเรา ปราณอันนี้แหละคือม้าสายลมในระดับลึกสุด ที่ทำให้ชีวิตของเรามีพลังที่จะกระทำสิ่งต่างๆ ได้

ม้าสายลมในตัวเราอาจอ่อนแอลง เราจึงต้องเพิ่มพูนพลังงานชีวิตหรือปราณ ด้วยการฝึกโยคะภายใน หรือการปฏิบัติภาวนาที่จะเพิ่มพูนพลังภายใน เพื่อให้เรามีพลังชีวิต

มีความกล้าหาญเริงร่าจนสามารถทำกิจที่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

 

นอกจากนี้ พุทธศาสนายังนำคติความเชื่อเข้าไปสวมไว้ในการปฏิบัติอีกชั้น นอกจากจะมีสัญลักษณ์ม้าสายลมแล้ว ยังมีการพิมพ์รูปพระพุทธะ พระโพธิสัตว์ หรือทวยเทพ พร้อมมนต์ขององค์นั้นๆ ลงไปในธงด้วย เช่น คุรุริมโปเช พระอารยะตารา พระอวโลกิเตศวร ฯลฯ

เชื่อกันว่า เมื่อธงที่มีรูปและมนต์เหล่านี้โบกสะบัดไป “ม้าสายลม”ของพระพุทธะเหล่านั้นจะนำพรและพระธรรมคำสอนไปสู่สรรพสัตว์พร้อมกับสายลมด้วย ซึ่งพรก็จะเกี่ยวข้องกับมนต์และรูปที่พิมพ์ไว้ เช่น พระตาราขาวหรือพระอมิตายุสคืออายุยืนยาว คุรุริมโปเชคือการขจัดปัดเป่าอุปสรรค เป็นต้น

การปฏิบัติม้าสายลมในวิถีพุทธ จึงเป็นการปฏิบัติที่เน้นความกรุณา โดยตั้งเจตจำนงให้พรจากมนต์ที่เราผูกไปยังประโยชน์แก่สรรพสัตว์ ไปมอบความรักและสันติอย่างไม่มีที่สุด

 

นอกจากนี้ วิทยาธรตรุงปะ ริมโปเช ผู้นำวิถีม้าสายลมมาเป็นแกนหลักของแนวคิด “ชัมบาลา” หรือสังคมในอุดมคติแห่งการตื่นรู้ของท่าน โดยตีความม้าสายลมไว้อย่างน่าสนใจว่า ที่จริงแล้ว ม้าสายลมในตัวพวกเราคือ “ความดีงามพื้นฐาน” (basic goodness) ซึ่งมีอยู่ภายในแล้วนั่นเอง ท่านกล่าวว่า

“นี่คือพลังงานแห่งความดีงามพื้นฐาน พลังของการดำรงอยู่นี้ถูกเรียกว่า ‘ม้าสายลม’ ในคำสอนชัมบาลา หลักการแห่ง ‘ลม’ คือ พลังของความดีงามพื้นฐานนี้ แข็งแรง มีชีวิตชีวาและงดงาม มันสามารถแผ่ออกมาและขยายใหญ่โตในชีวิตของเรา แต่ในขณะเดียวกัน ความดีงามพื้นฐานนี้ก็อาจอ่อนแอลงซึ่งคือหลักการแห่ง ‘ม้า’ ด้วยการปฏิบัติวินัยแห่งนักรบ โดยเฉพาะหลักแห่งการปล่อย (letting go) คุณก็สามารถที่จะใส่บังเหียนสายลมแห่งความดีงามนี้ได้ ในบางความเข้าใจ ม้าไม่เคยเชื่อง ความดีงามพื้นฐานจึงไม่เคยกลายเป็นสมบัติส่วนตัวของคุณ แต่คุณสามารถเชื้อเชิญและปลุกเร้าพลังของความดีงามพื้นฐานนี้ในชีวิตของคุณได้”

ในสภาวะแห่งความทุกข์ยาก โรคระบาดและสงครามที่กำลังรุมเร้า ผมจึงอยากอธิษฐานให้ทุกท่านมีพลังชีวิต

ให้ม้าสายลมภายในแข็งแกร่ง

เพื่อจะยังประโยชน์แก่สรรพชีวิตต่อไปด้วยเถิด