อัตลักษณ์ของ ‘พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง’ / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

อัตลักษณ์ของ ‘พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง’

 

งานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝางในเกือบทุกมิติ ได้ปรากฏในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของ “พัชราวรรณ บัวอ่วม” เรื่อง “พระพุทธรูปสำริดสกุลช่างฝางในอำเภอฝางและอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่” ที่เสนอต่อสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากรปี 2559 เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว

ผู้สนใจสามารถสืบค้นหาข้อมูลมาศึกษาได้ ดังนั้น ในบทความนี้ ดิฉันจึงไม่ขอนำวิธีกระบวนการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปสกุลฝางมากล่าวซ้ำในที่นี้ ในลักษณะแบ่งกลุ่มพุทธศิลป์ หรือพรรณนาด้านวิวัฒนาการ

แต่จักขอตั้งข้อสังเกตบางประการในประเด็นที่ดิฉันสงสัยถึงพระพุทธรูปสกุลฝางไว้ 3 ประเด็น ดังนี้

1 ข้อแตกต่างระหว่างพระพุทธรูปสกุลช่างฝางกับพระพุทธรูปสกุลช่างล้านนา (กลุ่มพระสิงห์รุ่นต่างๆ)

2 รูปลักษณ์ของพระสกุลช่างฝาง สัมพันธ์กับชาติพันธุ์เผ่าใดหรือรัฐไหนนอกอาณาจักรล้านนาหรือไม่

3 พระพุทธรูปสกุลช่างฝางรุ่นเก่าสุดเริ่มสร้างเมื่อสมัยใด

 

ความโดดเด่นที่ตีคู่มากับสกุลช่างพระสิงห์

ตามที่พระครูอดุลสีลกิตติ์กล่าวสรุปไว้ในการศึกษาเรื่องพระพุทธรูปสกุลเมืองฝางในหนังสือ “60 ปีวัดศรีถ้อย” ของท่านว่า จุดเด่น 4-5 ประการของพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝางคือ พระพักตร์รูปไข่ เม็ดพระศกเล็กแหลมแบบหนามขนุน พระหัตถ์เกือบเสมอกันทั้งสี่นิ้ว นิยมนั่งขัดสมาธิราบ และชายสังฆาฏิไม่ตัดเป็นเขี้ยวตะขาบแบบกลุ่มพระสิงห์ 1

จากข้อสังเกตของท่านพระครูเจ้าคณะตำบลหายยาที่ศึกษาไว้นั้น ดิฉันขอนำมาต่อยอดอธิบายให้เห็นชัดๆ ดังนี้

พระพักตร์ของพระสกุลช่างเมืองฝางนั้น พบว่าแทบไม่มีองค์ไหนเลยที่ทำพระพักตร์กลมอมยิ้มแบบกลุ่มพระสิงห์ แต่ทำพระพักตร์ยาวกว่า ไม่เชิงเป็นรูปไข่แบบพระสุโขทัยเสียทีเดียว หลายองค์พระนลาฏ (หน้าผาก) ตัดตรง บางองค์มีกรอบวงโค้งสองวง ส่วนพระหนุ (คาง) นั้น ดูค่อนข้างยาวแหลม (ศัพท์ทางช่างเรียก คางเสี้ยม)

พระพักตร์ของพระสกุลช่างเมืองฝาง พระเนตรใหญ่ หางตาเรียวชี้ พระกรรณยาวงอน พระนาสิกมีปีกจมูก พระโอษฐ์เหมือนมนุษย์ธรรมชาติ

นั่นคือข้อแตกต่างอย่างเห็นชัดข้อแรกตามที่ท่านพระครูกล่าว คือรูปหน้า ทีนี้เครื่องเคราบนใบหน้านั้นเล่า เหมือนหรือต่างประการใดเมื่อเทียบกับพระล้านนาในกลุ่มพระสิงห์ พบว่า “ดวงพระเนตร” ของพระสกุลช่างฝางนั้นค่อนข้างยาวใหญ่

หลายองค์พระเนตรยาวเบิกกว้างมากจนเกือบตวัดถึงใบพระกรรณ

และจำนวนไม่น้อยเลยที่เน้นหางตาเรียวชี้ พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ไม่ได้ทำตากลมโตเปลือกตาเป็นกลีบบัวแบบพระล้านนาสกุลช่างพระสิงห์

