เหรียญรูปเหมือนรุ่น 2-3 หลวงพ่อเปลี่ยน กันตสีโล วัดชัยมงคล จ.สมุทรสาคร / โฟกัสพระเครื่อง : โคมคำ

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

เหรียญรูปเหมือนรุ่น 2-3

หลวงพ่อเปลี่ยน กันตสีโล

วัดชัยมงคล จ.สมุทรสาคร

 

“หลวงพ่อเปลี่ยน กันตสีโล” หรือ “พระครูสาครศีลาจาร” อดีตเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล ต.ชัยมงคล อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลไว้มากมายหลายชนิด แต่ที่มีชื่อเสียงมาก ไม่แพ้เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2494 คือ เหรียญรุ่น 2 และรุ่น 3

เหรียญรุ่น 2 สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2505 ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว เนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น

ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “อาจารย์เปลี่ยน วัดชัยมงคล”

ด้านหลัง มียันต์มอญ ด้านล่างของยันต์มีเลขไทยเขียนคำว่า “๒๕๐๕” ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน รุ่น 2

ส่วนเหรียญรุ่น 3 สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2510

ลักษณะเป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัว เนื้อทองเหลือง เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง

ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนคำว่า “พระครูเปลี่ยน ๒๕๑๐”

ด้านหลัง เป็นยันต์มอญ ด้านล่างของยันต์มีเลขไทย เขียนคำว่า “วัดชัยมงคล จ.สมุทรสาคร”

ทั้งสองรุ่น เป็นวัตถุมงคลที่หายากของสมุทรสาคร

เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน รุ่น 3

มีนามเดิมว่า เปลี่ยน คงถิ่น เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2433 ตรงกับวันจันทร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 11 ที่บ้านตำบลบ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

บิดา-มารดาชื่อ นายลอยและนางสี คงถิ่น ครอบครัวมีพี่น้องทั้งหมด 8 คน

พ.ศ.2451 อายุ 18 ปี บรรพชาที่วัดเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านตามแบบสมัยนิยม

พ.ศ.2453 อายุได้ 20 ปี จึงเข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดเกาะ มีเจ้าอธิการนุต เจ้าอาวาสวัดบางปลา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการแก้ว เจ้าอาวาสวัดเกาะ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์กล่ำ วัดบางปลา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า กันตสีโล

อยู่จำพรรษาที่วัดเกาะเป็นเวลา 6 พรรษา ก่อนย้ายไปจำพรรษาที่วัดคลองครุอีก 7 พรรษา

จากนั้น ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล (เดิมชื่อวัดหัวตะเข้) ต.ชัยมงคล อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อปี พ.ศ.2466

หลวงพ่อเปลี่ยน กันตสีโล

ก่อนที่จะมาเป็นวัดชัยมงคลนี้ เดิมชื่อวัดหัวตะเข้มาก่อน ซึ่งมีประวัติความเป็นมาว่า ได้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจากมหาชัยได้เอาขวานทองฟันหัวจระเข้ตัวหนึ่งซึ่งเป็นจระเข้มีอาคม เพราะใครก็ฆ่าไม่ได้ทั้งที่ได้พยายามล่ามันอยู่นาน โดยชาวบ้านเชื่อว่าเป็นจระเข้ของหลวงปู่เฒ่าเก้ายอด (หลวงปู่นุต วัดบางปลา) อย่างแน่นอน

เมื่อจระเข้ถูกขวานจามหัวแล้ว ตะเกียกตะกายเพื่อหนีตายไปจากคุ้งน้ำมหาชัย รอนแรมไปตามคลองเล็กคลองน้อย จนกระทั่งมาถึงทุ่งกว้างแห่งหนึ่งทางมาอำเภอบ้านแพ้ว ชาวบ้านจึงออกตามล่าเพื่อเอาขวานทองคืน แต่เมื่อถึงตัวจระเข้แล้วกลับไม่มีใครกล้าที่จะจัดการ ด้วยกลัวในฤทธิ์เดช

