ไฟสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ เปิดแผลเศรษฐกิจโลก นักวิชาการแนะทางรอด โละโครงสร้างเก่า ปฏิรูปธุรกิจใหม่/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

ไฟสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’

เปิดแผลเศรษฐกิจโลก

นักวิชาการแนะทางรอด

โละโครงสร้างเก่า ปฏิรูปธุรกิจใหม่

 

“ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” น่าจะเข้ากับสถานการณ์ในวันนี้ ด้วยสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกยังไม่ทันคลี่คลาย และไม่มีใครสามารถออกมาพูดแบบเต็มปากเต็มคำว่า โรคระบาดไวรัสโควิดจะจบลงเมื่อใด

แต่ทั่วโลกก็กำลังวิตกกับปัจจัยเสี่ยงเกิดขึ้นใหม่อีกเรื่อง ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก ซ้ำเติมความชอกช้ำมากขึ้นอีก

เมื่อ “รัสเซีย” ส่งอาวุธและพละกำลังเข้าโจมตี “ยูเครน” เพิ่มไฟความกังวลให้กับพันธมิตรทั้งสองฝ่าย และลุกลามถึงท่าทีของประเทศต่างๆ ทั่วโลก หลายฝ่ายเริ่มมองถึงเห็นภาพความรุนแรงของฝั่งยูเครนทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านพ้นไป

ขณะนี้เราได้เห็นกรณีองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ได้ออกมาตรการเล่นงานรัสเซีย ได้แก่

1. จำกัดการส่งออกเทคโนโลยี ทำให้รัสเซียไม่สามารถนำของเหล่านี้มาใช้ในอุตสาหกรรมความมั่นคง ไบโอเทค และการบินได้

2. รัสเซียไม่สามารถระดมทุนต่างประเทศได้

3. เพราะมีการแซงก์ชั่น (บทลงโทษ) ธนาคารใหญ่ๆ ทำให้การประกอบธุรกิจลำบาก คือ สั่งห้ามสถาบันการเงินสหรัฐทำธุรกรรมกับธนาคารใหญ่ของรัสเซีย

4. ราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ราคาก๊าซพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

และ 5.ต้นทุนวัตถุดิบสำคัญปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เนื่องจากยูเครนและรัสเซียส่งออกข้าวสาลี 30% ของโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคปรับแพงขึ้นในระยะจากนี้ ดันให้ภาวะเงินเฟ้อขยายตัวเร็วและมากขึ้น

ทำให้เห็นค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลงมาก จากนั้นรัสเซียได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 9.5% เป็น 20% เพื่อลดผลกระทบจากการที่ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงอย่างมาก

หลังจากที่สหราชอาณาจักร สหรัฐ และสหภาพยุโรป นำธนาคารของรัสเซียออกจากตลาดการเงินในชาติตะวันตก

 

ส่วนสหราชอาณาจักรได้ ตอบโต้อีกครั้ง ผ่านการห้ามบุคคลใดๆ ทำธุรกรรมกับธนาคารกลางของรัสเซีย กระทรวงการคลังและกองทุนความมั่งคั่งต่างๆ ของรัสเซียด้วย

จึงเห็นสกุลเงินของรัสเซียอ่อนค่าลงทำสถิติต่ำสุดใหม่ หลังจากมีข่าวช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ธนาคารบางส่วนของรัสเซียจะถูกห้ามไม่ให้ใช้ระบบชำระเงินระหว่างประเทศ หรือระบบสวิฟต์ (Swift หรือ Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication ) ซึ่งรัสเซียพึ่งพาระบบสวิฟต์อย่างมากในการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ยิ่งความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ (Brent) เพิ่มขึ้น ที่ได้เห็นมากกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลมาแล้ว แม้วันนี้อาจลดลงบ้างแต่ก็ยังทรงตัวระดับเกิน 90 เหรียญาสหรัฐ

โดยการที่สหภาพยุโรป สหรัฐ และชาติพันธมิตร ไม่ให้ธนาคารของรัสเซียหลายแห่งใช้ระบบสวิฟต์ จนถึงขณะนี้ถือเป็นมาตรการที่รุนแรงที่สุด เท่าที่มีการบังคับใช้กับรัฐบาลรัสเซียจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในยูเครน

นอกจากนี้ ทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซียจะถูกอายัดไว้ด้วย เป็นการจำกัดความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนสำรองต่างประเทศของรัสเซียด้วย

แม้หลายฝ่ายมองเป็นโอกาสต่อประเทศไทย ที่จะเพิ่มการส่งออกไปรัสเซีย เพราะการแซงก์ชั่นทำให้ต้องหาแหล่งนำเข้าหรือลงทุนในเอเชียสำรองไว้ในอนาคต แต่หากระบบการเงินเป็นอุปสรรค ขายได้ขายดีแค่ไหน แต่รับชำระเงินได้ยาก

ในภาวะเศรษฐกิจยังฝืดเคืองทุกวันนี้ เชื่อว่า นักธุรกิจและผู้ส่งออกไม่มากนักที่จะกล้าเสี่ยงโดดเข้ากลางกองไฟสงคราม!!

