ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ
ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
THE BIG BLUE VALVE
นิทรรศการแสดงเดี่ยว
ครั้งแรกในประเทศไทย
ศิลปินไทยร่วมสมัยผู้มีชื่อเสียงระดับสากล
ภาคภูมิ ศิลาพันธ์
“ป๊อปอาร์ตคือความนิยมอันวูบวาบชั่วครู่ยาม ความย่อมเยาที่เข้าถึงคนทุกชนชั้น ความเหลือเฟือล้นหลากของระบบอุตสาหกรรม ความอ่อนเยาว์ หลักแหลม ความเซ็กซี่ พลิกแพลง ความเปล่งประกาย และความรุ่มรวยเงินทอง”
คำกล่าวที่ว่านี้เป็นของศิลปินป๊อปอาร์ตตัวพ่อ ริชาร์ด แฮมิลตัน ที่แสดงถึงคุณลักษณะของศิลปะ ป๊อปอาร์ต (Pop art) ได้อย่างกระจ่างแจ้งชัดเจน
สุ้มเสียงของ “ป๊อป” ในโลกศิลปะนั้นเป็นเฉกเช่นเสียงปริแตกของข้าวโพดคั่ว, เสียงระเบิดจุกแชมเปญ และเสียงเปิดฝาจีบขวดน้ำอัดลม เสียงเหล่านี้แม้จะปรากฏขึ้นในห้วงเวลาอันแสนสั้นเพียงชั่วเสี้ยวอึดใจ แต่ก็ประทับตราตรึงใจผู้ได้ยินได้ฟังอย่างมิรู้ลืม
เช่นเดียวกับเอกลักษณ์อันโดดเด่นของป๊อปอาร์ต ที่หยิบเอาสิ่งละอันพันละน้อยที่ผู้คนคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงสิ่งที่ผู้คนหลงใหลได้ปลื้มไม่ลืมหูลืมตา มานำเสนอเป็นผลงานศิลปะอันสดใสฉูดฉาดบาดตาตรึงใจ
ไม่ว่าจะเป็นภาพของธงชาติ, แผนที่, เป้าปาลูกดอก ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภคยอดนิยมอย่าง ซุปกระป๋องยี่ห้อดัง และเครื่องดื่มอัดลมยอดฮิตติดใจมหาชนอเมริกัน (และคนทั่วโลก)
หรือภาพของบุคคลผู้มีชื่อเสียงโด่งดังคับฟ้า ทั้งดารา นักร้อง นักกีฬา เซเลบ ซูเปอร์สตาร์ นักการเมือง ที่ล้วนแล้วแต่ถูกศิลปินป๊อปอาร์ตทั้งหลายหยิบฉวยเอามาทำเป็นงานศิลปะอย่างเปี่ยมสีสัน
คุณสมบัติเหล่านี้นี่เองที่ปรากฏอยู่อย่างเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวในผลงานของศิลปินชาวไทยผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า ภาคภูมิ ศิลาพันธ์
ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ผู้มีผลงานจัดแสดงในแกลเลอรีชั้นนำ ทั้งในลอนดอน, ลิเวอร์พูล, ประเทศอังกฤษ และอีกหลายประเทศทั่วโลก ทั้งนิวยอร์ก, แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, อินเดีย, ฮ่องกง, ฝรั่งเศส
ผลงานของเขาถูกสะสมโดยพิพิธภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกอย่างพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA), พิพิธภัณฑ์บรูคลิน รวมถึงนักสะสมศิลปะร่วมสมัยชั้นนำของโลกอย่างเซอร์ พอล สมิธ, มินนี่ ไดรเวอร์ และริชาร์ด เคอร์ติส ฯลฯ
ภาคภูมิถือกำเนิดที่จังหวัดสมุทรปราการ ใช้ชีวิตวัยเด็กในจังหวัดสุโขทัย และเดินทางไปเรียนต่อที่กรุงเทพมหานคร ในสาขาวิชาเครื่องเคลือบดินเผา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
หลังจากจบการศึกษา เขาหันเหไปทำงานในแวดวงโฆษณาอยู่สองปี ก่อนที่จะเดินทางไปเรียนต่อทางด้านศิลปะที่สถาบัน แคมเบอร์เวล คอลเลจ ออฟ อาร์ตส และ เชลซี คอลเลจ ออฟ อาร์ต แอนด์ ดีไซน์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ที่นั่น ภาคภูมิเริ่มต้นอาชีพทางศิลปะของเขาด้วยผลงานศิลปะสื่อผสมที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะนีโอ-ดาดา (Neo-Dada) ต้นธารของป๊อปอาร์ต
โดยใช้เทคนิคปะติดเศษวัสดุเก็บตกเหลือใช้อย่าง กล่องบรรจุภัณฑ์หรือวอลล์เปเปอร์เก่าๆ เข้ากับชิ้นส่วนของสิ่งพิมพ์ต่างๆ อย่างพาดหัวข่าวและเกมปริศนาอักษรไขว้ในหนังสือพิมพ์ ผสมผสานกับเทคนิคการพิมพ์ซิลค์สกรีน
ทำให้เขาเริ่มเป็นที่จับตาของเหล่านักสะสมงานศิลปะร่วมสมัยในลอนดอน
แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เขากลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการศิลปะระดับโลก คือ ผลงานป๊อปอาร์ตที่หยิบเอาภาพของบุคคลผู้มีชื่อเสียงโด่งดังระดับตำนานของโลกในแวดวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาริลิน มอนโร, เดวิด โบวี, เอลวิส เพรสลีย์, มูฮัมหมัด อาลี, บ็อบ มาร์เลย์, จิมิ เฮนดริกซ์, วินสตัน เชอร์ชิล, มหาตมะคานธี, เนลสัน แมนเดลา, บารัก โอบามา และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ฯลฯ ไปจนถึงเหล่าบรรดาศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในโลกศิลปะอย่างแอนดี้ วอร์ฮอล, แจ็กสัน พอลล็อก, ปาโบล ปีกัสโซ่, ซัลบาดอร์ ดาลี, มาร์แซล ดูชองป์, ฌอง-มิเชล บาสเกีย, อ้าย เว่ยเว่ย, ฟรีด้า คาห์โล และยาโยอิ คูซามะ ฯลฯ มานำเสนอในรูปแบบคล้ายภาพขาวดำในสิ่งพิมพ์ ผสานกับภาพวาดลายเส้นแบบการ์ตูนอันเรียบง่ายแต่เปี่ยมสไตล์
แต่สิ่งที่ทำให้ผลงานของภาคภูมิแตกต่างจากผลงานของศิลปินป๊อปอาร์ตคนอื่นๆ ก็คือ เขาไม่ได้นำเสนอภาพของบุคคลผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเหล่านี้บนผืนผ้าใบหรือแผ่นกระดาษ แบบเดียวกับที่ศิลปินป๊อปอาร์ตทั่วๆ ไปทำ
แต่นำเสนอภาพบุคคลเหล่านั้นลงบนป้ายโฆษณาน้ำอัดลมโลหะเก่าเก็บของไทยที่เราๆ ท่านๆ อาจเคยเห็นคุ้นตาในร้านค้าตามต่างจังหวัด ทั้งป้ายโค้ก, เป๊ปซี่, แฟนต้า, สไปรท์, เซเว่นอัพ (หรือน้ำอัดลมยี่ห้อเก๊าเก่าที่เราไม่คุ้นชื่อ)
ป้ายโฆษณาโลหะสีสันสดใสฉูดฉาดประดับด้วยคราบสนิมและริ้วรอยของกาลเวลาเหล่านี้นี่เอง ที่ขับเน้นให้ภาพบุคคลบนป้ายโดดเด่นเปี่ยมเสน่ห์อย่างน่าประหลาด
ผลงานเหล่านี้ของเขานอกจากจะได้รับอิทธิพลทางความคิดจากบรรดาศิลปินหัวก้าวหน้าในประวัติศาสร์ศิลปะตะวันตก ทั้งผลงานภาพพิมพ์รูปป๊อปไอคอนและประติมากรรมบรรจุภัณฑ์สินค้ายอดนิยมของแอนดี้ วอร์ฮอล
ผลงานศิลปะวัตถุสำเร็จรูป (Readymade) ของมาร์แซล ดูชองป์
หรือผลงานศิลปะผสมผสานวัสดุสามมิติ (Assemblage) ของแจสเปอร์ จอห์น และโรเบิร์ต เราเชนเบิร์ก ฯลฯ ที่เขาเคยได้ประสบอย่างใกล้ชิดในยามใช้ชีวิตและทำงานในลอนดอน
ภาคภูมิยังได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์วัยเยาว์ที่เขาเคยตามเก็บป้ายโฆษณาน้ำอัดลมเก่าเหลือทิ้งจากร้านค้าอย่างหลงใหล นับแต่ครั้งที่เขาอาศัยอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย ติดพันเรื่อยมาจนกลายเป็นของสะสมส่วนตัวในยามที่ย้ายมาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ
เมื่อเขาได้เดินทางกลับมาเมืองไทยอีกครั้งหลังจากใช้ชีวิตและทำงานในกรุงลอนดอนนับสิบปี พอได้เห็นป้ายโฆษณาน้ำอัดลมเก่าเก็บที่เคยเก็บสะสมเอาไว้อีกครั้ง จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาพัฒนาผลงานชุดนี้ขึ้นมาในที่สุด
ผลงานศิลปะของภาคภูมิเป็นการผสมผสานวัตถุในวัฒนธรรมบริโภคนิยมอย่างป้ายโฆษณาน้ำอัดลม หรือลังใส่ขวดน้ำอัดลม อันเป็นสินค้าที่เข้าถึงคนทุกชนชั้น เข้ากับภาพของบุคคลระดับตำนานผู้เป็นเสมือนหนึ่งสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมป๊อป ทั้งนักร้องนักดนตรี ดารานักแสดง ศิลปินผู้พลิกโฉมหน้าวงการศิลปะและวงการสร้างสรรค์ในแขนงต่างๆ หรือแม้แต่บุคคลผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงการเมืองโลก
บุคคลเหล่านี้ยังเป็นตัวแทนของประเด็นต่างๆ ในสังคมอย่างการปฏิวัติทางความคิดสร้างสรรค์, การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ, สันติภาพ, ความเท่าเทียม และการต่อสู้กับความอยุติธรรม
สิ่งเหล่านี้ต่างมีจุดร่วมกันในความเป็นสากลที่คนทั่วโลกสามารถรับรู้ เข้าถึง และเข้าใจได้ แม้จะมีความแตกต่างกันทางเชื้อชาติ ภาษา หรือวัฒนธรรรมก็ตามที
คุณสมบัติเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ผลงานของภาคภูมิยืนหยัดอย่างโดดเด่นในวงการศิลปะระดับสากล
ภาคภูมิยังพัฒนาต่อยอดผลงานชุดนี้ขึ้นอีกมิติ ด้วยการถ่ายทอดภาพของบุคคลผู้มีชื่อเสียงทั้งหลายลงบนลังใส่ขวดน้ำอัดลมไม้เก่ากรุ และขวดน้ำอัดลมเก่าเก็บ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของศิลปินระดับตำนาน ประดับประดาด้วยร่องรอยอัตลักษณ์เฉพาะตัวในผลงานของศิลปินเหล่านั้นลงบนตัวลังที่วางเรียงซ้อนกันสูงท่วมหัว
จนกลายเป็นผลงานศิลปะจัดวางสื่อผสมอันแปลกตา
เขายังสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมที่ยั่วล้อและสร้างบทสนทนากับผลงานของศิลปินหัวขบถในประวัติศาสตร์ได้อย่างสนุกสนานเปี่ยมอารมณ์ขัน
หรือผลงานจิตรกรรมสื่อผสมที่ทำขึ้นจากเศษเปลือกดินสอจากการเหลา ประกอบกันเป็นภาพสัญลักษณ์ในวัฒนธรรมป๊อปหลากสีสัน
สำหรับภาคภูมิ เปลือกดินสอเหล่านี้เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการฝึกฝนทุ่มเททำงานศิลปะของเขา
ไม่ต่างอะไรกับหยาดเหงื่อแห่งการทำงานสร้างสรรค์นั่นเอง
ข่าวดีสำหรับมิตรรักแฟนศิลปะชาวไทยก็คือ ล่าสุด ภาคภูมิกำลังมีนิทรรศการแสดงเดี่ยวในประเทศไทย ในชื่อว่า “THE BIG BLUE VALVE (หัวจุ๊บสีน้ำเงิน)” ที่ประกอบด้วยผลงานประติมากรรมจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site-specific sculpture) ซึ่งไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อน
ในผลงานชุดนี้ ภาคภูมิหยิบเอาสิ่งของธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันอย่าง “หัวจุ๊บเป่าลมยาง” ที่เราต่างเคยพบเห็นและคุ้นตาบนห่วงยางหรือตุ๊กตาเป่าลมตามสระว่ายน้ำหรือริมทะเล มานำเสนอในบริบทใหม่ สไตล์ป๊อปอาร์ต เพื่อสร้างบทสนทนากับพื้นที่แสดงงานอย่างเฉพาะเจาะจง รวมถึงสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสรรค์ของมนุษย์
ถ้าหากเศษเปลือกดินสอในผลงานชุดก่อนหน้าของเขาเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของหยาดเหงื่อแห่งการทำงานสร้างสรรค์ หัวจุ๊บเป่าลมที่ว่านี้ก็เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของลมหายใจแห่งการทำงานสร้างสรรค์ ที่เป่าลมเติมเต็มให้สิ่งต่างๆ พองตัวจนกลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในที่สุด
นิทรรศการ THE BIG BLUE VALVE (หัวจุ๊บสีน้ำเงิน) โดยภาคภูมิ ศิลาพันธ์ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1-31 มีนาคม 2565 (จันทร์-เสาร์ 10:00-17:00 น.), พิธีเปิดงาน 5 มีนาคม 2565 (13:00-17:00 น.) ณ Xspace Art Gallery ถนนสุขุมวิท 71, ซอยปรีดีพนมยงค์ 14 (เข้าชมฟรี), สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่; Official Line : @xspace หรือคลิก https://lin.ee/IoAkEaF, โทร. 06-6073-2332 อีเมล : [email protected] •