สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี แม่ครูแห่งบรูไน (10)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Show and Share ถ่ายทอดประสบการณ์ บทเรียนของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 1 วันแรก 26 เมษายน 2560 จบลงแค่ลำดับ 4 ต้องต่อวันรุ่งขึ้น เป็นคิวของประเทศบรูไนดารุสซาลาม

ครูมาดาม ฮาจา รัตนาวาติ บินติ ฮาจิ โมฮัมมัด (Mrs.RatnawatiBinti Haji Mohammad) อายุ 48 ปี

บันทึกของครูกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ที่นำคณะเดินทางไปเยี่ยมเยียนเธอเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 แนะนำให้รู้จักครูมาดามฮาจาว่า เธอเป็นครูการศึกษาพิเศษโรงเรียนประถม Keriam Primary School

เป็นครูและดูแลการเรียนการสอนโดยร่วมทำงานกับครูปกติ เพื่อชี้แนะการให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กออทิสติก เด็กพิการทางร่างกาย เด็กพิการทางการได้ยิน และเด็กที่เรียนรู้ช้า เป็นผู้ริเริ่มการนำนวัตกรรมมาสอนเด็กพิการเรียนร่วมในรูปแบบต่างๆ โดยชักชวนผู้ปกครองและชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วม ได้รับรางวัลครูดีเลิศจากสุลต่านแห่งบรูไน

โรงเรียนประถม Keriam มีนักเรียนสองร้อยคนและมีศูนย์สำหรับเด็กที่ต้องการการศึกษาพิเศษ เรียก Model Inclusive School – MIS หน้าอาคาร MIS เขียนว่า Titipan Kasih แปลว่า Entrusted Love

บรูไนมีประชากร 0.4 ล้านคน ทั้งประเทศมี MIS ประถม 4 แห่งครู 120 คน MIS มัธยม 4 แห่ง

 

ครูรัตนาวาติมีลูกสาวเป็น autistic อายุยี่สิบกว่าปี ช่วยตัวเองไม่ได้ ครูทำงานด้านนี้มาประมาณสิบปี เพราะพบกับตนเองว่าไม่มีโรงเรียนใดต้องการดูแลเด็กที่มีปัญหาเหล่านี้ หรือช่วยพ่อแม่

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รางวัลพระราชทานยิ่งใหญ่ สร้างแรงบันดาลใจได้มาก ทำให้คนเข้าใจความสำคัญของการศึกษาพิเศษ จะทำให้เพื่อนครูทำงานหนักขึ้น กลับมาจากรับรางวัลพระราชทาน ครูทำรายงานเสนอรัฐบาลให้มีแผนเชิงรุกด้านการศึกษาพิเศษ เผยแพร่อุดมการณ์รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

“การทำงานกับเด็กเหล่านี้ต้องจริงใจและมีทัศนคติทางบวก (sincerity with positive attitude) มีความรักที่จะทำงาน (love to do work) ทำงานไปด้วยกัน ไม่ใช่มาทำงานให้ (work with me not work for me)” เธอว่า

กระทรวงได้ให้ครูรณรงค์สร้างการยอมรับ การดูแลเด็กที่ต้องการการศึกษาพิเศษ ใน MIS มีทั้ง autistic, Down syndrome บกพร่องทางการได้ยิน การเห็น พิการ และเรียนช้าทำงานได้ยากเพราะดูแลเด็กหลายประเภท

ในเวที ครูนำเสนอการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยใช้กิจกรรม Circle time ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นักเรียนทำร่วมกัน โดยจัดรูปแบบให้นักเรียนจับกลุ่มเป็นวงกลม เพื่อให้สามารถสื่อสารระหว่างกันได้ดียิ่งขึ้น สามารถสร้างสัมพันธภาพเชิงบวก รู้จักการรอคอย และฝึกทักษะการสื่อสารภายในกลุ่ม

ครูให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ทดลองร่วมทำกิจกรรมด้วย โดยให้ยืนเป็นครึ่งวงกลม เต้นตามเพลงเพื่อให้มีการขยับร่างกาย และเรียนรู้จากการเลียนแบบ รวมทั้งสอนคำศัพท์ในการร้องเพลงไปด้วย เช่น ส่วนประกอบของร่างกาย หัว ไหล่ เข่า และการขยับร่างกาย เป็นต้น

 

ก่อนเริ่ม Circle time จะทำกิจกรรมการนวดบำบัด เพื่อช่วยให้ผ่อนคลาย มีช่วงเวลาใกล้ชิดกันพร้อมๆ ไปกับการเพิ่มทักษะในการเคลื่อนไหวร่างกาย นอกจากนี้ ควรใช้รูปภาพสื่อสารกับนักเรียนในเรื่องกฎ ระเบียบ ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมด้วย เช่น กฎในการสนทนากันใน Circle time ต้องมองภาพ มองเพื่อน ตาดู หูฟัง ไม่ตะโกน ตอบคำถามด้วยเสียงเบาๆ เนื่องจากเด็กบางคนมีปัญหาทางด้านการสื่อสาร จึงให้เรียนรู้จากภาพแทน เมื่อเข้าสู่กิจกรรม Circle time จะมีขั้นตอน ดังนี้