เนื่องจากเป็นจระเข้อาคมดังกล่าว ชาวบ้านจึงต้องไปนิมนต์หลวงพ่อเปลี่ยน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เฒ่าเก้ายอดมาปราบ

เมื่อมาถึงก็ได้ไปดูบริเวณที่จระเข้นอนกบดานอยู่ จึงทำพิธีสะกดจิตให้จระเข้ขึ้นมาจากน้ำด้วยการนั่งภาวนาริมคลอง

ทันใดนั้น จระเข้ได้โผล่ขึ้นมา ที่หัวของมันก็ยังมีขวานทองปักคาอยู่ จึงเรียกให้มันขึ้นมาบนบก ซึ่งมันก็ตะเกียกตะกายขึ้นมาอย่างเชื่องช้า ทำเอาชาวบ้านแตกตื่นหนีกันอลหม่าน

หลวงพ่อเปลี่ยนใช้อาคมทำให้หลับแล้วดึงขวานออกจากหัวจระเข้จนสำเร็จและได้ตรวจดูที่หัวของมัน พบกับรอยสักยันต์ 4 ทิศ อันเป็นยันต์ของหลวงปู่เฒ่าเก้ายอดที่ได้ลงไว้นั่นเอง ต่อมาจระเข้ตัวนั้นทนต่อพิษบาดแผลไม่ไหว ตายในที่สุด จึงสั่งให้ชาวบ้านนำไปฝังไว้ใกล้กับจุดที่พบจระเข้

 

หลังจากจระเข้ตายไม่นาน ชาวบ้านผู้ที่ปาขวานทองใส่หัวจระเข้ก็ตายตามไปอีกคน และคนอื่นที่ได้ร่วมขบวนในการไล่ล่า ต่างล้มป่วยกันเป็นทิวแถว เชื่อว่าด้วยแรงอาถรรพ์ของวิญญาณจระเข้

พอทราบเรื่อง หลวงพ่อเปลี่ยนจึงได้ทำพิธีสะกดวิญญาณ และให้ให้ตั้งศาลขึ้น เหตุการณ์ต่างๆ จึงสงบลงอย่างปาฏิหาริย์ ซึ่งศาลของจระเข้ตัวนั้น เคยตั้งอยู่ในบริเวณวัดหัวตะเข้ ต่อมาได้มีการสร้างศาลาเพื่อใช้ในการประกอบศาสนพิธี จึงได้ทำการย้ายศาลหัวจระเข้ไปไว้ยังท้ายวัดจวบจนถึงปัจจุบัน

ชาวบ้านกลุ่มแรกที่ตามล่าจระเข้กันมาได้พากันมาตั้งรกรากกันที่นั่นเลย โดยให้ชื่อว่าบ้านหัวตะเข้ และนิมนต์ให้ตั้งชื่อวัดขึ้นในที่พบจระเข้และให้ชื่อว่า วัดหัวตะเข้ เช่นกัน

ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดศรีษะตะเข้ ผ่านไปหลายปี เมื่อหลวงพ่อเปลี่ยนก่อสร้างเสนาสนะสงฆ์ จนมีความเจริญมากขึ้นแล้ว ท่านได้พิจารณาเพื่อให้ชื่อเป็นสิริมงคล จึงเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็นวัดชัยมงคล และหมู่บ้านก็เปลี่ยนชื่อตามวัดว่า หมู่บ้านชัยมงคล ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่คนรุ่นเก่าบางคนก็ยังคงเรียกติดปากกันว่า บ้านหัวตะเข้ กันอยู่ถึงปัจจุบัน

มรณภาพลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2519 รวมสิริอายุ 86 ปี พรรษา 66 หลังจากมรณภาพ ทางวัดเก็บสรีระของท่านไว้นานถึง 6 ปี

ในปี พ.ศ.2525 จะทำการพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งปรากฏว่าศพของท่านไม่เน่าเปื่อย นับเป็นเรื่องที่อัศจรรย์