ญี่ปุ่นกับปัญหาค่าแรง/บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

ญี่ปุ่นกับปัญหาค่าแรง

 

30 กว่าปีมาแล้ว ที่ค่าแรงของญี่ปุ่นแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา ถึงประมาณ ปี 2020 มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเพียง 0.04% เท่านั้น ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วต่างก็มีการขยับขึ้นค่าแรงกันถ้วนหน้า

เมื่อดูอัตราการว่างงานเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ญี่ปุ่นสามารถรักษาระดับอัตราการว่างงานที่ต่ำมากมาโดยตลอด กล่าวคือ อัตราการว่างงานต่ำ คนยังมีงานทำกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ขณะเดียวกันอัตราค่าแรงก็แทบไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้นเลย

ค่าสินค้าและค่าบริการก็แทบไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อน้ำมันมีราคาแพงขึ้น อีกทั้งวัตถุดิบนำเข้าก็แพงขึ้น ปลายปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน จำใจขอขึ้นราคาสินค้า 10 – 20 เยนไม่ได้มากมายอะไร แต่เขาประกาศล่วงหน้า และกราบขออภัยลูกค้าผู้มีพระคุณทุกท่านที่ไม่อาจคงราคาเดิมได้

อยากรู้เหตุผลว่าทำไมค่าแรงญี่ปุ่นไม่ขยับเลย

นาย โทโมฮิสะ อิชิกาวา(石川智久)นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค อธิบายว่าสาเหตุที่สำคัญมาจาก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ เมื่อการเติบโตต่ำ การจ้างงานและค่าแรงก็ไม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

หลังยุคฟองสบู่ญี่ปุ่นแตก(バブル崩壊後)ปลายทศวรรษ 1980 คนตกงานเพิ่มสูงขึ้นมาก ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างต่างก็พยายามช่วยกันประคับประคองกิจการให้ผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้ แม้ค่าแรงไม่เพิ่ม แต่การมีงานทำก็นับว่าดีแล้ว นอกจากนี้ สหภาพแรงงานต่างๆก็อ่อนกำลังลงมาก ทำให้เกิดการจ้างงานแบบชั่วคราวเพิ่มมากขึ้นแทนการจ้างเป็นพนักงานประจำ ซึ่งแน่นอนว่าอำนาจการต่อรองค่าแรงก็แทบจะไม่มี และต้องยอมทำงานหนักขึ้นอีกโดยไม่ปริปากบ่น นี่เองจึงทำให้อัตราการว่างงานของญี่ปุ่นต่ำมากในภาวะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจก็ต่ำ และค่าแรงก็ไม่เพิ่มด้วย

นายทาคุโร โมรินางะ(森永卓郎)นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ให้เหตุผลว่า เพราะญี่ปุ่นมีการขึ้นภาษีผู้บริโภค(消費税)มาตั้งแต่ปี 1997 จาก 3% เป็น 5 % ปี 2014 เป็น 8 % และในปี 2019 เป็น10 % รายได้ที่แท้จริง(実質所得)ของคนทำงานก็ย่อมลดลง ยอดขายของผู้ผลิตก็ไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นไม่มาก ดังนั้น การจะขึ้นค่าแรงให้จึงกลายเป็นเรื่องไกลตัวไปอย่างช่วยไม่ได้มาตลอด

นายยุคิโอะ โนกุชิ(野口悠紀雄) นักเศรษฐศาสตร์ อธิบายสาเหตุว่า ญี่ปุ่นต้องตรึงอัตราค่าแรงในประเทศไว้ เพื่อแข่งขันด้านการผลิตสินค้าแข่งขันกับสินค้าจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายทศวรรษ 1990 มีปัญหาวิกฤติในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก จีนสามารถผลิตสินค้าที่ใช้โลหะได้ในราคาถูกกว่าประเทศอื่นๆในโลก

ญี่ปุ่นต้องผลิตสินค้าให้ได้ในราคาถูกที่สามารถแข่งขันกับสินค้าของจีน จากจุดนี้เองที่ค่าแรงของญี่ปุ่นไม่ขยับขึ้นอีกเลย แม้ว่าก่อนหน้านี้ยังมีการเพิ่มขึ้นบ้างแม้จะไม่มากก็ตาม และญี่ปุ่นยังต้องใช้นโยบายค่าเงินเยนอ่อนมาช่วยขับเคี่ยว ขยายการส่งออกอีกด้วย

ถ้าหากค่าแรงของญี่ปุ่นยังคงเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น

นาย โมรินางะ บอกว่า ตั้งแต่ปี 2000 ญี่ปุ่นมีค่าแรงต่ำกว่าประเทศต่างๆ ในกลุ่ม G7 ถ้าหากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จบลงได้ นักท่องเที่ยวทั่วโลกจะหลั่งไหลกลับมาญี่ปุ่น ที่ทุกคนคิดว่า “ญี่ปุ่นแสนถูก” แต่ในทางกลับกัน ก็จะทำให้ชาวญี่ปุ่นออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศหรือ ซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ลดน้อยลงไป ดูจากในปี 1995 GDP ญี่ปุ่นมีสัดส่วน18% ของโลก แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 6% เท่านั้น หวังเพียงว่าสัดส่วนของญี่ปุ่นจะไม่ลดลงอีกจนหายไปเลย

นาย โนกุชิ ให้ข้อสังเกตว่า ขณะนี้รายได้ต่อหัวของคนญี่ปุ่นเกือบแตะค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตอันใกล้ จะตกลงไปอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย บางคนมีคำถามว่า ค่าแรงถูก ค่าครองชีพก็ไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศระดับเดียวกัน ไม่ดีหรอกหรือ ไม่ใช่เช่นนั้นเลย รายได้ที่ไม่สูงขึ้นทำให้คนญี่ปุ่นไปเรียนหรือไปทำกิจกรรมในต่างประเทศได้ยากขึ้น ส่งผลให้ญี่ปุ่นไม่มีการพัฒนาที่เหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้น การที่ค่าแรงถูกทำให้การนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศที่จะดูแลผู้สูงอายุทำได้ยากขึ้น ไม่ทันกับปัญหาผู้สูงอายุที่มีเพิ่มขึ้นและขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรมอย่างมาก

ส่วนนายอิชิกาวา ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ถ้าค่าแรงยังคงต่ำอย่างต่อเนื่อง รายได้ก็จะลดลง เศรษฐกิจไม่ขยายตัว

ปัจจุบัน ทั่วโลกเกิดภาวะเงินเฟ้อ สินค้าแพงขึ้น สำหรับญี่ปุ่นมีความเป็นไปได้ที่จะเผชิญกับภาวะ stagflation (เศรษฐกิจชะงักงันและภาวะเงินเฟ้อ) ในขณะที่ค่าแรงในประเทศต่างๆเพิ่มขึ้น มีแต่ญี่ปุ่นที่ไม่เพิ่มขึ้น จะทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงานคนต่างชาติที่จะมาช่วยในอุตสาหกรรมต่างๆหนักขึ้นไปอีก

นาย โมรินางะ เสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ที่ญี่ปุ่นได้เห็นกระแสการย้ายถิ่นที่อยู่ออกจากโตเกียว เมืองหลวงที่แออัดที่เป็นศูนย์รวมทุกอย่าง(東京一極集中)ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ (อ่านเพิ่มเติม “บ๊าย บาย… โตเกียว” สุภา ปัทมานันท์ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 18 – 24 กุมภาพันธ์ 2565) ถ้าไม่เกิดการระบาดของโควิด-19 ทุกคนยังมีรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี คนหนุ่มสาวก็คงยังสนุกกับชีวิตและการทำงานในเมืองใหญ่อย่างแน่นอน แต่ขณะนี้คนจำนวนไม่น้อยมีความคิดเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อต้องเผชิญกับรายได้ที่มีแต่จะน้อยลง แต่ต้องกัดฟันสู้กับภาวะเงินเฟ้อ

นาย โมรินางะ ได้เสนอแนวทางการใช้ชีวิตแบบ “โทคะอินาคะ”(トカイナカ)คือ ชีวิตแบบกึ่งเมืองกึ่งชนบท มีที่อยู่อาศัยอยู่ไม่ห่างไกลเมืองใหญ่นัก อาหารการกินก็ทำให้ง่ายขึ้น หวนกลับไปใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น ปลูกผักกินเอง ติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลประหยัดพลังงาน เป็นชีวิตแบบพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด หรือ “ผลิตเองกินเอง”(自産自消)ชีวิตแบบนี้มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าชีวิตในเมืองใหญ่อย่างโตเกียวหลายเท่าทีเดียว

ชีวิตที่โตเกียวเต็มไปด้วยแสงสี และสิ่งล่อตาล่อใจ แต่ทุกอย่างก็ต้องแลกมาด้วยเงินเท่านั้น

ชะรอย…เราคนไทยลองทำตามอย่างเขาดูบ้าง ในยุคที่ค่าแรงก็ไม่ขึ้น แต่ของแพงขึ้นทุกวัน…