กำเนิดศิลปะสุโขทัย ในประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (1)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

กำเนิดศิลปะสุโขทัย

ในประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (1)

 

คําอธิบายกระแสหลักในวงวิชาการไทยศึกษาปัจจุบันที่มีต่อศิลปะสุโขทัยถูกครอบงำด้วยสกุลความคิด 2 แบบ

แบบแรก คือ คำอธิบายว่าศิลปะสุโขทัยคือพัฒนาการสูงสุดของความเป็นไทย โดยมีช่วงระยะเวลาที่ศิลปะสกุลนี้เจริญสูงสุดคือราวพุทธศตวรรษที่ 18-19

สกุลความคิดนี้เชื่อกันว่า ในช่วงเวลานั้น รูปแบบศิลปะของไทยที่สุโขทัยมีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเองอย่างสูงที่สุด โดยเชื่อมเอกลักษณ์ทางศิลปะดังกล่าวว่าสัมพันธ์โดยตรงกับความเป็นอิสระทางการเมืองของคนไทยที่หลุดพ้นจากอำนาจของอาณาจักรเขมรโบราณ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยพ่อขุนรามคำแหงและพระมหาธรรมราชาลิไทย ที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะในกระแสนี้ลงความเห็นว่าเป็นดั่ง “ยุคทอง” ของศิลปะไทย

แนวคิดนี้เริ่มขึ้นราวทศวรรษที่ 2460 และยังคงมีอิทธิพลสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน พบได้แพร่หลายในตำราเรียนของรัฐ

แบบสอง ปรากฏขึ้นราว 40 ปีที่ผ่านมา โดยมีทัศนะต่อศิลปะสุโขทัยว่าเป็นเรื่องเล่าที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมาเท่านั้นภายใต้กระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่

ศิลปะสุโขทัยถูกสร้างขึ้นยิ่งใหญ่เกินจริง เป็นมายาคติแห่งชาติ (national myth) เป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง เป็นผลผลิตของความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะในยุคสมัยใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรับใช้อุดมการณ์ชาตินิยมไทย

สกุลความคิดที่สอง อธิบายกำเนิดของมายาคติชุดนี้ว่าเริ่มต้นขึ้นจากการค้นพบ (หรือแม้กระทั่งสร้างขึ้นใหม่ ) “จารึกพ่อขุนรามคำแหง” โดยรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งยังเป็นพระภิกษุในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 24 อันนำมาซึ่งการแต่งเติมขยายความโดยนักวิชาการชาตินิยมต่อมาจนสุโขทัยและศิลปะสุโขทัยกลายมาเป็นอุดมคติสูงสุดของชาติไทย

Michael Wright นักเขียน นักคิด นักวิจารณ์ด้านศิลปะและประวัติศาสตร์ เคยเปรียบเทียบปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นเสมือนสกุลความคิดที่แยกออกเป็น 2 ฟากระหว่างฝ่าย angels ที่มีความคิดแบบอนุรักษนิยมที่เชื่อในแนวทางแบบกระแสหลักของภาครัฐ กับ devils ที่มีความคิดแบบสมัยใหม่ เน้นการศึกษาแนววิพากษ์

 

จากงานวิจัยของผม ปรากฏการณ์นี้เป็นผลพวงโดยตรงจากการเปลี่ยนมโนทัศน์ (paradigm shift) ครั้งใหญ่ใหญ่ในโลกวิชาการสากลที่ทำการศึกษาสิ่งที่เรียกว่า “ชาติ” ในช่วงราว 50 ปีที่ผ่านมา ที่แตกออกเป็น 2 สกุลความคิดเช่นเดียวกัน

สกุลความคิดแรก เป็นการมองศิลปะสุโขทัยบนฐานการวิเคราะห์ชาติตามแบบ Primordial paradigm ที่เชื่อว่า “ชาติ” เป็นหน่วยทางสังคมพื้นฐาน เป็นธรรมชาติที่อยู่คู่มนุษย์มาตั้งแต่มีมนุษย์บนโลกนี้ ดังนั้น ความแตกต่างของแต่ละชาติจึงเป็นสัจธรรมและเอกลักษณ์ของชาติจึงเป็นสิ่งจริงแท้ไม่ต่างจาก DNA ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นและบ่งบอกได้ว่าเราเป็นใคร ภายใต้มโนทัศน์นี้ที่ครอบครองวงวิชาการเป็นร้อยปีจึงนำมาสู่การมองศิลปะสุโขทัยเป็น “สัญลักษณ์แห่งชาติ” (national symbol) ที่บรรจุ DNA ความเป็นไทยเอาไว้

ในขณะที่สกุลความคิดที่สอง สัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า Modernist paradigm ที่เริ่มแพร่หลายราวทศวรรษ 2520 ซึ่งเชื่อว่า “ชาติ” เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม เป็น “ชุมชนจินตกรรม” (imagined communities) ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่เกิน 200 ปีที่ผ่านมา (กรณีสังคมไทยก็พียงแค่ราว 100 ปี)

ดังนั้น เอกลักษณ์ประจำชาติที่จริงแท้ข้ามกาลเวลาจึงไม่มีอยู่จริง ความเชื่อดังกล่าวเป็นเพียง “มายาคติ” ที่เพิ่งสร้าง และมีลักษณะเป็นสิ่งที่ purely invented/purely imagined ขึ้นอย่างสิ้นเชิง โดยนักชาตินิยม หรืออาจเรียกตามคำกล่าวของ Eric Hobsbawm ว่าเป็น “ประเพณีประดิษฐ์” (invention of tradition)

คงไม่เกินเลยไปนักหากเราจะสรุปว่า ทัศนะต่อการมองศิลปะสุโขทัย 2 แบบข้างต้น คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแยกไม่ออกจากการมองเรื่อง “ชาติ” ที่แตกออกเป็น 2 สกุลความคิดดังกล่าวนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม ผมยังคิดว่าคำอธิบายของทั้ง 2 สกุลความคิดที่มีต่อศิลปะสุโขทัยดังกล่าว อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจสาเหตุของการยกย่องศิลปะสุโขทัยให้เป็นยุคทองของชาติไทย

แน่นอน ผมเห็นพ้องในหลักการกับแนวทางของ Modernist paradigm ที่มองว่าความเข้าใจของเราต่อศิลปะสุโขทัยทั้งหมดคือสิ่งที่เพิ่งถูกสร้างโดยชนชั้นนำสยามเพื่อนำมารับใช้กระบวนการก่อรูป “รัฐชาติสมัยใหม่” (nation-state formation) จนทำให้ศิลปะสุโขทัยกลายมาเป็น “สัญลักษณ์แห่งชาติ” และ “ยุคทอง” ของศิลปะไทย

แต่เป็นที่น่าเสียดาย คือ งานกลุ่มนี้กลับเน้นเป้าหมายเพียงแค่การเปิดโปงให้เราเห็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างของศิลปะสุโขทัยว่าไม่ใช่อะไรที่เก่าแก่ในทางประวัติศาสตร์ โดยไม่สนใจตั้งคำถามที่สำคัญสืบเนื่องต่อไปว่า ทำไมศิลปะสุโขทัยจึงถูกเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์จากชนชั้นนำทุกยุคทุกสมัย

ทำไมจึงไม่เป็นศิลปะแบบอื่น เช่น อยุธยา ทวารวดี หรือลพบุรี ที่บางรูปแบบมีอายุเก่าแก่กว่าสุโขทัยอย่างเทียบกันไม่ได้ ซึ่งน่าจะช่วยเสริมความเก่าแก่ของชนชาติไทยให้ยิ่งใหญ่ยาวนานไปมากยิ่งกว่าการเลือกศิลปะสุโขทัย

อะไรคือเหตุผลเบื้องหลังในการเลือกอย่างจำเพาะเจาะจงที่จะ “สร้าง” ศิลปะสุโขทัยให้กลายมาเป็นยุคทองของชาติไทย ประเด็นนี้ต่างหากที่ผมเห็นว่าสำคัญ และจะนำเราไปสู่ความเข้าใจพลังที่แท้จริงของศิลปะสุโขทัยในฐานะเครื่องมือของอุดมการณ์ชาตินิยมไทย

ที่สำคัญคือ ผมเชื่อว่าการสร้างความหมายใดๆ ลงไปในวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่ตกทอดมาจากอดีต (ในกรณีบทความนี้หมายถึงอย่างเฉพาะเจาะจงไปที่โบราณวัตถุสถานต่างๆ ของเมืองเก่าสุโขทัย) นั้น เราไม่อาจจินตนาการขึ้นลอยๆ อย่างไร้ขอบเขตได้

 

วัตถุเหล่านี้ถูกสร้างในอดีตและนำพาความหมายมากมายที่ซ้อนทับหลายช่วงเวลามาสู่ปัจจุบัน การสร้างความหมายใหม่จำเป็นต้องต่อรองกับเศษเสี้ยวข้อเท็จจริงบางประการที่ส่งผ่านมาจากอดีตตลอดจนร่องรอยความทรงจำบางอย่างที่ฝังอยู่ในตัววัตถุเหล่านั้น

นักชาตินิยม ไม่ว่าจะสุดโต่งแค่ไหน ก็หนีไม่พ้นเงื่อนไขนี้ ซึ่งเป็นผลทำให้การจินตนาการหรือสร้างความหมายชาตินิยมใส่ลงไปในวัตถุสิ่งของต่างๆ นั้นมีลักษณะที่เป็น partially imagined/ partially invented บนการปะทะต่อรองกับความหมายดั้งเดิมที่ตกทอดมาจากอดีตมากกว่าที่จะเป็นการ purely invented/purely imagined ขึ้นอย่างสมบูรณ์โดยนักชาตินิยม

ด้วยประเด็นคำถามดังกล่าว บทความนี้จึงเกิดขึ้น โดยข้อเสนอหลักของผมคือ แม้ความเข้าใจของสังคมไทยที่มีต่อศิลปะสุโขทัยในฐานะศิลปะยุคทองของชาติจะเป็นสิ่งที่เพิ่งถูกสร้างราว 100 ปีที่ผ่านมาบนโลกทัศน์ว่าด้วย “ชาติ” และ “ชาตินิยม”

แต่การเลือก “ศิลปะสุโขทัย” นั้นมีรากทางประวัติศาสตร์ระยะยาวที่ย้อนกลับไปไกลกว่าเงื่อนไขของการก่อรูปรัฐชาติสมัยใหม่ในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 25 ตามที่นักวิชาการแบบ Modernist paradigm นิยมอธิบายกัน

 

ผมมีข้อเสนอหลัก 3 ประการ (หากสนใจ ดูรายละเอียดใน Chatri Prakitnonthakan. “The origins of Sukhothai art as the Thai golden age : the relocation of Buddha images, early Ratanakosin literature and nationalism,” South East Asia Research 27, 3 (2019) : 254-270.)

ประการแรก คือ เงื่อนไขและข้อจำกัดมากมายในยุคแรกสถาปนากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางรัฐแห่งใหม่ใน พ.ศ.2325 ที่ทำให้เกิดนโยบายการขนย้ายพระพุทธรูปครั้งใหญ่มาจากเมืองสุโขทัยลงมาที่กรุงเทพฯ ที่ส่งผลทำให้เรื่องเล่าและเรื่องราวของสุโขทัยกลายมาเป็นที่รับรู้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน

ประการที่สอง คือ การสร้างความหมายใหม่ผ่านวรรณกรรมหลายชิ้นในยุคต้นรัตนโกสินทร์จนทำให้สุโขทัยกลายมาเป็นเมืองในอุดมคติทางพุทธศาสนาที่มีสถานะพิเศษในการรับรู้ของผู้คนยุคต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งสถานะพิเศษดังกล่าวนี้เองที่ได้กลายมาเป็นคุณสมบัติพื้นฐานอันสำคัญในการถูกเลือกขึ้นมาให้กลายเป็นต้นกำเนิดของชาติไทยอันยิ่งใหญ่ในยุคสมัยที่แนวคิดว่าด้วย “ชาติ” และ “ชาตินิยม” แพร่เข้ามาในสังคมไทย

ประการที่สาม คือ รูปแบบทางศิลปะของสุโขทัยที่บางอย่างมีลักษณะที่เรียกได้ว่าแหวกขนบแบบจารีตออกไปมาก ซึ่งความแปลกหรือแหวกแนวดังกล่าว ไม่เคยถูกประเมินค่าด้านบวกมาก่อนในบริบทแบบจารีต

แต่เมื่อแนวคิดว่าด้วย “ชาติ” แบบสมัยใหม่แพร่เข้ามาในสังคมไทย ซึ่งเป็นบริบทที่เรียกร้องหาเอกลักษณ์เฉพาะของชาติ ศิลปะสุโขทัยที่แหวกขนบจารีตจึงได้กลายมาเป็นคุณสมบัติแง่บวกที่สามารถหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ชาตินิยมไทยได้อย่างเหมาะเจาะพอดิบพอดี และได้กลายเป็นยุคสมัยทางศิลปะที่เหมาะสมที่สุด (ที่หาไม่ได้จากศิลปะยุคสมัยอื่น) ในการนำมาขยายความเพิ่มเติมในฐานะยุคทองทางศิลปะของชาติไทย