 

จากนี้จะเป็นอย่างไร “สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ให้ความเห็นว่า “สถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองไม่แค่รัสเซียกับยูเครน แต่เป็นไปทั่วยุโรป ย่อมส่งผลกระทบถึงประเทศไทยได้ด้วย ซึ่งส่งออกไทยก็ยังพึ่งพายุโรปเกือบ 1/3 ของส่งออกรวม หากเทียบกับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลรุนแรงตรงกับเศรษฐกิจไทยในภาพรวม เพราะส่งผลโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวหายไป สร้างความเสียหายต่อรายได้หลักของไทย รวมถึงการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตในปัจจุบันด้วย

“ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ตอนนี้ความรุนแรงของผลกระทบต่อไทยจะยังไม่มาก แต่หากสถานการณ์บานปลายและยืดเยื้อนานเท่าไหร่ ย่อมเพิ่มความกังวลในทุกมิติไม่ว่าจะการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน และการใช้ชีวิต”

“เพราะเชื่อว่าหากมีการโจมตีกันไปมา กดดันต่อราคาน้ำมันพุ่งถึง 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 91 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แม้ตอนนี้ไม่ได้มองว่าจะไปถึงขนาดนั้น แต่หากเกิดขึ้นจริง จะดันให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นอีก 2% ส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจโลก ที่จะขยายตัวได้ช้าลง เนื่องจากกำลังซื้อจะถูกกระทบในแง่ลบ ทำให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลก แม้ยังบวกอยู่ แต่จะช้าและน้อยลง”

“ส่งผลต่อเนื่องกับเศรษฐกิจไทยที่ถูกกระทบจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นเท่าที่คาดการณ์ไว้ จะส่งผลต่อภาคการส่งออก ไทย คนพยายามอุปโภคและบริโภคลดลง เพราะความเสี่ยงยังอยู่ ทำให้การขายของลดลง แม้คิดว่าปี 2565 การส่งออกจะยังเป็นบวกอยู่ แต่อาจไม่ได้บวกดีเท่าที่คาดไว้”

“รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ที่เดิมมองว่าตลาดต่างประเทศจะเริ่มฟื้นตัวได้ในปี 2565 แต่เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งของประเทศแถบยุโรป จะทำให้คนไม่อยากออกเดินทาง เพราะบรรยากาศไม่เอื้ออำนวย ภาคการท่องเที่ยวที่มองว่าน่าจะฟื้นตัวได้ ก็อาจไม่ได้เป็นไปตามคาดแล้ว”

“โดยสิ่งที่ภาครัฐจะต้องเร่งเตรียมรับมือคือ ภาวะการปรับสูงขึ้นของราคาพลังงาน ที่ส่งผลกระทบกับต้นทุนทุกด้าน ทั้งภาคการผลิต การบริการ ซึ่งจะดันให้ข้าวของแพงขึ้นอีก โดยจะต้องดูแลและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะดังกล่าว แม้มองว่าหากไม่ยืดเยื้อทุกอย่างจะเป็นเรื่องผลกระทบชั่วคราว แต่รัฐบาลควรต้องเตรียมพร้อมรับมือไว้ โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้พ่อค้าคนกลาง หรือผู้ประกอบการตักตวงผลประโยชน์จากผลกระทบที่เกิดขึ้น เหมือนช่วงที่เนื้อหมูแพงมากๆ ก็เป็นโอกาสฉกฉวยในการกักตุนสินค้า เพื่อทำกำไรมากขึ้น”

“ส่วนในระยะยาว สิ่งที่รัฐบาลควรทำเป็นเรื่องการปรับโครงสร้าง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ หรือความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ จะส่งผลกระทบกับไทยทางอ้อมเป็นหลัก โดยเฉพาะการเตรียมแผนรับมือหากสถานการณ์ทั่วยุโรป ยังอยู่บนความผันผวน และปัจจัยเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศมีเพิ่มขึ้นๆ”

“นอกจากนี้ เรายังเห็นผลกระทบต่อภาวะการลงทุนในตลาดโลกด้วย เพราะความกังวลดังกล่าว ทำให้ตลาดหุ้นผันผวนอย่างหนัก ไม่เว้นแม้กระทั่งตลาดทองคำที่ถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งเราเห็นการปรับขึ้นและลงของราคาทองคำวันเดียวกว่า 17 ครั้ง เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 โดยในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการปรับราคาทองคำกว่า 41 ครั้ง”

“ทำให้หากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศยังไม่คลี่คลายลงในทางที่ดีขึ้น เราอาจเห็นปรากฏการณ์ใหม่แบบที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อนเกิดขึ้นได้ เป็นโจทย์ที่รัฐและเอกชนต้องถอดรหัสให้ได้”

 

เพียงสัปดาห์เศษของไฟสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก็มอดไหม้ระบบเศรษฐกิจที่ยังไม่มีใครประเมินได้ชัดเจน

หากไฟสงครามคลุมไปทั่วโลก เหมือนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ล่วงเลยยาวนานเข้าปีที่ 3 แล้ว

ก็นึกภาพไม่ออกว่าเศรษฐกิจโลกจะไหม้เป็นจุณนั้นเป็นอย่างไร