พระนาสิก (จมูก) ไม่ได้โด่งพอประมาณเข้ารูป เชิดๆ สั้นๆ (ล้อกับพระพักตร์กลม พระขนง-คิ้ว ตีวงโก่ง) แบบกลุ่มพระสิงห์ ทว่าพระนาสิกของพระสกุลฝาง มีลักษณะค่อนข้างยาวใหญ่ เน้นรอยโค้งที่ปีกจมูกสองข้างที่กว้างออกไปอีกด้วย

พระโอษฐ์ไม่ได้เป็นรูปกระจับแบบอุดมคติ (ปากแคบ หนานิดหน่อย เห็นขอบปากชัด มีรอยหยักเชิดแบบแขกอินเดีย) ทำท่าอมยิ้มน้อยๆ ตามลักษณะของปากพระสกุลช่างพระสิงห์ ทว่าพระสกุลช่างฝางทำริมฝีปากธรรมชาติคล้ายมนุษย์จริง คือริมฝีปากบนบางกว่าริมฝีปากล่าง ไม่เป็นรูปกระจับ

พระหนุ (คาง) ไม่เป็นปมวงกลมดิกเด่นชัดแบบกลุ่มพระสิงห์

ใบพระกรรณ (หู) นั้นเล่า มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ทำบิดโค้งงอนออกไปทางด้านข้างมากเกินกว่าปกติ ล้อกับลักษณะของชายจีวร (ในกลุ่มพระพุทธรูปยืน) ที่ทำชายสองข้างบิดเป็นวงโค้งม้วนแบบที่เรียกว่าลาย “กระหนกบัวงอนแบบศิลปะล้านช้าง”

ชายสังฆาฏินั้นไม่ต้องพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปนั่งหรือยืน ไม่มีองค์ไหนเลยที่ทำชายสังฆาฏิสั้นๆ ปลายตัดเป็นเขี้ยวตะขาบ (คำว่าเขี้ยวตะขาบหมายถึง การที่ทำรอยบากสองแฉก คล้ายงูหรือตะขาบอ้าปาก) พาดเหนือพระถันแต่อย่างใดเลย ทว่าทำชายสังฆาฏิค่อนข้างยาวเป็นแผ่นหนา ปิดปลายด้วยเส้นตัดตรงธรรมดา พบว่าหลายองค์ชายสังฆาฏิมีรอยขูดขีดด้วยลายเส้นเล็กๆ เป็นรูปตาข่ายสานไขว้ไปมา

เม็ดพระศกไม่ได้ม้วนกลมเป็นก้นหอยโตๆ ที่นับได้ไม่กี่แถวเหมือนดั่งพระสิงห์ล้านนา แต่เป็นเม็ดพระศกขนาดเล็กที่แหลมคล้ายหนามขนุนกระจายอยู่ทั่วพระเศียร

พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง บางองค์สามารถเปิดเกตุโมลีได้ รัศมีเปลวเป็นรูปเส้นยาวในกรอบกรวยแหลม

เกตุมาลาเหนือพระเศียรเป็นกรวยทรงสูงคล้ายสามเหลี่ยมค่อนข้างยืดยาว ปิดปลายพระโมลีด้วยรัศมีเปลวที่ประดิดประดอยเป็นเส้นเล็กยาวบิดไปมาแบบต่อเนื่อง ต่างไปจากรัศมีดอกบัวตูมของกลุ่มพระสิงห์ หรือรัศมีเปลวแบบสุโขทัย ที่คล้ายกับยันต์รูปเลข ๙ ไทย

พระวรกาย (เรือนร่าง) ไม่อวบอ้วน พระอุระ (อก) ไม่นูนหนา ไม่ว่าองค์นั่งหรือยืน พระพาขา (แขน) ค่อนข้างยาว ตรงเกือบทื่อ

พระกรเรียวยาวมากเป็นพิเศษ ไม่ได้กระดกนิ้วพระหัตถ์อ่อนช้อยแบบพระสิงห์ล้านนาหรือพระสุโขทัย แต่ก็ไม่ได้แข็งทื่อ

พระบาทไม่เชิงตัดตรง มีลูกเล่นที่นิ้วพระบาททั้งห้ากระดกงอนยกขึ้นที่ช่วงปลาย

กล่าวโดยสรุปคือ แทบไม่มีพุทธลักษณะส่วนใดของพระสกุลฝางเลยที่คล้ายคลึงกับพระล้านนาแบบพระสิงห์ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า อ้าว! ถ้าเช่นนั้น คนกลุ่มใดกันล่ะเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปสกุลช่างนี้

 

ลาวล้านช้าง?

ไทลื้อหรือไทใหญ่?

อิทธิพลใดเข้ามาผสมผสาน?

จากพุทธลักษณะที่แปลกแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงของพระพุทธรูปสกุลช่างฝางที่เราพบหลายข้อมานี้ ทำให้มีการตั้งคำถามตามมามากมายว่า เผ่าพันธุ์ใด ชาติพันธุ์ไหนล่ะหรือ ควรเป็นคนสร้างพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง ลาวล้านช้าง ไทลื้อ หรือไทใหญ่?

คำว่าลาวล้านช้าง หมายถึงกลุ่มคนไท-ลาวในฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงแถบหลวงพระบาง อาจรวมไปถึงดินแดนแถบล้านนาตะวันออกบางส่วนคือสกุลช่างแพร่-น่าน

ตามข้อสันนิษฐานของพระครูอดุลสีลกิตติ์ พบว่าพุทธลักษณะบางประการของพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝางดูละม้ายกับพระพุทธรูปกลุ่มลาวล้านช้างอย่างมาก อาทิ การทำใบหูหรือพระกรรณ บิดงอนกางออกด้านข้าง ตกแต่งลายกระหนกบัวงอน

ไม่ต่างไปจากลักษณะของชายจีวรสองข้างที่บิดงอนม้วนเป็นวงโค้งในการทำพระพุทธรูปยืนของทั้งสองสกุลช่าง ซึ่งเรียกว่า “กระหนกบัวงอน” ก็มีความเหมือนกัน

ส่วนลักษณะของกลุ่มไทลื้อ ไทใหญ่ รวมไปถึงไทขึน (เขิน) แถบเชียงตุงนั้น ตามความเห็นของ คุณวิวรรณ แสงจันทร์ นักโบราณคดี ในบริษัทรับจ้างขุดแต่งโบราณสถานบริเวณวัดส้มสุกร้าง อำเภอแม่อาย ที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ดูแลนั้น

คุณวิวรรณมีความเห็นว่า พระพุทธรูปสกุลเมืองฝางมีลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปในเมืองเชียงตุงของไทขึน หรือกลุ่มพระพุทธรูปนอกอาณาจักรล้านนาที่อยู่ระหว่างแม่น้ำโขงกับสาละวิน

ระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง นั่งขัดสมาธิราบ ชายสังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่หนา ปลายมีรอยขูดขีดเป็นตาข่าย พระวรกายบอกบาง ไม่ใช่บ่าใหญ่เอวเล็ก

กล่าวคือ มีการทำดวงพระเนตรที่ใหญ่ ปลายเรียว แขนขายาว พระวรกายแบนไม่ใช่อุดมคติ “พระสิงห์” บ่าใหญ่เอวเล็กแบบราชสีห์

การเคลื่อนตัวมาของประชากร หรือกลุ่มชนที่พูดภาษาในกลุ่มตระกูลไท-ลาว มีการเข้าออกเลื่อนไหลสู่ดินแดนล้านนาตลอดเวลา

ยิ่งเมื่อพินิจถึงทำเลที่ตั้งของ “เมืองฝาง” นั้น ถือเป็นเมืองกันชนระหว่างเมืองใหญ่สองเมือง คือเชียงใหม่กับเชียงแสน ในขณะที่พระพุทธรูปทั้งของสองสกุลช่าง (เชียงใหม่-เชียงแสน) ทำพระพุทธรูปแบบพระสิงห์ล้อขนานกันไปทั้งสองเมือง

แต่เหตุไฉน “เมืองฝาง” ที่ตั้งอยู่หว่างกลางของนครทั้งสองกลับไม่นิยมทำพระพุทธรูปแบบ “พระสิงห์” ทว่ากลับสร้างพระพุทธรูปที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของตนเอง โดยคล้ายกับว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่ง หรืออาจหลากหลายชาติพันธุ์

คำถามตามมาก็คือ ที่เมืองฝางในสมัยล้านนารุ่งเรือง หมายถึงราว 500 ปีที่ผ่านมานั้น มีชนเผ่าชาติพันธุ์ใดบ้างที่เข้ามามีบทบาท

เรื่องนี้ต้องศึกษากันอีกยาว ทั้งนี้ข้อสาม ประเด็นเรื่องพระพุทธรูปสกุลช่างฝางรุ่นเก่าสุดเริ่มสร้างเมื่อสมัยใด ยังไม่ได้กล่าวถึงในตอนนี้

สัปดาห์หน้าจะมาเจาะลึกกันในประเด็นจารึกที่ฐานพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง ว่าชิ้นที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดนั้น อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษใดกันแน่ รวมไปถึงบทบาทของเจ้าเมืองฝาง ว่ามียุคสมัยใดบ้างหรือไม่ที่มีบุคคลภายนอกเข้ามาปกครอง? •