1. การลงทะเบียนเข้าเรียน (attendance) เริ่มจากให้นักเรียนนำภาพตนเองมาติดบนกระดาน แสดงว่าตนเองมาเรียน และช่วยให้นักเรียนสามารถจดจำหน้าและชื่อได้

2. การทักทาย (Greeting) ด้วยการให้นักเรียนร้องเพลง good morning to you โดยเพลงนี้จะมีการใส่ชื่อนักเรียนลงไปด้วย หลังจากนั้นครูจะยกป้ายชื่อ แล้วให้นักเรียนชี้ไปที่เพื่อนที่มีชื่อดังกล่าว หลังจากนั้นครูจะให้นักเรียนทักทายกัน โดยการจับมือกัน เป็นต้น ประโยชน์คือ นักเรียนคุ้นเคยกัน

3. การแบ่งปันประสบการณ์ (Sharing) โดยนักเรียนเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมา และครูจะเป็นผู้ตั้งคำถาม เช่น เมื่อวานไปทำอะไรมาบ้าง เป็นอย่างไรบ้าง มีความสุขดีไหม เป็นต้น ขั้นตอนนี้มุ่งเน้นพัฒนาทักษะการสื่อสาร ทักษะการฟังที่ดี ลำดับการพูด แบ่งปันประสบการณ์ และตั้งคำถาม

4 การทำกิจกรรมกลุ่ม (A group activity) ให้นักเรียนทำกิจกรรมกลุ่มสั้นๆ เช่น การร้องเพลง การเต้น การเล่นเกม เป็นต้น ในขั้นนี้ครูต้องทำให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรม

5. ข่าวและการประกาศ (News and Announcements) โดยครูจะหยิบยกเหตุการณ์ในแต่ละวัน เพื่อให้นักเรียนพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

6. เมื่อจบกิจกรรม Circle time ครูให้นักเรียนกล่าวคำลา เช่น Bye Bye ตามด้วยชื่อเพื่อน เช่น Bye Bye Arman เป็นต้น

 

การวางแผนการจัดกิจกรรม Circle time ให้มีประสิทธิภาพต้องคำนึงถึงหลายสิ่ง ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) ต้องจัดที่นั่งเป็นครึ่งวงกลมหรือเกือกม้า โดยจัดที่นั่งไว้ใกล้ผนังห้อง เพื่อให้นักเรียนได้แปะสิ่งต่าง ๆ บนผนังในบางกิจกรรม เช่น ปฏิทิน เป็นต้น

– วัสดุและอุปกรณ์ (Equipment and Materials) ที่นั่งของครูและนักเรียนจะต้องอยู่ในระดับสายตาเดียวกัน เนื่องจากบางกิจกรรมอาจจะมีการใช้การ์ดภาพ หรือไมโครโฟน

– ที่นั่งและอุปกรณ์การสื่อสาร (Seating and Communication Equipment)

– อุปกรณ์การสื่อสาร (Communication Supports) เช่น รูปภาพ ลายเส้น สัญลักษณ์ เป็นต้น

– ผู้ช่วยครู (Staff Participation) โดยให้นักเรียนเป็นผู้ช่วยครูในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเขียนวันที่บนกระดาน หรือให้นักเรียนที่เป็นดาวน์ซินโดรมเป็นหัวหน้าในการจัดแถว เพื่อสอนให้มีความรับผิดชอบ นอกจากนี้ ครูอาจนำ visual chart มาใช้ในกิจกรรม คือ ให้นักเรียนหยิบรูปเพลงที่ชอบ และครูเปิดเพลงที่ชอบให้ฟัง ซึ่งจะทำให้นักเรียนเห็นความสำคัญของสิ่งที่ชอบ

– การส่งเสริมพฤติกรรมอันพึงประสงค์ โดยครูจะใช้การเสริมแรงทางบวก เช่น บอกว่าถ้านักเรียนทำกิจกรรมนั้นๆ ได้ดี ครูจะให้เล่นคอมพิวเตอร์ นักเรียนก็จะตั้งใจทำกิจกรรมดังกล่าวมากขึ้น เป็นต้น

– การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง (Parent Involvement) ซึ่งครูบอกเป้าหมายในการทำกิจกรรม Circle time และให้ผู้ปกครองส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าว

หลังจบกิจกรรม Circle time ครูมีการ checklist พฤติกรรมของนักเรียน เพื่อตรวจสอบการตอบสนองว่าเป็นอย่างไร

แนวทาง วิธีการของครูให้ทั้งความรู้ เทคนิควิธีการจัดการศึกษา และปฏิสัมพันธ์กับเด็กพิเศษ ที่สำคัญและประทับใจผู้ฟังไม่รู้ลืมคือจิตใจที่งดงาม ความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของผู้ที่เป็นทั้งแม่และครูในเวลาเดียวกัน ไม่เลือกว่าเป็นลูกของครูหรือลูกของใคร