บ้านดำภูมิธรรมสถิต / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

thawan-duchanee.com

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

บ้านดำภูมิธรรมสถิต

 

พิพิธภัณฑ์บ้านดำภูมิธรรมสถิต

ให้เห็นจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย

อันไปพ้นจากกายวาจาใจ

อมรรตัยแห่งถวัลย์ ดัชนี ฯ

 

ไปเชียงรายกับชาวคณะ สสส.ในกิจกรรมส่งเสริมงานศิลปะของเด็กและเยาวชนภาคเหนือ โดยมุ่งไปที่พิพิธภัณฑ์บ้านดำ ของถวัลย์ ดัชนี ต.นางแล อ.เมือง เป็นหลัก

เนื่องจากเป็นการสำรวจเบื้องต้นและเวลาจำกัดจึงไม่ได้แวะเยือนวัดร่องขุ่น ของท่านเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้น้องซึ่งเป็นศิลปินเอกคู่กันกับท่านถวัลย์ ดัชนี ผู้พี่

พิพิธภัณฑ์บ้านดำกับวัดร่องขุ่นสองแห่งนี้เป็นดั่ง “ภูมิบ้าน-ภูมิเมือง” ของเชียงรายโดยแท้ ซึ่งไม่เฉพาะเชียงรายเท่านั้น หากเป็น “ภูมิฐาน-ภูมิธรรม” ของแผ่นดินไทยและของโลกได้เลย

บ้านดำของถวัลย์เป็นสีดำ ขณะวัดร่องขุ่นเป็นสีขาว ตัดกันเป็นตรงข้าม ทั้งเนื้อหาและรูปแบบ

โดยเฉพาะบ้านดำของถวัลย์นั้นอลังการทั้งสถาปัตย์และปฏิมา ถ่ายทอดจากจิตวิญญาณความเป็นศิลปินเอกที่ชื่อถวัลย์ ดัชนี โดยตรง ด้วยสะท้อนทั้งรูปธรรมและนามธรรมของสรรพชีวิตในโลกนี้

ชีวิตที่มาจากธรรมชาติ และคงเหลือไว้เพียง “กระดูกกระเดี้ยวเขี้ยวเขา” อันเป็นรูปธรรมให้สะท้อนถึงนามธรรมคือ “แก่นสาร” เพียงเท่านั้น

แก่น คือ รูปธรรม

สาร คือ นามธรรม

อลังการของบ้านดำได้ข่มความผยองของมนุษย์ให้ศิโรราบเพื่อจะไปพ้นจากซากอศุภแห่งรูปธรรมเหล่านี้

ขณะอลังการบรรเจิดวิจิตรของวัดร่องขุ่นสีขาวนั้นนำให้ตระหนักถึงสิ่งสูงค่าทางจิตวิญญาณที่มนุษย์จะพึงมีจินตนาการไปถึงได้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

ศิลปสถานสองแห่งนี้จึงเป็นทั้ง “ภูมิฐาน-ภูมิธรรม” ของบ้านเมืองโดยแท้อันโอ่แก่ตาโลกได้เลยทีเดียว

ศิลปินชั้นเอกอุเช่นนี้หาได้ยากนักดังโวหารว่า “ต้องรอนับร้อยปีจึงจะเกิดมีสักคน”

 

ถวัลย์ ดัชนี เคยเล่าให้ฟังว่า

จบปริญญาเกียรตินิยมคณะจิตรกรรมจากมหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วต้องการแสวงความรู้ต่อจากราชวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ซึ่งสถาบันแห่งนี้ไม่ได้สนใจปริญญาตรีเกียรตินิยมของถวัลย์สักเท่าไร ให้ไปเรียนพื้นฐานจำเพาะของสถาบันแห่งนี้ให้ได้ก่อน

ถวัลย์คร่ำเคร่งอยู่หนึ่งปี หอบผลงานส่งอาจารย์ซึ่งวิจารณ์งานของถวัลย์เป็นทำนองว่า

“น่าผิดหวังจริงๆ เจ้าเด็กนี่มาจากตะวันออกแต่กลับทำงานแบบตะวันตก”

ถวัลย์จึงเริ่มงานใหม่สิ้นปีเสนอผลงานอีกครั้ง อาจารย์ยิ่งวิจารณ์หนัก

“มันเป็นยังไงนะเจ้านี่ทำงานเหมือนโฆษณาเมืองไทยมีแต่ไทยจ๋าไปหมด”

ถวัลย์บอกว่าเพิ่งเข้าใจทันทีนั่นเองว่าอะไรเป็นอะไร เขาบอกว่า

“ผมเริ่มค้นหาความเป็นถวัลย์ ดัชนีจริงๆ นับแต่บัดนั้น”

ซึ่งใช้เวลาถึงสิบเจ็ดปีจึงพบความเป็นถวัลย์ ดัชนี คนนี้

 

แม้ถวัลย์จะได้รับทั้งปริญญาโทและเอกจากสถาบันที่ศึกษานั้นแล้ว แต่ความเป็นถวัลย์ ดัชนี นั้นอยู่เหนือปริญญาใดๆ ในโลกแล้ว

เรื่องนี้น่าสนใจโดยเฉพาะทั้งแก่ศิลปินสร้างสรรค์และผู้สำเร็จการศึกษาทั้งหลาย ต่อเป้าหมายชีวิตว่า ที่แท้แล้วคืออะไร

อะไรคือคุณค่าแท้จริงที่เราควรบรรลุถึงในชีวิตนี้

ถวัลย์ ดัชนี เป็นตัวอย่างของศิลปินสร้างสรรค์ผู้ประจักษ์แล้วในตัวตน และภาคภูมิในความเป็นตัวของตัวที่แท้

น่าอิจฉาชาวเชียงรายที่มีศิลปินเช่นนี้อยู่ ท้าทายได้เลยว่าต่อให้มหาเศรษฐีทั้งหลายก็ไม่อาจนิรมิตอาณาจักรศิลปะเยี่ยงพิพิธภัณฑ์บ้านดำนี้ได้

สมควรส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนโดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายทุกโรงเรียนทุกคนได้เข้ามาดูมาเรียนรู้ที่บ้านดำเสมือนเป็นห้องเรียน “วิชาชีวิต” ซึ่งทุกคนสมควรต้องสอบผ่าน

 

ถวัลย์ ดัชนี เป็นคนสนุกและมีความสุขเหมือนคนที่ทำงานที่ตนรักตนชอบจบแล้วจริงๆ

พบกันทีไรก็จะเล่าเรื่องขำขันให้ฟังอยู่เสมอไป

ยกตัวอย่างสักเรื่องดังนี้

วันหนึ่งที่อเมริกา ถวัลย์เห็นอินเดียนแดงผู้เฒ่านั่งหน้าโรงแรมที่ตนขายที่ให้แต่ขอมานั่งประจำอยู่ กมล ทัศนาญชลี บอกถวัลย์ว่าอินเดียนแดงคนนี้มีความจำเป็นเลิศ

ถวัลย์จึงแวะถามว่า เมื่อลุงอายุสิบแปดวันแรกกินอะไรเป็นอาหารเช้า

ลุงอินเดียนแดงเงยหน้าตอบว่า

“ไข่…”

ทันใดกมลเร่งให้ถวัลย์ขึ้นรถด้วยเกรงจะไม่ทันเที่ยวบินกลับไทย

หลายปีต่อมาถวัลย์มีโอกาสไปอเมริกาผ่านไปพบลุงอินเดียนแดง ยังนั่งอยู่ที่เดิมก็ดีใจปราดเข้าไปพบยังไม่ทันจะทายทักอะไร

ลุงอินเดียนแดงเงยหน้าขึ้นเอ่ยว่า

“ต้ม”

ต่อประโยคที่ค้างไว้พลางยิ้มเหมือนจะว่า

“เมื่อกี้เอ็งหายไปไหนมาวะ ข้ายังพูดตอบไม่จบเลย”