ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 กันยายน 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | เปลี่ยนผ่าน |
ผู้เขียน | เบญจพร ศรีดี |
เผยแพร่ |
หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 01/09/2017
“ตอนผมยิง ผมก็ไม่ได้คิดอะไร
มันคืองานของผม ที่ทำเพื่อแลกเงินเหมือนกับคนอื่นๆ”
ลั่นไกเพราะหน้าที่ จนมองข้ามชีวิตของคนอื่น คือความรู้สึกของอดีตมือปืนรับจ้างรายหนึ่ง ที่ยอมเปิดปากเล่าวินาทีสังหารเหยื่อ และทางเดินชีวิตของตัวเอง ก่อนจะเข้ามาสู่เส้นทางสีเลือด
วัยรุ่นชายคนนี้เล่าว่าตั้งแต่ตนเองยังเด็ก พ่อแม่ก็แยกทางกัน จึงต้องระหกระเหินมาอยู่กับญาติในกรุงเทพมหานคร ได้เรียนจนถึงระดับอาชีวะ
แต่เพราะฐานะทางบ้านยากจน จำเป็นต้องหาทุกหนทางที่จะได้เงินมาใช้จ่าย จึงชักชวนเพื่อนออกขี่รถจักรยานยนต์กระชากสร้อยผู้คนที่เดินผ่านไปมา แต่ก็ถูกตำรวจจับได้
“ผมถูกส่งเข้าไปอยู่ในคุก ก็ใช้ชีวิตอยู่ ไม่ได้มีอะไร แต่ในคุกมันจะแบ่งออกเป็นบ้านๆ เช่น บ้านฝั่งธนฯ บ้านฝั่งมีนฯ มีขาใหญ่ดูแลเป็นบ้านๆ ไป และในสถานที่ขังอิสรภาพแห่งนี้ ผมได้รู้จักกับขาใหญ่คนหนึ่ง ก็เลยคุยกันถึงชีวิตนอกกำแพงสูงว่า ออกไปแล้วจะไปทำอะไร ใครเค้าจะจ้างทำงาน ขาใหญ่คนนี้จึงแนะนำให้ผมไปทำงานกับพรรคพวกเค้า”
ด้วยวัยคึกคะนองผนวกเข้ากับนิสัยส่วนตัวที่กล้าได้กล้าเสียไม่เกรงกลัวใคร หวังเพียงอย่างเดียวคือหาเงิน วัยรุ่นคนนี้จึงก้าวเข้าสู่วงจรธุรกิจมืด เริ่มจากรับจ้างวิ่งรับส่งโพยบอลตามโต๊ะพนันในชุมชน ก่อนขยับไปดูต้นทางบ่อน และธุรกิจทวงหนี้นอกระบบ
“ผมต้องทำทุกวิถีทางที่จะหาเงินส่งคืนให้เสี่ยหรือนายผม ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงในพื้นที่ ส่วนวิธีการก็มีทั้งตบตี ทำลายข้าวของ ขู่กรรโชก อุ้มลูกหนี้ไปซ้อม ทำยังไงก็ได้ให้ลูกหนี้ยอมคืนเงิน
“จนสุดท้ายผมก็รับงานยิงคน ผมจะทำยังไงได้ เมื่อเสี่ยเค้าดูแลผมมา ผมเองก็ได้เงินตอบแทนด้วย”
จะเห็นได้ว่ามือปืนมักจะอยู่คู่กับผู้มีอิทธิพลเสมอ ผู้มีอิทธิพลในที่นี้จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ นักธุรกิจในพื้นที่ต่างๆ และนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งทำหน้าที่ปกครอง-เลี้ยงดูมือปืนรับจ้าง ในรูปแบบ “ซุ้มมือปืน”
พ.ต.ท.วชิรา ยาวไธสงค์ รองผู้กำกับการกองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ หรือ คอมมานโด กองบังคับการปราบปราม (ยศในขณะนั้น) ได้อธิบายว่าเจ้าของซุ้มมือปืนส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ต่างๆ บางคนอาจใหญ่โตถึงขั้นสั่งการคนมีสีหรือผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ให้ทำงานนอกกฎหมายบางอย่างได้
แต่จากการสืบสวนและรวบรวมข้อมูลพบว่า ซุ้มมือปืนก็จะมีกฎเหล็กที่ใช้ควบคุมมือปืนไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง เช่น มือปืนจะต้องรับงานผ่านซุ้มเท่านั้น ไม่มีสิทธิจะไปรับงานนอกหรือไปรับงานเอง หากฝ่าฝืนไปรับงานเองจะถือว่าทรยศต่อซุ้ม บางครั้งเจ้าของซุ้มก็ต้องสั่งเก็บลูกน้อง เพราะขนาดซุ้มตัวเองยังทรยศ หากถูกเจ้าหน้าที่จับได้ ความลับของซุ้มคงแตก
อีกหนึ่งข้อที่สำคัญ คือ มือปืนจะไม่ก่อเหตุหรือรับงานยิงคนในพื้นที่ของตัวเองหรือจังหวัดที่ซุ้มตั้งอยู่ เพื่อให้ตำรวจจำกัดวงขณะทำการสืบสวนได้ยากขึ้น
พ.ต.ท.วชิรา อธิบายต่อว่า สาเหตุหลักที่ทำให้คนยิงกันมี 4 สาเหตุใหญ่ๆ คือ (หนึ่ง) การแก่งแย่งที่ทำกิน (สอง) การแก่งแย่งถิ่นที่อยู่อาศัย (สาม) การแย่งรูสังวาส หรือปัญหารักสามเส้า และ (สุดท้าย) ได้แก่ การแย่งชิงอำนาจวาสนา ซึ่งมักจะเกิดจากปัญหาการเมืองท้องถิ่น เช่น แย่งชิงหัวคะแนนกัน
ที่ผ่านมา แม้ตำรวจจะจับมือปืนได้ แต่ในการสอบสวนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คำให้การของมือปืนส่วนใหญ่กลับไม่กล้าที่จะเปิดปากสาวไปยังผู้บงการหรือหัวหน้าซุ้ม เพราะมือปืนเองก็มีครอบครัว มีพ่อ แม่ เมีย ลูก หากยอมรับว่าลงมือคนเดียว ทุกอย่างก็จบ ครอบครัวก็อยู่สบาย
แต่หากซัดทอดไปถึงผู้จ้างวานเมื่อไหร่ ไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่คนรอบข้างก็อาจเดือดร้อนตามไปด้วย
ส่วนวิธีก่อเหตุของมือปืนทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้นไม่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันจะไม่ค่อยเกิดเหตุยิงกันบ่อยครั้งเหมือนสมัยก่อน เนื่องจากเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมาก ตำรวจมีการฝึกฝนเทคนิคต่างๆ โดยเฉพาะการแสวงหาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ พวกมือปืนรุ่นเก๋าๆ มีประสบการณ์สูง จึงไม่กล้าลงมือตอนนี้จะมีก็แต่พวกดาวรุ่งพุ่งแรงหรือมือปืนหน้าใหม่ เข้ามาก่อเหตุ
รองผู้กำกับการคอมมานโด ยอมรับว่าขณะนี้จากการเก็บรวบรวมประวัติอาชญากร ยังมีมือปืนรับจ้างคงเหลือในบ้านเราอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่นิ่งนอนใจ ได้จัดทำประวัติมือปืนไว้หมด โดยอัพเดตข้อมูลอยู่ตลอดเวลา
พร้อมเปิดปฏิบัติการ “ตัดเส้นเลือดใหญ่” หรือ “ธุรกิจสีเทา” ในพื้นที่ต่างๆ และ “ยุทธการฟ้าสาง” ลงพื้นที่จุดเสี่ยง กวาดล้างจับกุมผู้มีอิทธิพล โดยนำปืนที่ยึดได้แม้ว่าจะถูกกฎหมายมาทำประวัติไว้ทั้งหมด
จากข้อมูลการสืบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจรู้หมดว่าใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร หากเกิดเหตุขึ้น ก็มีข้อมูลว่าเป็นความขัดแย้งของคนกลุ่มไหน แต่ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานว่าจะสาวไปถึงเพียงใด
พ.ต.ท.วชิรา ยืนยันว่าการลงพื้นที่ของคอมมานโดแต่ละครั้งไม่เสียของ เพราะเป็นมวยคู่เอกกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลเสมอ มีการหาข้อมูลนานนับเดือนก่อนเปิดปฏิบัติการแต่ละครั้ง เนื่องจากตัวผู้มีอิทธิพลจะไม่เก็บสิ่งผิดกฎหมายไว้กับตัว แต่จะเก็บไว้กับคนที่ไว้ใจในพื้นที่ใกล้เคียง ตำรวจจึงต้องสืบหาตัวคนพวกนี้
การจู่โจมแต่ละครั้งนอกจากยึดสิ่งผิดกฎหมายแล้ว ยังสามารถยึดปืนทั้งถูกและผิดกฎหมายได้นับพันกระบอก ทั้งหมดจะถูกทำประวัติ หากไปก่อเหตุที่ไหนจะรู้ได้ทันที
ส่วนการป้องกันและปราบปราม จะมีการตั้งด่านตรวจค้น ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ซึ่งประชาชนอาจตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงตั้งด่านจำนวนมาก ขอชี้แจงว่าการตั้งด่านตรวจถือเป็นยุทธวิธีสำคัญที่ช่วยป้องกันเหตุได้ เช่น หากมีคนร้าย หรือผู้ไม่หวังดี วางแผนจะไปก่อเหตุยังจุดๆ หนึ่ง แต่มาเจอด่านของเจ้าหน้าที่เสียก่อน ภารกิจนั้นต้องยกเลิกทันที
นอกจากนี้ ตำรวจยังมีการรวบรวมประวัติ แผนประทุษกรรมของมือปืนรับจ้าง และผู้มีอิทธิพลทั้งหมด รู้ว่าใครอยู่สังกัดใคร ก่อนจะใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามสกัดไม่ให้เกิดเหตุ ควบคู่ไปกับการบุกจู่โจม ดีกว่ารอให้เกิดการสูญเสีย แล้วมาตามจับกันทีหลัง เพราะถึงจับมือปืนได้ แต่ผู้มีอิทธิพลก็ยังคงลอยนวล
อย่างไรก็ดี แม้ตำรวจจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีสืบสวนสอบสวนที่ก้าวหน้า แต่มือปืนก็พัฒนาตัวเองจนตำรวจทำงานได้ยากขึ้นเช่นกัน เช่น การเก็บปลอกกระสุนหลังก่อเหตุ เป็นต้น
ในส่วนกระบวนการลงมือสังหาร จากการพูดคุยกับผู้มีอิทธิพลซึ่งเป็นอดีตข้าราชการคนหนึ่ง เล่าว่ารูปแบบการรับงานของมือปืนจะมีตัวกลางทำหน้าที่ประสานงาน โดยกำหนดค่าจ้างจากตัวเป้าหมายว่าเป็นผู้มีชื่อเสียงแค่ไหน
ส่วนรูปแบบการลงมือก็จะประเมินว่าเป้าหมายมีโอกาสต่อสู้มากน้อยเพียงใด หากมีโอกาสมาก อาวุธที่ใช้ก็ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจใช้ปืนสงครามยิงถล่ม ประกบยิง หรือซุ่มยิง แตกต่างกันออกไป
ผู้เขียนยังได้พูดคุยกับอดีตผู้ติดตามนักการเมืองคนหนึ่งในภาคตะวันออก ซึ่งเล่าถึงเส้นทางการเข้ามาสู่วงจรของผู้มีอิทธิพลว่า ตัวเองเป็นเพียงวัยรุ่นธรรมดาที่ต้องการหารายได้เสริม
เริ่มจากไปทำงานเป็นการ์ดตามผับหรือร้านเหล้า ซึ่งแต่ละร้านจะมีหัวหน้าคอยรับงานจากนายหรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่นั้นๆ โดยจัดหาชายฉกรรจ์ทำหน้าที่เดินตามเป็นการ์ด รักษาความปลอดภัย และรับค่าจ้างเป็นรายวัน วันละ 1 พันบาทขึ้นไป
แต่หากเป็นพวกมีสีหรืออดีตตำรวจมารับงาน จะมีค่าจ้างอีกราคาหนึ่ง โดยจะทำหน้าที่เป็นการ์ดที่อยู่ประชิดตัว-คอยคุ้มกันผู้ว่าจ้าง ทั้งนี้ การ์ดทุกคนจะได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ตั้งแต่เรื่องอาหาร สุรา และการท่องราตรี
ดังนั้น การ์ดร้านเหล้าบางคนมักหันไปเป็นการ์ดของผู้มีอิทธิพลหรือนักการเมืองแทน เพราะอยู่สบายรายได้ดีกว่า แต่ก็ถือเป็นการติดหนี้บุญคุณกัน บางคนต้องก่อเหตุผิดกฎหมายเพื่อตอบแทนบุญคุณผู้ที่ดูแลตัวเองมา หากไม่ยอมทำ แล้วหนีเอาตัวรอด ก็ต้องหนีไปตลอดชีวิต
ถึงแม้มือปืนหลายรายจะมีปัญหาภายในครอบครัว มีฐานะที่ยากจน หรือมีความจำเป็นในชีวิตต่างๆ นานา ทำให้ต้องเข้าสู่ธุรกิจมืดหรืออาชีพสังหารผู้คน แต่สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเพียงข้ออ้าง เพราะทุกคนมีสิทธิเลือกได้ว่าตนเองจะเดินไปสู่เส้นทางไหน
ขณะเดียวกัน การดำรงอยู่ของผู้มีอิทธิพล ที่พัวพันกับและขัดแย้งกันเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ก็ถือเป็นบ่อเกิดสำคัญ ที่คอยเสริมสร้างวงการมือปืนรับจ้างให้มีตัวตายตัวแทนขึ้นมาใหม่รุ่นแล้วรุ่นเล่า
มือปืนรับจ้างจึงไม่หมดไปจากสังคมไทยเสียที