ประเทศไทย จะเป็น ‘อีวีฮับ’ แห่งอาเซียน ได้หรือไม่ ?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รับทราบแนวทางของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติในการกำหนดทิศทางและมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ หรือ ZEV (Zero Emission Vehicle) ของยานยนต์ทุกประเภท มุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวีฮับ (Electric Vehicle Hub) ของภูมิภาคอาเซียน

มาตรการที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการใช้รถอีวีทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถกระบะ รถจักรยานยนต์ ได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก ระหว่างปี 2565-2566 มีอยู่ 4 ข้อหลักๆ

1. เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน

2. ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0%

3. ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน หรือ CBU (completely built unit) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566

4. ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ หรือ CKD (completely knocked down)

ช่วงที่สอง ระหว่างปี 2567-2568 จะมีมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก พร้อมกับยกเลิกการยกเว้นและลดอากรนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน แต่ยังคงมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิต หรือให้เงินอุดหนุนเพื่อให้ต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคันที่นำเข้าสูงกว่ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ

นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการผลิต รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อาทิ การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับชิ้นส่วนที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2565-2568 การให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้าเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้าหน้าโรงงาน

การผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพื่อชดเชยการนำเข้าในช่วงแรก กรณีผลิตชดเชย ภายในปี 2567 ให้ผลิตเท่ากับจำนวนที่นำเข้าในปี 2565-2566 และหากจำเป็นต้องขยายเวลา การผลิตชดเชยถึงปี 2568 และการผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ

การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวนี้ รัฐบาลวาดหวังให้ราคารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) สามารถแข่งขันได้ และตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2573 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย

คำถามที่ตามมา ไทยจะกลายเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนได้จริงหรือ?

ปัจจุบัน ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของเอเชีย หรือดีทรอยต์แห่งเอเชีย เพราะบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่กันมาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

แต่ในอนาคต การมุ่งหวังเป็นฐานผลิตรถอีวีของอาเซียนหรือเอเชียไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ต่างหันมาเน้นการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรืออีวีเพื่อลดภาวะโลกร้อน

กระบวนการผลิตใช้หุ่นยนต์เป็นส่วนใหญ่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง อย่างเช่น โรงงานของเทสลา เมื่อปีที่แล้วมีกำลังการผลิตรถอีวีได้ปีละกว่า 9 แสนคัน หรือเฉลี่ยไตรมาสละ 2 แสนกว่าคัน

นายอีลอน มัสก์ เจ้าของเทสลาคุยว่า เครื่องจักรของเขานั้นล้ำยุคมาก ในอีก 10 ปีข้างหน้า เครื่องจักรในโรงงานเทสลาที่มีหลายแห่งทั่วโลกสามารถผลิตรถอีวีรวมกันแล้วปีละ 20 ล้านคัน

หันมาดูในกลุ่มประเทศอาเซียนมีทั้งเวียดนามและอินโดเซีย เดินหน้าลุยนโยบายสนับสนุนการผลิตและการใช้รถอีวีก่อนไทยเสียอีก

ผมเคยเขียนถึงบริษัทวินฟาสต์ (VinFast) ของเวียดนาม เมื่อปลายปีที่แล้วว่า เป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่เพิ่งก่อตั้งในปี 2560 แต่ได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนามอย่างเต็มที่ วันนี้รถอีวีของวินฟาสต์เข้าไปเปิดตลาดรถอีวีในอเมริกาเหนือและยุโรป แถมยังมีแผนไปตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐอเมริกา

วินฟาสต์ยังได้รับความร่วมมือจากกลุ่มพินินฟารินา ช่วยออกแบบรูปลักษณ์ของรถวินฟาสต์ให้ถูกตาถูกใจลูกค้าในระดับโลก และมีแผนกวิจัยพัฒนาสินค้าเป็นเรื่องเป็นราว

วินฟาสต์จับมือกับบริษัทกอตเตี้ยน (Gotion) ผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม ไอรอน ฟอสเฟต หรือ LFP (Lithium-Iron-Phosphate) รายใหญ่ของจีน คิดค้นวิจัยเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่ให้พลังงานสูงต้นทุนการผลิตต่ำและมีการชาร์จไฟในเวลาอันสั้น

เมื่อไม่นานมานี้ วินฟาสต์ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ LFP ใช้เงินลงทุน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นแผนยุทธศาสตร์ในการลดต้นทุนการผลิตรถอีวีจะทำให้รถวินฟาสต์มีราคาถูกกว่าคู่แข่งในตลาดโลก

ส่วนอินโดนีเซียซึ่งเป็นคู่แข่งของไทยในการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในหรือใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน ได้วางยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีวีของโลกและลุยแผนการต่างๆ ตั้งแต่ปี 2562

แผนอีวีฮับของอินโดฯ มีตั้งแต่การลดภาษีรถอีวีให้กับผู้ผลิต บริษัทขนส่งและผู้บริโภค มีเป้าว่าในปี 2573 จะผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 2 ล้าน 5 แสนคัน รถอีวีอีก 4 แสนคัน

ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด โชว์วิชั่นการเป็นฮับแห่งอีวีของโลกด้วยการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมรุ่นใหม่ในจังหวัดมาลูกุ และจังหวัดสุลาเวสี อีกทั้งยังกว้านซื้อแร่ลิเธียม นิเกิลและโคบอล์ต เป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิต LFP

ขณะเดียวกันบริษัทโกเจ็ก เป็นบริษัทสตาร์ตอัพของอินโดนีเซีย ลงทุนร่วมกับบริษัททีบีเอส เอ็นเนอร์ยี อุตามา ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แล้วเอาไปให้ไรเดอร์ของโกเจ็กทุกคนใช้ส่งสินค้าทั่วอินโดนีเซียภายในปี 2573

โกเจ็กมีนโยบายชัดเจนในเรื่องของบริษัทปลอดคาร์บอน หนึ่งในโครงการของโกเจ็กเรียกว่าโกกรีนเนอร์ (GoGreener) เพื่อลดมลพิษในอากาศ นำปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงหรือคาร์บอนฟุตปรินต์ไปบริจาคให้กับโครงการปลูกต้นไม้ของรัฐบาลอินโดนีเซีย

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วโกเจ็กร่วมมือกับบริษัทผลิตสกู้ตเตอร์ไฟฟ้าของไต้หวันผลิตสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า 5,000 คัน ปล่อยเช่าให้กับไรเดอร์ของโกเจ็ก พร้อมกับติดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าในกรุงจาการ์ตา

ไรเดอร์คนไหนเช่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าของโกเจ็ก สามารถนำไปคำนวณเป็นคาร์บอนฟุตปรินต์ เท่ากับช่วยชาติลดมลพิษในอากาศและดูแลสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซีย